คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พินิจ สายสอาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องซื้อขายสินค้า: การบริการหนังสือพิมพ์กับการสร้างความพึงพอใจลูกค้าในธุรกิจการบิน
โจทก์เป็นผู้ผลิตและขายหนังสือพิมพ์จีน จำเลยประกอบกิจการการบินขนส่งผู้โดยสารด้วยเครื่องบินโดยสาร จำเลยมีจดหมายขอสั่งซื้อหนังสือพิมพ์จีนจากโจทก์เพื่อให้การบริการด้านข่าวสารแก่ผู้โดยสาร โจทก์เริ่มส่งหนังสือพิมพ์แก่จำเลยระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2548 โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ทุกวันสิ้นเดือนเพื่อเรียกเก็บเงินค่าหนังสือพิมพ์ของเดือนนั้น ๆ รวม 550,774.80 บาท ต่อมาจำเลยได้ออกตั๋วโดยสารเครื่องบินเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์รวม 37 ฉบับ คงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ 446,814.80 บาท
คดีนี้ เอกสารที่เกี่ยวกับข้อตกลงการซื้อขายหนังสือพิมพ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่ปรากฏว่าได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้กันไว้อย่างไรนับแต่วันแจ้งหนี้ (วางบิล) แต่จำเลยให้การต่อสู้ว่าอายุความฟ้องคดีนี้เริ่มนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น ทั้งพนักงานบัญชีของโจทก์เป็นพยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านก็ยอมรับตามนั้น จึงถือว่าโจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป การประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศด้วยอากาศยานของจำเลย เป็นธุรกิจบริการที่สาระสำคัญอยู่ที่การสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการ คือ ไม่เพียงแต่ต้องตรงเวลา ปลอดภัย และสะดวกเป็นหลักเท่านั้น แต่ต้องสามารถตอบสนองความต้องการด้านอื่น ๆ ของผู้โดยสารให้ได้มากที่สุดด้วยเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อประโยชน์ในการแข่งขันกับสายการบินอื่น ๆ และเพื่อที่จะสามารถดึงดูดลูกค้าให้กลับมาใช้บริการอีกในครั้งต่อไป ซึ่งการให้การบริการแก่ผู้โดยสารในด้านข้อมูลข่าวสารระหว่างทำการบินหรือระหว่างรอรับบริการ เช่นด้วยหนังสือพิมพ์ก็ต้องนับว่าเป็นไปเพื่อการสร้างความพึงพอใจแก่ผู้โดยสารที่กำลังใช้บริการของจำเลยด้วยไม่มากก็น้อย ทั้งตามถ้อยคำในกฎหมายมิได้แสดงนัยไว้ว่ากิจการของฝ่ายลูกหนี้ที่เจ้าหนี้ทำให้นั้นต้องเป็นกิจการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญด้วย ดังนั้น สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) ประกอบมาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22631/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักฐานการชำระหนี้เงินกู้รายวัน: สมุดบันทึกการเก็บเงินที่มีลายมือชื่อเจ้าหนี้เพียงพอต่อการรับฟังได้
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญากู้ยืม จำเลยทั้งสองยอมรับว่าทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้อง แต่ชำระหนี้เป็นรายวันครบถ้วนแล้ว หน้าที่นำสืบจึงตกแก่จำเลยทั้งสอง
การนำสืบถึงการชำระหนี้กู้ยืมด้วยเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง กำหนดให้ผู้นำสืบต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีสมุดบันทึกการเก็บเงินเป็นรายวัน ซึ่งมีลายมือชื่อโจทก์มาแสดง แม้สมุดบันทึกดังกล่าวที่ลงลายมือชื่อโจทก์ไม่ได้ระบุว่ารับเงินค่าอะไร แต่ก็มีข้อความระบุจำนวนดอกเบี้ยที่ค้าง ซึ่งบ่งชี้ว่าในเดือนนั้นจำเลยทั้งสองชำระในส่วนที่เป็นต้นเงิน โดยยังค้างดอกเบี้ยไว้ ดังนี้ หลักฐานเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคสอง มิได้เคร่งครัดถึงกับว่าจะต้องมีถ้อยคำว่าใช้หนี้กู้ยืมเงิน เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า เจ้าหนี้มาเก็บเงินเป็นรายวัน มีจำนวนเงินที่เรียกเก็บ และเมื่อลูกหนี้ค้างชำระในส่วนดอกเบี้ย ก็มีรายละเอียดว่าค้างดอกเบี้ยเดือนใดบ้าง โดยมีลายมือชื่อเจ้าหนี้ลงในช่องทุกวัน ที่มาเรียกเก็บเงิน ถือว่าสมุดบันทึกดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการชำระหนี้เงินกู้ตามมาตรา 653 วรรคสอง จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธินำสืบการใช้เงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21858-21860/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้เงินเจ้าพนักงานเพื่อละเว้นการจับกุม ไม่ใช่ความผิดสนับสนุนเจ้าพนักงาน แต่เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานตาม ป.อ.มาตรา 144
