คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พินิจ สายสอาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์และการถอนฟ้อง: สิทธิฟ้องไม่ระงับแม้ถอนฟ้องก่อน หากการซื้อขายไม่บริบูรณ์
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันอ้างว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2941 โดยทางราชการออกเอกสารสิทธิให้ถูกต้องตามกฎหมาย และแม้จะฟังว่าทับที่ดินมีโฉนดของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ก็ครอบครองโดยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์ ดังนี้ คำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงต้องถือว่ามีข้อเถียงขัดแย้งกันเอง เนื่องเพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 บัญญัติว่า "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น..." ซึ่งคำว่าผู้อื่นตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นใครผู้ใดก็ได้ แต่ต้องมิใช่ผู้ครอบครองปรปักษ์เอง ดังนั้น เมื่อฝ่ายจำเลยทั้งสองอ้างในคำให้การว่าที่พิพาทเป็นของตนเอง จึงไม่อาจมีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ดังที่จำเลยทั้งสองเถียงในฎีกา
แม้ได้ความว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นเกี่ยวกับที่พิพาทในคดีนี้และมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้แล้วก็ตาม แต่ในการถอนฟ้องนั้นได้ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยอ้างเพียงว่าได้ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นแล้ว และแถลงว่าอยู่ระหว่างจดทะเบียนโอนสิทธิโดยโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้ หากโอนไปแล้วโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 อีก โดยโจทก์มิได้ร้องหรือแถลงไว้ในคดีดังกล่าวว่าจะไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 อีก อันจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่โจทก์ได้กระทำต่อศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งถือว่าโจทก์ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เกี่ยวกับการยื่นฟ้องใหม่อันเป็นการผูกมัดโจทก์ แม้ในคดีนี้โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า "ในการถอนฟ้องคดีดังกล่าว โจทก์อ้างว่าได้ขายที่ดินไปแล้ว จะไม่นำคดีมาฟ้องอีก ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง" คำเบิกความของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่ใช่กระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าว ส่วนที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำสั่งในการถอนฟ้องของโจทก์ว่า "ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องเพื่อทำฟ้องที่สมบูรณ์มายื่นต่อศาลใหม่อีก ทั้งโจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างเหตุว่าได้ขายที่ดินให้ผู้อื่น จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องโดยหวนกลับมาฟ้องจำเลยใหม่อีก" ก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลชั้นต้นเอง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า ถ. ผู้ซื้อที่ดินของโจทก์ชำระราคาแก่โจทก์ไม่ครบถ้วน จึงยังมิได้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์แก่กันให้บริบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 143/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกเช็คเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้า: ฟ้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย แม้มีการชำระหนี้บางส่วนก่อน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลงลายมือชื่อออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าเคมีภัณฑ์ ซึ่งสินค้าดังกล่าวห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. เป็นผู้ซื้อจากโจทก์ กับบรรยายว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทถึงกำหนดโจทก์นำเข้าเรียกเก็บ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นฟ้องที่กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันกระทำความผิด แม้จะฟังว่าต้องมีบุคคลอื่นร่วมกระทำความผิดด้วย ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยร่วมกันกระทำความผิดกับผู้ใด ก็เป็นเพียงความผิดหลงเล็กน้อยไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้ ส่วนที่ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าเหตุใดจำเลยจึงออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ และเหตุใดจำเลยจึงต้องออกเช็คดังกล่าวชำระหนี้แทนห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบพิสูจน์ในชั้นพิจารณาได้ ไม่จำต้องบรรยายมาในคำฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เกิดขึ้นเมื่อมีการนำเช็คไปเรียกเก็บเงินและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน มิได้เกี่ยวข้องกับการชำระเงินตามเช็คซึ่งเป็นคนละกรณีกัน การที่มีการชำระหนี้บางส่วนตามเช็คพิพาทก่อนหรือหลังเช็คถึงกำหนด ไม่ทำให้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8148/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานจากการจับกุม: การแจ้งสิทธิผู้ถูกจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง และผลกระทบต่อการรับฟังคำรับสารภาพ
เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับจำเลยมิใช่ราษฎรเป็นผู้จับจึงไม่มีกรณีที่จะต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคหนึ่ง แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง เมื่อบันทึกการจับกุมมีข้อความว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ และเมื่อบันทึกการจับกุมไม่มีข้อความใดที่บันทึกการแจ้งสิทธิแก่จำเลยผู้ถูกจับตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติเลย ทั้งพยานโจทก์ที่ร่วมจับกุมก็ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องการแจ้งสิทธิแต่อย่างใด แม้โจทก์จะส่งบันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับมาพร้อมกับบันทึกการจับกุมในชั้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ แต่บันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับดังกล่าวมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์เติมข้อความในช่องว่างด้วยน้ำหมึกเขียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้บันทึกเป็นคนละคนกับที่เขียนบันทึกการจับกุม ทั้งใช้ปากกาคนละด้ามและไม่มีข้อความว่าผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ กับไม่มีข้อความว่าถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้แต่อย่างใด แม้จะมีข้อความแจ้งสิทธิเรื่องทนายความก็เป็นการแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสองบัญญัติ ฉะนั้นถ้อยคำอื่นของจำเลยตามบันทึกการจับกุมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น บันทึกการจับกุมจึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7960/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงการซื้อขายรถยนต์เช่าซื้อ: ผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้ แม้รถยนต์เป็นของเจ้าของสัญญาเช่าซื้อ
