คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6459/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลาภมิควรได้จากบัตรภาษี: สุจริต, การคืนเงิน, และข้อยกเว้นตามกฎหมาย
บัตรภาษีมีมูลค่าเป็นเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในบัตรภาษีนำไปใช้แทนเงินสดในการชำระภาษีแก่กรมศุลกากร กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิตได้ หากการได้รับบัตรภาษีไว้เป็นลาภมิควรได้ก็ต้องถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไว้ดังกล่าวเป็นเงินจำนวนหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 412
กฎหมายบัญญัติหลักในการคืนเงินที่เป็นลาภมิควรได้ว่า ผู้ได้รับนั้นต้องคืนเงินเต็มจำนวน ส่วนการคืนลาภมิควรได้เพียงบางส่วนที่ยังคงมีอยู่ในขณะที่เรียกคืนเพราะได้รับมาโดยสุจริตเป็นข้อยกเว้น เมื่อจำเลยอ้างว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากข้อยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การของตน เพราะปัญหาว่าสุจริตหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าจำเลยรับเงินซึ่งเป็นลาภมิควรได้ไว้โดยสุจริตหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
ศาลชั้นต้นพิพากษาโดยคำนวณดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง แม้โจทก์และจำเลยไม่ยกปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นการคำนวณและระบุจำนวนเงินที่จำเลยต้องรับผิดตามคำพิพากษาไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6432/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การประเมินราคาตลาด, การขอคืนภาษี, อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน, และการพิจารณาของคณะกรรมการ
โจทก์ให้กรรมการกู้เงินจำนวนมากถึง 1,700,000 บาท โดยไม่มีดอกเบี้ย โดยไม่ปรากฏว่ากรรมการผู้กู้นั้นเป็นพนักงานหรือไม่ และพนักงานทั่วไปมีสิทธิกู้ได้หรือไม่ เพียงใด คิดดอกเบี้ยหรือไม่ จึงถือว่าไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินชอบที่จะประเมินดอกเบี้ยเท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ในขณะที่ให้กู้นั้นได้
เงินได้จากการประกอบการทุกประเภทย่อมมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการตามลักษณะของกิจการแต่ละประเภท ป.รัษฎากรฯ มาตรา 67 ตรี จึงบัญญัติให้ประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีคลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ การที่โจทก์ประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์พิเศษนั้นจึงยังไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดให้โจทก์เสียเงินเพิ่มได้ โดยไม่จำต้องเรียกโจทก์ไปสอบถามก่อน เพราะโจทก์มีหน้าที่ต้องประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีที่ถูกต้องแท้จริงพร้อมกับส่งมอบพยานหลักฐานไปให้เจ้าพนักงานตรวจสอบ เมื่อโจทก์ประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีขาดไปเกินร้อยละ 25 จึงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนภาษีที่ขาดไป
โจทก์นำไม้แปรรูปเข้ามาจากประเทศมาเลเซียจำนวนมากและชำระเป็นเงินตราต่างประเทศโดยอ้างว่าชำระเงินสดมีหลักฐานเพียงใบกำกับสินค้า ไม่มีการเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตตามที่ปฏิบัติกันทั่วไป ทั้งพยานโจทก์เบิกความลอย ๆ จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อว่า โจทก์ซื้อไม้แปรรูปมาในราคาตามที่ระบุในใบกำกับสินค้า ซึ่งต่ำกว่าราคาที่กรมศุลกากรกำหนด การที่โจทก์ขายไม้แปรรูปในราคาต่ำกว่าราคาที่กรมศุลกากรประกาศกำหนดนั้นผิดปกติวิสัยของผู้ทำธุรกิจการค้า จึงเป็นการขายไม้แปรรูปในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินราคาตลาดได้ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 88/2 (3) และมาตรา 79/3 (1) ซึ่งการประเมินโดยใช้ราคาตามประกาศกำหนดราคาในท้องตลาดเป็นรายเฉลี่ยของกรมศุลกากรเป็นราคาที่คำนวณโดยการเก็บรวบรวมสถิติราคาสินค้าชนิดเดียวกันจากผู้นำเข้าทุกรายที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรในช่วงเวลานั้นมาทำการเฉลี่ย ย่อมเป็นการประเมินที่ใกล้เคียงกับราคาตลาดที่แท้จริงที่สุด การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวจึงชอบแล้ว
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรโจทก์ เนื่องจากโจทก์ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 12 เดือน ติดต่อกัน ซึ่งสรรพากรภาค 12 ผู้ได้รับมอบอำนาจจากอธิบดีกรมสรรพากรได้อนุมัติให้ขยายเวลาการออกหมายเรียกตรวจสอบตามมาตรา 19 แห่ง ป.รัษฎากรฯ โดยบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดว่าเจ้าพนักงานประเมินจะต้องขออนุมัติขยายเวลากการออกหมายเรียกภายในระยะเวลา 2 ปี แต่อย่างใด การออกหมายเรียกตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบแล้ว
ป.รัษฎากรฯ มาตรา 32 บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่จะออกหมายเรียกผู้อุทธรณ์หรือบุคคลอื่นมาไต่สวนหรือให้บุคคลใดส่งพยานหลักฐานใดมาประกอบการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามที่เห็นสมควร แต่มิได้บัญญํติบังคับว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะต้องเรียกผู้อุทธรณ์มาสอบถามหรือให้ส่งพยานหลักฐานใดอีก การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแล้วและมีคำวินิจฉัยไปตามนั้น จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6054/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับลูกจ้างทำงานต่างประเทศ: เงินได้จากการจ้างงานในกิจการของนายจ้างในไทยต้องเสียภาษีในไทย
จำเลยเป็นลูกจ้างของบริษัท อ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างทั้งภายในและนอกประเทศไทย การที่บริษัท อ. ส่งจำเลยไปทำงานที่บริษัท อ. รับจ้างถมทะเลนอกประเทศ ค่าจ้างที่บริษัท อ. จ่ายให้แก่จำเลยจึงเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (1) ที่จำเลยได้รับเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประเทศไทย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 41 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5451/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าใช้จ่ายผลิตรายการทีวี ไม่ใช่รายจ่ายลงทุน หากไม่ได้เก็บรักษาเพื่อหารายได้ต่อเนื่อง
