คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จรัส พวงมณี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9,202 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9068-9346/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับเงินเพิ่มจากมติคณะรัฐมนตรีจำกัดเฉพาะลูกจ้างที่อยู่ในสถานะพนักงาน ณ วันที่มติมีผลบังคับใช้
โจทก์ทั้งสองร้อยเจ็ดสิบเก้าออกจากงาน (เกษียณอายุ) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ไม่มีสภาพเป็นพนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงาน ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 ซึ่งเป็นวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติและเป็นวันที่จำเลยระบุไว้ในคำสั่งปรับเงินเดือน จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือนตามมติของคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์และมติคณะรัฐมนตรี
แม้ว่าในการประชุมคณะกรรมการของจำเลยครั้งที่ 6/2548 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ที่ลงมติให้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้แก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการปรับเพิ่มเงินเดือนคือวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 จะไม่มีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมด้วยก็ไม่มีผลให้การออกคำสั่งที่ ค.51/2548 ของจำเลยที่ให้ปรับเพิ่มเงินเดือนแก่พนักงานและลูกจ้างทดลองงานที่ยังมีสถานภาพการเป็นผู้ปฏิบัติงานอยู่ ณ วันที่ 10 พฤษภาคม 2548 เสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8794/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอาหารและค่าบริการของพนักงานไม่ใช่ค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน และไม่นำมาคำนวณค่าชดเชย/สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยจัดอาหารและหอพักให้พนักงานอาศัยเป็นสวัสดิการโดยคำนวณเป็นค่าอาหารและค่าหอพักเพื่อถือเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษี จึงเป็นเพียงสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่ลูกจ้างเท่านั้นมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5
ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระบุว่าค่าบริการเป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บจากแขกผู้มาใช้บริการร้อยละสิบแล้วนำมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนจำนวนตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบของค่าบริการทั้งหมดในปี 2540 จนถึงร้อยละเก้าสิบของค่าบริการทั้งหมดตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาส่วนที่เหลืออีกร้อยละสิบนั้นจำเลยหักไว้เพื่อเป็นต้นทุนของสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ที่แตกหักชำรุดเสียหายในแต่ละเดือน เมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างแต่ละคราวจำเลยจะนำเงินค่าบริการมาแบ่งเฉลี่ยแก่ลูกจ้างคนละเท่าๆ กัน ดังนั้น การที่ลูกจ้างจะได้รับค่าบริการมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญ การที่จำเลยเป็นผู้เรียกเก็บจากลูกค้าและเป็นผู้จัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างเป็นกรณีที่จำเลยทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการของจำเลยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย ค่าบริการจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8793/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องค่าจ้างต้องอาศัยข้อตกลงสภาพการจ้าง ไม่ใช่แค่คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 ที่บัญญัติให้นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายที่ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 ต้องนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง มิฉะนั้น คำสั่งนั้นเป็นที่สุด คำสั่งที่จะเป็นที่สุดตามมาตรานี้ต้องเป็นคำสั่งในกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 123 เท่านั้น
ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นการฟ้องเพื่อให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเรียกร้องค่าจ้างส่วนที่จะต้องได้รับเพิ่มขึ้นจากการที่จำเลยต้องปรับค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 19 โจทก์ที่ 2 จึงหาจำต้องฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8791/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกมีผลทันที นายจ้างไม่อาจเลิกจ้างโดยอ้างระเบียบภายในได้
