คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1144

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 174 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดส่วนบุคคลของกรรมการบริษัทในหนี้ซื้อขายสินค้า แม้ไม่มีการประทับตราบริษัท
โจทก์นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของฝ่ายจำเลยในการติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศครั้งนี้ไว้แล้ว โดยเฉพาะการกระทำตามอำเภอใจของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่การเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการเจรจากับโจทก์มาตลอด การไม่ยอมชำระค่าบริการสินค้าตั้งแต่แรกด้วยการอ้างว่าขาดสภาพคล่องทางการเงิน การทำสัญญาค้ำประกันโดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญทั้งของจำเลยที่ 1 และที่ 3 การทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับลายนิ้วมือแต่ไม่ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 รวมทั้งการทำหลักฐานการโอนเงินให้แก่โจทก์ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีการทำธุรกรรมดังกล่าวต่อธนาคารแต่อย่างใด การกระทำเหล่านี้นับเป็นข้อพิรุธหลายประการของจำเลยที่ 2 ที่ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำการไม่สุจริตในลักษณะที่ตนเองเป็นบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนอกเหนือจากการเป็นเพียงผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น ทั้งเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงแบบพิธีของจำเลยที่ 1 ในการประทับตราสำคัญ หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าได้ทำขึ้นโดยเจตนาให้มีลักษณะเป็นทางการอย่างเช่นหนังสือที่ออกโดยนิติบุคคลทั่วไป แต่มีลักษณะที่อาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยที่ 2 ทำในนามส่วนตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่โจทก์และยอมปล่อยสินค้า จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ค้าผู้สุจริตได้ ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมเป็นการส่วนตัวกับจำเลยที่ 1 เพื่อรับผิดในหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระต่อโจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการบริษัทในการถอดถอนผู้แทนในกิจการร่วมค้า และความชอบด้วยกฎหมายของการประชุม
ป.พ.พ. มาตรา 1144 บัญญัติว่า "บรรดาบริษัทจำกัด ให้มีกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนด้วยกันจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นทั้งปวง" กรรมการของจำเลยที่ 1 จึงต้องจัดการบริษัทตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่แห่งผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว เมื่อในการเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อบังคับของจำเลยที่ 1 กำหนดระยะเวลาในการเรียกประชุมกรรมการไว้เป็นการเฉพาะ และปรากฏตามรายงานการประชุมตั้งบริษัทจำเลยที่ 1 ว่าที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้ใช้ ป.พ.พ. เป็นข้อบังคับของบริษัท ดังนั้น ในการเรียกประชุมกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 1162 ที่บัญญัติว่า "กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้" อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะสำหรับการเรียกประชุมกรรมการบริษัท ซึ่งในกรณีนี้กฎหมายมิได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการบอกกล่าวเรียกประชุมไว้ และเมื่อการเรียกประชุมกรรมการบริษัทมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้กรรมการนัดเรียกประชุมเมื่อใดก็ได้ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีการบอกกล่าวเรียกประชุมตามมาตรา 1175 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้ในการเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทมาใช้บังคับในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามมาตรา 4 ได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงสามารถเรียกประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้
ข้อบังคับของบริษัทเป็นข้อตกลงในการจัดการงานของบริษัทที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมตั้งบริษัท และข้อบังคับที่จดทะเบียนไว้สำหรับบริษัทใดย่อมใช้บังคับสำหรับบริษัทนั้น เมื่อบริษัท ร. เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นในลักษณะของกิจการร่วมค้าตามกฎหมายของสาธารณรัฐประชาชนจีนและเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบริษัท ร. เท่านั้น แม้สัญญาร่วมลงทุนของบริษัท ร. จะกำหนดว่าการเรียกประชุมกรรมการของบริษัทต้องเรียกประชุมล่วงหน้า 15 วัน ก็ตาม แต่เมื่อที่ประชุมของจำเลยที่ 1 ให้ใช้ ป.พ.พ. เป็นข้อบังคับของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ตกลงให้นำข้อบังคับของบริษัท ร. มาใช้เป็นข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ด้วย ระยะเวลาในการบอกกล่าวเรียกประชุมกรรมการของบริษัท ร. ที่กำหนดให้ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1
