คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
มนตรี ยอดปัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 503 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6054/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีตั๋วแลกเงิน: ธนาคารผู้รับรองไม่มีสิทธิไล่เบี้ยผู้สั่งจ่าย จึงไม่มีอำนาจโอนสิทธิเรียกร้อง
การที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้จ่ายได้ลงลายมือชื่อรับรองในตั๋วแลกเงินจึงเป็นผู้รับรองตาม ป.พ.พ. มาตรา 927 ต้องผูกพันในอันจะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตนตามมาตรา 937 ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 1 ไม่ได้อยู่ในฐานะที่มีความผูกพันอยู่แล้วก่อนธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 967 วรรคสาม ดังนั้นเมื่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ได้จ่ายเงินให้แก่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเงินตามตั๋วแลกเงินทั้ง 92 ฉบับ ไปแล้ว ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) จึงหามีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายได้ไม่ เมื่อไม่มีสิทธิไล่เบี้ยแล้ว ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องที่จะโอนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองจะได้สละประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5686/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาในคดีสัญญาแชร์ และการวินิจฉัยข้อตกลงการชดใช้เงินแทนสมาชิก
จำเลยอุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่อุทธรณ์ของจำเลยมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า สัญญาแชร์ระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยมีข้อตกลงตามที่จำเลยกล่างอ้างหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5523/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากเพื่อชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต หากมีเหตุผลอันสมควร
แม้ตามหนังสือยินยอมมอบเงินฝากเป็นประกันหนี้ของผู้อื่นจะให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อชำระหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินก็ตาม แต่เหตุที่ไม่มีการหักเงินจากเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 เนื่องจากนาย ว. ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และขณะนั้นเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาที่จำเลยทั้งสามทำสัญญากู้และค้ำประกัน ไม่ยอมดำเนินการ เพราะนาย ว. ไม่ต้องการให้จำเลยที่ 2 ซึ่งกำลังป่วยอยู่กระทบกระเทือนทางจิตใจ อันแสดงว่าเหตุที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิหักเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดตามสัญญากู้ยืมเงินนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เพิกเฉยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยมิได้ใช้สิทธิตามกฎหมายที่มีอยู่เพื่อให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่ฝ่ายจำเลยจะพึงได้รับ กรณีไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5504/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่รับฟ้องคดีเนื่องจากฐานะยากจน ต้องดำเนินการภายใน 7 วันนับจากวันที่ทราบคำสั่ง
ตามบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อาจอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เมื่อปรากฏว่าคดีนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ในวันเดียวกันนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 ตามข้อความในคำร้องที่ว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ส่วนการที่ศาลชั้นต้นได้ประทับข้อความไว้ในด้านหน้าคำร้องว่า ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้นถือว่าทราบคำสั่งแล้วและให้ทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ลงชื่อไว้นั้น ย่อมหมายความถึง การที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งในวันที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์
2549 จึงเกินกำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง อุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ เป็นการไม่ชอบ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา
การดำเนินกระบวนพิจารณานับตั้งแต่จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์จนถึงชั้นฎีกานั้น เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งห้าอ้างว่าเป็นคนยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย เมื่อจำเลยทั้งห้าเสียค่าคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ ค่าคำร้องขอให้พิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติม ค่าคำร้องอุทธรณ์คำสั่งกรณีที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งห้าไต่สวนพยานเพิ่มเติม ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งห้า ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มา จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งห้าทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5499/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งศาลและการดำเนินกระบวนการที่ไม่ชอบ
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการตรวจและมีคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 ทางแก้ของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 234 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้มีคำสั่งคืนอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้อง การที่จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้น จึงเห็นได้ว่าเป็นการพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์เพื่อให้กลับไปสู่การวินิจฉัยเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงให้จำเลยที่ 1 สามารถอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 234 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 247 และถือได้ว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5499/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ถูกต้อง จำเลยต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถยื่นคำร้องซ้ำเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายได้
