คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พินิจ สายสอาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 107 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2105-2106/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีและการมอบอำนาจช่วง: การตีความขอบเขตอำนาจตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจ ระบุให้ พ. มีอำนาจกระทำการต่างๆ แทนโจทก์รวมทั้งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์และให้มอบอำนาจช่วงได้ด้วย โดยแยกรายละเอียดดังกล่าวเป็นข้อๆ ไว้ ดังนั้น ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์จึงไม่ถูกจำกัดอำนาจในการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคสอง (5) เพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ระบุให้อำนาจแก่ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไว้แจ้งชัดแล้ว ทั้งเป็นการมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีแทนโจทก์ มิใช่เป็นการมอบอำนาจเฉพาะการตามมาตรา 800 ที่จะต้องระบุชื่อผู้ซึ่งจะต้องถูกฟ้องคดีตามที่มอบอำนาจไว้ นอกจากนี้การมอบอำนาจทั่วไปให้ดำเนินคดีนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อจำกัดแจ้งชัดจากโจทก์ผู้มอบอำนาจเอง ก็ย่อมหมายถึงให้ดำเนินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะได้เกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันทำหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ด้วย ดังนั้น พ. ซึ่งมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์โดยสมบูรณ์ในขณะที่ยื่นฟ้อง จึงมีอำนาจมอบอำนาจช่วงตามหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ ม. ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแพ่งไม่ซ้อนคดีอาญา: การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจากการบุกรุกที่ดิน แม้คดีอาญาไม่มีคำขอในส่วนแพ่ง
คดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองในคดีนี้บุกรุกที่ดินของผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เป็นคดีที่มิใช่คดีใดคดีหนึ่งในคดีความผิด 9 สถาน ซึ่งบัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ที่ให้พนักงานอัยการเมื่อยื่นฟ้องคดีความผิดนั้นๆ มีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย ดังนั้น แม้พนักงานอัยการในคดีอาญาดังกล่าวมีคำขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินรวมทั้งให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินโดยโจทก์คดีนี้เข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาบุกรุกอันจะเป็นความผิดตามฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ตาม เมื่อความผิดฐานบุกรุกไม่มีกฎหมายรับรองให้พนักงานอัยการมีคำขอในส่วนแพ่ง แม้โจทก์คดีนี้จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาดังกล่าว ก็มีผลเฉพาะในส่วนอาญาที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเท่านั้น ศาลในคดีอาญาไม่อาจพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกไปจากที่ดินที่บุกรุก มูลคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องทางแพ่งโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีอาญาในความหมายที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1817/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีส่วนร่วมในความผิดอาญา: การรับรู้และการกระทำที่แยกจากกัน
พวกของจำเลยที่ 3 ฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองขึ้นไปบนกระบะด้านท้ายของรถยนต์ จำเลยที่ 3 นั่งอยู่ในรถด้านหน้าแถวเดียวกับคนขับ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มีส่วนร่วมในการฉุดดึงผู้เสียหายทั้งสองขึ้นรถแต่อย่างใด เมื่อรถมาจอดบริเวณที่เกิดเหตุมีจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก พาผู้เสียหายทั้งสองลงจากรถและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงจากรถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพาผู้เสียหายลงจากรถหรือมีส่วนร่วมในขณะที่ผู้เสียหายทั้งสองถูกข่มขืนกระทำชำเราแต่อย่างใด จนกระทั่งผู้เสียหายที่ 2 ร้องขอความช่วยเหลือขณะถูก พ. ข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยที่ 3 จึงลงจากรถไปขอร้อง พ. ให้หยุดกระทำและนำตัวผู้เสียหายที่ 2 ไปนั่งรอในรถด้านหน้ากับจำเลยที่ 3 จากนั้นจำเลยที่ 3 ได้ขอให้ ภ. ขับรถพาผู้เสียหายที่ 2 ไปส่งที่บ้านเพื่อนของจำเลยที่ 3 และให้นอนค้างที่นั้น โดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำลวนลามหรือกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 แม้ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้ยิน พ. พูดคุยกับจำเลยที่ 4 ว่าจะพาผู้หญิงชื่อ บ. ไปกระทำชำเรานั้น การที่ผู้ใดรับรู้ว่าผู้อื่นจะกระทำความผิดหรือกระทำความผิดแล้ว จะถือว่าผู้นั้นมีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือสนับสนุนผู้อื่นกระทำความผิดด้วยไม่ได้ ลำพังข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 นั่งรถไปกับพวกที่กระทำความผิดนั้นไม่เพียงพอให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองและค้ำประกันหนี้: สัญญาบังคับใช้ได้แม้จำนองก่อนรับเงินกู้ การปฏิเสธลายมือชื่อไม่ถือเป็นข้อโต้แย้ง
