คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เรวัตร อิศราภรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 476 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน: การกระทำที่แสดงถึงการวางแผนและตัดสินใจล่วงหน้า
ขณะเกิดเหตุผู้ตายและจำเลยต่างเป็นข้าราชการตำรวจอยู่ที่สถานีตำรวจแห่งเดียวกัน ก่อนเกิดเหตุ เมื่อผู้ตายพบจำเลย ผู้ตายชอบพูดแหย่จำเลยว่าจะจีบคนรักของจำเลยซึ่งเป็นพยาบาล จนทำให้จำเลยมีอาการหึงหวงและโกรธผู้ตาย วันเกิดเหตุจำเลยเห็นผู้ตายยืนรอโทรศัพท์ที่ข้างตู้โทรศัพท์สาธารณะฝั่งตรงข้ามกับสถานีตำรวจ จำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ไปจอดฝั่งตรงข้ามกับตู้โทรศัพท์สาธารณะดังกล่าวแล้วเดินกลับไปกลับมาบริเวณหน้าสถานีตำรวจ 3 ถึง 4 เที่ยว อันเป็นการคิดตัดสินใจไว้ล่วงหน้า จากนั้นจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทางด้านหลังถึง 5 นัด จนผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นการยิงโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หาใช่เป็นการตัดสินใจทันทีทันใดไม่ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6473/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนผู้จัดการมรดก: เหตุผลทางกฎหมายที่รับฟังได้ คือ ละเลยหน้าที่ หรือเหตุอื่นที่สมควร มิใช่การโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่เหตุที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างว่าทรัพย์สินตามคำร้องมิใช่ทรัพย์ของเจ้ามรดกแต่เป็นของผู้คัดค้าน มิใช่เหตุตามกฎหมายดังกล่าวอันจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6316/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานชิงทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และการสมคบร่วมกันกระทำความผิด
ขณะผู้เสียหายที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ไปตามถนน จำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ของกลางโดยมี ศ. นั่งซ้อนท้ายตามหลังรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 แสดงว่าจำเลยกับ ศ. ขับรถจักรยานยนต์ของกลางตามรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 มาด้วยกันตั้งแต่ต้น เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 เครื่องดับ ศ. ได้เล็งอาวุธปืนมาที่ผู้เสียหายที่ 2 แล้วใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 2 รถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 ได้ล้มลง ศ. เข้ามาขับรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 2 หลบหนีพร้อมกับจำเลย แม้จำเลยจะมิได้ทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 และมิได้พารถจักรยานยนต์ ผู้เสียหายที่ 2 ไป แต่จำเลยก็อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุตลอดเวลา หลังจากเกิดเหตุจำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์ของกลางหลบหนีไปพร้อมกับ ศ. พฤติการณ์ของจำเลยกับ ศ. เป็นการวางแผนกันมาก่อนและเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยจึงเป็นตัวการสมคบร่วมกระทำความผิดกับ ศ. เพื่อชิงทรัพย์มาตั้งแต่ต้น มิใช่เจตนาเพียงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
จำเลยกับ ศ. สมคบกันมาตั้งแต่ต้นเพื่อชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ 2 ในชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยเห็น ศ. พกอาวุธปืนมาด้วย ซึ่งการสมคบกันมาชิงทรัพย์นี้จำเลยย่อมคาดหมายได้ว่า ศ. ย่อมจะใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยไม่ทราบและไม่เกี่ยวข้องด้วยหาได้ไม่ ประกอบกับในการชิงทรัพย์ผู้เสียหายที่ 2 จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ของกลางพา ศ. มาชิงทรัพย์ ซึ่ง ศ. ได้เล็งอาวุธปืนไปที่ผู้เสียหายที่ 2 แล้วใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย แล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์ของกลางหลบหนีไป การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายโดยใช้ยานพาหนะ
จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ของกลางโดยมี ศ. นั่งซ้อนท้ายติดตามรถจักรยานยนต์คันที่ผู้เสียหายที่ 2 ขับมาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งติดตามมาทันเนื่องจากรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 เกิดเหตุเครื่องดับกะทันหัน แล้วจำเลยกับ ศ. ร่วมกันชิงเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ของกลางหลบหนีไป แสดงให้เห็นว่า หากจำเลยกับ ศ. ไม่ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะขับติดตามรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 ก็จะไม่สามารถติดตามผู้เสียหายที่ 2 ได้ทัน และทำการชิงเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 สำเร็จ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ อันพึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6168/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขฟ้องคดีอาญา, อายุความความผิดฐานพาอาวุธ, และการลดโทษจากประโยชน์ต่อการพิจารณา
โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมไปได้ 2 ปาก โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นส่วนสำคัญเพิ่มเติมว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งมิได้ปรากฏในฟ้องเดิม หาได้เป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดที่ต้องแถลงหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164 ไม่ เมื่อเป็นดังนี้ ข้อเท็จจริงตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจึงเพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณาของศาล หาได้ปรากฏตั้งแต่ในชั้นสอบสวนไม่ ถือว่าพนักงานสอบสวนยังมิได้มีการสอบสวนในความฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โจทก์ฟ้องคดีในความผิดที่ยังไม่มีการสอบสวนไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในข้อนี้ไม่ได้
ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองฯ ตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาทจึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2543 เมื่อนับแต่วันที่ 17 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำความผิดแล้วเป็นเวลาเกิน 1 ปี ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6161/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลำดับทายาทตามกฎหมาย: บุตรชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิมากกว่าพี่น้องร่วมบิดามารดาในการจัดการมรดก
ผู้คัดค้านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานของผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (1) ส่วนผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงมิใช่ทายาทผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเป็นผู้ออกเงินค่าทำศพผู้ตายและเป็นเจ้าหนี้กองมรดกผู้มีส่วนได้เสียก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5942/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปรียบเทียบปรับที่มิชอบในความผิดหลายบท ความผิดยังไม่เลิกกัน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจลงโทษได้
จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ได้ แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วในความผิดฐานดังกล่าวโดยความยินยอมของผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายมิได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ด้วย การเปรียบเทียบปรับก็ไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกัน ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5847/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล: ศาลต้องปฏิบัติตามขั้นตอน พ.ร.บ. วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ก่อนมีคำสั่ง
พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 ได้บัญญัติถึงกระบวนการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลไว้ให้ต้องปฏิบัติ การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทันทีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนนั้นไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหานี้แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5847/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: ขั้นตอนการโอนคดีระหว่างศาลตาม พ.ร.บ.วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
หากศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลยุติธรรมเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ก็ชอบที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าศาลเห็นเองว่า คดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่ศาลนั้นเห็นว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว ถ้าศาลที่รับความเห็นมีความเห็นพ้องกับศาลที่ส่งความเห็นให้แจ้งความเห็นไปยังศาลที่ส่งความเห็นเพื่อมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลนั้น หรือสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่ความไปฟ้องศาลที่มีเขตอำนาจ แต่ถ้าศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ให้ศาลที่ส่งความเห็นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ทันทีและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนนั้น จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5542/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การออกโฉนดที่ดินทับที่ดินเดิมของผู้อื่นถือเป็นโมฆะ ผู้รับโอนไม่สุจริตไม่ได้รับกรรมสิทธิ์
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ การที่ ก. ขอออกโฉนดที่ดินเลขที่ 5283 โดยรวมที่ดินพิพาทด้วย โดยที่โจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยแต่อย่างใด การออกโฉนดที่ดินทับที่ดินพิพาทของโจทก์ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยผู้รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้จำเลยผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวไม่มีหน้าที่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ เพราะจำเลยไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อการออกโฉนดเฉพาะส่วนที่ทับที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นการออกโดยไม่ชอบ ทำให้ที่ดินเฉพาะส่วนที่ดินพิพาทของโจทก์ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายในโฉนดที่ดินจำเลยอีกต่อไป ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนเสียได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5492/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรวมต้องยินยอมร่วมกันในการซื้อขายทรัพย์สินโดยรวม การซื้อขายเฉพาะส่วนเป็นโมฆะ
ที่ดินมีโฉนดซึ่ง ด. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ ล. บิดาจำเลยทั้งสอง เมื่อที่ดินดังกล่าวมิได้มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดว่าส่วนของใครอยู่ตอนไหนและมีเนื้อที่เท่าใด ด. และ ล. ผู้มีชื่อในโฉนดซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันจึงยังเป็นเจ้าของรวมอยู่ตามส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์ การที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับ ด. โดยระบุเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 52 ตารางวา ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการซื้อขายตัวทรัพย์ ซึ่งมิใช่เป็นการขายกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของ ด. จะกระทำได้ก็แต่ความยินยอมแห่งเจ้าของรวมทุกคน การที่ ด. เอาตัวทรัพย์มาทำสัญญาจะขายแก่โจทก์โดย ล. เจ้าของรวมมิได้ยินยอมด้วย จึงไม่มีผลผูกพัน ล. เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้รับโอนมรดกจาก ล. จึงถือว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันทุกส่วนและมีส่วนในที่ดินพิพาททั้งแปลงเท่ากัน โจทก์จึงฟ้องขอให้แบ่งแยกที่ดินโดยให้โจทก์ได้ที่ดินทางด้านทิศเหนือและจำเลยทั้งสองได้ที่ดินด้านทิศใต้หาได้ไม่
of 48