คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เปรมใจ กิติคุณไพโรจน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 286 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเกิน 20 กรัม สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย และการริบโทรศัพท์มือถือที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลาง 11,000 เม็ด ไว้ในครอบครอง ซึ่งเมื่อคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 233.633 กรัม ซึ่งเกินกว่า 20 กรัม จึงเข้าข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสอง นอกจากนี้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ซึ่งตามบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาไม่ส่อพฤติการณ์ให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานตำรวจหลอกลวงให้รับสารภาพ โดยเฉพาะในชั้นสอบสวน พันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนได้ยืนยันการรับสารภาพและได้มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาให้จำเลยทั้งสองทราบก่อนลงมือสอบปากคำจำเลยทั้งสองอันเป็นการสอบสวนโดยชอบแล้ว ส่วนในชั้นจับกุมขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับให้เจ้าพนักงานตำรวจต้องแจ้งสิทธิก่อนทำการจับกุม จึงหาจำต้องแจ้งสิทธิดังกล่าวไม่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง
ทางนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้นำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางมาใช้สำหรับติดต่อซื้อขายยาเสพติดให้โทษในคดีนี้อย่างไร โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงไม่ใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุอื่น ซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และ 33 (2) จึงไม่อาจริบได้ตามขอ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคูความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกว่ากล่าวและสั่งคืนแก่เจ้าของได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ค่าอากรและเงินเพิ่มเป็นมูลหนี้ต่างกัน อากรเป็นหนี้หลัก เงินเพิ่มเป็นหนี้ที่เกิดตามกฎหมาย
หนี้ค่าอากรขาเข้าและเงินเพิ่มเป็นหนี้ที่กฎหมายบัญญัติให้รัฐเรียกเก็บจากเอกชนผู้ทำธุรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด หนี้ค่าอากรขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง ส่วนหนี้เงินเพิ่มเกิดขึ้นเนื่องจากผู้นำเข้าไม่ชำระค่าอากรภายในเวลาที่กำหนดกับให้เรียกเก็บนับแต่วันที่ส่งมอบตามมาตรา 112 จัตวา วรรคหนึ่ง ดังนั้นหนี้ค่าอากรกับหนี้เงินเพิ่มจึงเป็นมูลหนี้หลายราย เมื่อจำเลยชำระหนี้ไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกราย หนี้ค่าอากรเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดแก่ลูกหนี้เพราะมีภาระเงินเพิ่มตามกฎหมาย ย่อมได้เปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90-92/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คเพื่อชำระหนี้ค่าหุ้น แม้สัญญาซื้อขายหุ้นไม่ติดอากรแสตมป์ ไม่กระทบความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค
ตาม ป.รัษฎากรฯ มาตรา 118 ที่บัญญัติว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉีกหรือส่วนของตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานไม่ได้เฉพาะในคดีแพ่งเท่านั้น ส่วนในคดีอาญาไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้นำตราสารดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ด้วย
จำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่จำเลยซื้อจากโจทก์ร่วมโดยมีบันทึกสัญญาซื้อขายหุ้นมาแสดง ก็ถือได้ว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความผิดฐานครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: พยานหลักฐานต้องชัดเจนและครบถ้วน
แม้โจทก์จะมีคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าจำเลยรับว่า จำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่คนงานตัดอ้อย และมีพนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุนว่า จำเลยได้ให้ถ้อยคำไว้เช่นนั้นจริง แต่เป็นพยานบอกเล่า เมื่อโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลย ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยจะนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปจำหน่ายให้แก่ผู้ใด ที่ไหน อย่างไร แม้เมทแอมเฟตามีนจะมีจำนวนถึง 100 เม็ด เมื่อไม่ปรากฏว่าคำนวณน้ำหนักเป็นสารบริสุทธิ์แล้วถึง 20 กรัม จึงไม่ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้บังคับในขณะจำเลยกระทำความผิด
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยความตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม) และที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน จึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ส่วนกำหนดโทษตามมาตรา 67 ที่แก้ไขใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ ถือว่ากฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12488/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของป้ายที่หมดกรรมสิทธิ์แล้ว ไม่ต้องเสียภาษีป้าย แม้จะยื่นแบบแสดงรายการไว้
