คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีระชาติ เอี่ยมประไพ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 404 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดการทรัพย์สินของบุคคลหายตัวไป - ศาลต้องไต่สวนก่อนมีคำสั่ง
ผู้ร้องอ้างว่า จำเลยไปเสียจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ โดยมิได้ตั้งตัวแทนผู้รับมอบอำนาจทั่วไปไว้และไม่มีใครรู้แน่ว่า จำเลยยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้อง ก็ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องทำการอย่างหนึ่งอย่างใดไปพลางก่อนตามที่จำเป็นเพื่อจัดการทรัพย์สินของจำเลยตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 48 วรรคหนึ่ง กรณีเช่นว่านี้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนคำร้องของผู้ร้องให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเสียก่อน การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ไต่สวนคำร้องเสียก่อนเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและมีคำสั่งใหม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247 ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7352/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้ช่วยผู้พิพากษา: การพิจารณารับรองอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
แม้ตาม พร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 11 จะกำหนดให้ผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการก็ตาม แต่ไม่ถือว่าผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นผู้พิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ทั้งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมก็มิได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของผู้ช่วยผู้พิพากษาไว้เลย เมื่อผู้ช่วยผู้พิพากษาไม่มีอำนาจพิจารณาคดีแล้ว พ. และ ส. ซึ่งได้ความว่าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาในขณะออกนั่งพิจารณาคดีนี้ จึงไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องที่ขอให้รับรองอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์หรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นไม่ส่งคำร้องของโจทก์ให้ พ. และ ส. พิจารณาสั่งจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7334/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อสู้เรื่องสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ จำเลยต้องแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธชัดเจน มิฉะนั้นจะไม่มีประเด็นนำสืบ
จำเลยให้การรับว่า จำเลยทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องจริง แต่ปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้รับเงินกู้ เนื่องจากจำเลยและ ท. มารดาโจทก์ ไม่มีเจตนาที่จะให้มีผลผูกพันกันเป็นการต่อสู้ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ แต่จำเลยไม่ได้อ้างเหตุตั้งประเด็นไว้ว่าที่จำเลยและ ท. ไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันกันเป็นเพราะเหตุใด แม้จำเลยจะกล่าวอ้างมาในคำให้การว่า จำเลยมีฐานะทางการเงินดีกว่า ท. ก็ไม่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเหตุใดจำเลยและ ท. จึงทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินโดยจำเลยไม่ได้รับเงินกู้ จึงเป็นคำให้การปฏิเสธที่ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง จำเลยย่อมไม่มีประเด็นที่จะนำสืบ แม้จำเลยจะนำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการสืบนอกคำให้การ ต้องห้ามมิให้รับฟังตามมาตรา 87 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงิน ท. และรับเงินกู้แล้วตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดต้องเปิดเผยข้อมูลครบถ้วนเพื่อให้ผู้สนใจเข้าสู้ราคาได้อย่างเป็นธรรม หากไม่เป็นไปตามหลักการ ศาลมีอำนาจเพิกถอนได้
เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปิดประกาศแจ้งการขายไว้ที่หน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีต่างไปจากการขายทอดตลาดในคดีอื่น ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดไม่เป็นที่เปิดเผยตามวิถีทางที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจเข้าสู้ราคาและจำนวนผู้เข้าสู้ราคาซึ่งอาจต้องถูกจำกัดให้น้อยลง ขัดต่อเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการสู้ราคากันโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 308 แม้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ซึ่งตามคำสั่งกรมบังคับคดีกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาราคาที่ผู้เข้าสู้ราคาเสนอสูงสุดซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินหรือราคาของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้วแต่กรณีเป็นราคาที่สมควรขาย ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตามมาตรา 296 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7309/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทอดตลาดต้องเปิดเผยข้อมูลครบถ้วน เพื่อให้ผู้สนใจเข้าสู้ราคาได้อย่างถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามถือว่าการขายไม่ชอบ
ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์เป็นใจความสำคัญว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วนถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศนัดขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีรวม 5 ครั้ง และมีหมายแจ้งวันนัดให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบกำหนดนัดแล้วทุกครั้ง วันนัดขายทอดตลาดวันที่ 10 กรกฎาคม 2545 ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 เดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีตามกำหนด แต่ไม่เข้าไปติดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์เป็นการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นแล้วว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบกำหนดนัดขายทอดตลาดโดยชอบและเดินทางไปที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดจันทบุรีตามกำหนดนัดแล้ว แต่ผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่สอบถามเจ้าพนักงานบังคับคดีเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 อันเป็นความบกพร่องของผู้แทนโจทก์และจำเลยที่ 2 เอง โจทก์และจำเลยที่ 2 จะอ้างความเข้าใจผิดคิดว่าไม่มีการขายทอดตลาดดังที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยไม่ได้ คำฟ้องอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์จึงเป็นคำฟ้องอุทธรณ์ที่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
การดำเนินการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องประกาศขายอย่างเปิดเผย โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนที่สนใจเข้าสู้ราคา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคู่ความให้ได้ราคาสูงสุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 513 ไม่ใช่ขายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยไม่ปิดประกาศแจ้งการขายไว้ที่หน้าสำนักงานบังคับคดีจังหวัดจังหวัดจันทบุรีต่างไปจากการขายทอดตลาดในคดีอื่น ย่อมทำให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นที่เปิดเผยตามวิถีทางที่ควรจะเป็น ส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจเข้าสู้ราคาและจำนวนผู้เข้าสู้ราคาซึ่งอาจต้องถูกจำกัดให้น้อยลงขัดต่อเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาดที่ต้องเปิดโอกาสให้มีการเข้าสู้ราคากันโดยเปิดเผยเพื่อให้ได้ราคาสูงสุด จึงถือไม่ได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 308 แม้การขายทอดตลาดนัดนี้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ซึ่งตามคำสั่งกรมบังคับคดีกำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเอาราคาที่ผู้เข้าสู้ราคาเสนอสูงสุดซึ่งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของราคาประเมินหรือราคาของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการกำหนดราคาทรัพย์แล้วแต่กรณี เป็นราคาที่สมควรขาย แต่เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำสั่งหรือคำพิพากษา ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6739/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การฎีกาเฉพาะส่วนต่างของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และขอบเขตการโต้เถียงข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 200,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์เต็มตามฟ้อง จำเลยมิได้อุทธรณ์เท่ากับจำเลยเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้จำเลยชำระเงิน 285,321 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยคงมีสิทธิฎีกาเฉพาะในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์เพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนี้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของจำเลยมีเพียง 85,321 บาท การที่จำเลยฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6624/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิคิดดอกเบี้ยเกิน 15% ของสถาบันการเงินตาม พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมฯ และการนำประกาศกระทรวงการคลังมาใช้
พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมให้สูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีได้ และตามมาตรา 6 เมื่อรัฐมนตรีกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 4 แล้ว มิให้นำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา 4 โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์จึงเป็นสถาบันการเงินตามความในมาตรา 3 (2) แห่ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ ข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้โจทก์เรียกจากผู้กู้ยืมได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ จึงเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทโดยตรง ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมฯ ที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้ในอัตราที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีที่โจทก์จะต้องนำสืบ การที่พยานโจทก์เบิกความว่า การคิดดอกเบี้ยและการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมและสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้องเป็นไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ โดยอ้างส่งประกาศกระทรวงการคลังเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมฯ แนบท้ายประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยมาด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้นำสืบถึงประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว
แม้โจทก์จะมิได้ระบุอ้างประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวในบัญชีระบุพยานอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 88 แห่ง ป.วิ.พ. ก็ตาม แต่ประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารทางราชการที่จำเลยและประชาชนโดยทั่วไปสามารถตรวจสอบถึงความมีอยู่และถูกต้องแท้จริงได้โดยไม่เป็นการยากลำบาก โจทก์อ้างส่งเอกสารดังกล่าวในระหว่างสืบพยานโจทก์ เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จสิ้นศาลชั้นต้นก็ได้เลื่อนไปนัดสืบพยานจำเลย จำเลยมีโอกาสตรวจสอบเอกสารและถามค้านพยานโจทก์ตลอดจนนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงมิได้เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ครั้งถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมศาลมีอำนาจรับฟังประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านถึงความมีอยู่และความถูกต้องของประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมตามมาตรา 4 แล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินที่รัฐมนตรีกำหนดตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว จึงไม่อาจนำมาตรา 654 แห่ง ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6507/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องหนี้ การพิสูจน์ลายมือชื่อ และดอกเบี้ยตามสัญญา
จำเลยทั้งสี่ต้องรับผิดตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. มีต่อจำเลยทั้งสี่และได้บอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจำเลยทั้งสี่จะตกลงด้วยหรือไม่ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบัตรเครดิต: การรับสภาพหนี้และการผ่อนผันการบังคับสิทธิ
จำเลยใช้บัตรเครดิตของธนาคารโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 โจทก์ส่งใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายให้จำเลยชำระเงินขั้นต่ำภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 เมื่อจำเลยผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้เมื่อครบกำหนดตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายและเริ่มนับอายุความนับแต่วันนั้นมา จำเลยชำระหนี้บางส่วนครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องวันที่ 29 ธันวาคม 2546 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2544 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับอายุความใหม่ จึงขาดอายุความ
โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้เมื่อครบกำหนดตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่าย หลังจากนั้นจำเลยไม่เคยใช้บัตรเครดิตของโจทก์ และโจทก์ไม่ได้ออกเงินทดรองให้แก่สถานประกอบการค้าต่างๆ แทนจำเลยอีก ใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายที่โจทก์ส่งให้จำเลยแต่ละเดือนต่อมาล้วนเป็นการคิดบวกดอกเบี้ยที่จำเลยผิดนัดเข้ากับต้นเงินที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์เท่านั้น การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยเมื่ออาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ผ่อนผันไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยเอง มิใช่โจทก์ไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงมิได้เริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดโดยไม่ผ่อนผันให้แก่จำเลยอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6424/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในคดีพิพาทกรรมสิทธิ์ที่ดินและการก่อสร้างอาคาร
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและสิ่งก่อสร้างออกจากที่ดินพิพาท และคืนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในสภาพไม่มีสิ่งปลูกสร้างและวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท การที่จำเลยเข้าไปดำเนินการก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาทหลังจากที่โจทก์ยื่นคำฟ้องแล้ว ย่อมเป็นการกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดที่ถูกฟ้องร้อง อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ หากศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี กรณีจึงมีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ป.วิ.พ. 254 (2) มาใช้โดยห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยและบริวารดำเนินการก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาทจนกว่าจะถึงที่สุดได้
ตามคำขอของโจทก์มีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้ หากจำเลยได้รับความเสียหายจำเลยก็มีสิทธิที่จะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 263 เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำขอของโจทก์โดยไม่สั่งให้โจทก์นำเงินหรือหาประกันมาวางตามมาตรา 257 วรรคท้าย จึงชอบแล้ว
of 41