คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เรวัตร อิศราภรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 476 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีร่วมกันของลูกหนี้หลายคน การคำนวณทุนทรัพย์ และข้อห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224
โจทก์ทั้งสิบสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่างวดและดอกแชร์ที่จำเลยได้เรียกเก็บจากลูกวงแชร์ที่ประมูลได้ไปแล้ว แต่ไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ทั้งสิบสองรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 242,157.50 บาท แม้โจทก์ทั้งสิบสองจะร่วมเล่นแชร์ในวงแชร์ที่มีจำเลยเป็นนายวง แต่โจทก์แต่ละคนก็ไม่มีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกัน กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสองมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 การคำนวณทุนทรัพย์จึงต้องแยกตามจำนวนเงินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องให้จำเลยรับผิด เมื่อโจทก์แต่ละคนไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ตนเรียกร้องก็ต้องถือว่าโจทก์แต่ละคนเรียกร้องจำนวนเงินเท่าๆ กัน ซึ่งคือคนละ 20,179.75 บาท คดีของโจทก์แต่ละคนจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8021/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและการคืนเงินมัดจำ/ค่าที่ดิน จำเลยไม่มีสิทธิริบเงินเมื่อสัญญาไม่ได้ระบุ
ตามสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีข้อตกลงให้จำเลยริบเงินค่าที่ดินที่โจทก์ได้ชำระแล้ว ดังนั้นแม้จำเลยจะมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาโดยระบุว่าหากโจทก์ไม่ดำเนินการจะริบเงินทั้งหมดแล้วโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่จะริบเงินดังกล่าวได้ และเมื่อจำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วจำเลยต้องให้โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม จำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินที่ได้รับไว้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยนับแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคสอง ดอกเบี้ยดังกล่าวมีลักษณะเป็นการทดแทนความเสียหายอย่างหนึ่งเพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนฐานะที่เป็นอยู่เดิมจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งหรือดอกเบี้ยค้างชำระซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8019/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐาน (สำเนาเอกสาร) แม้ต้นฉบับสูญหาย หากไม่มีข้อโต้แย้งความถูกต้อง
แม้สำเนาใบส่งของจะเป็นสำเนาเอกสารก็ตาม แต่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าต้นฉบับถูกทำลายไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้ ทั้งโจทก์ได้แนบสำเนามาท้ายฟ้อง จำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งความถูกต้องแท้จริงของเอกสารดังกล่าว เพียงแต่คัดค้านว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนามิใช่ต้นฉบับ จึงฟังได้ว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องเป็นจริงแล้ว ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7644/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับบุริมสิทธิค่าใช้จ่ายส่วนกลางอาคารชุด: แยกค่าใช้จ่ายบริการ/ซ่อมแซม กับค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกฎหมาย
พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริการส่วนรวมและที่เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามส่วนแห่งประโยชน์ที่มีต่อห้องชุด ทั้งนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ส่วนมาตรา 18 วรรคสอง บัญญัติว่า เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางตามอัตราส่วนที่เจ้าของรวมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลางตามมาตรา 14 ดังนั้น ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง จึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงข้อบังคับได้ตามมาตรา 32 (10) ประกอบมาตรา 49 (1) ที่เจ้าของร่วมมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันได้ แต่ค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ กำหนดเท่านั้น ประกอบกับมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 ให้นิติบุคคลอาคารชุดมีบุริมสิทธิ ดังนี้ (1) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิเช่าอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 259 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีอยู่เหนือสังหาริมทรัพย์ที่เจ้าของห้องชุดนั้นนำมาไว้ในห้องชุดของตน และ (2) บุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคสอง ให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิในลำดับเดียวกับบุริมสิทธิรักษาอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 273 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุด ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายที่เจ้าของร่วมต้องร่วมกันออกตามมาตรา 18 นั้น แยกค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง และมาตรา 18 วรรคสอง ออกต่างหากจากกันโดยเด็ดขาด เพราะมีการคิดส่วนค่าใช้จ่ายและการบังคับชำระหนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายตามมาตรา 18 แต่ละวรรคแตกต่างกันดังกล่าว ดังนั้น มูลหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยค้างชำระแก่ผู้ร้องนั้นจึงไม่อาจเป็นทั้งมูลหนี้อันเกิดจากการบริการส่วนรวมและเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และเป็นมูลหนี้อันเกิดจากการใช้ทรัพย์ส่วนกลางของจำเลย ตามมาตรา 18 วรรคสอง
ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยค้างชำระนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนิติบุคคลอาคารชุดของผู้ร้องได้ลงมติให้เพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากเดิม 20 บาท เป็น 27 บาท โดยรายละเอียดในรายงานการประชุม ฯ ระบุเหตุผลการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายส่วนกลางโดยอ้างว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น การซ่อมแซมระบบและส่วนต่าง ๆ ของอาคาร ซึ่ง พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 50 วรรคสาม บัญญัติไว้ว่า ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารที่เสียหายสำหรับที่เป็นทรัพย์ส่วนกลาง ให้เจ้าของร่วมทุกคนในอาคารชุดเฉลี่ยออกตามอัตราส่วนที่เจ้าของร่วมแต่ละคนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง? ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องนำมายื่นขอรับชำระหนี้บุริมสิทธินี้จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด ฯ มาตรา 18 วรรคสอง และบทบัญญัติมาตรา 41 วรรคท้าย กำหนดให้เฉพาะบุริมสิทธิตาม (2) แห่งมาตราดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งหากผู้จัดการนิติบุคคลได้ส่งรายการหนี้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วให้ถือว่าอยู่ในลำดับก่อนจำนอง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องได้ส่งรายการหนี้ของผู้ร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 41 วรรคท้าย ดังกล่าวแล้ว จึงถือว่ามูลหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่จำเลยค้างชำระแก่ผู้ร้องนั้นอยู่ในลำดับหลังบุริมสิทธิจำนองของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7571-7572/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีบุกรุกและระยะเวลาฟ้องคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 หนังสือมอบอำนาจฟ้องคดี
