คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วีระชาติ เอี่ยมประไพ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 404 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4870/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำนองที่ดินโดยตัวแทนที่ไม่เปิดเผยชื่อ และสิทธิของบุคคลภายนอกที่ไม่ทราบความสัมพันธ์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องโดยได้รับการยกให้จากมารดาของผู้ร้อง แต่เนื่องจากสามีของผู้ร้องเป็นคนต่างด้าวจึงใส่ชื่อจำเลยในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทแทนผู้ร้อง ผู้ร้องไม่ทราบเรื่องที่จำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่สามีของโจทก์กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องดังกล่าวถึงหากจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อยอมให้จำเลยผู้เป็นตัวแทนทำการออกหน้าเป็นตัวการว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เมื่อจำเลยนำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่สามีของโจทก์และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าสามีของโจทก์ได้ทราบเรื่องระหว่างผู้ร้องกับจำเลยดังกล่าว ผู้ร้องจึงหาอาจทำให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของสามีของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มีต่อจำเลยผู้เป็นตัวแทนและขวนขวายได้สิทธิมาก่อนที่จะรู้ว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องได้ไม่ ตามป.พ.พ. มาตรา 806 โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของสามีย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาทได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
ปัญหาว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 หรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4868/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาที่ต้องห้ามตามกฎหมาย: บริวารในคดีขับไล่และอุทธรณ์ข้อเท็จจริง
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสี่พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท พร้อมกับเรียกค่าเสียหายเนื่องจากขาดประโยชน์จากการนำที่ดินพิพาทออกให้เช่า แม้จำเลยทั้งสี่จะให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ แต่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 และพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่พร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 300 บาท จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ฎีกา แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และศาลฎีกายกอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยทั้งสี่ตามลำดับ เนื่องจากเป็นอุทธรณ์และฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท คู่ความในคดีดังกล่าวจึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง
เมื่อคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับแก่บริวารของจำเลยทั้งสี่ผู้ถูกฟ้องขับไล่และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ขับไล่ผู้ร้องในฐานะบริวารของจำเลยทั้งสี่ออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสาม ผู้ร้องฎีกาว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยทั้งสี่ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าจ้างทนาย: เริ่มนับเมื่อส่งมอบงาน ไม่ใช่เมื่อคดีถึงที่สุด
สัญญาที่โจทก์รับจ้างจำเลยทั้งสามว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของนั้นมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (16) ส่วนการเริ่มนับอายุความในการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ค่าว่าความนั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/12 บัญญัติไว้ว่า "อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป..." และมาตรา 602 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า "อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ" ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับจำเลยทั้งสามได้ตกลงกำหนดเวลาชำระค่าจ้างว่าความไว้ ก็ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความไว้ ก็ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความถึงกำหนดเมื่อจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ซึ่งการส่งมอบและรับมอบการงานการที่ทำนั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาแล้วจำเลยทั้งสามพอใจและไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป แสดงว่าจำเลยทั้งสามประสงค์ที่จะให้โจทก์ดำเนินคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีให้แก่จำเลยทั้งสามในศาลชั้นต้นซึ่งคือศาลจังหวัดเชียงใหม่จนศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2545 ต้องถือว่าโจทก์ได้ส่งมอบและจำเลยทั้งสามได้รับมอบการงานที่ทำตามสัญญาจ้างว่าความแล้ว สิทธิที่โจทก์จะเรียกเอาสินจ้างย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษา หาใช่เมื่อคดีถึงที่สุดดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ ส่วนการที่โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์นั้นก็น่าเชื่อว่าโจทก์ทำไปโดยพลการ โจทก์จึงหาอาจยกข้อดังกล่าวขึ้นอ้างได้ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2548 อันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4848/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าจ้างทนาย: เริ่มนับเมื่อส่งมอบงานตามสัญญา ไม่ใช่เมื่อคดีถึงที่สุด
สัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (16) โจทก์กับจำเลยไม่ได้ตกลงกำหนดเวลาชำระค่าจ้างว่าความไว้ ต้องถือว่าหนี้ค่าจ้างว่าความถึงกำหนดเมื่อจำเลยได้รับมอบการงานที่ทำแล้วตามป.พ.พ.มาตรา 602 วรรคหนึ่ง จำเลยประสงค์ให้โจทก์ดำเนินคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อโจทก์ดำเนินคดีให้แก่จำเลยและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาอันถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบและจำเลยได้รับมอบการงานที่ทำตามสัญญาจ้างว่าความแล้ว สิทธิที่โจทก์จะเรียกเอาค่าจ้างย่อมเกิดขึ้นทันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4728/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าบริการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ: ข้อยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 193/34(1) และ 193/33(5)
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้ออกทดรองแทนจำเลยไปสำหรับขนสินค้าไปส่งให้แก่ลูกค้าของจำเลยซึ่งอยู่ในต่างประเทศอันเป็นการเรียกค่าการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้นั้นเอง จึงอยู่ในข้อยกเว้นตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ที่มีกำหนดอายุความสองปี แต่มีอายุความห้าปีตามมาตรา 193/33 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4708/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายเลือกตั้ง: การมอบหมายอำนาจ กกต.จังหวัด และการตีความประกาศ กกต.
จำเลยยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 24 กรุงเทพมหานคร เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง จำเลยซึ่งเป็นผู้สมัครแต่ไม่ได้รับเลือกมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายของผู้สมัคร โดยต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ และตามวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครภายในกำหนด 90 วัน หลังจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง คือวันที่ 23 เมษายน 2544 จำเลยอ้างว่า ไปยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2544 แต่เจ้าหนี้ที่ไม่รับเอกสารอ้างว่าจำเลยไม่ได้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร จำเลยก็มิได้ดำเนินการแก้ไขหรือขอให้เจ้าหน้าที่รับเอกสารไว้ก่อนแล้วจะดำเนินการแก้ไขในภายหลัง แต่จำเลยกลับไปยื่นใหม่อีกเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2544 เจ้าหน้าที่ก็ไม่รับเช่นเดิมซึ่งจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งหรือให้เจ้าหน้าที่บันทึกเหตุผลที่ไม่รับเอกสารของจำเลยดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ไปดำเนินการยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแล้ว การที่จำเลยไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2544 นั้น เมื่อนับจากวันที่ 23 เมษายน 2544 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ผู้สมัครต้องยื่นเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ก็เป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมายไป 3 วัน แม้เจ้าหน้าที่ลงวันรับหนังสือไว้เก็เป็นการปฏิบัติตามระเบียบงานสารบรรณเท่านั้น หาใช่เป็นการผ่อนผันให้แก่จำเลยแต่อย่างใดไม่ และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครปฏิเสธไม่รับเอกสารของจำเลย เพราะไม่เป็นไปตามกฎหมายและประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยไม่ยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นและจำเลยได้รับรองความถูกต้องภายในกำหนด 90 วัน หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และมาตรา 104 วรรคหนึ่ง
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้ง ข้อ 20 กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในแบบแบ่งเขตแต่ละคนยื่นรายงานการรับจ่ายเงินและบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำตามข้อ 19 รวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 90 วันนับจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง และลงนามโดยประธานกรรมการการเลือกตั้ง แม้ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ จะบัญญัติให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ตาม แต่ข้อความตามประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อ 20 ดังกล่าวพอแปลได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมายให้คณะกรรมการการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทำการแทน จึงกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งยื่นต่อคณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้ ดังนี้ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง ข้อ 20 จึงหาได้ขัดต่อบทบัญญัติตามมาตรา 43 แต่อย่างใดไม่
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ มาตรา 10 (2) ได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ออกประกาศกำหนดการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาฯ มาตรา 42 ได้บัญญัติให้ผู้สมัครแต่งตั้งบุคคลเป็นสมุห์บัญชีเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของผู้สมัคร โดยการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อพิจารณาประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 10 (2) และ 42 แล้ว ข้อความในประกาศดังกล่าวเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่ายของสมุห์บัญชีเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมืองซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่คณะกรรมการการเลือกตั้งอ้างมา ทั้งยังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเช่นนี้ ประกาศดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบกับพยานอื่นได้ แม้ประกาศดังกล่าวไม่ได้อ้างมาตรา 43 ไว้ด้วยก็ตาม แต่ตามข้อ 20 ของประกาศฉบับนี้ได้ระบุให้ผู้สมัครต้องยื่นรายงานการรับจ่ายเงินและบัญชีรายรับและรายจ่ายที่สมุห์บัญชีจัดทำรวมทั้งหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 90 วัน นับจากวันประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งข้อความดังกล่าวมีเนื้อหาสาระทำนองเดียวกับมาตรา 43 ดังนี้ แม้ประกาศดังกล่าวจะไม่ได้อ้างมาตรา 43 ไว้ก็ตาม ก็หาได้ทำให้ประกาศดังกล่าวไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งยกเลิกการล้มละลายไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้เดิม เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับคดีได้
พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 136 บัญญัติว่า "คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 (1) หรือ (2) นั้นไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด" เมื่อกฎหมายดังกล่าวมิได้ยกเว้นไว้ว่าหนี้ใดบ้างหลุดพ้นเพราะคำสั่งยกเลิกการล้มละลายจึงต้องแปลว่าหนี้สินทุกชนิดที่ลูกหนี้มีอยู่ก่อนฟ้องอย่างไรก็คงเป็นหนี้อยู่เช่นเดิมอย่างนั้น ดังนั้น แม้โจทก์มิได้นำหนี้ตามคำพิพากษาไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 91 ก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายแล้ว หนี้ของโจทก์ดังกล่าวย่อมกลับสภาพเป็นหนี้ที่สมบูรณ์อันทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4701/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในการอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ แม้มีคำสั่งงดบังคับคดีไว้ก่อน
จำเลยเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลย คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ผู้ร้องชำระเงินมัดจำค่าที่ดินแก่จำเลย แต่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีแพ่งซึ่งผู้ร้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพราะเหตุเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเป็นอีกคดีหนึ่งจะถึงที่สุด ศาลมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีไว้ตามขอ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 293 วรรคท้าย แต่คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยจึงมีสิทธิเข้าจัดการกับสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่มีต่อผู้ร้องดังกล่าวได้ตามมาตรา 310 ทวิ ประกอบด้วยมาตรา 311 แม้ผู้ร้องจะได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นคดีแพ่งอีกคดีหนึ่งซึ่งมีมูลมาจากสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินรายเดียวกัน และสามารถนำหนี้ทั้งสองคดีมาหักกลบลบกันได้ โจทก์ก็ยังมีสิทธิขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยได้เพราะมาตรา 311 วรรคสาม บัญญัติว่า คำสั่งอายัดนั้น อาจออกให้ได้ไม่ว่าหนี้ของบุคคลภายนอกนั้นจะมีข้อโต้แย้งหรือมีข้อจำกัดหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ที่เกินกำหนดระยะเวลา 15 วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 และท้ายอุทธรณ์มีข้อความว่า รอฟังคำสั่งอยู่ แต่ไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยในวันเดียวกันกับที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 การอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์นั้น จำเลยต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 แต่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2548 เกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลย โดยเห็นว่าจำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งพ้นกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่ง คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ดังกล่าวจึงเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ให้เป็นที่สุดนั้น ไม่จำต้องคำนึงว่าในการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีวินิจฉัยเฉพาะเนื้อหาอุทธรณ์เท่านั้น เพราะการที่ศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์อาจมาจากสาเหตุอื่น โดยไม่ต้องวินิจฉัยเนื้อหาอุทธรณ์ว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ก็ได้ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงเป็นอันถังที่สุดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งฎีกาคำสั่งของจำเลยมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนภาระจำยอม แม้ดัดแปลงสภาพก็ยังต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา
ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เปิดถนนภาระจำยอม และทำให้อยู่ในสภาพใช้ได้สะดวก เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้มีเจตนาสร้างเสาไฟฟ้าพิพาทขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้ถนนภาระจำยอมมาตั้งแต่แรก แต่มีสภาพเป็นเสารองรับน้ำหนักโครงหลังคาซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกอยู่บนถนนภาระจำยอมและจำเลยที่ 2 ต้องรื้อถอนออกไปทั้งหมดตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 2 รื้อถอนเฉพาะโครงหลังคา ส่วนเสารองรับน้ำหนักมิได้รื้อถอนออกไปด้วยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาและคำบังคับของศาลให้ถูกต้องครบถ้วน แม้จำเลยที่ 2 จะดัดแปลงเสาดังกล่าวให้มีสภาพเป็นเสาไฟฟ้าเพื่อประโยชน์ในการใช้ถนนภาระจำยอม และที่ตั้งของเสามิได้กีดขวางการใช้ถนนภาระจำยอม หรือไม่ทำให้เสื่อมความสะดวกในการใช้ถนนภาระจำยอมก็หาทำให้เสาดังกล่าวพ้นจากการถูกบังคับคดีไม่ โจทก์จึงขอให้บังคดีโดยให้รื้อถอนเสาไฟฟ้าพิพาทออกไปจากถนนภาระจำยอมตามคำพิพากษาได้
of 41