คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8688/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกายืนโทษจำเลยที่ 2 และแก้ไขคำพิพากษาเรื่องการริบของกลาง
โจทก์ขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์ของกลางโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองใช้ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนและใช้เป็นพาหนะในการขนส่งเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ขอให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางโดยอ้างว่าเป็นยานพาหนะที่ได้ใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับขอให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ได้ใช้ในการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน แต่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ถูกจับขณะขับรถจักรยานยนต์ของกลาง และเจ้าพนักงานตำรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด ในกระเป๋ากางเกงข้างขวาที่จำเลยที่ 1 สวมใส่ พบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 และพบเมทแอมเฟตามีน 82,000 เม็ด ในกระโปรงท้ายรถยนต์ของกลาง ดังนั้น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง และไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด ซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น จึงไม่อาจริบรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 ทั้งรถจักรยานยนต์ รถยนต์ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบเสียทั้งสิ้นตาม ป.อ. มาตรา 32 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 155 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8656/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี เข้าข่ายเป็นการค้าหรือหากำไร ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินกับบริษัท พ. และทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. ทำการปลูกสร้างอาคารในที่ดินดังกล่าว โดยโจทก์เป็นผู้ขออนุญาตก่อสร้างและขอมีหมายเลขประจำบ้าน ต่อมาโจทก์ทำสัญญาโอนสิทธิจะซื้อที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารให้บริษัท ด. โดยบริษัท ด. ตกลงชำระค่าโอนสิทธิให้แก่โจทก์ กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินและอาคารดังกล่าว เมื่อโจทก์ได้ทำสัญญาโอนสิทธิจะซื้อที่ดินและสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคาร จึงถือว่าโจทก์ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 3 (6) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8593/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังเอกสารสำเนาเป็นพยาน การพิสูจน์การส่งออกสินค้า และข้อจำกัดการรับรองสำเนาเอกสารโดยเจ้าหน้าที่
บัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นเอกสารที่ พ.ร.บ.ศุลกากร ฯ มาตรา 51 กำหนดให้นายเรือหรือตัวแทนเรือต้องจัดทำขึ้นโดยมีรายละเอียดของสินค้าตามที่ระบุไว้ในบัญชีรายชื่อสินค้าขาออกและยื่นต่อศุลกสถานภายใน 6 วันเต็มนับแต่วันที่ได้ออกใบปล่อยเรือขาออก จึงเป็นเอกสารที่สามารถนำมาสืบได้ว่าผู้ยื่นใบขนส่งสินค้าขาออกส่งสินค้าไปต่างประเทศตามใบขนส่งสินค้าขาออกจริงหรือไม่ แต่การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแพ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 93 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 17 เมื่อบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่โจทก์นำสืบในคดีนี้เป็นสำเนาเอกสาร และจำเลยก็ได้ยื่นคำแถลงคัดค้านการนำเอกสารดังกล่าวมาสืบว่าสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่โจทก์ใช้อ้างอิงต่อศาลภาษีอากรกลางทั้งหมดไม่ถูกต้องตรงกับต้นฉบับก่อนการสืบพยานเอกสารดังกล่าวเสร็จ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ยอมรับว่าสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือดังกล่าวถูกต้อง และทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้ เพราะสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาได้โดยประการอื่น ทั้งผู้ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาเอกสารไม่ปรากฏว่าเป็นหัวหน้ากรม กอง แผนก หรือผู้รักษาการแทนตำแหน่งดังกล่าวของโจทก์ที่มีหน้าที่ดูแลเอกสารหรือรับรองความถูกต้องของเอกสารสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือจึงต้องห้ามมิให้รับฟัง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8592/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลภาษีอากร: การยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาต่างท้องที่
มาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะกรณีที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 และข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 มิได้บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ จึงให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติถึงเงื่อนไขในการยื่นคำฟ้องคดีภาษีอากรต่อศาลจังหวัดไว้แล้ว จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 17 ที่จะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น แม้มูลคดีนี้จะเกิดที่จังหวัดหนองบัวลำภู แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่สามารถยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดหนองบัวลำภูได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8453/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำพิพากษาภาษีอากรเกินกำหนดระยะเวลา ทำให้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางส่วนใดไม่ถูกต้องอย่างไร ชอบที่โจทก์จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันที่ศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24 เมื่อคดีนี้ศาลภาษีอากรกลางได้พิพากษาในวันที่ 27 ธันวาคม 2547 วันเดียวกับที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีข้อความระบุว่าโจทก์รอฟังอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางในวันที่ 27 ธันวาคม 2547 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 จึงเกินกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางรับอุทธรณ์ของโจทก์มาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6353/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คดีขับไล่ก่อนแล้วฟ้องขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิม ศาลฎีกาเห็นพ้องว่าเป็นฟ้องซ้ำ
คดีก่อนจำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ฟ้องขับไล่โจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ร. เป็นจำเลยที่ 2 ให้ออกไปจากที่ดินของ ป. ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ขับไล่โจทก์คดีนี้และ ร. ให้ออกจากที่ดินโดยฟังว่าที่ดินเป็นของ ป. คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. ให้ร่วมกันคืนโฉนดที่ดินและจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์มาใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของดังเดิมอ้างว่าที่ดินเป็นของโจทก์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5897/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดทุนบริษัทส่งผลต่อมูลค่าหุ้น โจทก์นำส่วนลดมาหักเป็นรายจ่ายภาษีไม่ได้จนกว่าจะขายหุ้นออกไป
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ที่บัญญัติมิให้นำค่าของทรัพย์สินที่ตีราคาต่ำลง มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธินั้น มีเจตนารมณ์ที่จะห้ามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มีราคาต่ำลงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงนั้น ยังมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น รายจ่ายจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้วได้มูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินนั้นมา
โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัท ล. โดยถือไว้ในลักษณะทรัพย์สินเพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผล การที่ต่อมาบริษัท ล. ลดทุนลงโดยลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่เพื่อลดผลขาดทุนสุทธิมีผลเพียงทำให้มูลค่าหุ้นรวมของโจทก์ลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดจำนวนหุ้น ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์มีมูลค่าลดลง แต่กรณีนี้จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อมีการขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นดังกล่าวไปทั้งหมดแล้วและมีผลขาดทุน เมื่อโจทก์ยังมิได้ขายหุ้นในส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นไป จึงถือว่ายังไม่มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของทรัพย์สินดังกล่าวที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ กรณีเข้าลักษณะเป็น "ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่มีราคาต่ำลง" ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ซึ่งต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ (1)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/50)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5897/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดทุนบริษัทและการหักค่าเสียหายทางภาษี การลดทุนโดยลดจำนวนหุ้นไม่ถือเป็นรายจ่ายทางภาษีจนกว่าจะมีการขายหุ้นที่เหลือ
กรณีที่ ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า "รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ...(17) ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 65 ทวิ..." นั้น มีเจตนารมณ์ห้ามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงนั้นยังมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ในกรณีนี้รายจ่ายจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้วได้มูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินนั้นมา เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ซื้อหุ้นโดยถือไว้ในลักษณะทรัพย์สินเพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผลจำนวน 16,119,840 หุ้น ในราคาตามมูลค่าหุ้น หุ้นละ 10 บาท โจทก์จึงมีมูลค่าทรัพย์สินในกรณีนี้คิดเป็นเงินจำนวน 161,199,400 บาท การลดทุนของบริษัท ล. ไม่ว่าจะเป็นการลดมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นให้ต่ำลงหรือลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ให้น้อยลง เพื่อนำไปลดผลขาดทุนสะสมของบริษัท ล. มีผลเพียงทำให้มูลค่าหุ้นรวมของโจทก์ลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดมูลค่าหุ้นหรือลดจำนวนหุ้น ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์มีมูลค่าลดลง ดังนั้น การลดจำนวนหุ้นของบริษัท