คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อร่าม แย้มสอาด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 156 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1830/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตอุทธรณ์ข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภค: ศาลฎีกาต้องเป็นผู้พิจารณา
แม้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติให้นำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ นั้น ขัดกับหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 52 ในเรื่องการอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาในคดีที่จะขึ้นมาสู่ศาลฎีกา โดยให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาและมีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาเท่านั้น คดีจึงจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภค ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1299/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ในคดีผู้บริโภคต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 การอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย
การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภคต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้เป็นพิเศษแล้ว บทบัญญัติในเรื่องการอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภคได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 587/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษและการพิจารณาเหตุบรรเทาโทษในคดีอาญา
การที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุก 2 เดือนแต่รอการลงโทษไว้ จำเลยจึงยังมิได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา จึงมิใช่ผู้ต้องโทษตามความหมายของมาตรา 4 และย่อมไม่ได้รับผลแห่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา ศาลจึงชอบที่จะบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีนี้ได้
จำเลยร่วมกับพวกขับรถจักรยานยนต์ใช้มีดไล่ฟันผู้เสียหายทั้งสองบนท้องถนนต่อหน้าผู้คนที่สัญจรไปมาจำนวนมาก แสดงถึงนิสัยอันธพาลและไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายของจำเลยและทำให้ผู้คนเกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลักษณะการกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับจำเลยเคยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นและศาลให้โอกาสจำเลยด้วยการรอการลงโทษมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่จำเลยไม่เข็ดหลาบมากระทำความผิดคดีนี้อีก แม้จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อนมีภาระต้องรับผิดชอบต่อครอบครัว ตลอดจนสามารถแก้ไขปรับปรุงตัวหลังเกิดเหตุโดยมีความประพฤติไม่เสียหายหรือมีเหตุอื่นก็ไม่เพียงพอที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษให้จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 562/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของคู่สัญญาก่อสร้างที่จ้างเหมาช่วง โดยอาศัยหลักตัวการตัวแทน แม้จะผิดสัญญา
จำเลยทำสัญญารับเหมาก่อสร้างจากกรมทางหลวง ตามสัญญาจำเลยจะนำไปทำสัญญาจ้างเหมาช่วงไม่ได้ จำเลยผิดสัญญานำไปให้บริษัท บ. รับเหมาช่วง ความรับผิดขั้นสุดท้ายต่อกรมทางหลวงยังอยู่ที่จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรง สัญญาข้อ 9 จำเลยรับว่า ผู้รับจ้างช่วงเป็นตัวแทนของจำเลย บริษัท บ. จึงเป็นตัวแทนจำเลยในการทำงานโดยมีจำเลยเป็นตัวการ เมื่อบริษัท บ. ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สนับสนุนการปล้นทรัพย์: การให้ยืมรถจักรยานยนต์และมีดโดยรู้ว่าจะนำไปใช้กระทำผิด
จำเลยที่ 4 และ ธ. เป็นผู้ขอยืมรถจักรยานยนต์และมีดจากจำเลยที่ 3 ที่บ้านจำเลยที่ 3 โดยก่อนขอยืมบุคคลทั้งสองชวนจำเลยที่ 3 ไปปล้นทรัพย์ด้วย จำเลยที่ 3 ปฏิเสธไม่ไป แต่จำเลยที่ 3 ให้บุคคลทั้งสองยืมรถจักรยานยนต์ไปแทน เป็นการให้ยืมโดยรู้ว่าบุคคลทั้งสองจะนำไปใช้ปล้นทรัพย์รายนี้จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการปล้นทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการมรดกโอนหุ้นให้ผู้อื่นโดยมิชอบ ทำให้ทายาทเสียหาย ถือเป็นความผิดอาญา
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับแบ่งปันหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะได้ความว่าบริษัทนี้มีหนี้สินค้างชำระเป็นจำนวนมากก็เป็นคนละกรณีกัน เพราะโจทก์ทั้งสามต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้จัดการหุ้นดังกล่าวของผู้ตายหรือไม่ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนหุ้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นกลับมาจากจำเลยที่ 3 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 86

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 283/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าและการเลิกสัญญาเนื่องจากเหตุสุดวิสัย (เพลิงไหม้) จำเลยต้องคืนเงินประกัน
