คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 228 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6137/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญา: การบรรยายรายละเอียดเวลาและตัวบุคคลร่วมกระทำความผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2546 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน ซึ่งเป็นเยาวชนแยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ร่วมกันวิ่งราวทรัพย์เอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยฉกฉวยเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายที่เก็บรักษาไว้ในเคหสถานซึ่งเป็นร้านอาหารและที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายไปซึ่งหน้า และใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา อีกทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนเวลาเกิดเหตุเป็นเวลากี่นาฬิกาก่อนเวลาเที่ยงคืน และเยาวชนที่ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นใครและแยกไปดำเนินคดีที่ศาลใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดต่อเนื่องคดียาเสพติด: อำนาจสอบสวนและความต่อเนื่องของการกระทำความผิด
เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจับกุม ว. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งเป็นของกลาง จึงได้วางแผนให้ ว. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยและ ป. อีก จนจับกุมจำเลยและ ป. ได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนซึ่งเป็นท้องที่ที่ ว. โทรศัพท์ล่อซื้อและสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยและ ป. พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3734/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีบุกรุกต้องระบุเจตนา รบกวนการครอบครองชัดเจน มิฉะนั้นฟ้องไม่ชอบ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นสถานที่ราชการ โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่เข้าไปในบริเวณศาลจังหวัดนนทบุรีเพื่อยึดถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดหรือบางส่วนนั้น หรือเข้าไปกระทำการใดๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข อันเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดฐานร่วมกันบุกรุกในข้อสาระสำคัญตาม ป.อ. มาตรา 362 การบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่เข้าไปในบริเวณศาลจังหวัดนนทบุรีโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็ยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกเพื่อรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นโดยปกติสุข ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลจะลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13803/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: แก้ไขโทษจำคุกเล็กน้อย ศาลอุทธรณ์ ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงบทมาตรา จึงไม่อาจฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี โดยมิได้แก้บทมาตราเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก จำเลยฎีกาว่า จ่าสิบตำรวจ ว. ผู้ร่วมจับกุมจำเลยไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองเคตามีน การแก้ไขบันทึกการจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้กระทำขึ้นเองโดยจำเลยไม่ได้รู้เห็นด้วย ทั้งบันทึกดังกล่าวมิได้ทำขึ้น ณ สถานที่จับกุมจึงรับฟังไม่ได้ และหากศาลฟังว่าจำเลยกระทำความผิด ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและดุลพินิจในการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10427/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่ชอบเนื่องจากเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขโทษเพียงเล็กน้อย
ศาลชั้นต้นรับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมประกอบคำรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยแล้ว เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามความเป็นจริง ฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์แต่เฉพาะปัญหาข้อเท็จจริงว่า คำเบิกความของพยานโจทก์มีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ และจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมโดยไม่สมัครใจเนื่องจากถูกข่มขู่และทำร้ายร่างกาย ศาลอุทธรณ์รับฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมแล้ว ฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโดยมิได้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยมาฟังลงโทษจำเลยแต่อย่างใด ที่จำเลยฎีกาว่า คำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย จึงเป็นฎีกาที่โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6285-6286/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติด: โจทก์ไม่จำเป็นต้องระบุจำนวนเงินในคำร้อง
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 และมาตรา 27 มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินเกี่ยวกับการกระทำผิดว่าจะต้องระบุว่าเป็นเงินจำนวนเท่าใดแน่นอนลงไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่จำเป็นที่ต้องบรรยายถึงจำนวนเงินที่เหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากในคำร้อง แต่เป็นรายละเอียดที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา คำร้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5240/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงผ่อนชำระหนี้เช็คไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิฟ้องอาญาไม่ระงับ
ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่มีข้อความว่า จำเลยจะชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวนเต็มตามฟ้องโดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนจนกว่าจะครบถ้วนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี หากโจทก์ได้รับชำระครบถ้วนแล้ว โจทก์จะถอนฟ้องคดีนั้น เป็นข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้ตามเช็คเท่านั้น และตามข้อตกลงดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในทันที จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาทให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3852/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาห้ามอุทธรณ์ความผิดประมาทฯ และศาลฎีกายกคำร้องขอรอการลงโทษอาวุธปืน
ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 390 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานนี้กับความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรณีต่างกรรมกันโดยมิใช่เป็นเรื่องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับพิจารณาความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะต้องรับพิจารณาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 390 ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และยุติไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 390 และพิพากษาจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและไม่ปรับจึงไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อจำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษในความผิดดังกล่าว จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3591/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพชั้นจับกุมใช้ยันจำเลยได้ แม้มีกฎหมายใหม่ห้ามรับฟัง แต่ไม่มีผลย้อนหลัง การสอบสวนชอบด้วยกฎหมาย
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีบทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 84 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป บัญญัติว่า "ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน..." ก็ไม่มีผลย้อนหลังไปกระทบถึงคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยดังกล่าวที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมจึงใช้ยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้
บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป เมื่อพนักงานสอบสวนสอบถามคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ต้องหาในวันที่ 10 ตุลาคม 2547 ก่อนวันที่บทบัญญัติมาตรา 134/1 มีผลใช้บังคับ จึงไม่อาจนำมาตรา 134/1 มาใช้บังคับแก่การสอบถามคำให้การของจำเลยในคดีนี้ได้ การสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2246/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริง: ดุลพินิจผู้พิพากษาและเจตนารมณ์ในการอนุญาต
การอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 22 ทวิ นั้น ไม่จำต้องใช้ถ้อยคำเคร่งครัดตามตัวบทกฎหมาย แต่ต้องแปลความไปในทางที่ให้เป็นผลมากกว่าไร้ผลและต้องถือตามเจตนารมณ์ของผู้พิพากษาที่อนุญาตให้อุทธรณ์ด้วย เมื่อมีคำสั่งว่า "อุทธรณ์ของโจทก์มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ จึงรับรองให้อุทธรณ์" และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ในวันเดียวกัน ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้พิพากษาที่รับรองได้อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว จึงต้องรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
of 23