แม้ตามสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อสัญญาห้ามมิให้ผู้เช่าซื้อนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้แก่บุคคลอื่นก็ตาม ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่าซื้อกับผู้เสียหายซึ่งจะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่ง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าผู้เสียหายแจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบแล้วว่าจะทำสัญญาเปลี่ยนตัวผู้เช่าซื้อเป็นจำเลย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ขายดาวน์รถยนต์แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายโดยตรง โดยผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงด้วย อีกทั้งขณะเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จึงเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7680/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมขายฝากสินสมรส: เพิกถอนได้เฉพาะกรณีบุคคลภายนอกไม่สุจริต/ไม่เสียค่าตอบแทน
การเพิกถอนนิติกรรมตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง ต้องเพิกถอนทั้งหมด โดยมีผลเป็นว่าทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นถ้าเพิกถอนได้ก็ย่อมกลับคืนมาเป็นสินสมรสทั้งหมด มิใช่เพิกถอนแต่เฉพาะส่วนของคู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอม ดังนั้น ในทางกลับกันถ้าเพิกถอนไม่ได้เพราะบุคคลภายนอกดังกล่าวทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็ย่อมเพิกถอนไม่ได้ทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6977/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยินยอมในการซื้อขายที่ดินแม้มีข้อห้ามโอน และผลกระทบต่อการเพิกถอนนิติกรรม
โจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีภริยากัน ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่สามีจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ลงชื่อเป็นพยานในสัญญา โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าที่ดินและส่งมอบโฉนดที่ดินและสามีจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว เพียงแต่ยังมิได้มีการจดทะเบียนโอนแก่กัน เนื่องจากที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันออกโฉนด แม้โจทก์จะอ้างว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททำขึ้นภายในกำหนดเวลาห้ามโอน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็เป็นคนละส่วนกับการที่โจทก์ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาซึ่งถือได้ว่า โจทก์รู้เห็นยินยอมและให้สัตยาบันการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ยินยอมในการขายที่ดินตั้งแต่แรกแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง และไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6459/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยการครอบครองปรปักษ์และขอบเขตการรุกล้ำที่ดิน: กรณีกันสาดและรั้วเหล็ก
แม้โจทก์จะซื้อที่ดินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาด แต่ก่อนเวลาที่โจทก์จะได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวจำเลยได้ใช้ที่ดินตลอดมาโดยสงบ โดยเปิดเผยและด้วยเจตนาให้ได้สิทธิภาระจำยอมติดต่อกันเกิน 10 ปี จำเลยในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ย่อมได้ภาระจำยอมเหนือที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 มิใช่เพียงรุกล้ำใช้อย่างสภาพทางจำเป็น แม้จำเลยจะยังไม่จดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมก็หาทำให้สิทธิดังกล่าวสิ้นไป เพราะทรัพย์วัตถุแห่งสิทธิเป็นประธานภาระจำยอมมีลักษณะเป็นสิทธิประเภทรอนสิทธิมิใช่การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ จึงไม่อยู่ในบังคับหลักกฎหมายที่ว่าสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอนแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009/2551 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อของโจร: ศาลปรับบทลงโทษจากมาตรา 357 วรรคแรก เป็นวรรคสอง หลังจำเลยซื้อทรัพย์ที่ได้จากการปล้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยช่วยซ่อนเร้น ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดๆ ซึ่งวิทยุเทปติดรถยนต์จำนวน 1 เครื่อง ที่ติดตั้งอยู่ในรถยนต์กระบะของบริษัท ส. ซึ่งถูก จ. กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ไป โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสาม ดังนี้ คำบรรยายฟ้องดังกล่าวทำให้จำเลยสามารถเข้าใจข้อหาได้โดยถูกต้องแล้วว่าโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างไร แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสาม โดยมิได้ระบุขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ให้สอดคล้องกับคำบรรยายฟ้องก็ตาม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างวรรคผิดเท่านั้น มิใช่เรื่องคำฟ้องโจทก์ข้อแย้งกันแต่อย่างใด คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ว่า จำเลยซื้อวิทยุเทปติดรถยนต์กระบะที่ถูก จ. กับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ไปโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการปล้นทรัพย์ ถือว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสมแล้ว เมื่อกรณีเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างวรรคผิด ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยซื้อวิทยุเทปดังกล่าวไว้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ จำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก จึงเป็นการไม่ถูกต้อง แต่มิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ และมิใช่เรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวในฟ้องแต่อย่างใด ปัญหาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อ้างวรรคผิดเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6009/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอ้างวรรคผิดในฟ้องอาญา ศาลมีอำนาจลงโทษตามบทที่ถูกต้อง และแก้ไขโทษจำคุกให้เหมาะสม
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม มิได้ระบุขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสอง ให้สอดคล้องกับคำบรรยายฟ้อง เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างวรรคผิดเท่านั้น มิใช่เรื่องที่คำฟ้องของโจทก์ขัดแย้งกัน คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายต้องชัดเจน หากไม่ชัดเจน ศาลลงโทษได้เพียงความผิดฐานครอบครอง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตามที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด ถึงแม้โจทก์จะอ้างบทมาตราที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคำขอท้ายฟ้องมาด้วย ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 67 เท่านั้น
การที่ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้น และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่และธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนหน้านี้จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในคดีนี้ ตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) จึงไม่อาจริบได้
of 11