คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 228 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 876/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความน่าเชื่อถือของพยานบอกเล่าและพยานหลักฐานอื่นเพื่อพิสูจน์ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น และอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน
ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 18 บัญญัติให้ข้าราชการตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป มีอำนาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดในเขตอำนาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับภายในเขตอำนาจของตนได้ จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบเพราะ ร. เป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 1 ซึ่งเป็นผู้สอบสวนประจักษ์พยานโจทก์ทั้งหมด แต่ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้คดีที่มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเป็นพนักงานสอบสวนสัญญาบัตร 3 นั้น เมื่อคดีนี้เหตุเกิดในเขตอำนาจของสถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ที่ ร. ประจำอยู่ ร. จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ ส่วนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นระเบียบซึ่งกำหนดวิธีการบริหารภายในของราชการตำรวจ มิได้ทำให้อำนาจการสอบสวนที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. ต้องเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 อำนาจอยู่ที่ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดี
ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาดังเช่นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ แม้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะตรวจสำนวนหลังมีคำพิพากษา หรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือสั่งคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่ก็เป็นการสั่งคำร้องที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ตรวจสำนวนเพื่อระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีต่าง ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (2) ถึง (4) เมื่อคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น จึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11903/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับฎีกา: อำนาจศาลในการส่งเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา
โจทก์ยื่นคำร้องว่าเดิมโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีรวม 7 คน รับรองให้โจทก์ฎีกา แต่ผู้พิพากษา 2 คน ไม่รับรองให้ฎีกา จึงเหลือผู้พิพากษาอีก 5 คน ที่ยังไม่ได้พิจารณารับรอง การที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่าผู้พิพากษาที่มีสิทธิรับรองฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ผู้พิพากษาอีก 5 คน พิจารณารับรองแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของโจทก์ โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11527/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษคดียาเสพติด: กฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย แม้มีการแก้ไขโทษ
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลปรับบทลงโทษและกำหนดโทษใหม่ โดยอ้างว่าเมื่อคดีถึงที่สุดและระหว่างที่จำเลยที่ 3 ต้องโทษมี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 65 และมาตรา 66 กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีเพียงว่าศาลจะปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยที่ 3 ใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ได้หรือไม่ เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 3 มีเฮโรอีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันผลิตเฮโรอีนเพื่อจำหน่ายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใดยุติไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาซึ่งถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 3 จะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอกำหนดโทษใหม่อีกไม่ได้
เฮโรอีนของกลางที่จำเลยที่ 3 ร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่ายโดยการแบ่งบรรจุ คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 130.4 กรัม เฮโรอีนของกลางจึงมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป ตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่แก้ไขใหม่ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ไม่ต้องด้วยบทกำหนดโทษในมาตรา 65 วรรคสามและวรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ แต่ต้องด้วยบทกำหนดโทษมาตรา 65 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิต ส่วนมาตรา 65 วรรคสอง เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยที่ 3 กระทำความผิด มีระวางโทษประหารชีวิตเช่นเดียวกัน โทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 คำร้องของจำเลยที่ 3 ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11176/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากเป็นการคัดลอกอุทธรณ์ และแก้ไขโทษฐานยาเสพติดที่ศาลชั้นต้นคำนวณผิด
ฎีกาของจำเลยที่ 1 คัดลอกข้อความในอุทธรณ์ชนิดคำต่อคำมาไว้ในฎีกา เพียงแต่ตัดข้อความในอุทธรณ์หน้า 8 ย่อหน้าที่ 1 หน้า 9 ถึงหน้า 11 บรรทัดที่ 1 ถึงที่ 3 ออกเท่านั้น มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดขึ้นคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด อย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ส่วนที่ศาลชั้นต้นลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เป็นจำคุก 10 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนนั้น เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นคำนวณโทษที่เพิ่มไม่ถูกต้องอันเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย อาศัยอำนาจตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 143 ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวในคำพิพากษาได้ และให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 1 ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11065/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราไม่สำเร็จ ศาลลงโทษฐานกระทำอนาจารแทนได้
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า วันเวลาเกิดเหตุจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายกดตัวผู้เสียหายลงกับพื้น ใช้มือชกที่บริเวณท้องและปากของผู้เสียหาย แล้วจำเลยฉีกกระชากกระโปรงของผู้เสียหายจนขาด ผู้เสียหายร้องให้คนช่วยและมีผู้เข้าช่วยเหลือ ดังนี้ ลักษณะการกระทำของจำเลยดังกล่าวยังไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยฐานนี้ไม่ได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 278 อันเป็นความผิดที่รวมการกระทำตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ด้วยแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9848/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษปรับเป็นรายวันโดยศาลอุทธรณ์ และข้อจำกัดในการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คดีนี้ ศาลชั้นต้นจำคุกจำเลย 3 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ ยกคำขอ ให้ปรับจำเลยเป็นรายวัน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษปรับจำเลยเป็นรายวัน วันละ 2,000 บาท แม้จะเป็นการเพิ่มโทษปรับจำเลย แต่กรณีเป็นการแก้ไขเฉพาะโทษอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยหยุดประกอบกิจการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 จึงไม่สามารถปรับรายวันจำเลยนับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2550 นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9377/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลระหว่างพิจารณาคดีอาญา: การอนุญาตให้ผู้สืบสันดานดำเนินคดีแทนผู้ตาย การห้ามฎีกา
เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์แล้ว จึงต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อนุญาตให้นาย ช. และนาย ธ. ผู้ร้องทั้งสองเข้าดำเนินคดีต่างผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 29 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8604/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฎีกาในคดียาเสพติด: ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโดยไม่ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย ถือไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาไม่รับฎีกา
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" เมื่อผู้คัดค้านยื่นฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ศาลฎีการับฎีกาของผู้คัดค้านไว้วินิจฉัย การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของผู้คัดค้านว่า รวม และสั่งรับฎีกาผู้คัดค้าน โดยไม่ส่งคำร้องของผู้คัดค้านให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจะรับฎีกาผู้คัดค้านหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินไม่เป็นปัญหาสำคัญที่ศาลฎีกาควรจะได้วินิจฉัย จึงไม่อนุญาตให้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6798/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีอาญาตามฟ้องเดิม ศาลไม่อาจลงโทษฐานความผิดอื่นนอกเหนือจากที่ระบุในฟ้อง แม้มีพยานหลักฐานสนับสนุน
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันตระเตรียมอาวุธมาทำร้ายผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองเข้ามาดำเนินคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ เมื่อคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 290 วรรคสองได้ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
of 23