คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เกษม วีรวงศ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 276 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20338/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้แทนบุคคลอื่นโดยมีเงื่อนไข การหักบัญชีหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย
การที่โจทก์สั่งจ่ายเช็ค 13 ฉบับ ระบุชำระหนี้เงินต้นแทน ส. และเช็คทุกฉบับเรียกเก็บเงินได้แล้ว โดยจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวทั้งที่อาจปฏิเสธได้เพราะเป็นการชำระหนี้แตกต่างจากที่ ป.พ.พ. มาตรา 329 กำหนด จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าจะนำเงินจำนวนตามเช็คไปหักชำระหนี้ของ ส. เฉพาะเงินต้นเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงนำไปหักชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ก่อนมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11195/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานค้ามนุษย์, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี, และช่วยเหลือคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
มาตรา 7 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ.2540 ของกฎหมายเดิมบัญญัติว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง คนหนึ่งคนใดได้ลงมือกระทำความผิดตามที่สมคบกันไปแล้ว ผู้ร่วมสมคบด้วยกันทุกคนต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นอีกกระทงหนึ่งด้วยนั้น เป็นเพียงบทบัญญัติประกอบการลงโทษบุคคลที่ร่วมสมคบกันกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งแล้ว มิใช่ฐานความผิดหรือบทกำหนดความผิดและกำหนดโทษในตัวเองที่จะใช้ลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดโดยตรง และการที่มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดให้ลงโทษผู้ร่วมสมคบตามวรรคหนึ่งทุกคนตามฐานความผิดที่มีการกระทำลงอีกกระทงหนึ่งด้วย แสดงอยู่ว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ให้ลงโทษฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้าหญิงและเด็กตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานที่ได้มีการกระทำลงแยกต่างหากจากกันเป็นคนละกระทงกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน มิใช่ความผิดกรรมเดียวกัน
ความผิดฐานเป็นเจ้าของ ผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี กับฐานเป็นธุระจัดหา ล่อไปหรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณีตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคสอง และมาตรา 11 วรรคสอง เป็นความผิดที่อาศัยเจตนาต่างกันและมีองค์ประกอบความผิดต่างกัน จึงเป็นความผิดต่างกรรม แต่โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวร่วมกันมาในข้อเดียว ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในทุกฐานความผิดดังกล่าวเพียงกรรมเดียว หาได้มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทั้งสามเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 จึงลงโทษจำเลยทั้งสามสำหรับความผิดในฟ้องข้อนี้ได้เพียงกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประมูลขายทรัพย์สิน: สิทธิในการริบเงินมัดจำและเรียกค่าเสียหายเมื่อผู้ชนะไม่ชำระราคา
บทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 516 เป็นเพียงการกำหนดความรับผิดชอบชดใช้เงินส่วนที่ขาดไปหากนำทรัพย์สินนั้นออกขายซ้ำอีกครั้งหนึ่งแล้วได้เงินไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิมเท่านั้น มิได้บังคับว่าจะต้องทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินใหม่อีกครั้งหนึ่งเสมอไป เพราะเมื่อพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 510 ประกอบด้วยแล้วจะเห็นว่า ผู้ทอดตลาดสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ในคำโฆษณาบอกขายและตามความข้ออื่น ๆ ก็ได้ โดยโจทก์ได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ให้จำเลยและบุคคลอื่นที่เข้าประมูลซื้อทรัพย์สินของโจทก์ทราบก่อนแล้ว และจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่อรับทราบข้อกำหนดดังกล่าวของโจทก์และจำเลยจะปฏิบัติตามข้อกำหนดของโจทก์ทุกประการตามใบเสนอราคาทรัพย์สินของจำเลย เมื่อจำเลยในฐานะผู้ชนะการประมูลราคาทรัพย์สินของโจทก์เพราะจำเลยเป็นผู้ให้ราคาสูงสุด แต่จำเลยไม่ชำระราคาทรัพย์สินภายในเวลาที่กำหนดจึงถือว่าจำเลยสละสิทธิในการประมูลดังกล่าวและโจทก์มีสิทธิริบเงินมัดจำซองกับมีสิทธิให้ ช. ผู้ให้ราคาประมูลสูงสุดเป็นอันดับที่สอง เป็นผู้ชนะการประมูลทรัพย์สินของโจทก์ต่อไปและโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินส่วนต่างที่โจทก์ควรจะได้รับจากจำเลยอีกด้วย เพราะการที่โจทก์ประกาศข้อกำหนดการประมูลราคาทรัพย์สินโดยไม่ได้ประกาศอีกครั้งหนึ่งนั้นเป็นข้อสัญญาเฉพาะรายที่กำหนดขึ้นไว้เพื่อประโยชน์แก่การประมูลขายทรัพย์สินเท่านั้น ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 516 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายบัตรประจำตัวประชาชนและการบังคับใช้กฎหมายเดิมกับจำเลยในความผิดฐานใช้บัตรปลอม