การให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จับกุมกรณีเมื่อมีผู้ใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้ามีน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีลักษณะเป็นการยุยงส่งเสริมก่อให้เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตอยู่ในตัวก็ตาม แต่การกระทำเช่นว่านั้นก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิดโดยเฉพาะอยู่แล้ว คือ ป.อ. มาตรา 144 อีกทั้งการที่เจ้าพนักงานตำรวจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามที่ถูกจูงใจก็มิได้สำเร็จลงด้วยการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกโดยการให้เงิน ดังนั้น ถึงหากแม้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จะให้เงินแก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จับกุมกรณีเมื่อมีผู้ใช้รถบรรทุกติดสติกเกอร์ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 จัดทำขนส่งสินค้ามีน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจริงก็ตาม การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ก็คงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 อันเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน มิใช่ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตำรวจในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149, 157 ประกอบมาตรา 86 จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำเช่นนั้นจริงหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มิใช่เป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตำรวจในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่
ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า ทรัพย์สินที่ขอให้มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินล้วนเป็นทรัพย์สินที่ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของได้มาจากการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดมูลฐาน คือความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานตำรวจในการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เมื่อพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบรับฟังไม่ได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กระทำความผิดมูลฐานทั้งสองกรณีดังกล่าวเสียแล้ว คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเหล่านั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานด้วย ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามคำร้องพร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17824/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดิน: การประเมินค่าทดแทนที่ดินและค่าเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงโครงการก่อสร้าง
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคท้าย บัญญัติว่า "ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้นและบุคคลดังกล่าวได้รับความเสียหายเนื่องจากที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายนั้นด้วย" ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสองจะมีโครงการก่อสร้างอาคารโดยจ้างบุคคลภายนอกให้ออกแบบก่อสร้างจนถึงขนาดได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้อนุญาตก่อสร้าง แต่เมื่อยังไม่ได้ลงมือก่อสร้างก็ไม่อาจรับนับว่าโจทก์ทั้งสองประกอบการค้าขายหรือการงานอยู่ในที่ดิน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17173/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำเข้ายาเสพติดทางโทรศัพท์และการกระทำความผิดร่วมกันของจำเลยที่ 1-3
แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรด้วยตนเอง แต่การที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นการสั่งเข้ามาในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัตินิยามคำว่า "นำเข้า" หมายความว่า นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายและมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15693/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฝากเงินกลุ่มออมทรัพย์ไม่เป็นโมฆะ แม้จะมีการประกอบธุรกิจคล้ายธนาคาร หากผู้ฝากไม่รู้เห็น
ในสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมทำโดยบุคคลสองฝ่าย ประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมรู้กัน จึงจะเป็นวัตถุที่ประสงค์ของนิติกรรมสัญญานั้น ถ้าคู่สัญญาแต่ฝ่ายเดียวรู้ถึงการกระทำของตนว่าเป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมาย โดยอีกฝ่ายมิได้ร่วมรู้ด้วยนั้น จะว่านิติกรรมสัญญานั้น มีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนต้องห้ามโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ไม่ได้ การที่โจทก์ที่ 1 กับพวกนำเงินมาฝากกับจำเลยทั้งสามก็เป็นเพราะต้องการได้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลตอบแทนและเมื่อเรียกเงินคืนก็จะได้เงินคืนครบจำนวนตามมาตรา 672 เพียงเท่านั้น ส่วนที่จำเลยทั้งสามจะร่วมกันนำเงินที่รับฝากไปหาประโยชน์ในลักษณะการประกอบธุรกิจประเภทรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม หรือใช้ประโยชน์เงินนั้นในทางหนึ่งหรือหลายทาง โดยทำเป็นปกติธุระหรือไม่ อย่างไร จะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือไม่ ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสามดำเนินการไปเอง โจทก์ที่ 1 กับพวกมิได้ร่วมรู้เห็นและเป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของโจทก์ที่ 1 กับพวก จำเลยทั้งสามจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้ว่าวัตถุประสงค์ในประกอบกิจการหาประโยชน์จากเงินที่รับฝากของกลุ่มออมทรัพย์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายขึ้นอ้างยันโจทก์ที่ 1 กับพวกได้ นิติกรรมรับฝากเงินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสาม จึงไม่เป็นโมฆะ โจทก์ที่ 1 กับพวกมีสิทธิเรียกเงินฝากคืนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13938/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องละเมิด, การรู้ถึงการละเมิด, การมอบฉันทะทนายจากเจ้าพนักงานของรัฐ, การยกเว้นอากรแสตมป์
