คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมชาย พงษธา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 609 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1182/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องล้มละลายไม่เป็นฟ้องซ้ำ แม้คดีก่อนจำหน่ายเนื่องจากขาดนัด และจำเลยยังผูกพันตามคำพิพากษาเดิม
โจทก์เคยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายในคดีก่อน แต่โจทก์ขาดนัดพิจารณาและศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์แล้วโดยที่ยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยใหม่เป็นคดีนี้โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
นอกจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้เดิมที่มีต่อจำเลยโดยทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์กับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) โดยชอบแล้ว จำเลยยังคงต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีแพ่งที่วินิจฉัยว่า ปรส. มีอำนาจในการขายสินทรัพย์จนกว่าคำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย จำเลยจึงเป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวและเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนแล้ว แม้จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ กรณีก็ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สั่งการออกเสียงเจ้าหนี้ในคดีล้มละลาย และผลต่อการลงมติยอมรับประนอมหนี้
การออกเสียงลงมติของเจ้าหนี้มีผู้คัดค้านในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 35 วรรคสอง ซึ่งให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งว่าจะให้เจ้าหนี้ดังกล่าวที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว แต่ศาลยังไม่ได้พิจารณามีคำสั่งขอรับชำระหนี้ให้มีสิทธิออกเสียงในจำนวนหนี้เท่าใดเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถสั่งในขณะนั้นได้ ในคดีนี้ได้ความว่ามีเจ้าหนี้คัดค้านการออกเสียงของผู้ร้อง และผู้คัดค้านได้สอบสวนคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเสร็จสิ้นจนมีความเห็นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องแล้ว แสดงว่าผู้คัดค้านสามารถพิจารณาสั่งให้ผู้ร้องออกเสียงได้เท่าใดหรือไม่จากพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคำขอรับชำระหนี้แล้ว แม้ระหว่างระยะเวลาผู้คัดค้านแก้ฎีกาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้แล้วบางส่วน แต่ไม่ปรากฏว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด และไม่ว่าผู้ร้องจะมีสิทธิออกเสียงในการประชุมเต็มจำนวนหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ หรือเป็นจำนวนตามที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาต เมื่อนำยอดหนี้ดังกล่าวไปรวมกับยอดหนี้ของเจ้าหนี้ที่ลงมติไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแล้ว มติของเจ้าหนี้ที่ออกเสียงยอมรับคำขอประนอมหนี้ก็ยังคงเป็นมติพิเศษของเจ้าหนี้ฝ่ายข้างมากที่มีจำนวนหนี้มากกว่าสามในสี่แห่งจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้เข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนในมตินั้นตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ทั้งคำสั่งของผู้คัดค้านที่ไม่ให้ผู้ร้องออกเสียงลงมติในการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกดังกล่าวหาได้มีผลไปถึงการประชุมเจ้าหนี้ในครั้งต่อไปหรือมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำขอรับชำระหนี้แต่ประการใด คำสั่งของผู้คัดค้านที่ไม่อนุญาตให้ผู้ร้องออกเสียงในที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 383/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.ก. บสท. ต้องเริ่มด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ การทวงหนี้อย่างเดียวไม่ถือว่าเป็นการไม่ให้ความร่วมมือ
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษให้ บ.ส.ท.คือ ผู้ร้องมีสิทธิดำเนินกระบวนการพิจารณาแก่ลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่ผู้ร้องรับโอนมาโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ทั่วไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 และศาลมีอำนาจที่จะสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้โดยไม่จำต้องดำเนินการไต่สวนก่อนหากได้ความแน่ชัดตามคำร้องและเอกสารท้ายคำร้องแล้วว่าลูกหนี้ดังกล่าวไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่งโดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ หรือยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของตน
คดีนี้ก่อนยื่นคำร้องผู้ร้องเพียงมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ลูกหนี้ทั้งสี่ชำระหนี้ มิใช่กำหนดนัดให้ลูกหนี้ทั้งสี่มาเจรจากับผู้ร้องเพื่อเสนอแนวทางปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 57 วรรคสี่ (1) ถึง (5) กรณีจึงถือไม่ได้ว่าได้มีการเริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างผู้ร้องกับลูกหนี้ทั้งสี่แล้ว ซึ่งหากลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในหนังสือบอกกล่าวทวงถามดังกล่าวก็เป็นเพียงได้ชื่อว่าผิดนัดเท่านั้น แต่จะถือไม่ได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงที่ 3 เด็ดขาด และเนื่องจากคดีเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยหนี้ของลูกหนี้ทั้งสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาพิพากษาให้มีผลถึงลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1), 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์หนี้ในคดีล้มละลาย: เจ้าหนี้ต้องนำสืบหลักฐานเอง และหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังรู้ฐานะลูกหนี้ไม่อาจขอรับชำระได้
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 105 ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเรื่องหนี้สินที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่ขอรับชำระนั้นต่อศาลโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้นั้นว่าต้องกระทำเมื่อใด การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นเสนอต่อศาลล้มละลายกลางว่าเห็นควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียนั้นมีผลเท่ากับว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้โต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ การทำความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในส่วนนี้จึงชอบแล้ว
เจ้าหนี้ทราบว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะมีหนี้สินล้นพ้นตัวถูกฟ้องให้ล้มละลาย เมื่อลูกหนี้ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการและศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการปรากฏว่าที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการ ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แสดงให้เห็นว่ากิจการของลูกหนี้ไม่อาจดำเนินต่อไปได้ การที่เจ้าหนี้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินไปย่อมไม่ใช่หนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้กระทำขึ้นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ดำเนินต่อไปได้ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่เจ้าหนี้อาจนำไปขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 (2) ตอนท้าย แต่เป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้กระทำขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ซึ่งต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 (2) ตอนต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด บสท. ต้องส่งคำร้องให้ลูกหนี้คัดค้านก่อน แม้มีอำนาจพิเศษตาม พ.ร.ก. บสท.
