คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4231/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยอ้างอิงผลการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และผลกระทบต่อการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาถัดไป
แม้ผลการตรวจสอบภาษีโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ที่จำเลยลดผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ลงจะมิใช่รายการที่ปรากฏอยู่ในแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2535 ที่โจทก์ยื่นไว้ก็ตาม แต่เนื่องจากผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ที่ยกมาแสดงในแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากผลขายทุนสุทธิของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 แล้วเห็นว่า โจทก์ไม่มีผลขาดทุนสุทธิเหลืออยู่ที่จะยกไปในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 การที่จำเลยปรับปรุงลดผลขาดทุนสุทธิยกมาจากรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ในแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 จึงถือได้ว่าเป็นการประเมินจากรายการหรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแบบแสดงรายการที่ผู้เสียภาษียื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานไม่ถูกต้องในส่วนของผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี โดยไม่ให้โจทก์มีผลขาดทุนสุทธิเหลืออยู่ในแบบ ภ.ง.ด. 50 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินตามมาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดจากการสำแดงเท็จเพื่อรับเงินชดเชยภาษีอากร และความรับผิดชอบของหุ้นส่วนผู้จัดการ
การที่จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาท โดยไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 คือวันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในสัญญาโอนสิทธิบัตรภาษีจากการทุจริตของผู้โอนสิทธิ และผลของการสำแดงเท็จในการขอเงินชดเชยภาษี
ในการยื่นบัญชีระบุพยาน โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ เนื่อจากต้นฉบับอยู่ในความครอบครองดูแลของทางราชการ และทางราชการมีความจำเป็นต้องใช้ต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้สำเนาเอกสารที่รับรองโดยถูกต้องแทนต้นฉบับได้ ทั้งบัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็นพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องนำพยานดังกล่าวมาสืบ เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ส่งสำเนาเอกสารแทนต้นฉบับ โจทก์จึงมีสิทธินำสำเนาบัญชีสินค้าสำหรับเรือมาสืบได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 20 ประกอบข้อกำหนดคดีภาษีอากรฯ ข้อ 16 วรรคสอง
เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจึงต้องพิจารณาว่าคำฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ หากมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลก็ต้องพิจารณาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีไปตามคำฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาภาษีอากรฯ มาตรา 17 ซึ่งคดีนี้โจทก์มีผู้จัดการฝ่ายเอกสารของบริษัทตัวแทนเรือเบิกความยืนยันว่ารายละเอียดสินค้าตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือที่บริษัทตันแทนเรือรวบรวมนำส่งโจทก์ไม่ปรากฏสินค้าตามที่จำเลยที่ 1 สำแดงในใบขนสินค้าขาออก แสดงว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสินค้าและรับรองการรับบรรทุกในใบขนสินค้าขาออกพิพาทไม่มีการตรวจสอบจริงและจำเลยที่ 1 มิได้ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศตามที่สำแดงในใบขนสินค้าขาออกพิพาทนั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกในรูปบัตรภาษี การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกโดยสำแดงใบขนสินค้าขาออกเป็นเท็จ จึงเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ต้องรับผิดคืนเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดคือวันที่จำเลยที่ 2 รับบัตรภาษีพิพาท
ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษี จำเลยที่ 2 สัญญาว่า กรณีที่เกิดการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด ๆ ยินยอมรับผิดต่อโจทก์ทุกประการโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้น นั้น เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ว่าในการขอรับสิทธิตามบัตรภาษี หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจกท์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง เป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายห้ามและมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยที่ 2 นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดแล้ว จึงมีความรับผิดตามสัญญาต้องใช้เงินคืนโจทก์ตามมูลค่าบัตรภาษีรายพิพาทที่เกิดจากการทุจริตในการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่ที่ดินร่วม การท้ากัน และการเข้าเป็นโจทก์ร่วม การพิพากษาคดีที่ดิน
