คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พินิจ สายสอาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11454/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ การเพิกถอนคำชี้ขาด และการใช้ดุลพินิจปรับบทกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการซึ่งวินิจฉัยให้ผู้ร้องชำระค่าจ้างงวดที่ 18 แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และคณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด รวมถึงการหักจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากค่าจ้างที่ชำระ เป็นการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดที่เป็นการขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เป็นการโต้แย้งการวิเคราะห์พยานหลักฐานและดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนของคณะอนุญาโตตุลาการ และโต้แย้งการให้เหตุผลในการวินิจฉัยตีความข้อสัญญาของคณะอนุญาโตตุลาการและศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการวินิจฉัยผิดจากวิธีพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ร้องต้องห้ามเพราะมิใช่กรณียกเว้นให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 (1) (2)
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง กำหนดให้คู่พิพาทยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำชี้ขาด หรือถ้าเป็นกรณีมีการขอให้คณะอนุญาโตตุลาการแก้ไขคำชี้ขาด ก็นับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว โดยไม่ได้บัญญัติว่า จะต้องเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญเท่านั้น แม้จะเป็นการแก้ไขคำชี้ขาดในส่วนสาระสำคัญ หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย คู่พิพาทก็อาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดแล้ว คดีนี้คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในวันที่ 8 มีนาคม 2548 แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ตีความหรืออธิบายข้อความในคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการมีการแก้ไขคำชี้ขาดในข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2548 ซึ่งเมื่อนับจากวันที่คณะอนุญาโตตุลาการได้แก้ไขคำชี้ขาดข้างต้นยังไม่เกินเก้าสิบวัน ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องดังกล่าวได้
ข้อพิพาทในส่วนเงินค่าจ้างงานเพิ่มเติมนอกสัญญาและค่าวัสดุก่อสร้างงานที่เพิ่มขึ้นเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องจากสัญญาจ้างเหมางานก่อสร้าง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้จึงหาได้เกินขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการอันจะเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดแต่อย่างใดไม่
การระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเกิดจากข้อตกลงตามสัญญาระหว่างคู่พิพาท โดยการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ นอกจากจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ยังให้สิทธิแก่คู่พิพาทที่จะตกลงวิธีพิจารณากันได้ และในกรณีที่คู่พิพาทไม่ได้ตกลงกัน หรือ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ไม่ได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น มาตรา 25 วรรคสอง และวรรคสาม ยังให้อำนาจคณะอนุญาโตตุลาการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งอาจนำ ป.วิ.พ. ว่าด้วยพยานหลักฐานมาใช้โดยอนุโลม คดีนี้ชั้นพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการมีการกำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับเบี้ยปรับว่า ผู้ร้องคดีนี้มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือไม่ เพียงใด การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งมอบงานแก่ผู้ร้องล่าช้า อันเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องชำระเบี้ยปรับแก่ผู้ร้องตามสัญญา แต่เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้สงวนสิทธิที่เรียกเอาเบี้ยปรับในเวลารับชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม จึงหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากผู้คัดค้านที่ 1 นั้น เป็นการที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการปรับบทกฎหมายกับข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ทั้งเป็นไปตามประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดไว้ แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะไม่ได้ยกข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ร้องไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำคัดค้านแก้ข้อเรียกร้องแย้ง ก็หาทำให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น หรือเป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาท อันจะเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11233/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายงานการสืบเสาะฯ รับฟังได้หากจำเลยไม่คัดค้าน การลงโทษจำคุกเหมาะสมกับพฤติการณ์ร้ายแรง