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2554 มาตรา 11 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 โดยมาตรา 14 วรรคสี่ เดิม ที่บัญญัติว่า "ถ้าผู้กระทำความผิดหรือผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม (1) (2) (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสามแสนบาท" แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว กฎหมายใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 1 ส่วนมาตรา 14 (2) (3) วรรคหนึ่ง เดิม และ มาตรา 14 (3) (4) วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่มีองค์ประกอบความผิดและอัตราโทษเหมือนกัน กฎหมายใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยที่ 1 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องรวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินมรดกและการรอนสิทธิข้างเคียงกรณีบ่อส้วมละเมิดระยะร่น
แม้ขณะฟ้องคดี โจทก์จะไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 137029 แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ห. บิดาโจทก์ ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวมาตั้งแต่ที่ดินยังไม่มีเอกสารสิทธิ ต่อมาจึงออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเมื่อปี 2543 ห. ยกที่ดินให้โจทก์เมื่อ 27 ปี ก่อน ขณะเป็นที่ดินมือเปล่า ซึ่งย่อมโอนให้แก่กันได้โดยเพียงเจ้าของแสดงเจตนาสละการครอบครอง เมื่อโจทก์เข้าครอบครองปลูกบ้านพักอาศัยในที่ดินพิพาทนับแต่เวลานั้น โจทก์จึงมีสิทธิครอบครองส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 137030 ที่อยู่ติดกัน แม้จะระบุชื่อ อ. สามีจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิเพียงคนเดียวก็ตาม แต่ก็ได้ความว่าที่ดินแปลงนี้ อ. กับจำเลยร่วมกันซื้อมา เมื่อ อ. เสียชีวิตแต่ยังมิได้เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินทางทะเบียน ที่ดินส่วนที่เป็นของ อ. ย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกแก่ทายาท ซึ่งจำเลยก็เป็นทายาทคนหนึ่งและมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวด้วย จำเลยจึงมีฐานะเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 137030 รวมทั้งบ้านเลขที่ 85/1 ที่ปลูกบนที่ดินนั้นด้วย แม้บุตรจำเลยจะเป็นผู้ดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างก็เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เท่านั้น การปลูกสร้างบ้านและส้วมบนที่ดินเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลย และจำเลยย่อมต้องรู้เห็นและให้ความยินยอม ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1342 วรรคหนึ่ง เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของอาคารไม่มีสิทธิสร้างส้วมหรือบ่อบำบัดใกล้แนวเขตที่ดินข้างเคียงในระยะสองเมตร เมื่อจำเลยฝ่าฝืน โจทก์ซึ่งมีสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ข้างเคียงย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22788/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดกและการครอบครองทรัพย์มรดก: สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกขาดอายุความเมื่อพ้น 10 ปีนับจากเจ้ามรดกตาย
เมื่อโจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกันระหว่างทายาท จึงมิใช่กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 ที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้พ้นกำหนดอายุความมรดก การที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย ย่อมต้องห้ามมิให้ฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคท้าย และสิทธิในทรัพย์มรดกย่อมตกแก่จำเลยผู้สืบสิทธิ น. ซึ่งเป็นทายาทของ จ. เจ้ามรดกโดยสมบูรณ์ การที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกในเวลาต่อมาก็เพื่อให้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนให้ได้สิทธิโดยสมบูรณ์ในที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกเท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งสิ้นสิทธิในการฟ้องคดีเกี่ยวกับทรัพย์มรดกไปโดยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 แล้วไม่ และแม้จำเลยจะเบิกความรับว่าเหตุที่โอนทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นชื่อจำเลยเพื่อความสะดวกในการแบ่งมรดกแก่ทายาทของ จ. ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาสละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 โจทก์จึงไม่อาจยกเอาประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 และมาตรา 1748 มาอ้างเพื่อเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้วได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยกอายุความมรดกใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18623/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนจำกัดอำนาจ: จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับตัวแทน (จำเลยที่ 2) ในการซื้อขายรถยนต์ แม้จะมีการกระทำโดยผิดระเบียบ