โจทก์มีหนังสือสัญญากู้ 2 ฉบับ ที่จำเลยทั้งสามเถียงว่า โจทก์ลวงให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อผูกผันเป็นผู้กู้ไว้ก่อน อีกทั้ง อ. พยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการด้านสินเชื่อสาขาหาดใหญ่ของโจทก์มาเบิกความรับรองด้วยว่า หลังจากโจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 1 กู้จำเลยที่ 1 ก็ได้รับเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้วโดยจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับเงินไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิเสธว่า ลายมือชื่อผู้กู้มิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 จึงถือว่าโจทก์มีหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือตามกฎหมายแล้ว
ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้นจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องสัญญาค้ำประกันไว้แต่อย่างใดจึงนอกคำให้การของจำเลยที่ 2 และนอกประเด็น
แม้การจดทะเบียนจำนองและจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองเป็นประกันหนี้จะทำขึ้นก่อนเวลาที่โจทก์จะส่งมอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ ป.พ.พ. มาตรา 707 ว่าด้วยจำนอง บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้นท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร" กล่าวโดยเฉพาะ ตามนัยมาตรา 681 ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น เมื่อต่อมาโจทก์มอบเงินกู้ทั้ง 2 จำนวนแก่จำเลยที่ 1 หลังจากทำสัญญาจำนองกันดังกล่าวหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นก็สมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1579/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองประกันหนี้ที่อาจเกิดขึ้นได้, สัญญาค้ำประกัน, การพิสูจน์ลายมือชื่อ, และการบังคับจำนอง
ป.พ.พ. มาตรา 707 บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนอง อนุโลมตามควร" กล่าวโดยเฉพาะตามนัยมาตรา 681 ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้นเมื่อโจทก์มอบเงินกู้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลังจากทำสัญญาจำนองหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นย่อมสมบูรณ์ การจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญากู้ยืมที่มีการแก้ไขจำนวนเงิน ศาลพิจารณาจากจำนวนเงินที่ตกลงกันแต่แรก
โจทก์มีหนังสือสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิดแม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นเป็น 120,000 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน แต่ก็ไม่ทำให้หลักฐานกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไป จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่าที่กู้ไปจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 964/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความเนื่องจากการฉ้อฉล กรณีหนี้จำนองและเจ้าหนี้อื่น
หนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นหนี้ที่มีจำนองเป็นประกัน โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ที่อยู่ในฐานะที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นอยู่แล้ว การที่โจทก์กับ ว. ซึ่งเป็นผู้เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยผู้มรณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความกำหนดจำนวนเงินผ่อนชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความเพิ่มขึ้น เป็นการคิดคำนวณดอกเบี้ยที่ค้างชำระภายหลังจากวันฟ้องจนถึงวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความรวมเข้ากับต้นเงิน การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และ ว. ไม่ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบเกินกว่าที่ควรจะเป็นที่จะเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวด้วยเหตุการฉ้อฉล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยสัญญากู้, สิทธิสวัสดิการข้าราชการ, การปรับอัตราดอกเบี้ยผิดสัญญา, เบี้ยปรับ, ลดค่าปรับ
พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2523 มาตรา 6 บัญญัติเป็นนัยว่า เมื่อรัฐมนตรีกำหนดดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้ จึงมีผลให้ข้อตกลงในสัญญากู้ ข้อ 1 ที่ว่า "ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดดังกล่าวเมื่อใดก็ได้ แต่ไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนดไว้" เป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 654
