คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เรวัตร อิศราภรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 476 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1783/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน, ดอกเบี้ย, และการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ศาลฎีกาแก้ไขดอกเบี้ยเป็นตามที่ตกลงกัน
บริษัทจำเลยมีวัตถุประสงค์ในข้อ (4) คือ การรับ ออก โอนและสลักหลังตั๋วเงินหรือตราสารที่เปลี่ยนมือได้อย่างอื่น และตามข้อ (35) ประกอบธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้สิน ความรับผิด และการปฏิบัติตามสัญญาของบุคคลอื่น การที่จำเลยรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นการค้ำประกันอย่างหนึ่ง จึงเป็นการกระทำตามวัตถุประสงค์ของจำเลย
การออกตั๋วสัญญาใช้เงินและผู้ออกคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี เป็นการตกลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968 (1) ประกอบด้วยมาตรา 985 ซึ่งกฎหมายมิได้วางข้อจำกัดอันใดไว้จึงแล้วแต่คู่กรณีจะตกลงกัน จึงมิใช่การให้กู้ยืมเงินตามความหมายของ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 การที่ระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ก็มิใช่กรณีเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 ตั๋วสัญญาใช้เงินและดอกเบี้ยตามตั๋วสัญญาใช้เงินจึงไม่เป็นโมฆะ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 การยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นเพียงวิธีการตามที่กฎหมายกำหนดจึงไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
บริษัท ป. ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ เมื่อถึงกำหนดใช้เงินปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้รับชำระเงิน ต่อมาบริษัท ป. ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางขอให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ การที่โจทก์นำตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 บัญญัติไว้ โจกท์มิได้มอบหรือโอนสิทธิอันเกิดแต่ตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องให้แก่ผู้ใด โจทก์จึงยังคงเป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงินมีอำนาจฟ้องจำเลยผู้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินได้
ในคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของบริษัท ป. ลูกหนี้โจทก์ระบุอัตราดอกเบี้ยที่ขอรับชำระหนี้ไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยในบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ระบุในช่องหมายเหตุว่า ลูกหนี้มิได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ให้เมื่อครบกำหนด แต่ได้มีการตกลงทางวาจาว่า อัตราดอกเบี้ยใหม่จะเป็นร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้นจำเลยผู้รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจะต้องร่วมรับผิดกับบริษัท ป. ผู้ออกตั๋วแก่โจทก์ จึงต้องรับผิดในต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1504/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การเปลี่ยนแปลงได้หากไม่ขัดแย้งชัดเจนและยังอยู่ในอำนาจต่อสู้คดี ศาลต้องพิจารณาตามพฤติการณ์
จำเลยให้การตอนต้นว่า โจทก์ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่ พ. แล้ว พ. นำรถยนต์พิพาทมาขายให้จำเลย แต่ตอนหลังกลับให้การว่า พ. เป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของโจทก์ โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตและเสียค่าตอบแทน เป็นคำให้การปฏิเสธข้ออ้างคำฟ้องของโจทก์ในข้อเท็จจริง ซึ่งมีผลทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงตามที่จำเลยให้การต่อสู้เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับ พ. โดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับจำเลย จำเลยย่อมมีสิทธิให้การต่อสู้คดีไปตามพฤติการณ์แห่งข้อเท็จจริงเท่าที่จำเลยพึงให้การได้ ทั้งในการซื้อขาย เจ้าของทรัพย์อาจทำสัญญาซื้อขายโดยตนเองหรือโดยมีตัวแทนไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือปริยายทำการขายทรัพย์สินนั้นแทนก็ได้ คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันหรือไม่ชัดแจ้งจนถึงขนาดที่ไม่อาจนำสืบไปในทางหนึ่งทางใดได้ ถือว่าเป็นคำให้การที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นายวงแชร์เป็นนิติบุคคล: นิติกรรมโมฆะ สิทธิเรียกร้องสมาชิกวงแชร์
พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้นิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์" มาตรา 6 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้..." และมาตรา 7 บัญญัติว่า "บทบัญญัติในมาตรา 6 ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่ากฎหมายได้แยกการกระทำของนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาในการเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ต่างหากจากกัน ทั้งได้บัญญัติให้สิทธิแก่สมาชิกวงแชร์ในการเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เฉพาะกรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นบุคคลธรรมดาเท่านั้น แต่กรณีนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์เป็นนิติบุคคล กฎหมายหาได้ให้สิทธิเช่นว่านั้นไม่ ฉะนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าแชร์รายพิพาทมีห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นนายวงแชร์ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การเล่นแชร์รายนี้ย่อมเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทที่สั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้ค่าแชร์ที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายดังกล่าวจึงปราศจากมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย แม้โจทก์และจำเลยต่างเป็นสมาชิกวงแชร์ด้วยกัน โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ได้ ข้อเท็จจริงที่ว่าการเล่นแชร์รายนี้มีห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เป็นนายวงแชร์หรือไม่ จึงเป็นสาระสำคัญที่ต้องวินิจฉัย แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย คดีนี้มีจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ยังมิได้วินิจฉัยดังกล่าวอาจเป็นผลให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามลำดับชั้นศาลเสียก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (3), 243 (3) (ข) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาวางค่าธรรมเนียมศาล: การไม่ปฏิบัติตามกำหนด และเหตุสุดวิสัย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 แต่เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 4 ไม่ได้วางเงินค่าธรรมเนียมศาล จำเลยที่ 4 เพิ่งมายื่นคำร้องขอวางเงินค่าธรรมเนียมศาลบางส่วนในวันที่ 9 พฤษภาคม 2546 ถือได้ว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งจำเลยที่ 4 จะต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลภายในกำหนดเวลา หากพ้นกำหนดจำเลยที่ 4 จะสามารถยื่นคำร้องได้ต่อเมื่อมีเหตุสุดวิสัย ฉะนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว ซึ่งตามเหตุผลในคำร้องที่อ้างว่าจำเลยที่ 4 หาเงินค่าธรรมเนียมศาลมาได้เพียงบางส่วนและจะนำค่าธรรมเนียมศาลส่วนที่เหลือมาวางภายใน 30 วัน ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 4 วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ชอบ กรณีเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ตามมาตรา 246 ประกอบมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 617/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องซ้ำ: การบังคับจำนอง - เมื่อศาลยกคำร้องแล้ว ห้ามยื่นคำร้องซ้ำด้วยเหตุเดิม
การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 นั้น ก็คือการฟ้องขอบังคับจำนองนั่นเอง เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นยกคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องด้วยเหตุที่ผู้ร้องไม่มีพยานมาสืบในวันนัดไต่สวนนั้น เท่ากับว่าผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้ออ้างในประเด็นแห่งคดีของผู้ร้อง อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีของผู้ร้องแล้ว หาใช่ว่าศาลชั้นต้นยังมิได้พิจารณาพยานหลักฐานหรือวินิจฉัยเนื้อหาในคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองไม่ เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งถึงที่สุดให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงจะมายื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในคดีนี้ซึ่งมีประเด็นที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นคำร้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลบังคับของคำพิพากษาตามยอมแก่บริวารของผู้เช่า และการห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยเช่าจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท ให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและค่าเสียหาย 22,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินดังกล่าว คู่ความในคดีดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง เมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยผู้ถูกฟ้องขับไล่ในชั้นบังคับคดีอันเป็นสาขาของคดีเดิม จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามมาตรา 224 วรรคสอง เช่นกัน
อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่า จำเลยเป็นผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ คำพิพากษาตามยอมจึงไม่มีผลบังคับแก่ผู้ร้องซึ่งมิใช่คู่ความในคดีนั้นเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์โดยยอมออกไปจากที่ดินพิพาทพร้อมกับบริวารและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม แม้ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแต่ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย คำพิพากษาตามยอมก็ย่อมมีผลบังคับแก่ผู้ร้องด้วย โจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 582/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันของคำพิพากษาตามยอมต่อบริวารของผู้เช่า และการบังคับคดี
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่ผู้เช่าและบริวารออกจากที่ดินพิพาทที่จำเลยเช่าจากโจทก์ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 3,000 บาท กับให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างพร้อมค่าเสียหายนับถัดจากวันฟ้อง เป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง คดีที่เกี่ยวกับการบังคับผู้ร้องซึ่งเป็นบริวารของจำเลยจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงด้วย
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า คำพิพากษาตามยอมผูกพันเฉพาะจำเลยกับโจทก์ผู้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ผูกพันผู้ร้อง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ยอมออกจากที่ดินพิพาทพร้อมกับบริวาร แม้ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำพิพากษาตามยอมก็มีผลบังคับแก่ผู้ร้องด้วย โจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองขาดอายุความ-ผิดสัญญาซื้อขาย-คืนเงินมัดจำ-ดอกเบี้ย-ศาลปรับแก้คำพิพากษา
จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายให้โจทก์ภายในกำหนดเพราะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โครงการของจำเลยที่ 1 หยุดชะงักไม่มีเงินหมุนเวียนที่จะนำไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคารได้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายที่รับมัดจำละเมิดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 378 (3) พร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด
โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อจะขายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2540 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ตามนัด จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปเป็นการให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยมากกว่าที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาก็ยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อศาลสั่งฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้
ตามคำพิพากษาตามยอมของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ในคดีแพ่งระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ มีเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 5 ว่า ให้ลูกหนี้ไปดำเนินการให้เจ้าหนี้อื่นยอมรับหลักเกณฑ์ในการรับชำระหนี้และทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในแนวทางเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ต่อมาลูกหนี้ได้ถูกเจ้าหนี้อื่นฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และลูกหนี้ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นคดีนี้ กรณีจึงต้องด้วยเงื่อนไขตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 8 แล้วว่า หากลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ข้อใดข้อหนึ่งหรืองวดใดงวดหนึ่ง... หรือศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ข้อตกลงอื่นเป็นอันยกเลิก และลูกหนี้ยินยอมชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เต็มจำนวน ดังนี้ ลูกหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัด เจ้าหนี้มีสิทธินำหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 381/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรุกล้ำที่ดินโดยสุจริตและขอบเขตการบังคับใช้บทกฎหมายเกินคำฟ้อง
การที่จำเลยปลูกบ้านในที่ดินซึ่งเดิมเป็นของจำเลยแล้วต่อมามีการแบ่งแยกที่ดินนั้น ทำให้บางส่วนของบ้านจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทที่แบ่งแยกออกจากที่ดินดังกล่าว ซึ่งต่อมามีการโอนขายให้แก่โจทก์ เป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายปรับแก่คดีได้โดยตรงจึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 และบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะปรับกับข้อเท็จจริงนี้ได้คือ ป.พ.พ. มาตรา 1312 เมื่อกรณีถือได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นไปโดยสุจริต จำเลยจึงเป็นเจ้าของบ้านส่วนที่รุกล้ำตามมาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยรื้อถอน คงมีเพียงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าที่ดินส่วนที่จำเลยปลูกสร้างบ้านรุกล้ำ แต่การพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าที่ดินให้แก่โจทก์ได้หรือไม่นั้นจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้ศาลพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่จะต้องด้วยกรณียกเว้น 6 ประการในบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับในเรื่องนี้และกรณีก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 142 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ การที่โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอบังคับแก่จำเลยในเรื่องนี้ ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง โจทก์จะอ้างเอาความผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวให้ศาลพิพากษาคดีโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหาได้ไม่
of 48