คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เฉลิมชัย ตันตยานนท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 98 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1152/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้กู้ยืมและการบังคับจำนองหลังหนี้ขาดอายุความ
จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์โดยมีข้อตกลงผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนโจทก์เป็นงวด ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกำหนดวิธีชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินคืนโดยผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (2)
จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งเป็นการชำระผิดไปจากข้อตกลง จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่าผิดนัด โจทก์จึงมีสิทธิบังคับสิทธิเรียกร้องได้ทั้งหมดนับแต่นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2548 จึงพ้นกำหนดอายุความ 5 ปี คดีของโจทก์ในส่วนหนี้เงินกู้จึงขาดอายุความ
แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินที่จำนองซึ่งโอนไปเป็นของจำเลยที่ 2 แล้วได้ แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้เท่านั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 959/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบต้องยื่นภายใน 8 วันนับแต่ทราบข้อเท็จจริง มิฉะนั้นศาลไม่รับพิจารณา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของผู้ร้อง ในวันเดียวกับที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง โดยท้ายคำร้องมีหมายเหตุว่าข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว จึงถือว่าผู้ร้องทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว ผู้ร้องซึ่งได้รับความเสียหายต้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่ผู้ร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาเนื้อหาของคำร้องให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบของผู้ร้อง แล้วมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน ทรัพย์ที่ถูกยึดจึงไม่ใช่ของผู้ร้อง คดีของผู้ร้องจึงไม่มีมูล ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง เป็นการพิจารณาสั่งตามเนื้อหาของคำร้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องยื่นเกินกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง อันเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยในผลแห่งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะต้องพิพากษายืน แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง จึงเป็นการพิพากษาโดยมิชอบ ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดิน/บ้านที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา และสิทธิในการได้รับเงินคืน
สัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านและรั้วเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่กันและกันนั้นคือ ผู้บริโภคทั้งสี่รายต้องชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดจนชำระเงินงวดสุดท้ายในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเมื่อจำเลยที่ 2 ก่อสร้างบ้านและรั้วเสร็จสิ้น ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องพัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วไปด้วย แม้ตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดของการพัฒนาที่ดินหรือสิ้นสุดของการก่อสร้างบ้านและรั้วของจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะพึงต้องชำระหนี้ให้แก่ผู้บริโภคทั้งสี่ราย แต่ก็ย่อมอนุมานได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร การที่ข้อเท็จจริงได้ความว่านับแต่ทำสัญญาในปี 2538 จนถึงปี 2547 ที่โจทก์ฟ้องเป็นเวลาถึง 9 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พัฒนาที่ดินและก่อสร้างบ้านพร้อมรั้วจนแล้วเสร็จให้อยู่ในสภาพพร้อมโอนให้ผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติการชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร ซึ่งในเวลาเดียวกันผู้บริโภคทั้งสี่รายกลับผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเงินพอสมควรดังกล่าวข้างต้น อันถือได้ว่าผู้บริโภคทั้งสี่รายได้ขอปฏิบัติการชำระหนี้ไปบ้างแล้ว ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หาได้ปฏิบัติการชำระหนี้เป็นการตอบแทนแต่อย่างใดไม่ เช่นนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญา เป็นเหตุให้โจทก์ในฐานะผู้มีอำนาจดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสี่รายซึ่งเป็นเสมือนเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามหนังสือและใบตอบรับก็เพื่อบอกเลิกสัญญา หาใช่หนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ ดังนั้นจึงไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลา 15 วันว่าเป็นเวลาพอสมควรหรือไม่ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องชดใช้เงินคืนแก่ผู้บริโภคทั้งสี่รายตามฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 39 บัญญัติว่า การดำเนินคดีในศาลแทนผู้บริโภคของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคนั้นให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และได้แจ้งคำสั่งไปยังกระทรวงยุติธรรมแล้ว จึงมีผลให้พนักงานอัยการมีอำนาจดำเนินคดีได้เองโดยตรงในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หาใช่เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเป็นทนายแผ่นดินไม่ ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความเช่นคดีอื่นๆ เมื่อพนักงานอัยการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทนายความ จึงไม่ชอบที่ศาลจะสั่งให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีชดใช้ค่าทนายความแก่ฝ่ายที่ชนะคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การแจ้งครอบครองแทนกัน, การครอบครองปรปักษ์, และการกำหนดค่าทนายความที่เหมาะสม