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งพนักงานการเงิน ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2547 โจทก์ได้ยื่นหนังสือขอลาออกตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 เมื่อถึงวันที่กำหนดในหนังสือขอลาออกโจทก์ก็ไม่ได้เข้ามาทำงานกับจำเลยอีก ดังนี้ การที่โจทก์ยื่นหนังสือขอลาออกต่อจำเลยย่อมเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้าง และการเลิกสัญญาจ้างดังกล่าวมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ในหนังสือขอลาออก การจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แม้ว่าตามระเบียบของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน ฯ ข้อ 8 จะระบุว่า "พนักงานขอลาออกจากการเป็นพนักงานของสมาคมให้ยื่นหนังสือขอลาออกต่อคณะกรรมการของสมาคม และให้มีผลของการลาออกได้เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ" และคณะกรรมการดำเนินงานของจำเลยจะมีมติไม่อนุมัติให้โจทก์ลาออกก็ตาม แต่การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้น นายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด เมื่อเป็นกรณีที่โจทก์ลาออกจากงานโดยชอบ สัญญาจ้างแรงงานจึงสิ้นสุดลงในวันที่ 1 สิงหาคม 2547 แล้ว ดังนี้จำเลยจึงไม่อาจเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ด้วยการเลิกจ้างเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 โดยอ้างว่าการที่โจทก์ลาออกเป็นการกระทำผิดระเบียบสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เกษตรเมืองสุพรรณบุรี ว่าด้วยตำแหน่งเจ้าหน้าที่อัตราเงินเดือนค่าจ้างและการค้ำประกัน ฯ ข้อ 9 (5) ขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งได้สั่งในกิจการของสมาคม ฯ (6) ละทิ้งหน้าที่เป็นเหตุให้สมาคม ฯ เสียหายอย่างร้ายแรง (7) ประมาทเลินเล่อในหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่สมาคม ฯ อย่างร้ายแรง และ (9) ขาดงานติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร ตามหนังสือแจ้งผลการสอบวินัยความผิดอีกแต่อย่างใด คำสั่งจำเลยที่ไล่โจทก์ออกจากงานจึงไม่มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8789/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละทิ้งหน้าที่, ค่าเสียหายจากการฟ้องแย้ง, อำนาจศาลแรงงาน, การหักลบค่าใช้จ่าย, ข้อจำกัดการอุทธรณ์
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการที่จะพิจารณาว่าลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยขาดงานเป็นเวลาสามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) หรือไม่ ต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ชัดแจ้งเช่นสมุดลงชื่อเวลาทำงานของลูกจ้าง บัตรตอกเวลาทำงานของลูกจ้าง เป็นต้น ทั้งต้องคำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีเพราะหลังจากลูกจ้างถูกเลิกจ้างแล้วลูกจ้างก็ไม่อาจหาหลักฐานสำคัญซึ่งอยู่ในที่ทำงานมาแสดงต่อศาลแรงงานได้ ไม่อาจขอความช่วยเหลือลูกจ้างด้วยกันมาเป็นพยานบุคคลได้ โจทก์ถูกยกฟ้องแล้วยังต้องชดใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 อีก จึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบนั้น โจทก์ประสงค์จะให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ละทิ้งหน้าที่โดยขาดงานเป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานภาค 9 อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
คำสั่งรับฟ้องแย้งของศาลแรงงานภาค 9 ไม่ใช่คำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และมาตรา 228 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านไว้ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลแรงงานภาค 9 ไม่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
การที่โจทก์จะยกข้อต่อสู้ในเรื่องอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ โจทก์จะต้องยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้เพื่อศาลแรงงานภาค 9 จะได้ส่งปัญหาดังกล่าวไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยก่อนที่ศาลแรงงานภาค 9 จะพิพากษาคดี ซึ่งคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางนั้นเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 9 วรรคสอง โจทก์มิได้ยกปัญหาเรื่องศาลแรงงานภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง แสดงว่าโจทก์ยอมรับอำนาจของศาลแรงงานภาค 9 ที่จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว เมื่อศาลแรงงานภาค 9 พิจารณาพิพากษาคดีในปัญหาดังกล่าวแล้ว โจทก์เพิ่งยกปัญหานี้ขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ กรณีจึงล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาพิพากษาแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8788/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ: ความรับผิดในการจ่ายเงินสะสมให้ลูกจ้าง แม้มีหนี้สินกับนายจ้าง