การออกหนังสือเชิญประชุมคณะกรรมการระบุวาระการประชุมว่า เรื่องต่าง ๆ รวมถึงมาตรการที่เหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ในฐานะกรรมการของบริษัท ร. เมื่อพิจารณาถึงวาระการประชุมตามที่กำหนดไว้ในเอกสารดังกล่าว ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นวาระการประชุมเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการใด ๆ ที่เหมาะสมที่เกี่ยวข้องกับผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ที่ดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการของบริษัท ร. ซึ่งครอบคลุมรวมถึงการคงอยู่ หรือการถอดถอน หรือการแต่งตั้งผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ที่ดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัทดังกล่าวด้วย การที่ที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ ๑ ได้พิจารณาและลงมติให้ถอดถอนโจทก์กับพวกซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการของบริษัท ร. ออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งบุคคลอื่นแทนจึงเป็นการพิจารณาและลงมติในวาระหรือเรื่องที่กำหนดไว้
บริษัท ร. เป็นนิติบุคคลและมีคณะกรรมการของบริษัทแยกต่างหากจากบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น การที่ที่ประชุมกรรมการของจำเลยที่ ๑ มีมติถอดถอนโจทก์กับพวกออกจากการเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๑ ที่เข้าไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัท ร. จึงมิใช่เป็นการถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๑๕๑ ที่กำหนดให้การแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการบริษัทต้องกระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจ้างทำความสะอาด: การเปลี่ยนแปลงสัญญา, ค่าเสียหายจากการบอกเลิก, และการประเมินความเสียหาย
สัญญาว่าจ้างบริการทำความสะอาดอาคารและสถานที่ กำหนดว่า การจะเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในสัญญา โดยเฉพาะอัตราค่าบริการ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและแนบท้ายสัญญาไว้ด้วย ต้องถือว่าอัตราค่าบริการเป็นสาระสำคัญของสัญญา เพราะโจทก์เข้ามาทำงานรับจ้างทำความสะอาดอาคารและสถานที่ให้จำเลย ก็หวังจะได้ค่าบริการจากจำเลยเป็นการตอบแทนนั่นเอง การที่โจทก์มีหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการ ไปถึง จ. ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง และ ภ. ฝ่ายแม่บ้าน ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลย บุคคลทั้งสองไม่มีอำนาจตกลงเปลี่ยนแปลงข้อสัญญากับโจทก์ได้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการปรับขึ้นค่าบริการ การตกลงที่สำคัญเช่นนี้โจทก์ต้องมีหนังสือไปถึงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยไม่ได้ตกลงกับโจทก์ ไม่ได้มีการทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หนังสือปรับขึ้นค่าบริการของโจทก์จึงยังไม่ผูกพันให้จำเลยต้องรับผิดในอัตราค่าบริการใหม่ที่โจทก์กำหนดขึ้นเอง แม้หลังจากที่พนักงานของจำเลยได้รับหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการแล้วจะยังมีการจัดซื้อจัดจ้างโจทก์ก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ปรับขึ้นค่าบริการแล้ว จึงไม่มีผลให้โจทก์สามารถคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ เพราะพนักงานดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ทั้งโจทก์ยอมรับว่า จำเลยยังไม่เคยจ่ายเงินค่าบริการในอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้นใหม่ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด เท่ากับว่าจำเลยยังไม่ได้ตกลงด้วยกับโจทก์ในการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการใหม่ โจทก์ย่อมไม่อาจคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ และเนื่องจากระหว่างพิจารณา จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าบริการที่ค้างชำระให้จนโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างในอัตราเดิมจากจำเลยอีกต่อไปแล้ว และค่าจ้างหรือค่าบริการในอัตราใหม่ก็ไม่ผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าจ้างหรือค่าบริการค้างจ่ายจากจำเลยได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7811/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาศาลแรงงานเรื่องดอกเบี้ยค่าชดเชยและดอกเบี้ยค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ผู้ทำการแทนบริษัทก็คือกรรมการของบริษัทซึ่งมีฐานะเป็นผู้แทนแสดงความประสงค์ของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง แต่กรรมการก็คงมีอำนาจหน้าที่จัดการงานของบริษัทตามที่บริษัทมอบหมายและตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ตลอดจนต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา 1144 และตามผลของมาตรา 1167 กรรมการมีฐานะเป็นผู้แทนและเป็นเสมือนตัวแทนของบริษัทด้วย โดยกรรมการต้องมีการจดทะเบียนตามมาตรา 1157 และถือว่ากรรมการที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนเป็นกรรมการของบริษัท