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 ทางแก้ของจำเลยที่ 1 คือต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ และนำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาลและนำเงินมาชำระตามคำพิพากษาหรือหาประกันให้ไว้ต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามมาตรา 234 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเพื่อให้มีคำสั่งคืนอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทำมาใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมหรือชำระหรือวางค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้องครบถ้วน เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ให้ยกคำร้องการที่จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งนั้น จึงเป็นการพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์เพื่อให้กลับไปสู่การวินิจฉัยเรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เท่ากับเป็นการหลีกเลี่ยงให้จำเลยที่ 1 สามารถอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 234 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะได้รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5491/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การหลังสืบพยาน และการยกข้อต่อสู้ใหม่ในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อความที่จำเลยขอแก้ไขคำให้การของจำเลยทั้งสี่ข้อ ได้แก่ 1) ข้อที่เกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจากเดิมเป็นว่า ลายมือชื่อโจทก์ผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม และตราประทับไม่ใช่ตราสำคัญของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้ 2) ข้อที่เกี่ยวกับอาคารพิพาทที่อ้างว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนและจำเลยมีสิทธิอยู่ได้ตลอดชีวิตเป็นว่า โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารที่จำเลยเช่า 3) ข้อที่เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาและการบอกกล่าวของโจทก์ที่อ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นว่า ภายหลังสัญญาเช่าสิ้นสุดลงแล้ว จำเลยยังคงครอบครองอาคารที่เช่าโดยโจทก์ไม่เคยทักท้วงจึงเป็นการเช่าที่ไม่มีกำหนดเวลา การเลิกสัญญาเช่าจะต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 566 ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกเลิกสัญญาและหนังสือบอกกล่าวของโจทก์มิใช่หนังสือบอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และ 4) ข้อที่เกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมทั้งหมดเป็นว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องโดยมิได้บรรยายว่าจำเลยเข้ามาอยู่บนที่ดินแปลงใดบ้านพิพาทตั้งอยู่บนถนนตรอกซอยอะไร ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ล้วนเป็นการยกข้อเท็จจริงและเหตุแห่งการปฏิเสธขึ้นใหม่เปลี่ยนแปลงข้อต่อสู้เดิมที่จำเลยได้ให้การไว้ตั้งแต่แรก รวมทั้งที่ศาลชั้นต้นเคยมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลย ทั้งจำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้ไขได้ก่อนวันสืบพยาน มิใช่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรณีไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นที่จำเลยอาจยื่นคำร้องได้ภายหลังวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 การที่จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังวันสืบพยานแล้วจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากนี้ การที่จำเลยฎีกาในข้อ 3) และ ข้อ 4) ยังเป็นการยกข้อต่อสู้ตามคำร้องขอแก้ไขคำให้การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขขึ้นกล่าวอ้างในฎีกา จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้และจำเลยฎีกาต่อมา ก็ถือว่าเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญาและดอกเบี้ยผิดนัดเป็นโมฆะ หากเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด สิทธิการเรียกร้องหนี้และการหักชำระหนี้
แม้ว่าโจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ในการคิดอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด โจทก์จึงได้ออกประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดมาใช้บังคับ กรณีของจำเลยอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อชฎาทองเพื่อที่อยู่อาศัยซึ่งโจทก์เรียกเก็บได้เพียงร้อยละ 13.75 ต่อปี ตามประกาศของธนาคารโจทก์ข้อ 2.1.1 เท่านั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ที่โจทก์ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 2 นั้น เป็นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่ระบุไว้ตอนท้ายของเอกสารต่างหาก และยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏว่าโจทก์ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งหลายอัตราตามตารางรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโจทก์คิดจากจำเลยมีบางรายการในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีบ้าง ร้อยละ 19.50 ต่อปีบ้าง และร้อยละ 24 ต่อปีก็มี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตอีกต่างหาก จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศของธนาคารโจทก์เอง อันเป็นการขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ดังนั้นเงินส่วนดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด แต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
โจทก์เป็นผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ ประกอบกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์ ทำให้โจทก์จำเป็นต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์การเรียกดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนจำเลยซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ โดยสภาพและตามสำนวนไม่ปรากฏเหตุผลที่แสดงว่าจำเลยจะทราบถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคารโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น ลำพังแต่การที่จำเลยนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์เพราะตนเป็นหนี้แล้วโจทก์นำไปจัดการหักชำระหนี้ต่างๆ ตามจำนวนหนี้ที่โจทก์คิดคำนวณขึ้นมาเอง ประกอบกับโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่ประกอบการธนาคารพาณิชย์อันเป็นกิจการซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชนย่อมมีเหตุทำให้จำเลยเข้าใจและเชื่อว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยถูกต้องแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้ที่คิดคำนวณไม่ถูกต้องไปนั้นโดยจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นการกระทำอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องชำระอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่มีสิทธิจะได้รับทรัพย์นั้นคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ฉะนั้นเมื่อข้อสัญญาเกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตกเป็นโมฆะแล้วก็เท่ากับสัญญากู้ยืมเงินมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้อันเป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยก่อนผิดนัดและไม่อาจนำเงินที่จำเลยชำระแก่โจทก์มาแล้วไปหักออกจากดอกเบี้ยที่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดได้ จึงต้องนำเงินที่จำเลยชำระหนี้ไปชำระต้นเงินทั้งหมด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5142/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีละเมิด: การรับรู้ถึงการละเมิดและตัวผู้รับผิดเป็นจุดเริ่มต้นนับอายุความ