โจทก์ทั้งสองฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินที่โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกับโจทก์ร่วมทั้งสี่ การดำเนินการของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการกระทำในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกคือจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 และการที่ในวันชี้สองสถานคู่ความตกลงท้ากันว่า ให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาทจากแนวทิศเหนือเข้ามาทางแนวที่ดินของจำเลยที่ 1 หากรังวัดได้เป็นจำนวน 5 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา จำเลยทั้งสองยอมแพ้และค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ หากรังวัดได้เกินเนื้อที่ดังกล่าว ส่วนที่เกินหรือล้ำจำนวนให้ตกเป็นของจำเลยทั้งสอง หากการรังวัดไม่อาจทำได้เพราะมีการคัดค้านของเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้พิจารณาคดีต่อไปโดยให้ถือว่าคำท้าไม่เป็นผล การท้ากันดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ ใช้สิทธิขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่น ๆ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 เพราะไม่ว่าผลการรังวัดที่ดินพิพาทจะเป็นเช่นใด ที่ดินแปลงที่โจทก์ทั้งสองครอบครองร่วมกับโจทก์ร่วมทั้งสี่ก็ยังคงมีเนื้อที่ตามเดิม
โจทก์ร่วมทั้งสี่ยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) โดยอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีโดยพลการ กรณีตามคำร้องไม่ใช่การร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความร่วมเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ เพราะสิทธิในฐานะเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทของโจทก์ร่วมทั้งสี่มีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น แต่ตามคำร้องตอนหนึ่งระบุว่า โจทก์ร่วมทั้งสี่อาจได้รับความเสียหายจากกระทำของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ร่วมทั้งสี่มีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินร่วมกับโจทก์ทั้งสองจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมทั้งสี่ร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจเอง เพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) โจทก์ร่วมทั้งสี่จึงต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรวมฟ้องขับไล่ การท้ากันรังวัด และสิทธิการเข้าเป็นโจทก์ร่วมของเจ้าของร่วม
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างในคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองร่วมกันกับผู้มีชื่อรวม 6 คน ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยทั้งสองบุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินดังกล่าว การดำเนินการของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นการกระทำในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359
ในวันชี้สองสถานคู่ความตกลงท้ากันว่า ให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาทจากแนวทิศเหนือเข้ามาทางแนวที่ดินของจำเลยที่ 1 หากรังวัดได้เป็นจำนวน 5 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา จำเลยทั้งสองยอมแพ้ หากรังวัดได้เกิน 5 ไร่ 3 งาน 86 ตารางวา ส่วนที่เกินหรือล้ำจำนวนให้ตกเป็นของจำเลยทั้งสอง หากการรังวัดไม่อาจทำได้เพราะมีการคัดค้านของเจ้าของที่ดินข้างเคียงให้พิจารณาคดีไปโดยให้ถือว่าคำท้าไม่เป็นผล การท้ากันดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิขัดต่อสิทธิแห่งเจ้าของรวมคนอื่นๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360
โจทก์ร่วมทั้งสี่ยื่นคำร้องสอดเข้าเป็นคู่ความ โดยอ้างว่าโจทก์ร่วมทั้งสี่เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีโดยพลการ โจทก์ร่วมทั้งสี่จึงขอใช้สิทธิเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) แต่สิทธิในฐานะเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทโจทก์ร่วมทั้งสี่มีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้นไม่มีเหตุที่จะต้องได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามมาตรา 57 (1) แต่โจทก์ร่วมทั้งสี่ระบุในคำร้องตอนหนึ่งว่าโจทก์ร่วมทั้งสี่อาจได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์ทั้งสองโจทก์ร่วมทั้งสี่มีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินร่วมกับโจทก์ทั้งสอง ตามคำร้องจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมทั้งสี่ร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจเอง เพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีตามมาตรา 57 (2) ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสี่เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (1) แต่ให้เข้ามาเป็นโจทก์ร่วมตามมาตรา 57 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2455/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานรับของโจรเกี่ยวพันกับลักทรัพย์ ศาลมีอำนาจฟ้องได้แม้ต่างท้องที่ พฤติการณ์ร้ายแรงไม่รอการลงโทษ
แม้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กัน คือ จังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน คือ รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง จึงเป็นความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้กระทำความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการลักทรัพย์ ผู้สมรู้และผู้รับของโจรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 (1) ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจาก ท. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ บ. ลักรถจักรยานยนต์และไม่ได้เกี่ยวข้องกับชายไม่ทราบชื่อที่ซื้อรถจักรยานยนต์จาก บ. ที่จังหวัดสมุทรสาคร คดีจึงไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกันดังที่จำเลยฎีกานั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนมีอัตราโทษสูงกว่าฐานรับของโจร ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานลักทรัพย์ในเหตุฉกรรจ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยผิดศาลดังที่จำเลยฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2047/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ครอบครองอาวุธปืนที่ใช้ในการกระทำความผิด: พยานหลักฐานต้องชัดเจนและเชื่อมโยงโดยตรง
