คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
มนตรี ยอดปัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 503 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5574/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาซื้อขาย: ผลผูกพันต่อลูกหนี้เดิม แม้เจ้าหนี้เดิมชำระหนี้แล้ว
แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ส. กับจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือจำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลย แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ส. ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนให้แก่จำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่ ส. จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ส. กับโจทก์จึงเป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว การโอนในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้ว ก็ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5543/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการจัดการมรดก: ลำดับทายาทโดยธรรมสำคัญกว่าสิทธิร้องขอจัดการมรดก
ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 นั้น ต้องเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกซึ่งเป็นไปตามลำดับชั้นที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้จะได้ความว่า ผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1 และบิดามารดาของผู้ตายซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 2 ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนผู้ตายแล้วก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าขณะผู้ตายถึงแก่กรรม ย. ทายาทโดยธรรมลำดับที่ 3 ซึ่งเป็นลำดับที่สูงกว่าผู้ร้องยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์มรดกของผู้ตายจึงย่อมตกได้แก่ ย. เมื่อทรัพย์มรดกของผู้ตายตกได้แก่ ย. ดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องก็ไม่อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกที่จะร้องขอจัดการมรดกของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5531/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานช่วยเหลือคนต่างด้าวผิดกฎหมายและจ้างงาน, การใช้กฎหมายอาญามาตรา 3, และการรอการลงโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยรู้ว่า ย. กับพวกรวม 14 คน ซึ่งเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้เข้าพักอาศัยซ่อนเร้น และช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม ต่อมาจำเลยรับคนต่างด้าวดังกล่าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานเป็นกรรมกรที่โครงการก่อสร้างหมู่บ้าน พ. ซึ่งเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด โดยโจทก์หาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยช่วยคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายด้วยการรับคนต่างด้าวนั้นให้เข้าทำงานเป็นกรรมกรที่โครงการก่อสร้างหมู่บ้าน พ. เพียงประการเดียวเท่านั้นไม่ แต่ตามฟ้องกลับแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ช่วยด้วยประการอื่น ๆ อีก เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุมนอกจากการรับเข้าทำงาน ตามฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงแยกเจตนาของจำเลยในการกระทำความผิดได้อย่างชัดเจน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ฉบับใหม่ประกาศใช้บังคับแทนฉบับเดิม (พ.ศ.2521) ซึ่งบทความผิดฐานรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงานนั้นได้บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ส่วนบทกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในมาตรา 54 โดยมาตรา 54 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 27 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและถ้าคนต่างด้าวนั้นไม่มีใบอนุญาต ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน" เห็นได้ว่าอัตราโทษตามกฎหมายใหม่ดังกล่าวมีเพียงโทษปรับเท่านั้น มิได้มีโทษถึงจำคุกดั่งที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 เช่นนี้ กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเกี่ยวกับโทษจำคุกจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมบังคับคดี: โจทก์ต้องรับผิดแม้บัญชีอายัดไม่ใช่ของจำเลย