จำเลยให้การปฏิเสธว่า ล. ได้ให้ ข. กับ ป. และ ห. บรรพบุรุษของโจทก์และบริวารซึ่งเป็นญาติเข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาท โดยอาศัยปลูกบ้านอยู่และปลูกพืชผักสวนครัว อันเป็นการยึดที่ดินพิพาทแทน ล. เมื่อ ล. ตายที่ดินพิพาทจึงเป็นของจำเลยจำเลยก็อนุญาตให้ ป. กับ ห. และบริวารอาศัยอยู่ต่อมา เมื่อ ป. เป็นผู้นำที่ดินของ ล. ที่ตนอาศัยไปแจ้งการครอบครอง จึงถือว่าเป็นการแจ้งการครอบครองแทน ล. ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในที่ดินที่พิพาท คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เพียงว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยจำเลยได้ยกข้อต่อสู้เป็นประเด็นว่า ป. แจ้งสิทธิครอบครอง ตาม ส.ค.1 ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของ ล. มารดาจำเลยแทน ล. มารดาจำเลยเท่านั้น การที่จำเลยฎีกาปัญหาอื่นนอกจากนี้ แม้จำเลยจะได้นำสืบด้วย ก็ถือว่าเป็นการนำสืบนอกคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทและเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง
ตามตาราง 6 อัตราค่าทนายความ ท้าย ป.วิ.พ. ให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่ผู้ชนะคดีโดยพิจารณาตามความยากง่ายแห่งคดี กับเทียบเวลาและงานที่ทนายความต้องปฏิบัติในการว่าคดีเรื่องนั้น โดยศาลต้องกำหนดค่าทนายความระหว่างอัตราขั้นต่ำและอัตราขั้นสูง เมื่อปรากฏว่าทนายโจทก์ก็ได้เรียงพิมพ์คำแก้อุทธรณ์และยื่นคำแก้อุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นแล้ว ถือว่าทนายโจทก์ได้ว่าคดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว โดยจำเลยได้อุทธรณ์มาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งฟังไม่ขึ้นแม้แต่ข้อเดียว จนศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นสมดังที่ทนายโจทก์ได้แก้อุทธรณ์ไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงมีอำนาจกำหนดให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ได้ เมื่อทุนทรัพย์ในคดีมีจำนวน 960,000 บาท ส่วนค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยใช้แทนโจทก์นั้นมีจำนวน 25,000 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 2.6 ของจำนวนทุนทรัพย์ ทั้ง ๆ ที่อาจกำหนดค่าทนายความให้ในอัตราขั้นสูงได้ถึงร้อยละ 3 ของจำนวนทุนทรัพย์ ค่าทนายความดังกล่าวไม่สูงเกินส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยักยอกเงินรายได้ของสาขา การมอบหมายหน้าที่ดูแลการเงิน และเจตนาทุจริต
โจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ดูแลการเงินของร้านทรงสมัยพิษณุโลก สาขาของโจทก์ เงินรายได้ของร้านที่จำเลยรับไว้โดยผู้จัดการสาขาดังกล่าวนำฝากเข้าบัญชีของจำเลยเพื่อให้จำเลยนำส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์จึงตกเป็นของโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินรายได้ดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่ไม่นำส่ง กลับเบียดบังเอาเงินนั้นเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 211/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจพิเศษนายกฯ ตามธรรมนูญการปกครอง 2520 และความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งจำคุก
เมื่อคณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ต่อมาได้มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งจะได้จัดร่างขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับนี้ ดังนั้น ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 จึงเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศและบริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น
เมื่อตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนหรือทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน หรือการกระทำอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือการกระทำอันเป็นการทำลายทรัพยากรของประเทศ หรือเป็นการบั่นทอนสุขภาพอนามัยของประชาชน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังวันใช้ธรรมนูญการปกครองนี้และไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำของนายกรัฐมนตรีรวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย" ถ้อยคำในมาตรา 27 ที่ว่า ...ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและของสภานโยบายแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้" ย่อมรวมถึงการสั่งจำคุก ในเมื่อนายกรัฐมนตรีเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร
เมื่อปรากฏตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ว่า อ. ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกมีเฮโรอีนน้ำหนัก 92 กิโลกรัมเศษ มอร์ฟีน 98 กิโลกรัมเศษ และฝิ่นสุกอีก 81 กิโลกรัมเศษ อันเป็นยาเสพติดให้โทษจำนวนมาก ถือได้ว่าเป็นการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ บ่อนทำลายสุขภาพอนามัยของประชาชน เป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศชาติและประชาชน ครบองค์ประกอบความผิดที่นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและสภานโยบายแห่งชาติสั่งให้จำคุกตลอดชีวิต อ. ในข้อหาร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายได้ อันเป็นการใช้อำนาจโดยชอบตามที่กำหนดไว้ในธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2521 จึงชอบด้วยกฎหมาย