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ จำเลยที่ 2 และมีบริษัทหลักทรัพย์ บ. เป็นผู้บริหารกองทุน จำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง โจทก์จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2540 ถึงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2546 เป็นจำนวนเงิน 33,858.84 บาท มีระเบียบของจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์เมื่อออกจากงาน จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์วันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 เป็นผลให้โจทก์สิ้นสุดสมาชิกภาพ ตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินตามระเบียบของจำเลยที่ 2 โจทก์มีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ที่จ่ายเข้ากองทุนทั้งหมดคืนเป็นจำนวน 33,858.84 บาท ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์สิ้นสมาชิกภาพ ดังนี้ การเรียกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้ว ต้องฟ้องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นจำเลยให้จ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ให้ ไม่ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือผู้จัดการกองทุนจะได้ส่งเงินและผลประโยชน์คืนให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างไปแล้วหรือไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์ จำนวน 33,858.84 บาท การที่จำเลยที่ 2 ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยจ่ายเป็นเช็คธนาคาร ก. สาขาสีลม และส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อติดต่อให้โจทก์มารับไป แต่โจทก์มีภาระหนี้ค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 979,820 บาท จำเลยที่ 1 จึงใช้สิทธิยึดหน่วงเงินจำนวน 33,858.84 บาท โดยครอบครองเช็คที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้โจทก์ไว้ไม่ส่งมอบแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเช็คไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากหนี้ เพราะโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้ เงินจำนวน 33,858.84 บาท เป็นหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่จ่ายภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8785/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะลูกจ้าง: ผู้ถือหุ้นและกรรมการบริษัท ไม่ใช่ลูกจ้าง แม้ได้รับเงินเดือน
โจทก์เป็นหนึ่งในผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเลยและเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่เริ่มบริษัทจำนวน 16,000 หุ้น เป็นอันดับสามจากผู้ถือหุ้น 8 คน แต่ในปี 2544 ถือหุ้นจำนวน 40,000 หุ้น เป็นอันดับหนึ่ง และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัทตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นวันเริ่มตั้งบริษัทจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2546 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2546 โจทก์ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ ก. โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงเดือนมกราคม 2546 การบริหารงานของโจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับเกี่ยวกับการทำงาน จะมาทำงานในเวลาใดก็ได้ไม่ต้องบันทึกเวลาทำงาน โจทก์จึงมิใช่พนักงานที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่โจทก์ได้รับเงินเดือนจากจำเลยจึงมิใช่ได้รับในฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย ส่วนการที่โจทก์บริหารงานภายใต้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นเพียงวิธีการครอบงำบริษัทจำกัดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1144 เท่านั้น หาได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8765-8766/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, อายุความฟ้องร้อง, การกำหนดค่าเสียหายตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด, และอำนาจทนายความในการแถลงรับข้อเท็จจริง
ผลประกอบกิจการของจำเลยตั้งแต่ปี 2542 ถึงปี 2546 จำเลยมีกำไรตลอดมา แสดงว่าจำเลยมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นติดต่อกันเรื่อยมา กำไรสุทธิเริ่มลดลงในปี 2545 และปี 2546 แต่ก็ลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ได้ความว่าหากจำเลยไม่เลิกจ้างลูกจ้างบางส่วนซึ่งมีโจทก์ทั้งสี่รวมอยู่ด้วยแล้ว จำเลยจะขาดทุนจนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ หรือจำเลยหาวิธีทางอื่นเพื่อพยุงกิจการของจำเลยไว้นอกจากการเลิกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นการเลิกจ้างที่ยังไม่มีเหตุสมควร และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าจำเลยจำต้องเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่เพราะจำเลยมองเหตุการณ์ข้างหน้าว่าลูกค้าลดการสั่งสินค้ารายได้จำเลยย่อมลดลง จำเลยจึงต้องยุบหน่วยงานและลูกจ้างบางส่วนเพื่อให้มาตรฐานแห่งรายได้ของจำเลยไม่ลดลงไปกว่าเดิมนั้น เห็นได้ชัดว่าจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างต้องการได้ประโยชน์จากการประกอบกิจการแต่เพียงฝ่ายเดียวไม่ได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของลูกจ้างทั้งๆ ที่ลูกจ้างก็มีส่วนทำให้นายจ้างได้กำไรจากการประกอบกิจการติดต่อกันหลายปี การเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุนี้หาใช่เป็นการเลิกจ้างเพราะมีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุสมควรไม่
โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหาย มิได้ฟ้องให้จำเลยชำระค่าเสียหายอันเกิดจากสัญญาจ้าง จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความ แม้โจทก์ทั้งสี่จะขอค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างที่ควรจะได้รับหากทำงานจนอายุครบ 60 ปี ก็เป็นเพียงวิธีการที่โจทก์ทั้งสี่คำนวณหาจำนวนค่าเสียหายเท่านั้น ไม่อาจทำให้เข้าใจไปได้ว่าโจทก์มิได้ฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
ตามใบแต่งทนายความของโจทก์ทั้งสี่และตามใบแต่งทนายความของจำเลยนอกจากจะมีข้อความแต่งตั้งให้เป็นทนายความของโจทก์ทั้งสี่และของจำเลยแล้วยังมีข้อความระบุชัดเจนอย่างเดียวกันว่า ให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ไปในทางจำหน่ายสิทธิของผู้แต่งทนายความได้ด้วย เช่น การยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง การถอนฟ้อง การประนีประนอมยอมความ การสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาหรือขอให้พิจารณาคดีใหม่ ทนายโจทก์ทั้งสี่และทนายจำเลยจึงมีอำนาจแถลงรับข้อเท็จจริงซึ่งต่างฝ่ายต่างแถลงได้ ข้อเท็จจริงที่ได้จากการแถลงรับข้อเท็จจริงกันจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาโดยชอบและรับฟังตามที่แถลงได้ กรณีมิใช่ตัวความอ้างทนายความของตนเป็นพยานซึ่งจะต้องยื่นบัญชีระบุทนายความเป็นพยานฝ่ายตนเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8628/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าชดเชยพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การเลิกจ้างและข้อยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี
ขณะโจทก์ถูกเลิกจ้าง ธนาคาร ศ. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทำงานเป็นพนักงานของธนาคาร ศ. ติดต่อกัน 11 ปีเศษ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 (3) มติคณะรัฐมนตรีที่ให้สถาบันการเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป เพียงให้สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูเข้าแทรกแซงได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้นเท่านั้น มิได้มีข้อความให้ยกเว้นมาตรฐานของสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยที่รัฐวิสาหกิจจะต้องจ่ายให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างตามที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วางระเบียบไว้โดยอาศัยอำนาจแห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จำนวนค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับเมื่อเลิกจ้างจึงยังคงเป็นไปตามที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วางระเบียบไว้ดังกล่าว ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) ที่ว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกัน 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มาใช้แก่กรณีของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาบริการ, สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน, การแบ่งแยกข้อพิพาท
ตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาระบุใจความว่า "ข้อสัญญานี้จะได้รับการตีความภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดแจ้งข้อพิพาทเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนจะได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายภายในสามสิบวันนับแต่แจ้งข้อพิพาท" กรณีดังกล่าวจึงเป็นการตกลงที่จะให้มีอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนเป็นผู้ระงับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาโดยตีความตามกฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา การที่จะต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ระงับข้อพิพาท จึงต้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาซึ่งหากมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความสัญญาก็จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา และเป็นผลให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำข้อพิพาทดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนที่จะใช้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ได้ตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 บัญญัติไว้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ แต่ตามคำฟ้องโจทก์ส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานติดต่อกันเกินกว่าสามปีจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์โดยจงใจหรือโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมเงินเพิ่มและค่าชดเชย อันเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9, 17, 70 และมาตรา 118 และขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงมิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา แต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานได้
สำหรับคำฟ้องโจทก์ที่โจทก์ขอเรียกค่าขาดประโยชน์จากการทำงานที่เหลืออยู่ตามสัญญาจึงเป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา จึงต้องเป็นไปตามข้อสัญญาที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ชี้ขาดก่อนตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้
of 921