ศาลชั้นต้นแจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยทราบ จำเลยมิได้โต้แย้ง ดังนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจที่จะหยิบยกข้อเท็จจริงที่ได้มาจากรายงานการสืบเสาะและพินิจดังกล่าวมาประกอบดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ ข้อเท็จจริงจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติจึงหาได้เป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏนอกสำนวน และไม่ใช่พยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่น ๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลยเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้ที่ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11144/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: ข้อผิดพลาดเล็กน้อยและสาระสำคัญของสัญญา
สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา จะแก้ไขข้อผิดพลาดได้ต่อเมื่อเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม หากไม่ชำระให้บังคับทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดแทน แล้วต่างตกลงกันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีข้อความว่า "ข้อ 1. จำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ตามโจทก์ฟ้องจริง และจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน 12,938,769.40 บาท พร้อมดอกเบี้ย...นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน ข้อ 2. โจทก์ตกลงว่าหากจำเลยทั้งสองชำระหนี้จำนวน 8,570,000 บาท และค่าฤชาธรรมเนียม...ภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความถือเป็นการชำระเสร็จสิ้น... ข้อ 3. หากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งหรือข้อใดข้อหนึ่ง ให้ถือว่าผิดนัดชำระทั้งหมด ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 2. และยินยอมให้โจทก์บังคับคดี..." ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าเนื้อความในสัญญา ข้อ 3. ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ตามสัญญา ข้อ 1. และหรือ ข้อ 2. โดยจำเลยทั้งสองตกลงยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยตามคำขอบังคับในฟ้อง ข้อความในวรรคที่ว่า "ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้อง" เป็นสาระสำคัญ ส่วนข้อความต่อเนื่องที่ว่า "ดังกล่าวใน ข้อ 2." เป็นเพียงพลความ หากถือว่ามิใช่พลความ ข้อความในวรรคนี้ทั้งหมดจะขัดแย้งจนหาสาระไม่ได้ เพราะจำนวนหนี้ตามสัญญา ข้อ 2. มิใช่จำนวนหนี้ทั้งหมดในฟ้องนั่นเอง แสดงว่า ที่ถูกต้องข้อความในวรรคนี้พึงเป็นข้อความว่า "ยินยอมรับผิดชำระหนี้เต็มตามฟ้องดังกล่าวใน ข้อ 1." ดังนั้น ที่โจทก์ขอให้แก้ไขคำพิพากษาเฉพาะส่วนในข้อความตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 3. ในวรรคดังกล่าวตรงท้ายวรรคจาก 2 เป็น 1 ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ศาลพึงมีคำสั่งแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10736/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าปรับตามสัญญาซื้อขาย การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา และการลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน
ตามคำฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินแก่โจทก์เป็นค่าปรับรายวันตามสัญญาพิพาทข้อ 10 โดยศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าภายในกำหนดเวลาตามสัญญาพิพาทและวินิจฉัยว่าการคิดค่าปรับตามสัญญาข้อ 10 ดังที่ฟ้องขอมา ต้องเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา แต่เป็นกรณีมีระยะเวลาส่งมอบสินค้าขึ้นมาใหม่ซึ่งมิใช่การแสดงเจตนาของโจทก์ฝ่ายเดียวดังข้อเท็จจริงที่โจทก์เสนอแสดง เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิริบหลักประกันเงินจำนวน 7,490 บาท ที่ฝ่ายจำเลยมอบให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นค่าเสียหายฐานผิดสัญญา และแม้การใช้สิทธิเลิกสัญญาไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าโจทก์ได้รับความเสียหายฐานผิดสัญญาเกินไปกว่าจำนวนเงินค่าเสียหายที่ฝ่ายจำเลยวางเป็นหลักประกันดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายฐานผิดสัญญาเท่ากับจำนวนเงินดังกล่าว อันย่อมเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยแปลความข้อสัญญาพิพาทโดยตรง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ขอตามข้อสัญญาดังกล่าว จึงหาใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการกำหนดค่าเสียหายไม่ ดังนั้น แม้ทุนทรัพย์ที่อุทธรณ์โต้เถียงในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ก็หาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