คดีนี้ ศ. เป็นกรรมการของจำเลย ตามหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ศ. จึงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่จัดการงานของจำเลย เว้นแต่การลงลายมือชื่อผูกพันจำเลยเท่านั้นที่ ศ. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นรวมเป็น 2 คน และประทับตราสำคัญของจำเลยตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองนั้น ส่วนที่จำเลยกำหนดให้ ศ. อยู่ในงานด้าน MKT. Advisor ตามแผนผังองค์กรก็เป็นเพียงการกำหนดตำแหน่งงานในส่วนของ MKT. โดยไม่ปรากฏว่ามีการจำกัดอำนาจหน้าที่จัดการงานในส่วนอื่นในฐานะกรรมการ อีกทั้งไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงให้ ศ. พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลย ศ. จึงเป็นผู้แทนของจำเลยในการแสดงความประสงค์ของจำเลย และเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลในการจัดการงานของจำเลย จึงเป็นนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
โจทก์เบิกความว่าตามบัตรตอกลงเวลาเข้าออกงานของโจทก์เอกสารหมาย ล. 6 ถึง ล. 8 โจทก์ไปประชุมไม่ได้ออกไปทำงานส่วนตัว และปรากฏว่าในบัตรตอกลงเวลาเข้าออกงานของโจทก์เอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.8 โจทก์จดบันทึกไว้ด้วยว่าไปประชุม โดยโจทก์ได้รับคำสั่งจาก ศ. และไปกับ ศ. ทุกครั้ง สถานที่ไปเป็นบริษัทในเครือที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น จึงมีผลเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์จดบันทึกชี้แจงให้ฝ่ายจัดการทราบถึงการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งของจำเลยในบันทึกการประชุมผู้จัดการฝ่ายเอกสารหมาย ล. 16 ข้อ 3 แสดงว่าโจทก์ทราบและยอมรับปฏิบัติตามคำสั่งในการตอกบัตรลงเวลาทำงาน และจดบันทึกการออกไปปฏิบัติภารกิจนอกสถานที่ตามคำสั่งในเอกสารหมาย ล.16 ข้อ 3 คำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.16 ข้อ 3 ที่ออกโดย ว. ซึ่งเป็นกรรมการอีกคนหนึ่งของจำเลยอันเป็นการวางระเบียบการทำงานที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ใช้บังคับแก่พนักงานระดับผู้จัดการฝ่ายทุกคนโดยไม่ได้เลือกปฏิบัติเฉพาะแก่คนใดคนหนึ่ง จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม มีผลใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1396/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดโรงงานปล่อยน้ำเสียกระทบแหล่งน้ำ และความรับผิดของกรรมการบริษัท
โรงงานของจำเลยที่ 1 เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ปล่อยของเสีย ก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นต้นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นและโจทก์ที่ 5 กับพวกเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ครอบครองมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าทดแทนเพื่อการนั้น ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้กล่าวอ้างและพิสูจน์ว่ามลพิษนั้นเกิดจากข้อยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 96 (1) ถึง (3) แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 5 กับพวก ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 96
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งการแสดงออกของบริษัทย่อมกระทำโดยทางกรรมการ ความเกี่ยวพันระหว่างกรรมการและบริษัทกับบุคคลภายนอกนั้น ให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน กิจการใดอันเป็นหน้าที่ของบริษัทจะต้องกระทำย่อมเป็นหน้าที่ของกรรมการต้องกระทำการแทน จำเลยที่ 2 ย่อมทราบดีว่า การปล่อยน้ำเสียทิ้งออกสู่คลองสาธารณะย่อมก่อให้เกิดมลพิษและความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ กระทบกระเทือนต่อระบบนิเวศทางน้ำและสิ่งแวดล้อมของแหล่งน้ำนั้น จึงเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 ในการกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ที่จะต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะ แต่จำเลยที่ 2 กลับมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามภาระหน้าที่ เมื่อปรากฏว่าโรงงานของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1022/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาฎีกาที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับบริษัท และผลกระทบต่อการรับฎีกาของศาล
คำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ฉบับลงวันที่ 20 กันยายน 2555 มีจำเลยที่ 1 ลงชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้ลงชื่อในคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกามาด้วย ฉะนั้นแม้คำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาฉบับนี้จะได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 กับพวก ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยที่ 3 ด้วย การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาไปถึงจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาในครั้งที่ 2 ฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2555 ขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปเป็นเวลา 30 วัน แต่คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาฉบับดังกล่าวนี้ มีเพียงกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 คนเดียวลงชื่อและประทับตราของจำเลยที่ 1 จึงขัดกับข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองของจำเลยที่ 1 ที่ระบุว่าจำนวนหรือกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้คือ ก. หรือนาวาโท ช. ลงลายมือร่วมกับ ส. และประทับตราสำคัญของบริษัท การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา ถือเป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณา จำเลยที่ 1 ต้องทำตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ฝ่าฝืนไม่ทำตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 อันถือเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 1 ดังนี้ ย่อมไม่ถือเสมือนเป็นการลงชื่อของจำเลยที่ 1 การยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 จึงไม่ชอบ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาฎีกาในครั้งที่ 2 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 จึงไม่ชอบเช่นกัน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 จึงเป็นการยื่นฎีกาเกินกำหนด 30 วัน นับแต่ได้รับอนุญาตให้ยื่นฎีกา โดยปราศจากเหตุสุดวิสัยไม่ชอบที่จะรับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ดังกล่าวไว้พิจารณา ยกฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนัดประชุมกรรมการบริษัทเมื่อตำแหน่งประธานว่างลง และการใช้วิธีประกาศโฆษณาแทนการติดต่อโดยตรง
เมื่อตำแหน่งประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ว่างลง กรณีจึงไม่มีประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่จะทำหน้าที่นัดเรียกประชุมกรรมการ จึงมีเหตุขัดข้องที่ไม่อาจดำเนินการตามข้อบังคับที่ระบุว่าให้ประธานกรรมการเป็นผู้นัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุให้รับเอาบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยบริษัทจำกัดเป็นข้อบังคับของบริษัท ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1162 บัญญัติว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้นัดเรียกประชุมกรรมการจึงเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 แล้ว ส่วนการที่มีการเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้น ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดวิธีการนัดเรียกประชุมไว้ ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1144 ประกอบมาตรา 1158 ก็มิใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับวิธีการนัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดต่อโจทก์โดยวิธีอื่นใดได้ จึงต้องนัดเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5212/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานไม่ขัดกฎหมาย แม้มีการวินิจฉัยเรื่องเงินเดือนและไม่เชิญผู้เชี่ยวชาญ
สหภาพแรงงาน ส. ยื่นข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ จนกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่กิจการของโจทก์เป็นกิจการขนส่งอันเป็นกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 (8) พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจึงส่งข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ต่อมาโจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ต่อจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 23 วรรคสอง ดังนี้ มาตรา 23 วรรคสอง เพียงแต่กำหนดเวลาเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว มิได้ประสงค์จะจำกัดอำนาจของจำเลยที่ 1 หรือให้คำวินิจฉัยสิ้นผลบังคับแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และแจ้งให้สหภาพแรงงาน ส. และโจทก์ทราบเกินกำหนด 10 วัน นับแต่วันรับอุทธรณ์ก็ไม่ทำให้อำนาจในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 หมดไปหรือทำให้คำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่มีผลใช้บังคับแต่อย่างใด คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย
การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และจำเลยที่ 1 วินิจฉัยให้โจทก์ขึ้นเงินเดือนประจำปีแก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ต่อคนในกรณีที่โจทก์มีผลประกอบการตามงบดุลกำไรมากกว่า 20,000,000 บาทนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการพิจารณาและวินิจฉัยเพื่อระงับข้อพิพาทแรงงานตามที่ตกลงกันไม่ได้ระหว่างโจทก์กับลูกจ้างตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบกิจการแข่งขันกันโดยเสรีและเป็นธรรม และมิใช่เป็นการแทรกแซงการประกอบกิจการของโจทก์ อีกทั้งคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยในข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้าง จึงไม่อาจใช้บังคับแก่สถานประกอบกิจการอื่นที่ไม่มีข้อพิพาทแรงงานได้ คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 44 ที่บัญญัติว่ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะมีหนังสือเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็ได้ หมายความว่า ถ้ากรรมการแรงงานสัมพันธ์หรืออนุกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เห็นว่า กรณีมีความจำเป็นต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาและวินิจฉัยก็อาจเชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความคิดเห็นก็ได้ โดยบทบัญญัติมาตรานี้มิได้บังคับว่าต้องเชิญบุคคลดังกล่าวมาให้ความเห็นเสมอไป ดังนั้น แม้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จะไม่ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิมาแสดงความเห็นก็ไม่ขัดต่อ มาตรา 44
การพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานระหว่างโจทก์กับลูกจ้างตามอำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ตามกฎหมายดังกล่าว มิใช่เป็นการเข้าไปร่วมบริหารกิจการของโจทก์ จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1144
การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยข้อพิพาทแรงงานโดยให้โจทก์ปรับเงินเดือนของพนักงานขับรถหัวผ่าที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท เป็นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,500 บาท มิใช่เป็นการพิจารณากำหนดและประกาศให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่เป็นการวินิจฉัยให้ปรับค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่ยื่นต่อโจทก์แล้วกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 23 จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 78, 79 และ 88

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6470/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการค้ำประกันหนี้ - ผลผูกพันบริษัท - อากรแสตมป์ - การรับรองการทำสัญญา
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ให้การปฏิเสธ ถือว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 รับว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามที่โจทก์ฟ้องโดยโจทก์ไม่ต้องอาศัยสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานอีกแต่อย่างใด ที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า สัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ. 56 ต้องปิดอากรแสตมป์ 20 บาท แต่โจทก์ปิดอากรแสตมป์มาเพียง 10 บาท จึงไม่ครบถ้วน ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดี
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ 4 เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 4 ในสัญญาค้ำประกันแทนจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันอันเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 4 ตรงตามข้อบังคับของจำเลยที่ 4 ที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ. 5 ทั้งในหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ. 5 ก็มิได้มีข้อความจำกัดอำนาจของกรรมการผู้มีอำนาจไว้ การลงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันในฐานะกรรมการจำเลยที่ 4 พร้อมประทับตราจำเลยที่ 4 ดังกล่าว ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 4 ส่วนการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 4 ก็เป็นเรื่องระเบียบข้อบังคับภายในของจำเลยที่ 4 ไม่มีผลทำให้อำนาจของกรรมการในการกระทำการแทนจำเลยที่ 4 ตามที่จดทะเบียนไว้แก่นายทะเบียนเปลี่ยนแปลงไป จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้ถือหุ้น: การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและการจำนอง
โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้น ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆแทนบริษัทจำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 บางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้นหากอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของจำเลยที่ 1เสียเองได้ไม่ และแม้โจทก์เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1ด้วยคนหนึ่งก็ตาม แต่ตามหนังสือรับรองของสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ลำพังโจทก์เพียงคนเดียวไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ แทนจำเลยที่ 1 ได้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และการจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ส่วนปัญหาที่ว่า หากไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายก็จะไม่มีใครเป็นผู้เสียหายได้เลยนั้น ในกรณีเช่นนี้ โจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นสามารถกระทำได้โดยใช้มติที่ประชุมใหญ่ถอดถอนกรรมการชุดเดิมและแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ แล้วให้กรรมการชุดใหม่ดำเนินการแทนจำเลยที่ 1 หรือหากโจทก์และผู้ถือหุ้นคนอื่นเสียหายก็สามารถดำเนินการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้โดยหากบริษัทไม่ฟ้องกรรมการผู้นั้น โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นจะดำเนินการฟ้องเองได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง
of 18