ล. ซึ่งทำให้จำนวนหุ้นที่โจทก์ถืออยู่ลดลงนี้จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อมีการขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นดังกล่าวไปทั้งหมดผลขาดทุนจากการขายหุ้นดังกล่าวจึงจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เมื่อโจทก์ยังมิได้ขายหุ้นในส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นไปทั้งหมด จึงถือว่ายังไม่มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของทรัพย์สินดังกล่าวที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ การลดจำนวนหุ้นของบริษัท ล. ตามกรณีพิพาทจึงเข้าลักษณะเป็น "ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง" ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ซึ่งต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5080/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ต้องไม่เกินกรอบฟ้องเดิม แม้มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ากระทำผิดจริง
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,690 เม็ด ซึ่งคำนวณเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์ได้ 53.274 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 690 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่จำเลยอุทธรณ์และฎีกาเฉพาะข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แม้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะฟังข้อเท็จจริงตรงกันว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,690 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและได้จำหน่ายไป 2,000 เม็ด แต่ก็จะลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,690 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไม่ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินกว่าที่กล่าวในคำฟ้องอุทธรณ์และฎีกา คงลงโทษจำเลยได้ฐานมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 690 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเท่านั้น
นอกจากนี้ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,690 เม็ด มีน้ำหนัก 258.110 กรัม และคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 53.274 กรัม แต่เมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ดก็ดี หรือ 690 เม็ดก็ดี โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบว่าสามารถคำนวณเป็นปริมาณสารบริสุทธิ์เท่าใด จึงต้องสันนิษฐานให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนมีปริมาณสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 375 มิลลิกรัม การกระทำของจำเลยทั้งสองกรรมจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคหนึ่ง ปัญหาที่กล่าวมาเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ปรับบทกฎหมายและกำหนดโทษให้ใหม่ให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4882/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระชากสร้อยคอเพื่อชดใช้หนี้ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มีเจตนาทุจริตฐานวิ่งราวทรัพย์
จำเลยไปหาผู้เสียหายโดยมีเจตนาเพื่อทวงหนี้ที่ผู้เสียหายค้างชำระ โดยก่อนเกิดเหตุจำเลยพยายามยกถังแก๊สที่ผู้เสียหายใช้หุงต้มในการขายก๋วยเตี๋ยวไปเพื่อการชำระหนี้ แต่จำเลยเอาไปไม่ได้เพราะสามีผู้เสียหายไม่ยอมให้เอาไป ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายก็โต้เถียงกันอีกเรื่องที่ผู้เสียหายไม่ชำระหนี้ให้จำเลย ทำให้จำเลยโกรธแค้นจึงเข้ากระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายและเอาสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปครึ่งเส้น แม้เพื่อชดเชยที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ แต่การบังคับชำระหนี้ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่กระชากสร้อยคอทองคำครึ่งเส้นของผู้เสียหายไปโดยพลการ ทั้งมูลหนี้ที่จำเลยมาทวงผู้เสียหายนั้น ผู้เสียหายเบิกความว่าเกิดจากหนี้การพนันหวยใต้ดิน ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงเป็นมูลหนี้ที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้เสียหายพึงชำระและแม้จำเลยเบิกความว่าเป็นหนี้เงินยืม จำเลยก็รับว่าที่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ดังกล่าว ก็เพราะไม่มีลายมือชื่อของผู้เสียหาย หนี้กู้ยืมเงิน 2,000 บาท ของผู้เสียหายจึงไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ยืม จำเลยย่อมฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ กรณีจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะฟ้องร้องบังคับคดีต่อผู้เสียหายได้ด้วย ดังนั้น การกระชากสร้อยคอครึ่งเส้นของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการเอาไปโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 336
ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยขับรถยนต์ไปพบผู้เสียหายเพื่อทวงหนี้ แต่ผู้เสียหายไม่ยอมชำระหนี้ได้เกิดโต้เถียงกัน จำเลยจึงกระชากสร้อยคอของผู้เสียหายไปได้ครึ่งเส้น เพื่อบังคับชำระหนี้แล้วขับรถยนต์ออกไปจากบริเวณที่เกิดเหตุนั้นยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 336 ทวิ
การกระทำความผิดของจำเลยเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เคารพต่อกฎหมายของบ้านเมืองส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลซึ่งอยู่ร่วมกันในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง กรณีจึงไม่ควรรอการลงโทษให้จำเลย
of 29