คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พินิจ บุญชัด

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 191 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฉ้อโกงด้วยการแสดงหลักฐานเท็จเพื่อไถ่ทรัพย์ ศาลตัดสินผิดฐานฉ้อโกง แม้ฟ้องฐานลักทรัพย์
การที่ผู้เสียหายนำสร้อยคอไปจำนำ เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำได้ออกหลักฐานให้ผู้เสียหายว่า เป็นการ "ขายฝาก" โดยมีกำหนดไถ่ทรัพย์ที่ขายฝากคืนภายใน 1 เดือน กรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอที่รับจำนำไว้จึงตกอยู่แก่เจ้าของร้านทองผู้รับจำนำจนกว่าผู้เสียหายจะไถ่คืน ดังนั้น การที่จำเลยนำหลักฐานที่เจ้าของร้านทองออกให้แก่ผู้เสียหายไปขอไถ่สร้อยคอของผู้เสียหายจากผู้รับจำนำโดยไม่แสดงออกให้แจ้งชัดว่าตั๋วไถ่ไม่ใช่ของตน เป็นเหตุให้ผู้รับจำนำหลงเชื่อว่าจำเลยเป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์และการครอบครองสร้อยคอของผู้เสียหายให้จำเลยไป เป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และฉ้อโกง ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ไม่ถือว่าพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4797/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และการแยกความผิดฐานครอบครองเพื่อจำหน่ายกับจำหน่าย
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยมีและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงในประเภท 1 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135ฯ เรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษตามบัญชีท้ายประกาศดังกล่าวซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจำเลยได้ทราบประกาศนี้แล้ว จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และเป็นการยืนยันว่าจำเลยทราบประกาศดังกล่าวแล้วแม้โจทก์จะไม่แนบประกาศดังกล่าวมาพร้อมคำฟ้อง ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4513/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองลิขสิทธิ์งานเพลงและสิ่งบันทึกเสียง รวมถึงสิทธิในการทำซ้ำในรูปแบบต่างๆ แม้จะยังไม่มีเทคโนโลยีในขณะทำสัญญา
พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 ให้ความคุ้มครองงานดนตรีกรรมและงานสิ่งบันทึกเสียงเป็นเวลา 50 ปี เช่นเดียวกับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและโสตทัศนวัสดุตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ทั้งนี้ตามมาตรา 19 วรรคท้าย และ 21 โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามสัญญาซื้อขาย ลงวันที่ 1 เมษายน 2518 ฉะนั้น ขณะที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานเพลงและเทปต้นแบบที่บันทึกเพลงตามคำฟ้องของโจทก์เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2542 โจทก์จึงยังคงมีลิขสิทธิ์ในงานเพลงและเทปต้นแบบนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ แต่ผู้เดียวในงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 รวมถึงสิทธิในการทำซ้ำ เทปต้นแบบดังกล่าวโดยการบันทึกเสียงลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ หรือในรูปแบบใดที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้อีกซึ่งรวมทั้งการบันทึกเสียงในรูปเทปคาสเซตด้วย
ตามสัญญาซื้อขายงานเพลงระหว่างโจทก์ และ ป. สามีจำเลยที่ 3 ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ ในงานเพลงทั้งหมดและในเทปต้นแบบที่บันทึกงานเพลงพิพาท มิใช่เป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์เฉพาะสิทธิให้นำงานเพลงตามคำฟ้องไปผลิตหรือบันทึกในรูปแบบแผ่นเสียงเท่านั้น นอกจากนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มาตรา 9 (1) และ 17 ยังบัญญัติให้ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำดนตรีกรรมนั้นเพื่อให้ใช้ได้ด้วยเครื่องกลอันทำให้เกิดเสียงดนตรีนั้นขึ้นอีก และมีลิขสิทธิ์ในสิ่งซึ่งทำโดยวิธีอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดเสียงซ้ำได้ด้วยเครื่องกลซึ่งหมายถึงสิ่งบันทึกเสียงในรูปแบบอื่น ๆ ที่จะมีในอนาคตด้วย ดังนี้แม้ในขณะทำสัญญาดังกล่าวในปี 2518 จะยังไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกเสียงเพลงในรูปของเทปคาสเซตก็ตาม แต่สิทธิในลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ได้มาจากการประมูลตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมรวมถึงสิทธิที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลงดนตรีกรรม แผ่นเสียง และเทปต้นแบบที่บันทึกเสียงเพลงตามคำฟ้อง โดยการบันทึกเสียงเพลงนั้นลงในวัสดุใดหรือทำออกมาในรูปแบบใดที่จะมีในอนาคตซึ่งรวมทั้งเทปคาสเซตด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4259/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายเงินให้ทนายความเพื่อวิ่งเต้นคดี ถือเป็นการให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจ ให้กระทำการมิชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องคืน