แม้จำเลยที่ 2 มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 แต่การติดต่อซื้อขายรถระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นั้น กระทำการในที่ทำการและเวลาทำการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้แสดงให้โจทก์หรือบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 แล้ว การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 2 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมเป็นการกระทำในขอบอำนาจแห่งตัวแทนเพื่อกิจการค้าขายที่จำเลยที่ 1 จะถือเอาประโยชน์จากกิจการนั้นได้ ไม่ว่าการที่จำเลยที่ 2 รับซื้อรถคันเก่าจากโจทก์โดยนำไปฝากขายที่เต็นท์รถมือสอง จะเป็นการกระทำโดยจำเลยที่ 1 จะมีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อรถเก่าจากลูกค้าหรือไม่ก็ตาม ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการส่วนหนึ่งของการขายซึ่งเป็นไปตามนโยบายการขายของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำในหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันต่อโจทก์ในกิจการที่จำเลยที่ 2 กระทำไปด้วย แม้จะปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 อาจเป็นเรื่องการกระทำโดยผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเรื่องกิจการภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 เอง ไม่อาจยกเป็นข้ออ้างต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อให้ตนพ้นผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18532/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวางหลักประกันเพื่อขอทุเลาการบังคับคดี ศาลต้องพิจารณาหลักประกันที่จำเลยเสนอ แม้คำสั่งศาลอุทธรณ์จะระบุให้วางเงินสด
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยนำค่าเสียหายที่ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามคำพิพากษามาวางศาลนั้น มีความหมายชัดแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ให้จำเลยนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาล การที่จำเลยนำสลากออมสินพิเศษซึ่งเป็นเพียงหลักประกันมาวาง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 คำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยจึงเป็นอันยกไป แต่อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยนำสลากออมสินพิเศษมาวางต่อศาลชั้นต้นตามคำร้องฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 นั้น พอถือได้ว่าเป็นการขอวางหลักประกันเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นงดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคสาม ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้แม้จะไม่ได้ขอทุเลาการบังคับก็ตาม ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะรับหลักประกันที่จำเลยนำมาวางไว้พิจารณาว่าพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษารวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในการฟ้องร้องและการบังคับคดีหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11839/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องสิทธิในที่ดินมรดก: ตัวแทน, ทายาท, และอำนาจฟ้อง
ก. เป็นตัวแทนของโจทก์ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ จึงเป็นหน้าที่ของ ก. จะต้องจดทะเบียนโอนที่ดินที่ได้รับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนนั้นส่งคืนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง เมื่อ ก. ถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กองมรดก จึงชอบที่จะบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ก. ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1737 ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าทายาทที่ถูกฟ้องจะต้องได้รับมรดกของเจ้ามรดกหรือต้องฟ้องทายาททุกคน และในกรณีที่โจทก์ไม่ได้เรียกผู้จัดการมรดกเข้ามา ก็อาจมีผลในการบังคับคดีต่อไปเท่านั้น ไม่ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6505/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ในชั้นพิจารณา ศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อสาระสำคัญของการกระทำความผิดว่าจำเลยกระทำโดยประมาทด้วยการขับรถด้วยความเร็วสูงเกินสมควรและไม่ชะลอความเร็วเมื่อถึงสี่แยก แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยจอดรถอยู่ที่สี่แยกและเพิ่งขับรถเคลื่อนที่เมื่อได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้วชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 1 เพราะมองไม่เห็นมิใช่เพราะการขับรถเร็วหรือไม่ชะลอความเร็วตามฟ้อง ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้อง ทั้งเป็นข้อสาระสำคัญ ศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 28