คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เกษม วีรวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 276 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6941/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีถึงที่สุดหลังศาลฎีกายกคำร้องอุทธรณ์ไม่รับฎีกา การขอออกหนังสือสำคัญแสดงคดีถึงที่สุดชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยมิได้นำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์มาวางศาล ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ฎีกาคำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งที่ไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาเกินกำหนด 15 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ประกอบ มาตรา 247 อันมีผลทำให้คำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยที่ 3 ถึงที่สุดนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2546 ซึ่งเป็นวันที่ได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาให้จำเลยที่ 3 ฟัง และถือว่าคดีถึงที่สุดแล้วในวันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจมายื่นคำแถลงขอวางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นการเริ่มดำเนินการเพื่อให้กลับไปสู่การวินิจฉัยในเรื่องการรับอุทธรณ์คำพิพากษาของจำเลยที่ 3 ซึ่งถึงที่สุดไปแล้วได้อีก โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหนังสือสำคัญเพื่อแสดงว่าคดีนี้ถึงที่สุดแล้วได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6906/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งศาลที่ไม่ชอบ และการพิจารณาคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ถูกจำกัดสิทธิ
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยจากจำคุก 1 ปี เป็นจำคุก 6 เดือน โดยมิได้แก้บทมาตราด้วย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า กรณีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลย เป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการที่ไม่ชอบของศาลชั้นต้น และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความเท็จ, ปลอมแปลงเอกสาร, และความผิดตาม พรบ. ห้างหุ้นส่วนฯ ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าโจทก์มีมูลความผิด
บริษัทโจทก์ที่ 5 เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนด้านทรัพย์สินและการเงินในกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 5 มิได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ประกอบกับการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามคำฟ้องมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ต้องถูกปรับออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พาดพิงไปถึงโจทก์ที่ 5 อันจะถือว่าโจทก์ที่ 5 ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์ที่ 5 มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งห้า โจทก์ที่ 5 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 5
จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำรายงานการประชุมของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการทำบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นตามหน้าที่ของตนและลงลายมือชื่อตนเองเป็นประธานที่ประชุม มิได้ทำในนามของบุคคลอื่น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 แม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการประชุมดังกล่าว ก็เป็นการทำเอกสารอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการปลอมเอกสาร การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264, 268

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6324/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคำรับสารภาพ, พยานหลักฐาน, และการริบของกลางในคดีอาญา
กระสุนปืนลูกซองของกลางจำนวน 4 นัด ได้ใช้ทดลองยิงหมดแล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ริบกระสุนปืนลูกซองจำนวน 4 นัด ของกลางด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะการริบทรัพย์สินเป็นการเอาทรัพย์สินที่ริบเป็นของแผ่นดิน ดังนั้นทรัพย์สินที่จะริบต้องมีตัวอยู่ ถ้าทรัพย์สินที่จะริบไม่มีอยู่ย่อมสั่งริบไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5342/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาททั้งสองฝ่ายในคดีขับรถชน ผู้ตายมีส่วนผิด ไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์
ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามฟ้องโจทก์ว่า เหตุที่รถทั้งสองเกิดเฉี่ยวชนกันทำให้รถยนต์ทั้งสองคันเสียหายและผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม มาตรา 30 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ศ. บุตรผู้ตายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5188/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทมาตราความผิดทางอาญา: ศาลฎีกามีอำนาจปรับแก้บทมาตราที่โจทก์ฟ้องผิดได้ แม้จำเลยไม่ฎีกา
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และมาตรา 390 มิใช่ได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ที่โจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การรับสารภาพว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีเป็นเรื่องโจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายที่ลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4973/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำกัดสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในคดีเยาวชน กรณีศาลกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน
ในคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 ที่มิใช่การพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักหรืออบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปีแล้วย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 121 และคู่ความจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวตามมาตรา 122 เท่านั้น สำหรับการฎีกา มาตรา 124 บัญญัติว่าคดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121 ซึ่งมีความหมายว่าคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้น ย่อมต้องห้ามฎีกาด้วย โดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่น กรณีอุทธรณ์ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้วก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ด้วย และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4691/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การกระทำโดยประมาทจากความผิดจราจรเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องลงโทษตามกฎหมายอาญาโทษหนักสุด
การจอดรถกีดขวางการจราจร และการใช้รถที่บรรทุกเกินความยาวของตัวรถโดยไม่ติธงสัญญาณตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57 (15) กับการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอันเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 291 ตามฟ้องนั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำในครั้งคราวเดียวที่ต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน อันเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในเรื่องดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4617/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกักขังที่บ้านต้องเหมาะสมกับสภาพผู้ต้องกักขัง ศาลไม่เห็นด้วยกับการกักขังจำเลยที่บ้านเพราะเหตุผลด้านครอบครัว
เหตุที่จำเลยอ้างว่าการกักขังไม่เป็นผลดีต่อครอบครัวจำเลย จำเลยมีภริยาและบุตรที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู ต้องขับรถไปส่งภริยาเพื่อไปค้าขายที่ตลาดทุกวันเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว จึงขอให้จำเลยถูกกักขังอยู่ที่บ้านของจำเลย โดยให้ภรรยาเป็นผู้ควบคุมความประพฤติของจำเลยนั้น ยังไม่พอฟังว่าการกักขังจำเลยไว้ที่บ้านของจำเลยจะมีความเหมาะสมกับประเภทหรือสภาพของจำเลยอย่างไร จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะสั่งให้กักขังจำเลยไว้ที่บ้านของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษอาญา: วันพ้นโทษสำคัญกว่าวันครบกำหนดรอการลงโทษ
ตาม ป.อ. มาตรา 92 นั้น ผู้ที่จะถูกเพิ่มโทษได้จะต้องเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกและได้กระทำความผิดขึ้นอีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษคำคุกในคดีก่อน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนโดยให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี กรณีเช่นนี้จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษได้ แม้ว่าจำเลยจะมาทำความผิดคดีนี้ขึ้นอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็ตาม ก็เพิ่มโทษมิได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 28