เมื่อเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้สอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดในทางแพ่งจนทราบว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับผิดในทางแพ่งและรายงานข้อเท็จจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น และในวันที่ 8 มกราคม 2544 ธ. ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวง ได้ลงนามในหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ ซึ่งมีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ก่อให้เกิดเหตุละเมิดคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 31,373.75 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ กรณีจึงถือได้ว่า ธ. ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่ 8 รักษาราชการแทนรองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงซึ่งในขณะนั้นอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนและเป็นผู้แสดงเจตนาอันเป็นความประสงค์ของโจทก์ ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือจำเลยทั้งสองตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2544 ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสองในวันที่ 6 มกราคม 2546 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5138/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์เพื่อบังคับคดี: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการยึดบ้านพร้อมที่ดินไม่เกินกว่าหนี้ และการกำหนดจำนวนหนี้ที่แน่นอนเป็นเงื่อนไขก่อนวางเงิน
ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเป็นรายเดือนจนกว่าจำเลยจะส่งมอบอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยยังไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามคำพิพากษา หนี้ค่าเสียหายย่อมเพิ่มพูนขึ้นทุกเดือนและยังไม่แน่นอนว่าจะมีจำนวนเท่าใด การบังคับคดีจึงอาจต้องรวมค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย แม้โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยและประเมินราคาที่ดินไว้ก็เป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้นเท่านั้น ยังมิใช่เป็นราคาที่แน่นอนเพราะการขายทอดตลาดอาจขายได้ราคาสูงกว่าหรือต่ำกว่าราคาประเมินก็ได้ การที่มีบ้านของจำเลยสามหลังปลูกอยู่บนที่ดินที่ยึดไว้ด้วยนั้น ไม่ว่าโจทก์จะนำยึดบ้านทั้งสามหลังด้วยหรือไม่ ท้ายที่สุดเมื่อมีการขายทอดตลาดที่ดินและบุคคลภายนอกเป็นผู้ซื้อที่ดินได้ จำเลยก็จะต้องออกจากบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่ยึดไว้ การที่โจทก์นำยึดบ้านทั้งสามหลังดังกล่าว จึงมิใช่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือกดดันจำเลยแต่อย่างใด อีกทั้งบ้านทั้งสามหลังมีราคาเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ดินที่ยึดไว้ จึงมิใช่กระทำไปโดยมีเจตนามุ่งเพิ่มภาระค่าธรรมเนียมการยึดแก่จำเลย นอกจากนี้หากโจทก์มิได้นำยึดบ้าน กรณีอาจเป็นปัญหาแก่ผู้ซื้อทอดตลาดที่จะต้องดำเนินการให้มีการรื้อถอนขนย้ายบ้านดังกล่าวออกไปในภายหลัง อันมีผลทำให้ไม่มีผู้สนใจซื้อทอดตลาดหรือขายได้ราคาต่ำไป อันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยยิ่งกว่าการขายทอดตลาดที่ดินและบ้านไปในคราวเดียวกันอันเป็นการสะดวกแก่การบังคับคดีขายทอดตลาด และน่าจะเป็นผลให้ขายทอดตลาดได้ในราคาที่ดีกว่า การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและบ้านทั้งสามหลังที่ปลูกอยู่บนที่ดินมาในคราวเดียวกันโดยบ้านทั้งสามหลังมีราคาไม่สูงมาก จึงมีเหตุผลอันสมควร ไม่อาจถือว่าโจทก์ยึดทรัพย์สินเกินกว่าที่พอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมในคดีและค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 284 วรรคหนึ่ง
การที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะวางเงินหรือหาประกันมาให้ไว้ต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งถอนหรืองดการบังคับคดีนั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องวางเงินหรือหาประกันมาให้เป็นจำนวนเพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีหรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (1) คดีนี้ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน นับแต่เดือนตุลาคม 2527 จนกว่าจะส่งมอบอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ในการคำนวณยอดหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว จำต้องรู้วันเวลาที่จำเลยส่งมอบอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์ จึงจะคิดคำนวณจำนวนค่าเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้ แต่เมื่อจำเลยยังมิได้ส่งมอบอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามคำพิพากษาศาลฎีกาให้แก่โจทก์ จำนวนค่าเสียหายย่อมจะต้องทวีเพิ่มขึ้นทุกเดือนจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถคำนวณยอดหนี้ให้เป็นการแน่นอนได้ และเมื่อไม่รู้จำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาก็ย่อมไม่สามารถกำหนดจำนวนเงินที่จะให้จำเลยนำมาวางต่อศาลหรือพิจารณาประกันที่จำเลยจะหามาให้ไว้ต่อศาลว่าเป็นจำนวนเพียงพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาพร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีหรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีหรือไม่เพื่อที่จะมีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์หรืองดการบังคับคดีต่อไปได้ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองปฏิเสธที่จะกำหนดจำนวนเงินที่จำเลยประสงค์จะขอวางต่อศาลเพื่อให้ถอนการยึดทรัพย์หรืองดการบังคับคดี จึงชอบแล้ว
of 51