โจทก์เป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีออมทรัพย์เลขที่ 325-2-14xxx-x เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีหนังสือแจ้งอายัดไปยัดไปยังธนาคาร ก. ตามที่โจทก์แถลงขอและธนาคาร ก. ได้รับหนังสือแจ้งอายัดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าได้มีการอายัดไว้โดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 311 แล้ว เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการอายัดเนื่องจากบัญชีออมทรัพย์เลขที่ดังกล่าวมิใช่เป็นบัญชีของจำเลย โจทก์ผู้ขอให้อายัดจึงมีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอายัดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายตามตาราง 5 ข้อ 4 ท้าย ป.วิ.พ. การที่ปรากฏในภายหลังว่าบัญชีออมทรัพย์ที่ขออายัดนั้นไม่ใช่ของจำเลย และธนาคารมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบภายหลังที่ได้รับหนังสืออายัดแล้ว โจทก์จะยกมาเป็นข้ออ้างให้พ้นความรับผิดในค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีหาได้ไม่ กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำร้องของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4871/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเบิกความเท็จซ้ำซ้อน สิทธิฟ้องระงับหากเคยมีคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดเดียวกัน
จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จโดยมีเจตนาเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ศาลเชื่อถึงที่มาของที่ดินทั้งสองแปลงอันเป็นเหตุที่มูลนิธิสีมาสงเคราะห์ควรจะได้กรรมสิทธิ์ แม้การเบิกความของจำเลยทั้งสองจะทำให้ทั้งโจทก์และสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ได้รับความเสียหาย แต่ก็เป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวซึ่งควรที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษเพียงครั้งเดียว เมื่อสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับคำเบิกความดังกล่าวว่าเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว ย่อมถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4707/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีที่ดินสาธารณประโยชน์: การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้าม & ข้อกล่าวอ้างนอกประเด็น
องค์การบริหารส่วนตำบลโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาที่ดินพิพาทตามกฎหมาย จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ประเด็นข้อพิพาทที่โจทก์และจำเลยโต้เถียงกันจึงมีว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินของจำเลย หากศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายใดชนะคดีย่อมมีผลทำให้คู่ความฝ่ายนั้นได้รับสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ โดยถือทุนทรัพย์เท่ากับราคาที่ดินพิพาทส่วนที่โจทก์เรียกร้อง 32,240 บาท ดังนี้ ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จึงไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้แม้มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง นั้น จำต้องอาศัยข้อเท็จจริงเพื่อการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ฎีกา โดยข้อเท็จจริงที่จะนำมาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ กล่าวคือต้องมิใช่ข้อเท็จจริงในเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น หรือไม่เกี่ยวกับที่คู่ความฝ่ายในฝ่ายหนึ่งมีหน้าที่ต้องนำสืบ
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง มิใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ คดีจึงไม่มีประเด็นที่คู่ความจะต้องนำสืบว่า ส. และ พ. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินหรือไม่ ข้อเท็จจริงดังกล่าวที่จำเลยยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่อาจนำมาวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามที่จำเลยฎีกามาได้ และถือว่าฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4583/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีจำนอง เนื่องจากข้อพิพาทเป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยกับผู้จำนอง และโจทก์ไม่ได้รับกระทบโดยตรง
โจทก์ฟ้องยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ผิดข้อตกลงว่าจะไม่ฟ้อง บ. และ ญ. ซึ่งตกลงนำที่ดินมาประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์กู้ยืมไปจากจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้จำเลยที่ 2 พา บ. และ ญ. ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหนี้เงินกู้และผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับโอนสิทธิจำนองดังกล่าวจากจำเลยที่ 2 กลับฟ้อง บ. และ ญ. เรียกหนี้เงินกู้และบังคับจำนอง การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทบสิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงและสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหนี้ส่วนตัวของโจทก์ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าว แม้มีอยู่จริงก็เป็นเรื่องการโต้แย้งระหว่าง บ. และ ญ. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 โดยตรง ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าสิทธิของโจทก์ที่อ้างว่าถูกกระทบกระเทือนจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอย่างไร เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับหนี้ที่โจทก์กู้ยืมไปจากจำเลยที่ 1 โจทก์ก็สามารถยกขึ้นเป็นข้อว่ากล่าวเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่อ้างว่าทำให้โจทก์เสียหายได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่เกิดขึ้นจากข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ บ. และ ญ. ในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4472/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: มูลคดีเกิดขึ้นที่สาขาธนาคาร แม้จำเลยมีภูมิลำเนาที่อื่น