ตามมาตรา 7, 12, 17, 30 และ 33 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ผู้ที่เป็นเจ้าของป้ายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายเป็นรายปีตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยผู้เป็นเจ้าของป้ายต้องยื่นแบบแสดงรายการต่อราชการส่วนท้องถิ่นภายในเดือนมีนาคมของปี ตามแบบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบแสดงรายการแล้วจะทำการประเมินภาษีป้ายแล้วแจ้งการประเมินไปยังเจ้าของป้าย หากเจ้าของป้ายผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวโดยฟ้องคดีต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หากผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวผู้อุทธรณ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล
โจทก์ทำสัญญาให้สิทธิและดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง รวม 250 หลัง แก่จำเลย โจทก์บอกเลิกสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 เป็นผลให้บรรดาวัสดุก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วรวมทั้งป้ายโฆษณาที่ติดตั้งไว้ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงเป็นเจ้าของป้ายทั้งหมดนับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้เป็นเจ้าของป้ายพิพาทในปี 2544 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายในปีภาษี 2544 แม้จำเลยจะยื่นแบบแสดงรายการไว้ต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ก็ตาม การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ประเมินให้จำเลยเสียภาษีป้ายสำหรับป้ายโฆษณาดังกล่าวในปีภาษี 2544 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์ แต่คำสั่งของเจ้าพนักงานของโจทก์ที่สั่งให้จำเลยชำระภาษีป้ายตามการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลให้จำเลยต้องชำระภาษีป้ายจำนวนตามฟ้อง และจำเลยสามารถยกขึ้นต่อสู้ได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานเป็นการไม่ชอบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12488/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของป้ายที่แท้จริงมีหน้าที่เสียภาษีป้าย การประเมินภาษีป้ายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาให้สิทธิและดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางรวม 250 หลังที่ทำกับจำเลยเป็นผลให้บรรดาวัสดุก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้ว รวมทั้งป้ายโฆษณาที่ติดตั้งไว้ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลย โจทก์จึงเป็นเจ้าของป้ายทั้งหมดนับแต่วันดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของป้ายพิพาทในปี 2544 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายในปีภาษี 2544 แม้จำเลยจะยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีต่อสำนักงานเขตก็ไม่ทำให้จำเลยซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายกลับกลายเป็นต้องเสียภาษีขึ้นมา การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ทำการประเมินให้จำเลยเสียภาษีป้ายสำหรับปีภาษี 2544 จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่การอุทธรณ์การประเมินตาม พ.ร.บ. ภาษีป้ายฯ มาตรา 30 นั้น ใช้บังคับเฉพาะผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะอุทธรณ์การประเมิน ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิให้การต่อสู้ได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์เป็นการไม่ชอบ และเมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานโจทก์ไม่ชอบดังวินิจฉัยมาแล้วโจทก์ก็ไม่สามารถบังคับให้จำเลยชำระภาษีป้ายให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9254/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าทนาย: การโต้แย้งวันเริ่มนับอายุความถือเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมาย
โจทก์อุทธรณ์ว่า อายุความสองปีเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2542 นั้น ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องนับแต่วันที่ 19 กันยายน 2543 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา โจทก์ได้ทำคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องให้เสมียนทนายความไปยื่นต่อศาลแล้วแต่เสมียนทนายความมิได้นำไปยื่น อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้แย้งการเริ่มนับอายุความสองปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (16) ของศาลชั้นต้นว่าสมควรจะเริ่มนับวันใด เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง หาใช่อุทธรณ์ในข้อกฎหมายไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8600/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหยิบตุ๊กตาเข้าข่ายพนัน: เจ้าของเครื่องมีความผิด แต่ผู้เล่นไม่มีเจตนาหากไม่รู้ว่าไม่มีใบอนุญาต
เครื่องหยิบจับตุ๊กตาอัตโนมัติของกลางเป็นเครื่องเล่นไฟฟ้าอัตโนมัติซึ่งผู้เล่นต้องหยอดเหรียญ 10 บาท แล้วกดปุ่มให้เครื่องคนตุ๊กตา จากนั้นจึงจับคันโยกเลื่อนหาตำแหน่งเพื่อคีบตุ๊กตา หากค้นได้ถือว่าผู้เล่นเป็นผู้ชนะได้ตุ๊กตามีมูลค่ามากกว่าเงินที่ต้องเสียไป เป็นแรงจูงใจให้เข้าเล่น หากคีบไม่ได้ถือว่าเป็นผู้แพ้จะได้เพียงคูปองไปใช้แลกสิ่งของซึ่งมีมูลค่าไม่เกินราคาเหรียญที่หยอด ดังนั้น ถึงแม้จะเล่นคนเดียวก็สามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ระหว่างผู้เล่นกับเจ้าของเครื่อง เพราะหากผู้เล่นชนะก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเครื่องเล่น โดยสภาพเครื่องเล่นจึงมิใช่เป็นการให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินแก่ผู้เล่นเท่านั้น จึงเข้าลักษณะเป็นเครื่องเล่นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2530) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 อันเป็นการเล่นพนันตามบัญชี ข. หมายเลข 28