หนังสือมอบอำนาจโจทก์ที่ให้ ส. ฟ้องคดีแทนมิได้ระบุว่ายื่นฟ้องใครและข้อหาอะไร เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดเจนแล้วว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องคดีแทนและยังแนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ฟ้องจำเลยทั้งสามด้วยข้อหาอะไร เกี่ยวกับเรื่องอะไร ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีต้องระบุรายละเอียดว่ามอบอำนาจให้ฟ้องใคร ข้อหาอะไร หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปลูกเพิงที่พักลงบนที่ดินพิพาทเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2537 และจำเลยที่ 1 นำหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินไปแสดงต่อเจ้าพนักงานตำรวจและต่อสู้คดีแสดงว่า จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 3 ด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการบุกรุกที่ดินพิพาทมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2537 แล้ว เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 7 พฤศจิกายน 2537 และวันที่ 28 เมษายน 2538 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7436/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าบริการทางกฎหมาย: เริ่มนับเมื่อใด ตามมาตรา 193/13
โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ชำระค่าบริการในการที่โจทก์ร่างสัญญาให้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (16) ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี
โจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 ย่อมถือได้ว่าเวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป การที่โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 วันดังกล่าวมิใช่เวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/13 และเมื่อจำเลยยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลา 30 วัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เกินกว่า 2 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7280/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งศาลที่เกี่ยวข้องกับการโอนคดีระหว่างพิจารณาคดีต้องห้ามอุทธรณ์ หากไม่ใช่คำสั่งคุ้มครองประโยชน์คู่ความ
ศาลชั้นต้นได้สั่งรับคำฟ้องแล้ว เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอโอนคดีฉบับที่สองของจำเลย จึงเป็นคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 และคำร้องขอโอนคดีไปศาลอื่นนั้นเป็นวิธีการเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลที่จะพิจารณาคดี มิใช่คำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์อย่างใดของคู่ความในระหว่างการพิจารณาดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 288 (2) คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำร้องขอโอนคดีของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 226 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7095/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีอาญาและการพิจารณาความผิดหลายกรรมต่างกัน
ในการพิจารณากำหนดอายุความฟ้องผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 นั้นต้องถือเอาตามข้อหาหรือฐานความผิดที่ศาลพิจารณาได้ความ คดีนี้จำเลยถูกศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 147 ซึ่งมีอายุความฟ้องภายใน 20 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
แม้การกระทำความผิดของจำเลยจะเป็นการกระทำด้วยเจตนาในการกระทำผิดอย่างเดียวกันคือเบียดบังเอาเงินซึ่งจำเลยมีหน้าที่จัดการหรือรักษาไว้ไปเป็นของจำเลยเองโดยทุจริต แต่จำเลยก็ได้รับเงินแล้วเบียดบังเอาเป็นของตนเองโดยทุจริตจากบุคคลต่างราย แต่ละรายเกิดขึ้นต่างวันเวลากัน อันเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6462/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์เริ่มนับจากวันที่ออกโฉนด และต้องครอบครองเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์
ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินถึงวันฟ้องยังไม่ถึง 10 ปี แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ผู้ร้องก็ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เนื่องจากการครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับแต่วันที่ที่ดินพิพาทได้ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป ทั้งผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทก่อนจะมีการออกโฉนดที่ดินรวมเข้าด้วยก็มิได้ เพราะการที่จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น ใช้ได้แต่เฉพาะที่ดินมีกรรมสิทธิ์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6346/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ต้องทำเป็นหนังสือ การฟ้องสัญญากู้เงินที่ไม่สมบูรณ์
อ. บิดาโจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นตัวแทนไปติดต่อขอเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์และมอบเงินจำนวน 4,000,000 บาท ให้แก่จำเลยไปใช้เป็นค่าดำเนินการและค่าเช่าพื้นที่ จำเลยจึงเป็นตัวแทนของ อ. เงินที่จำเลยรับมาจาก อ. จึงเป็นเงินที่จำเลยรับไว้เกี่ยวด้วยการเป็นตัวแทนซึ่งจำเลยสัญญาว่าจะส่งคืนให้เนื่องจากกิจการที่ทำการแทนไม่สำเร็จลุล่วง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ อ. ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์กับจำเลยเจรจาตกลงทำสัญญากู้เงินกัน โดยระบุว่าโจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งคืนให้แก่ อ. จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จาก อ. มาเป็นโจทก์และเปลี่ยนมูลหนี้ตามสัญญาตัวแทนมาเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงิน ซึ่งการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคสาม นั้น ต้องบังคับด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ว่าด้วยโอนสิทธิเรียกร้องโดยต้องทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ปรากฏว่า อ. ได้โอนหนี้ที่จำเลยมีอยู่แก่ตนให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ จึงไม่เป็นการโอนหนี้ที่สมบูรณ์ แม้จะได้ความว่า อ. มอบหมายให้โจทก์ดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด โจทก์ก็มีฐานะเป็นเพียงตัวแทน อ. ทั้งไม่ปรากฏว่า อ. ดำเนินกิจการโรงเรียนร่วมกับโจทก์อันจะถือว่าจำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ด้วย และการทำสัญญากู้เงินก็ไม่ปรากฏว่า อ. มีส่วนเกี่ยวข้องหรือร่วมรู้เห็นด้วยแต่ประการใด ดังนี้เมื่อจำเลยไม่มีหนี้ที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ย่อมไม่มีหนี้เดิมที่จะแปลงเป็นมูลหนี้ตามสัญญากู้เงินได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าว
of 48