แม้จำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานครและการตกลงรับ ก. เป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ผู้ฝากเงินของจำเลยมีการพิจารณาอนุมัติที่กรุงเทพมหานครก็ตาม แต่เมื่อการสมัครสมาชิกของจำเลยและการขอเปิดบัญชีเงินฝากของ ก. ดังกล่าวกระทำโดยผ่านทางธนาคาร พ. สาขาสุรินทร์ และต่อมาจำเลยก็ตกลงรับ ก. เป็นสมาชิก ธนาคาร พ. สาขาสุรินทร์ จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงในการเป็นสมาชิกของจำเลย ถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่ธนาคาร พ. สาขาสุรินทร์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4472/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: มูลคดีเกิดที่ไหน แม้จำเลยมีภูมิลำเนาที่อื่น
จำเลยเป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร การตกลงรับ ก. ผู้ตายเป็นสมาชิกของจำเลยพิจารณาอนุมัติที่กรุงเทพมหานคร แต่เมื่อการสมัครสมาชิกของจำเลยและการขอเปิดบัญชีเงินฝากของ ก. กระทำโดยผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสุรินท์ และต่อมาจำเลยได้ตกลงรับ ก. เป็นสมาชิก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสุรินทร์จึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงในการเป็นสมาชิกของจำเลย ถือได้ว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาสุรินทร์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3562/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายงานกระบวนพิจารณาที่ไม่สมบูรณ์ ไม่กระทบกระบวนการพิจารณา หากคู่ความไม่โต้แย้ง
ป.วิ.พ. มาตรา 50 บัญญัติว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใด หรือบุคคลใดจะต้องลงลายมือชื่อในรายงานใดเพื่อแสดงรับรู้รายงานนั้น หรือจะต้องลงลายมือชื่อในเอกสารใดเพื่อรับรองการอ่านหรือการส่งเอกสารเช่นว่านั้น (2) ถ้าคู่ความหรือบุคคลที่จะต้องลงลายมือชื่อในรายงานดังกล่าวแล้ว ลงลายมือชื่อไม่ได้ หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อ ให้ศาลทำรายงานจดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นนั้นไว้แทนการลงลายมือชื่อ ตามบทบัญญัติดังกล่าว การลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาเป็นการแสดงการรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดีในครั้งนั้น ๆ การที่คู่ความไม่ลงลายมือชื่อ และศาลไม่ได้จดแจ้งเหตุที่ไม่มีลายมือชื่อเช่นนั้นไว้แทนการลงลายมือชื่อย่อมมีผลทำให้รายงานกระบวนพิจารณาในครั้งนั้น ๆ ใช้ไม่ได้เท่านั้น แต่ไม่ทำให้กระบวนการพิจารณาที่เกิดขึ้นต่อหน้าศาลโดยชอบต้องเสียไปเพราะเหตุดังกล่าว ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นละเลยไม่ได้จดแจ้งเหตุที่ทนายจำเลยร่วมไม่ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาจึงนับว่าเป็นความบกพร่องของศาลชั้นต้นเอง หาทำให้กระบวนพิจารณาที่เกิดขึ้นโดยชอบต้องเสียหายไปเพราะเหตุดังกล่าว อีกทั้งไม่ปรากฏว่าทนายจำเลยร่วมได้โต้แย้งคัดค้านการที่โจทก์ทั้งหกและจำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน นอกจากนั้น หากทนายจำเลยร่วมเห็นว่า ทนายจำเลยร่วมไม่เคยแถลงขอถอนคำร้องจากการเป็นจำเลยร่วมและการที่ศาลชั้นต้นจดแจ้งรายงานกระบวนพิจารณาไม่ตรงกับความเป็นจริงอันจะถือได้ว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ทนายจำเลยร่วมก็ชอบที่จะยกข้อคัดค้านเรื่องผิดระเบียบขึ้นกล่าวอ้างภายใน 8 วัน หลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้แก่โจทก์ทั้งหกและจำเลยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แต่ทนายจำเลยร่วมก็หาได้กระทำไม่ กรณีจึงต้องถือว่า ทนายจำเลยร่วมแถลงขอถอนคำร้องจากการเป็นจำเลยร่วมแล้ว และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตจำเลยร่วมจึงไม่มีฐานะเป็นคู่ความในคดีอีกต่อไป เมื่อโจทก์ทั้งหกและจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมกัน ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องสอบถามถึงความยินยอมจากจำเลยร่วม ประกอบกับการทำสัญญาประนีประนอมระหว่างโจทก์ทั้งหกและจำเลยก็มิได้กระทบกระทั่งถึงสิทธิในกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยร่วมแต่อย่างใด
of 51