แม้การออกคำสั่งดังกล่าวมีผลเป็นการลงโทษจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคล ซึ่งโดยปกติจะกระทำได้โดยอาศัยคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการและมาตรา 29 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาญาจักร พ.ศ.2520 จะบัญญัติว่า "ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย" ก็ตาม ก็ไม่ขัดหรือแย้งกันเอง และหาทำให้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 กลับกลายเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายไม่ ทั้งนี้เพราะการใช้อำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 27 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 เป็นการใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีที่จะมีคำสั่งใดๆ ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 27 ดังกล่าว ส่วนอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาและตุลาการสำหรับคดีที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่อย่างนั้น ซึ่งเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 27
กรณีไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 ที่บัญญัติว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย" เพราะการสั่งจำคุก อ. ในคดีนี้เป็นการสั่งโดยชอบด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520 มาตรา 27 หาใช่เป็นกรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ใช้บังคับไม่ ดังนั้น คำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 28/2521 ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2521 จึงชอบด้วยกฎหมาย กรณีของผู้ร้องไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 90 ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ปล่อยตัว อ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15198/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความขัดแย้งประโยชน์นิติบุคคล-ผู้แทน: ศาลแต่งตั้งผู้แทนเฉพาะการเพื่อทวงหนี้ค่าส่วนกลางได้
ผู้ร้องคัดค้านได้ร่วมก่อตั้งบริษัท อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ม. โดยผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้ถือหุ้น การที่ผู้ร้องคัดค้านซึ่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดไม่ดำเนินการใดๆ กับบริษัท ม.ซึ่งค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อเครือญาติและตนเองในบริษัทดังกล่าว อันเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทล ถือได้ว่าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในเรื่องดังกล่าว เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่กรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นในกรณีเช่นนี้ จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของร่วมในอาคารชุดย่อมร้องขอให้ศาลแต่งตั้ง ธ. เป็นผู้แทนเฉพาะการเพื่อดำเนินการในเรื่องการทวงถามค่าใช้จ่ายส่วนกลางตลอดจนการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดมิลฟอร์ด พาราไดซ์ คอนโดเทลได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 75

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15019/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลที่ไม่รับคำให้การและการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา การตีความประเภทของคำสั่งศาล
ระหว่างพิจารณาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การโดยอ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบพร้อมทั้งยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและคำสั่งยกคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งว่าจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) ส่วนคำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 1 เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 วรรคสาม ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ มิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 มีสิทธิอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10680/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลสั่งขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐ แม้ลงโทษอาญาแล้ว ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่
ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสี่ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด คนงาน ผู้รับจ้าง และบริวารของผู้กระทำความผิดออกจากที่ดินได้ แม้บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่เป็นมาตรการที่มุ่งประสงค์ให้รัฐซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินได้โดยเร็วโดยไม่จำต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกต่างหาก ดังนี้แม้ศาลลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 360 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคสอง ด้วย ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของรัฐและที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันที่จำเลยเข้าไปยึดถือครอบครองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10523/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การฟ้องซ้ำหลังแยกฟ้อง และการหยุดนับอายุความ
ป.อ. มาตรา 95 วรรคแรก บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความ" ซึ่งหมายความว่า เมื่อฟ้องและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลแล้วอายุความจึงหยุดนับ คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2547 ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 100 บาท จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) โจทก์นำจำเลยมาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 580/2549 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ภายในเวลา 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิด อายุความจึงหยุดนับ เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ และโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ภายในกำหนดตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ 26 เมษายน 2549 คดีโจทก์สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือไม่มีเหตุสมควรจึงไม่ขาดอายุความ
of 10