ทนายจำเลยเป็นพนักงานอัยการเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำการงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ การที่ทนายจำเลยมอบฉันทะให้นิติกรสำนักงานอัยการสูงสุดซึ่งมิใช่เสมียนทนายยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 121

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13928/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้จากการเช่าทรัพย์สินและหักกลบลบหนี้จากค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คจำนวน 6 ฉบับ ที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย หาได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ การวินิจฉัยความผิดของจำเลยจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องตั๋วเงิน โจทก์จึงหาจำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินมาแสดงตามที่จำเลยฎีกาไม่
จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในเช็คทั้ง 6 ฉบับ ตามฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่ามูลหนี้ตามเช็คระงับแล้ว ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยและจำเลยฎีกาว่า โจทก์ได้ทำให้ทรัพย์สินที่เช่าเสียหาย คิดเป็นเงิน 260,000 บาท จึงขอหักกลบลบหนี้กับเช็คตามฟ้องโดยจำเลยเบิกความว่า ก่อนที่โจทก์จะออกไปจากห้องเช่า ทำให้ห้องเช่าเสียหาย เนื่องจากต่อเติมห้องเช่าโดยเทพื้นคอนกรีตลงบนสนามหญ้า มูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 260,000 บาท นั้น ค่าเสียหายดังกล่าวโจทก์มิได้ยอมรับ จึงเป็นสิทธิเรียกร้องที่ยังมีข้อต่อสู้อยู่ ไม่อาจจะนำมาหักกลบลบหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 ได้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คแก่โจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13547/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายแจ้งคำพิพากษาอุทธรณ์ผิดที่อยู่ การพิจารณาคดีโดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลย พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้จำเลยตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในฟ้องคือ บ้านเลขที่ 161 หมู่ 1 ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามบันทึกการส่งหมายระบุว่า "ไม่พบจำเลย ได้สอบถามผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ตำบลนางรองแล้ว ได้ความว่า ไม่มีชื่อจำเลยอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวจึงนำหมายกลับคืน" ศาลชั้นต้นสั่งว่า กรณีถือได้ว่าส่งสำเนาอุทธรณ์แก่จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 201 จึงให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อพิจารณาพิพากษา ต่อมาศาลชั้นต้นได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในหมายนัดระบุที่อยู่ของจำเลยคือ บ้านเลขที่ 141 ถนนประดิษฐปานะ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยให้ส่งหมายทางไปรษณีย์ตอบรับ ปรากฏว่าในใบตอบรับมีผู้อื่นรับหมายไว้แทน นอกจากนี้เมื่อตรวจสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยตามที่ ส. ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยปรากฏว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 161/1-2 ถนนภักดีบริรักษ์ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สอดคล้องกับบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยซึ่งอยู่ท้ายบันทึกการจับกุม ทั้งบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาและบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาระบุว่า จำเลยมีบ้านพักอยู่ถนนภักดีบริรักษ์ทั้งสิ้น การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้ด้วยเหตุผลว่าไม่มีชื่อจำเลยอยู่ในหมู่ที่ 1 ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบหรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12557/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกทรัพย์โดยผู้จัดการทรัพย์สิน และการปรับบทมาตรา 354 ที่ไม่เข้าข่ายฐานะผู้มีอาชีพ
การกระทำความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 354 จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำผิดได้กระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนมาด้วย เป็นเพียงประโยคประกอบซึ่งโจทก์ขยายความออกไปตามความเข้าใจของโจทก์ ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือรายละเอียดว่า จำเลยกระทำในฐานเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนอย่างไร การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
of 11