เมื่อปรากฏรายละเอียดตามรายการปรับอัตราดอกเบี้ยว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยครั้งแรกเพียงร้อยละ 4.75 ต่อปี แสดงว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม จึงบ่งชี้ว่าจำเลยกู้เงินจากโจทก์โดยได้รับสิทธิเงินกู้สวัสดิการตามข้อตกลงดังกล่าว เมื่อโจทก์กลับกำหนดอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ถึงร้อยละ 19 ซึ่งแม้ไม่เป็นโมฆะ แต่ก็ไม่เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกระทรวงยุติธรรม จึงไม่อาจบังคับเอาแก่จำเลย คงบังคับกันได้ตามอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตามที่กำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี
จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ และโจทก์ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 19 ต่อปี การที่โจทก์ปรับใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังกล่าว เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเนื่องจากจำเลยผิดสัญญาอันเป็นการใช้สิทธิปรับอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ ซึ่งเป็นข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง จึงเข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับและศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับดังกล่าวลงได้ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คพิพาทก่อนสัญญากู้ยืม: ไม่มีหนี้บังคับได้ จึงไม่เข้าความผิด พ.ร.บ.เช็ค
จำเลยออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือสัญญากู้เงิน เช็คพิพาทจึงมิได้ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เนื่องจากขณะที่ออกเช็คพิพาทนั้นหนี้ดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหน้งสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ จึงเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 292/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ต้องไม่เป็นที่ดินของผู้อื่น และผลของการถอนฟ้องคดีก่อนที่มีต่อการฟ้องคดีใหม่
ป.พ.พ. มาตรา 1382 บัญญัติว่า "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น...ฯลฯ..." คำว่าผู้อื่นตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นใครผู้ใดก็ได้ แต่ต้องมิใช่ผู้ครอบครองปรปักษ์เอง ดังนั้น การครอบครองปรปักษ์จะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างในคำให้การว่าที่พิพาทเป็นของตนเอง จึงไม่อาจมีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์
ปัญหาว่าอำนาจฟ้องของโจทก์ระงับไปด้วยการถอนฟ้องในคดีก่อนหรือไม่เป็นปัญหาสำคัญทั้งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงย่อมอุทธรณ์ฎีกาขึ้นมาได้ไม่ต้องห้ามแม้ว่าจำเลยทั้งสองจะมิได้ยกขึ้นอ้างในคำให้การ โจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นซึ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีนี้ โดยมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้วก็ตาม แต่ในการถอนฟ้องนั้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยอ้างเพียงว่าได้ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นแล้ว และแถลงว่าอยู่ระหว่างจดทะเบียนโอนสิทธิโดยโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้หากโอนไปแล้วโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 อีก โจทก์มิได้ร้องหรือแถลงไว้ในคดีดังกล่าวว่าจะไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนี้อีก อันจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่โจทก์ได้กระทำต่อศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งพึงถือว่าโจทก์ได้ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เกี่ยวกับการยื่นฟ้องใหม่ อันเป็นการผูกมัดตัวโจทก์ และแม้โจทก์เองจะเบิกความในคดีนี้โดยตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า "ในการถอนฟ้องคดีดังกล่าว โจทก์อ้างว่าได้ขายที่ดินไปแล้ว จะไม่นำคดีมาฟ้องอีก ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง" คำเบิกความของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่ใช่กระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าว ส่วนที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวมีคำสั่งในการถอนฟ้องของโจทก์ว่า "ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องเพื่อทำฟ้องที่สมบูรณ์มายื่นต่อศาลใหม่อีก ทั้งโจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างเหตุว่าได้ขายที่ดินให้ผู้อื่น จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องแล้วหวนกลับมาฟ้องจำเลยใหม่อีก" ก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลชั้นต้นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้ซื้อทีดินที่โจทก์อ้างในดคีก่อน ชำระราคาแก่โจทก์ไม่ครบถ้วน จึงยังมิได้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์แก่กันให้บริบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
of 11