เมื่อฝ่ายจำเลยทำข้อตกลงไว้กับโจทก์ตามหนังสือสัญญาในข้อ 9 ว่า การบอกเลิกสัญญาเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญานี้แล้ว ถ้าไม่ส่งมอบ ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีสิทธิริบหลักประกัน และในข้อ 10 วรรคแรกว่า ค่าปรับในกรณีที่ผู้ซื้อมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 9 ผู้ขายต้องชำระค่าปรับให้ผู้ซื้อเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญา โดยเฉพาะในวรรคท้ายที่ว่า "ในระหว่างที่ผู้ซื้อมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้น หากผู้ซื้อเห็นว่าผู้ขายไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ ผู้ซื้อจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกัน...ฯลฯ...และถ้าผู้ซื้อได้แจ้งข้อเรียกร้องให้ชำระค่าปรับไปยังผู้ขาย เมื่อครบกำหนดส่งมอบแล้ว ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะปรับผู้ขายจนถึงวันบอกเลิกสัญญาได้อีกด้วย" ดังนี้ การที่ฝ่ายจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งสินค้าให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันทำสัญญา และโจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาทันที แต่ได้เร่งรัดให้ฝ่ายจำเลยดำเนินการนำสินค้าตามสัญญาไปส่งมอบพร้อมทั้งสงวนสิทธิในการปรับเป็นรายวันดังกล่าวไว้ ซึ่งต่อมาฝ่ายจำเลยก็ไม่สามารถส่งมอบ เมื่อต่อมาโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงย่อมมีสิทธิบังคับตามสัญญาทั้งข้อ 9 และข้อ 10 วรรคแรกกับวรรคท้าย คือริบเงินหลักประกันและปรับฝ่ายจำเลยเป็นรายวันได้ในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าที่ยังไม่ได้รับมอบ ดังที่แจ้งสงวนสิทธิไว้แล้ว นับแต่วันที่ถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบสินค้าตามสัญญา คือวันที่ 3 เมษายน 2549 จนถึงวันที่บอกเลิกสัญญาด้วย และกรณีตามสัญญาข้อ 10 นี้ มิใช่เป็นเรื่องที่จะเกิดสิทธิได้ก็ต่อเมื่อโจทก์กับฝ่ายจำเลยต่างได้แสดงเจตนาตกลงกำหนดระยะเวลาส่งมอบสินค้ากันขึ้นมาใหม่อีกครั้งหลังจากครบกำหนดเวลาส่งมอบตามสัญญาแล้วดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ไม่ อย่างไรก็ดี การปรับรายวันในอัตราร้อยละ 0.2 ของราคาสินค้าตามสัญญาข้อ 10 นี้ ก็คือเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลยเนื่องจากจำเลยผิดสัญญา ซึ่งหากเบี้ยปรับที่กำหนดไว้นั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7358/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากคดียาเสพติด: ต้องมีมูลความผิดฐานจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเท่านั้น
พนักงานอัยการฟ้องผู้คัดค้านในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นลงโทษผู้คัดค้านข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ยกฟ้องข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยที่ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้บทนิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย" มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น..." และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลริบทรัพย์สินนั้น..." การที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ผู้คัดค้านกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ในอันที่จะขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งห้ารายการตามคำร้องตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินทั้งห้ารายการ ดังกล่าว ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7238/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาหลอกลวงหางานต่างประเทศสำเร็จความผิดแม้ยังไม่ได้รับเงินครบ หรือส่งคนไปทำงานจริง
ความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี เมื่อผู้กระทำมีเจตนาหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวงก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว โดยไม่จำต้องได้เงินจากผู้ถูกหลอกลวงจนครบตามจำนวนที่หลอกลวงและไม่จำต้องมีการส่งคนหางานไปทำงานยังต่างประเทศ
ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ในวันเดียวกัน ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 พร้อมกันในคราวเดียวกัน แม้ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 แต่ละคนจะมอบเงินให้แก่จำเลยคนละคราวกันหรือไม่ ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายบทเดียวไม่ใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5289-5290/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในคดีฟอกเงิน ต้องพิสูจน์ความเกี่ยวข้องกับความผิดมูลฐานและผู้กระทำผิด
ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ตามที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ให้นิยามความผิดมูลฐานไว้ ไม่รวมถึงความผิดฐานเสพหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะในสภาพความผิด ผู้กระทำความผิดไม่ได้ทรัพย์สินใดจากการกระทำผิด จึงไม่มีเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ศาลจะสั่งให้ทรัพย์สินของผู้นั้นตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อ บ. ถูกศาลอาญาพิพากษาว่า มีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเพื่อเสพ มิใช่มีไว้เพื่อจำหน่าย บ. จึงมิใช่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน แม้ บ. จะเป็นสามีผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านก็ไม่ใช่ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ส่วน ส. และ ว. พี่สาวผู้คัดค้าน ช. สามีของ ว. และ พ. หลานของผู้คัดค้านเคยต้องหาว่า ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายและความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3 ก็ตาม แต่การที่บุคคลดังกล่าวเป็นญาติของผู้คัดค้าน ผู้ร้องต้องนำสืบให้เห็นว่ามีความเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านด้วย จึงจะต้องด้วยบทสันนิษฐานตามมาตรา 51 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5132/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์: การกระทำโดยเจตนาปรับปรุงบ้านของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
แม้ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายจะระบุว่า ส. จะขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เมื่อไปจดทะเบียนโอน ส. กลับทำหนังสือสัญญาขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อสัญญาตกลงขายเฉพาะที่ดินไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างแสดงว่าไม่ได้ขายบ้านพิพาทด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทและไม่มีสิทธิเข้าไปในบ้านพิพาท เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าบ้านพิพาทไม่ใช่ของตน แต่เป็นของโจทก์ร่วมน้องสาวของ ส. การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านพิพาทและทำการรื้อปรับปรุงบ้านพิพาท ทั้งๆ ที่โจทก์ร่วมได้ห้ามปรามแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุขและทำให้บ้านพิพาทของโจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ แต่การที่จำเลยที่ 1 บุกรุกเข้าไปในบ้านพิพาท ก็มีเจตนาเพื่อปรับปรุงห้องครัวและห้องน้ำภายในบ้านพิพาทจึงมีเจตนาเดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4678/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์ร่วมที่ศาลชั้นต้นรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย การฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้าม
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300, 390 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามอุทธรณ์โดยโจทก์ร่วมทั้งสามขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามที่ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ด้วย ก็เป็นการวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์เท่านั้น ไม่มีผลถึงโจทก์ร่วมทั้งสามแต่อย่างใด การที่โจทก์ร่วมทั้งสามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงขอให้ลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสาม ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1792/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หลักฐานการกู้ยืมต้องชัดเจนว่ามีการส่งมอบเงินจริง แม้ใบคำขอมีลายมือชื่อผู้กู้
แม้หลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง อาจมีขึ้นก่อนหรือหลังทำสัญญากู้ก็ตาม อย่างไรก็ดี ตามใบคำขอใช้บริการสินเชื่อระบุข้อความให้ธนาคารที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องมา โอนเงินกู้สินเชื่อเมื่อผ่านขั้นตอนการอนุมัติแล้วแก่จำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานของธนาคารที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องมาได้บันทึกไว้ในเอกสารหมายใดให้เชื่อมโยงกันว่าเงินกู้จำนวนดังกล่าวได้ถูกโอนเข้าบัญชีของจำเลย ประกอบกับตามรายการคำนวณยอดหนี้สินเชื่อบุคคล เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับแบบพิมพ์ข้อมูลแสดงรายการที่ระบุว่าจำเลยรับเงินกู้ ก็เป็นเอกสารของธนาคารที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องมาทำขึ้นเอง กับทั้งระบุความเพียงว่ามีการโอนเงินเข้าฝากในบัญชีออมทรัพย์ธนาคารที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้อง ในชื่อของจำเลย โดยไม่มีลายมือชื่อจำเลยลงนามไว้แต่อย่างใด ดังนี้ ใบคำขอใช้บริการสินเชื่อที่จำเลยกรอกข้อความและลงลายมือชื่อในช่องลายมือชื่อของผู้กู้ จึงไม่เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์จะใช้ฟ้องร้องบังคับจำเลยได้
of 11