เทปรายการโทรทัศน์ที่โจทก์ผลิตเองและออกอากาศไปแล้ว โจทก์ไม่ได้เก็บรักษาไว้เพื่อประโยชน์ในการหารายได้อันจะถือเป็นทรัพย์สินที่ก่อมูลค่าแก่กิจการอีกต่อไป ค่าใช้จ่ายในการผลิตรายการโทรทัศน์แต่ละครั้งจึงมิใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5067/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจเจ้าพนักงานประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในการออกหมายเรียกตรวจสอบและขยายเวลาประเมิน
ในกรณีมีเหตุอันสมควรเชื่อว่าผู้ประกอบการแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) ซึ่งตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่าให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายใน 5 ปี นับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) เท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่าต้องขออนุมัติภายในกำหนดเวลา 2 ปี ดังนั้นเจ้าพนักงานประเมินย่อมขออนุมัติอธิบดีประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนดเวลา 5 ปี แม้ขณะขออนุมัติจะเกิน 2 ปี แล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4757/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับเงินชดเชยภาษีอากรโดยเท็จถือเป็นการทำละเมิด จำเลยต้องรับผิดดอกเบี้ยนับจากวันที่ธนาคารได้รับบัตรภาษี
การที่จำเลยยื่นคำขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรโดยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออก ซึ่งเป็นความเท็จ จนได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีไปจากโจทก์นั้น เป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิด จำเลยได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด จึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420, 206 และ 224 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4757/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้บัตรภาษีเท็จชำระภาษีอากรทำให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยต้องรับผิดชดใช้เงินและดอกเบี้ย
จำเลยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์อ้างว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับสินค้าส่งออกซึ่งเป็นเท็จ ความจริงจำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรตามกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากร จึงออกบัตรภาษีให้แก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ตามคำขอของจำเลย ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้นำบัตรภาษีไปใช้ชำระค่าภาษีอากรแทนเงินสดและโจทก์ได้ใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีเป็นค่าภาษีอากรแทนแล้ว โจทก์จึงนำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีดังกล่าว การกระทำของจำเลยเช่นนี้เป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายให้โจทก์เสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นการทำละเมิด ซึ่งจำเลยได้ชื่อว่าเป็นผู้ผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารดังกล่าวได้รับบัตรภาษีไปจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420, 206 และ 224 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจขายที่ดิน และการซื้อขายที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เข้าข่ายฉ้อฉล
แม้จำเลยทั้งสามมิได้ระบุเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยานหลักฐานแต่ได้ใช้เอกสารเหล่านั้นประกอบการถามค้านโจทก์ที่ 1 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วตามใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.1 ทั้งโจทก์ที่ 1 เองก็เบิกความรับรองเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 โดยยืนยันว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับหลักฐาน การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 จำเลยที่ 1 จึงอ้างเอกสารเหล่านั้นเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 แม้เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 มิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและส่งสำเนาให้โจทก์ทั้งสอง ก็หาต้องห้ามมิให้รับฟังเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด
โจทก์ทั้งสองได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองและทราบดีว่าเมื่อจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้เงินที่จำเลยที่ 3 กู้ยืมสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระค่าที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในขอบอำนาจที่โจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้ไว้ หาใช่ร่วมกันสมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารประกอบการถามค้านพยานหลักฐานที่ไม่ต้องยื่นบัญชีพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และ 90
เอกสารที่จำเลยใช้ประกอบการถามค้านโจทก์ ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานโดยโจทก์เองก็เบิกความรับรองข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3592/2549 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินและการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีที่ดินใช้ในการประกอบกิจการและถูกเวนคืนโดยความจำเป็น
แม้โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่กรุงเทพมหานครตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 แต่การโอนดังกล่าวก็เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (4)
โจทก์จำเป็นต้องมีที่ดินพิพาทไว้ใช้ในการประกอบกิจการ เพราะต้องใช้เป็นศูนย์บริการลูกค้า ไม่ใช่มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาออกมากำหนดให้ที่ดินที่โอนนั้นอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ซึ่งหากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน ดังนี้ การที่โจทก์ยอมตกลงโอนที่ดินภายใต้สภาพบังคับเช่นนี้ย่อมไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ กรณีของโจทก์เช่นนี้จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
of 29