เงินที่โจทก์ให้จำเลยซึ่งเป็นทนายความนำไปใช้ในการวิ่งเต้นคดี คือนำไปให้ผู้พิพากษาเพื่อจูงใจให้ผู้พิพากษาตัดสินยกฟ้องปล่อยตัวโจทก์ เป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ อันเป็นการผิดกฎหมายฐานให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินนั้นคืนจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4168/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนครอบครอง, การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด, และหลักการใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่
จำเลยถูกฟ้องก่อนที่ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 และบทบัญญัติในหมวด 3 มาตรา 19 ว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแห่งกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ และจำเลยมิได้เป็นเพียงผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดและมีไว้ในครอบครองอันเป็นหลักเกณฑ์ที่จะถูกส่งตัวไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และตามหลักฐานของจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยเพียงแต่ไปเข้าค่ายฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบสมัครใจหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น จำเลยจึงไม่ใช่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด จนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่จะถือว่าจำเลยพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหา ตามมาตรา 19 ตามบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4168/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติด (เมทแอมเฟตามีน) เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ แม้คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึง 20 กรัม และประเด็นการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด
ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำความผิดนั้น บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1..." ส่วนมาตรา 67 บัญญัติว่า "ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงยี่สิบกรัมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท" เท่านั้น ตามบทมาตราดังกล่าว ไม่ได้บัญญัติว่ายาเสพติดให้โทษต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินกว่าที่กำหนดไว้จึงจะเป็นความผิด เมื่อจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 48 เม็ด น้ำหนัก 4.158 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ตามคำฟ้องโจทก์จะไม่ได้ระบุว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้หนักเท่าใด แต่ก็เป็นกรณีที่จำเลยมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงยี่สิบกรัมแล้วการกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามฟ้อง ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้
จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2544 อันเป็นวันก่อนที่ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดฯ และบทบัญญัติในหมวด 3 มาตรา 19 ว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแห่งกฎหมายดังกล่าวใช้บังคับ และจำเลยมิได้เป็นเพียงผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดและมีไว้ในครอบครองอันเป็นหลักเกณฑ์ที่จะถูกส่งตัวไปฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ทั้งตามหลักฐานของจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยเพียงแต่ไปเข้าค่ายฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบสมัครใจหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น จำเลยจึงไม่ใช่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่จะถือว่าจำเลยพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 ตามบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2901/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนจากแชร์ลูกโซ่
พฤติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันประกอบกิจการในชื่อบริษัท ว. จำกัด ประกาศโฆษณาต่อประชาชนทั่วไปรับสมัครสมาชิกไวท์โฮปกรุ๊ป และเรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยรู้อยู่แล้วว่าบริษัทไม่ได้ประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด อันจะมีผลประโยชน์มาปันให้ให้แก่สมาชิกได้ตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิก จึงเป็นการร่วมกันกระทำผิดโดยการหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินคือเงินค่าสมัครสมาชิกรายละ 3,000 บาท จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม อันเป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินจากผู้สมัครเป็นสมาชิกรายละ 3,000 บาท โดยมีเงื่อนไขในการให้ผลประโยชน์ตอบแทนเฉพาะแก่ผู้เป็นสมาชิกว่า หากสมาชิกผู้ใดหาสมาชิกใหม่มาสมัครได้ 6 คน จะได้รับผลประโยชน์เป็นเงินดาวน์รถจักรยานยนต์จำนวน 6,000 บาท ทั้งจะได้รับเงินตอบแทนจากการหาสมาชิกใหม่รายละร้อยละ 25 ของเงินค่าสมัคร และหากสมาชิกใหม่หาสมาชิกมาสมัครได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกเดิมก็ยังจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจำนวนลดหลั่นไปตามใบประกาศตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกนั้น เป็นการประกอบกิจการโดยวิธีชักจูงให้ผู้อื่นส่งเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นให้แก่ตน และให้ผู้นั้นชักจูงผู้อื่นตามวิธีการที่กำหนด และแสดงให้ผู้ถูกชักจูงเข้าใจว่าถ้าได้ปฏิบัติตามจนมีบุคคลอื่นอีกหลายคนเข้าร่วมต่อ ๆ ไปจนครบวงจรแล้วผู้ถูกชักจูงจะได้รับกำไรมากกว่าเงินหรือประโยชน์ที่ผู้นั้นได้ส่งไว้ดังที่บางคนเรียกกันว่าแชร์ลูกโซ่ ซึ่งเมื่อคำนวณตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกแล้ว จะเห็นได้ว่าหากผู้เป็นสมาชิกปฏิบัติตามเงื่อนไขสามารถชักจูงบุคคลอื่นมาเข้าร่วมได้ต่อ ๆ ไป สมาชิกรายต้น ๆ จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้หลายเท่า แต่หากการดำเนินการมิได้เป็นไปตามคำชักจูงก็จะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนผู้หลงเชื่อมาสมัครรายหลัง พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกเก็บเงินค่าสมัครจากผู้สมัครเป็นสมาชิกและผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้แก่สมาชิกในเงื่อนไขตามตารางผลประโยชน์แห่งสมาชิกดังกล่าว ต้องตามความหมายของบทนิยามคำว่า "กู้ยืมเงิน" และ "ผลประโยชน์ตอบแทน" ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 3 และเมื่อมีประชาชนหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามที่จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณามีจำนวนมากกว่าตั้งแต่สิบคนขึ้นไปโดยมีจำนวนรวม 394 คนตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย วันเวลาและจำนวนเงินที่จำเลยได้รับไปจากผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 ด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีความผิดตามฟ้องโจทก์
แม้จำเลยที่ 1 จะประกาศโฆษณาเพียงครั้งเดียวในคราวเดียว แต่ข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังยุติว่าในระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนั้น มีผู้เสียหายซึ่งหลงเชื่อเข้าสมัครเป็นสมาชิกบัตรไวท์โฮปกรุ๊ปตามประกาศโฆษณาของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 394 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงินค่าสมัครเป็นสมาชิกจากผู้เสียหายจำนวนดังกล่าวรายละ 3,000 คน ไปโดยทุจริต ซึ่งความผิดต่อผู้เสียหายแต่ละรายเป็นการกระทำที่แยกออกจากกันได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันรวม 394 กระทง ศาลย่อมลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปได้ตาม ป.อ. มาตรา 91
จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ มาตรา 4 มีโทษตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 12 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปีรวม 394 กระทง เป็นกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินยี่สิบปีตาม ป.อ. มาตรา 91 (2) ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 20 ปี ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงไม่อาจลงโทษให้เบาลงอีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2819/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีแพ่งต้องมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย การฟ้องเพื่อทำลายพยานหลักฐานในคดีอาญาจึงไม่ถือว่ามีอำนาจฟ้อง