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเครื่องเล่นและได้ประโยชน์จากเงินที่ผู้เล่นใช้หยอดใส่ลงในเครื่องเล่นของกลางก่อนลงมือเล่น ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดให้มีการเล่นพนันดังกล่าวขึ้นเพื่อนำมาซึ่งผลประโยชน์แห่งตน
จำเลยที่ 1 เป็นผู้เข้าเล่นจะมีความผิดต่อเมื่อทราบว่าเครื่องเล่นของกลางไม่ได้รับอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นขึ้น เครื่องเล่นของกลางตั้งอยู่ในห้าสรรพสินค้าโดยเปิดเผย บุคคลทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าสามารถเข้าเล่นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 รู้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดให้มีการเล่นเครื่องเล่นของกลาง จำเลยที่ 1 จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7682/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจประเมินภาษีเกินอายุความ, การพิสูจน์ราคาตลาด, และการประเมินราคาซากรถยนต์
โจทก์อุทธรณ์คัดค้านหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานไม่ชอบ แม้เหตุผลในการคัดค้านของโจทก์จะไม่ได้ยกเรื่องการประเมินของเจ้าพนักงานขาดอายุความ ไม่ชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป.รัษฎากรไว้ในคำอุทธรณ์ด้วย แต่ข้ออ้างดังกล่าวซึ่งโจทก์ยกขึ้นอ้างในการฟ้องคดีนี้ก็เป็นเหตุผลอีกข้อหนึ่งที่โจทก์กล่าวอ้างเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อสนับสนุนว่าการประเมินของเจ้าพนักงานดังกล่าวไม่ชอบนั่นเอง ทั้ง ป. รัษฎากร มาตรา 30 (2) ก็มิได้บัญญัติว่าการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลจะต้องอ้างเหตุผลเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าว โจทก์จึงอ้างถึงเหตุอื่นนอกเหนือจากที่เคยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการดังกล่าวได้
จำเลยให้การรับว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องเกิน 2 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มจริง แต่ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว การประเมินของเจ้าพนักงานจำเลยจึงชอบด้วยมาตรา 88/6 แห่ง ป.รัษฎากร จำเลยจึงเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจประเมินโดยได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้ว หน้าที่นำสืบจึงตกแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าอธิบดีกรมสรรพากรได้มอบอำนาจให้ จ. มีอำนาจอนุมัติให้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 88/6 แห่ง ป. รัษฎากรแทนอธิบดีแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเกิน 2 ปี นับแต่วันยื่นแบบแสดงรายการ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด
โจทก์นำสืบแสดงให้เห็นว่าราคาตลาดของสารเคมีไม่อาจกำหนดให้แน่นอนตายตัวได้ ทั้งนำผู้ซื้อสินค้าจากโจทก์และซื้อจากผู้อื่นมาสืบแสดงถึงราคาที่ได้ซื้อไปจากบริษัทอื่นว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดแล้ว ส่วนจำเลยไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างว่าราคาดังกล่าวไม่ใช่ราคาตลาดเพราะมีบริษัทอื่นขายไปในราคาสูงกว่าที่โจทก์ขายซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาแจ้งราคาตลาดไม่ตรงกับความจริง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้ขายตามราคาตลาด จำเลยจึงไม่มีสิทธิให้เอาราคาทุนเป็นราคาตลาด
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทในเดือนธันวาคม 2533 แล้วขายไปในเดือนพฤษภาคม 2538 ในราคา 200,000 บาท อ้างว่าคนขับขับรถไปเกิดอุบัติเหตุพังทั้งคัน จึงขายไปในสภาพซากรถ แต่ปรากฏว่ารถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้ทำประกันภัยไว้ทั้งๆที่โจทก์ทำประกันภัยรถยนต์คันอื่นของโจทก์ทุกคัน บันทึกการแจ้งความก็ไม่ได้ระบุว่าการเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวทำให้รถอยู่ในสภาพเสียหายใช้การไม่ได้อย่างไร ทั้งโจทก์ยังไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้ดำเนินการอย่างใดในการที่จะได้รับชดใช้มูลค่าของรถที่โจทก์สูญเสียไปไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท หากคิดตามราคาตลาดของรถยนต์รุ่นเดียวกับโจทก์ที่ซื้อขายกันในขณะนั้น หากรถยนต์ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ การที่จำเลยประเมินราคาขายรถยนต์ดังกล่าวตามราคาตลาด จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7626/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนกู้ยืมเงิน: ความรับผิดของตัวการต่อตัวแทนเมื่อชำระหนี้
โจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยในการกู้ยืมเงินจากธนาคาร แล้วนำเงินที่กู้ยืมมามอบให้จำเลย แม้การเป็นตัวแทนในการกู้ยืมเงินจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 798 วรรคสอง ก็มีผลบังคับกันได้ระหว่างตัวการกับตัวแทน เมื่อโจทก์ถูกบังคับชำระหนี้ที่กู้ยืม จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่โจทก์ต้องเสียไปคืนให้โจทก์
of 29