แม้ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ มาตรา 58 วรรคสี่ บัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ผู้ร้องมีสิทธิดำเนินกระบวนการพิจารณากับลูกหนี้สินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่ผู้ร้องรับโอนมาโดยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้สั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ทั่วไปตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดโดยทันทีแต่อย่างใด
เมื่อปรากฏตามสำเนาหนังสือและสำเนาใบตอบรับเอกสารท้ายคำร้องแล้วว่า ก่อนยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ร้องส่งหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้มาเสนอแนวทางในการปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ร้องไปยังภูมิลำเนาของลูกหนี้จำนวน 2 ครั้ง มีเพียงพนักงานรักษาความปลอดภัยของอาคารเป็นผู้รับแทน ส่วนสำนักงานที่ทำการของลูกหนี้ตั้งอยู่เฉพาะชั้นที่ 6 กรณีจึงยังไม่อาจนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาฟังยุติเพื่อให้ได้ความแน่ชัดแล้วว่าลูกหนี้ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเพิกเฉยไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ การที่ศาลล้มละลายกลางตรวจพิจารณาคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดทันทีโดยมิได้กำหนดนัดไต่สวนคำร้องและส่งสำเนาคำร้องเพื่อให้โอกาสลูกหนี้ได้คัดค้านก่อนนั้น จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ มาตรา 58 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วมกันของหุ้นส่วนผู้จัดการในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด และการล้มละลาย
คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่เป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 2 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การโต้แย้งว่าหนังสือรับรองเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้สินของห้างจำเลยที่ 1 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070, 1077 (2), 1080 และมาตรา 1087 เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาด คดีถึงที่สุดแล้วตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้ตามฟ้องกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้เถียงว่าตนเองมิใช่เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวอีกได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์มีจำนวน 5,813,980.32 บาท และจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย คดีย่อมมีเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินในคดีล้มละลาย: ศาลวินิจฉัยถูกต้องตามขั้นตอนและกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด
ในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรกวันที่ 29 เมษายน 2545 ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่าได้ตรวจคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน ข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองแล้ว เห็นว่าพอวินิจฉัยได้ให้งดไต่สวนพยานทั้งสองฝ่าย นัดฟังคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีในวันที่ 24 พฤษภาคม 2545 เช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินของผู้ร้องและคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสอง มิได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 24 และคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองมิได้โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153 (เดิม)
การกระทำในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายตามบทบัญญัติมาตรา 114 (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 คือ ก่อนมีการฟ้องขอให้ล้มละลาย เมื่อการโอนที่ดินพิพาทในคดีนี้กระทำเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2535 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2538 จึงเป็นการโอนภายในระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6012/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการสอบสวนคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย: ดุลพินิจและสิทธิโจทก์
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 160 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำการสอบสวนและทำความเห็นคดีอาญาในฐานะพนักงานสอบสวนได้นั้นจะต้องปรากฏว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดในทางอาญาเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ที่จะสอบสวนกรณีเดียวกันนี้ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจรายงานการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและบันทึกการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยในสำนวนแล้วมีคำสั่งไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยและกรรมการบริษัทจำเลยตามคำร้องของโจทก์ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยหรือผู้หนึ่งผู้ใดกระทำผิดในทางอาญาเกี่ยวกับการล้มละลายจึงมิได้ทำการสอบสวนผู้ใด ซึ่งเป็นดุลพินิจและอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 160 วรรคหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้ด้วยตนเองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7), 2 (8) ประกอบมาตรา 28 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5667/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้ภาษีอากรในคดีฟื้นฟูกิจการ: หลักเกณฑ์และฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 และ 90/60 ประสงค์ให้หนี้ที่อาจขอรับชำระได้ทุกประเภทซึ่งเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จไป นอกจากนี้กรณีใดที่ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น แผนฟื้นฟูกิจการจึงกำหนดให้ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม หรือลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการรวมทั้งกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ตามแผนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5520/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สัญญากู้ยืมเงินเป็นหลักฐานในคดีแพ่ง จำเป็นต้องปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตั้งแต่แรก
สัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนมาแต่ต้น โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขออนุญาตปิดอากรแสตมป์ในสัญญากู้ก่อนหรือในขณะที่ได้นำเอกสารนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งหรือก่อนที่ศาลชั้นต้นจะตัดสินชี้ขาดคดี การที่โจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาคดีแล้ว ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะอนุญาตให้ทำการแก้ไข ฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินไปปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วน แล้วส่งคืนเข้าสำนวนในชั้นฎีกา จึงเป็นการไม่ชอบ และถือว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวยังคงเป็นตราสารที่ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน โจทก์จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมมาแสดง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีได้.
of 61