ผู้ที่จะฟ้องคดีแพ่งต่อศาลจะต้องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อรับรองว่าตนมีสิทธิหรือหน้าที่หรือจะต้องใช้สิทธิทางศาล เมื่อโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 110214 การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงโฉนดดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ก็เพียงเพื่อต้องการทำลายพยานหลักฐานในคดีอาญาที่โจทก์ถูกจำเลยฟ้องข้อหาบุกรุกที่ดินแปลงนี้ ซึ่งในคดีนั้นโจทก์ในฐานะจำเลยย่อมมีสิทธินำพยานหลักฐานมานำสืบต่อสู้คดีได้หากจำเลยนำหลักฐานเท็จมาแสดง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรงจากคำสั่งศาลดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายหรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2633/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาหลอกลวงเพื่อเอาเงิน ไม่ถือเป็นความผิดฐานจัดหางาน
โจทก์บรรยายคำฟ้องในตอนแรกว่า จำเลยประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่ผู้เสียหายทั้งแปด ซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศโดยเรียกและรับค่าบริการเป็นเงินตอบแทนจากคนหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่คำฟ้องตอนหลังบรรยายว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งแปดด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยบอกและรับรองว่า จำเลยสามารถจัดส่งผู้เสียหายทั้งแปดไปทำงานต่างประเทศโดยได้รับค่าจ้างตอบแทนได้ ความจริงจำเลยเพียงแต่ดำเนินการให้ผู้เสียหายทั้งแปดเดินทางไปต่างประเทศได้เท่านั้น ไม่สามารถจัดให้ผู้เสียหายทั้งแปดได้ทำงานโดยได้รับค่าจ้างตอบแทนตามที่อ้าง การกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์แสดงว่า จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะจัดหางานให้ผู้เสียหายทั้งแปด แต่อ้างเอาเรื่องการจัดหางานขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งแปดเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานจัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตไม่ได้: ขนาด .223 (5.56 มม.) ไม่เข้าข้อยกเว้นชนิดเจาะเกราะ/กระสุนเพลิง
แม้ผู้ชำนาญที่ตรวจพิสูจน์จะมีความเห็นว่า กระสุนปืนของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนแบบที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11ฯ ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองนั้นเป็นอาวุธปืนที่จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตก็ตาม แต่เมื่อกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ข้อ 3 กำหนดว่า "เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามมาตรา 7 หรือมาตรา 24 ต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนตามข้อ 2 ที่ได้รับอนุญาต แต่ต้องไม่เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิง" อันหมายความว่าเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้นั้นต้องเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ได้ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ข้อ 2 เว้นแต่เครื่องกระสุนปืนนั้นเป็นชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงแล้ว ก็เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ซึ่งเมื่อเครื่องกระสุนปืนของกลางมีขนาดเพียง .223 (5.56 มม.) ไม่เกินขนาดอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ตามกฎกระทรวง ข้อ 2 (1) ที่กำหนดว่า "อาวุธปืนชนิดลำกล้องมีเกลียวที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่เกิน 11.44 มม." และข้อ 2 (2) กำหนดว่า "อาวุธปืนชนิดลำกล้องไม่มีเกลียว ดังต่อไปนี้ (ก) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้องไม่ถึง 20 มม. (ข) ปืนบรรจุปาก ปืนลูกซองและปืนพลุสัญญาณ" แล้วจึงเห็นได้ในเบื้องต้นว่า เครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1 นัด ของกลางเป็นเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ได้ ดังนั้น ถึงหากจะให้รับฟังว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนเล็กกลดังเช่นที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าเครื่องกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จำนวน 1 นัด ของกลาง เป็นเครื่องกระสุนปืนชนิดเจาะเกราะหรือชนิดกระสุนเพลิงซึ่งเป็นข้อยกเว้นตามกฎกระทรวง ข้อ 3 ตอนท้าย ที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ ศาลก็ต้องยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ
of 20