สัญญาเช่าร้านค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่ง มีสาระสำคัญคือจำเลยผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องส่งมอบสถานที่เช่าให้โจทก์ และโจทก์ในฐานะผู้เช่ามีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่ารวมถึงค่าบริการอื่นๆ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ให้แก่จำเลย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไม่สามารถส่งมอบสถานที่เช่าให้โจทก์ได้เพราะอาคารที่เช่าเกิดเพลิงใหม่บริเวณชั้นที่ 7 และชั้นที่ 8 และเป็นเหตุให้อาคารที่เป็นสถานที่เช่าตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยต้องปิดดำเนินกิจการ และไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเปิดดำเนินการได้เมื่อใด จึงเป็นผลให้โจทก์ไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในสถานที่เช่าตามเจตนารมณ์ในการเข้าทำสัญญาได้ เหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นจนทำให้คู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาต่อกันได้เป็นพฤติการณ์พิเศษอันไม่อาจถือเป็นความผิดทั้งของโจทก์และของจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิขอเลิกสัญญากับจำเลยได้ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคแรก โดยจำเลยต้องคืนเงินประกันการเช่าตามสัญญาและเงินประกันการชำระค่าบริการที่รับไว้ทั้งหมดให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พฤติการณ์ใช้มีดทำร้ายศีรษะผู้เสียหายจนกะโหลกแตกร้าว ถือเป็นการพยายามฆ่า เล็งเห็นผลอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีบาดแผล คือ 1) บาดแผลฉีกขาดที่บริเวณด้านบนศีรษะข้างซ้ายค่อนมาทางกึ่งกลางศีรษะยาว 7 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลกศีรษะ 2) บาดแผลที่ศีรษะด้านขวาเหนือใบหูยาว 7 เซนติเมตร ลึกถึงกะโหลดศีรษะ 3) บาดแผลที่ต้นคอด้านหลังขวายาว 5 เซนติเมตร 4) บาดแผลที่มือซ้ายตรงฐานนิ้วก้อยยาว 2 เซนติเมตร และบริเวณปลายนิ้วนางยาว 4 เซนติเมตร และได้ความจากนายแพทย์ผู้ตรวจรักษาผู้เสียหายว่าบาดแผลหลักหรือบาดแผลสำคัญคือบาดแผลดังกล่าว ซึ่งแสดงว่าถูกฟันหลายครั้งแต่ไม่สามารถทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ทันที แต่ถ้าไม่รักษาอาจจะเกิดการติดเชื้อทำให้ถึงแก่ความตายได้ แม้ทางการแพทย์จะถือว่าไม่ร้ายแรง แต่การที่จำเลยกับพวกร่วมกันใช้มีดเฉพาะที่ยึดได้จากจำเลยยาว 15 นิ้ว กว้าง 2.5 นิ้ว เป็นอาวุธฟันที่ศีรษะผู้เสียหายอันเป็นอวัยวะสำคัญโดยแรงถึงกับกะโหลกศีรษะแตกร้าว ทั้งเป็นมีดที่มีขนาดใหญ่อาจใช้ทำร้ายคนให้ถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงตำแหน่งและสภาพของบาดแผลดังกล่าวที่ต้องใช้เวลาในการรักษาบาดแผลนานประมาณ 6 สัปดาห์ ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจติดเชื้อเป็นอันตรายถึงแก่ความตายได้ ย่อมแสดงว่าจำเลยกับพวกฟันผู้เสียหายโดยแรงบริเวณศีรษะอันเป็นอวัยวะสำคัญ จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการทำร้ายผู้เสียหายโดยใช้มีดขนาดใหญ่เป็นอาวุธฟันลงไปที่ศีรษะโดยแรงเช่นนี้ผู้เสียหายได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา: การพิจารณา 'ไตร่ตรองไว้ก่อน' จากพฤติการณ์และเหตุผลในการกระทำ
การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ข้อเท็จจริงจะต้องได้ความว่า ก่อนทำการฆ่าผู้กระทำผิดได้คิดวางแผนและไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำผิดไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วน และการไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเหตุเกี่ยวกับเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำผิดซึ่งต้องดูการกระทำเป็นสำคัญเพราะกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าสาเหตุที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ก็เนื่องจากจำเลยต้องการให้ น. กลับไปอยู่กินกับจำเลยอีก เพราะก่อนหน้านี้จำเลยและบุตรกับ น. ก็ยังไปมาหาสู่กันอยู่แต่ น. ปฏิเสธ ต่อมาหลังจากจำเลยพูดคุยกับผู้ตายนาน 3 ถึง 4 นาที ผู้ตายไล่ให้จำเลยออกไปจากบ้านที่เกิดเหตุ มิฉะนั้นจะเรียกเจ้าพนักงานตำรวจมาจัดการ คำพูดดังกล่าวของผู้ตายในลักษณะไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านนั้นย่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้จำเลยโกรธ ซึ่งเกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนและใช้อาวุธปืนพกยิงผู้ตาย 1 นัด ซึ่งหากจำเลยได้คิดวางแผนไตร่ตรองทบทวนมาก่อนว่าจะไปยิงผู้ตาย เมื่อไปถึงบ้านที่เกิดเหตุและพบผู้ตายก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับ น. เพื่อชักชวนให้ น. กลับไปอยู่กินกับจำเลยอีก และไม่จำเป็นที่จะต้องซักถามผู้ตายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับ น. น่าจะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทันทีแต่ก็หาเป็นเช่นนั้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9787/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งทรัพย์มรดกหลังการขายที่ดิน และอายุความระหว่างทายาท
จำเลยได้รับจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทรัพย์พิพาทอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกมา ก็เนื่องจากทายาททุกคนตกลงมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้นำไปขายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาท ดังเห็นได้จากที่จำเลยแบ่งเงินที่ขายให้แก่ทายาทบางคนตามสิทธิในเวลาต่อมา จำเลยจึงครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วมกันดังกล่าว ดังนั้น แม้ปรากฏว่าในวันที่ 1 มิถุนายน 2537 จำเลยขายที่ดินมรดกนี้ไปก็เป็นการปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น ถือว่าจำเลยยังครอบครองเงินที่ขายแทนทายาททุกคนเพื่อการแบ่งปันกันอายุความตัดสิทธิในระหว่างทายาทด้วยกันยังไม่เริ่มนับเพราะการแบ่งปันทรัพย์มรดกนี้ยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยจะยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสองและวรรคท้ายมาต่อสู้โจทก์หาได้ไม่
of 16