คดีอุกฉกรรจ์มีโทษสถานหนัก พยานหลักฐานโจทก์จะต้องชัดแจ้งหนักแน่นมั่นคงโดยไม่มีข้อตำหนิใด ๆ ให้เป็นที่ประจักษ์ได้ แม้ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาจะฟังได้ว่าคนร้ายได้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายถึงแก่ความตายจริงซึ่งทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุอาวุธปืนของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาโดยตลอด แต่จำเลยก็เบิกความอธิบายว่า เหตุที่จำเลยเบิกความเช่นนั้นเนื่องจากจำเลยเข้าใจว่าอาวุธปืนของกลางยังอยู่ใต้ฟูกในห้องนอนของจำเลย เนื่องจากจำเลยไม่ได้ตรวจสอบอาวุธปืนดังกล่าวตลอดเวลา กรณีจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของจำเลยมาลงโทษจำเลยได้ เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยได้กระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่คนร้ายทั้งสองกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายมาก่อน ลำพังพยานหลักฐานที่โจทก์รับฟังได้เพียงแค่อาวุธปืนของกลางที่ใช้ยิงผู้ตายเป็นอาวุธปืนของจำเลยยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ดอกเบี้ยตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
เงินได้ที่เป็นดอกเบี้ยรวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ยตามมาตรา 40 (4) (ก) แห่ง ป.รัษฎากร หมายถึงเงินได้ที่มีลักษณะเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธาน โดยคำนวณจากหนี้ประธานในอัตราและตามระยะเวลาที่กำหนดโดยนิติกรรมสัญญาหรือบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งฝ่ายที่เป็นลูกหนี้หรือตกเป็นลูกหนี้เป็นผู้จ่ายหรือชำระเพิ่มขึ้นจากหนี้ประธานตามข้อตกลงของนิติกรรมสัญญาหรือบทบัญญัติของกฎหมายให้แก่ฝ่ายที่เป็นเจ้าหนี้
ข้อตกลงตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยระหว่างสถาบันการเงินกับโจทก์ไม่ใช่สัญญากู้ยืมเงิน เพราะสถาบันการเงินไม่ได้ส่งมอบเงินกู้ยืมจำนวนใดให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่ต้องชำระเงินจำนวนใดที่ได้รับไปคืนให้ เพียงให้โจทก์มีโอกาสได้รับประโยชน์ตามสัญญาโดยเฉพาะต่างหากจากสัญญากู้ยืมเงิน หากโจทก์มีผลกำไรที่ได้รับจากสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยแล้วนำเงินนั้นไปหักกลบลบหนี้กับจำนวนดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินก็เท่ากับเป็นการนำรายได้จากแหล่งอื่นไปชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม มิใช่กรณีที่ถือว่าเงินที่โจทก์ได้รับตามสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยกลายเป็นรายได้ประเภทดอกเบี้ยของผู้ให้กู้ซึ่งทำสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยกับโจทก์ไปได้ และในกรณีกลับกันเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายต้องจ่ายเงินส่วนต่างแก่สถาบันการเงินคู่สัญญา เงินที่โจทก์จ่ายก็เป็นรายรับแก่คู่สัญญาโดยผลของสัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะเช่นกัน มิใช่เงินได้จากดอกเบี้ย โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย และนำส่งตามมาตรา 70

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 645/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกฟ้องคดียาเสพติดส่งผลให้การยึดทรัพย์สินสิ้นสุดลง ศาลไม่มีอำนาจริบทรัพย์
คดีอาญาที่ผู้คัดค้านถูกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีจึงต้องบทบัญญัติมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 การยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องอ้างว่าเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านย่อมสิ้นสุดลงศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ จึงไม่จำต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่า ทรัพย์สินนั้นเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ รวมทั้งผู้คัดค้านได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยทุจริตและมีค่าตอบแทนหรือได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะหรือไม่ ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าวอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 645/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับยาเสพติดส่งผลให้การยึดทรัพย์สินสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.มาตรการปราบปรามยาเสพติด
คดีอาญาที่ผู้คัดค้านทั้งสองกับพวกถูกฟ้อง ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องสำหรับผู้คัดค้านทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ ที่บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใดให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." การยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองที่ผู้ร้องอ้างว่าเนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้คัดค้านทั้งสองย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้
of 29