คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ทองหล่อ โฉมงาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 587 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี, การประเมินภาษี, และการลดเบี้ยปรับ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล
ปัญหาเรื่องการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินเป็นไปโดยชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 19 หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการประเมินภาษีอากรว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์การประเมิน ก็มีอำนาจยกขึ้นในชั้นพิจารณาของศาลได้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย นั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ในฐานะผู้จ่ายเงินรับผิดในส่วนที่ขาดได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 54 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 โดยเจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องเพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 51 ซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับต้องออกหมายเรียกภายในระยะเวลาและโดยเงื่อนไขตามมาตรา 19 ส่วนกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และปี 2538 นั้น โจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการเพื่อชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ทวิ ซึ่งหากโจทก์ไม่ยื่นรายการหรือยื่นรายการโดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 เจ้าพนักงานประเมินอาจประเมินให้ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อพ้นกำหนดยื่นรายการหรือเมื่อโจทก์ยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตรวจสอบตามมาตรา 19 และ 23 แต่อย่างใด
ในชั้นอุทธรณ์การประเมิน โจทก์อ้างว่าได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายให้ถูกต้องและนำส่งครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเมื่อโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบเพราะโจทก์ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายถูกต้องและนำส่งครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำพยานหลักฐานเกี่ยวกับเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมของเจ้าพนักงานของโจทก์มาแสดงว่าได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายและนำส่งถูกต้องครบถ้วนแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่รับวินิจฉัยไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน โดยโจทก์มี ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และ ล. เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงินเบิกความว่า โจทก์ได้นำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมของพนักงานโจทก์ตลอดมา ปรากฏตามรายชื่อผู้ประกันตน ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นพนักงานของโจทก์และโจทก์นำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว แต่ปรากฏว่า ใบเสร็จรับเงินของสำนักงานประกันสังคมไม่ได้แสดงรายการว่าเป็นเงินสมทบของผู้ประกันตนคนใด เป็นพนักงานของโจทก์หรือไม่ และพยานโจทก์ก็มิได้นำสืบอธิบายรายละเอียดให้เห็นได้ว่าหลักฐานการนำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตรงกับรายชื่อพนักงานของโจทก์ตามแบบที่ยื่นรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1 ก การที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาประเงินภาษีโจทก์เพิ่มแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ดังที่โจทก์อ้าง
ในชั้นตรวจสอบไต่สวนและชั้นพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์รับผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 ซึ่งบัญญัติว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษีโดยให้ผู้จ่ายหักภาษีเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น โดยบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกำหนดอัตราภาษีตามมาตรา 70 ยกเว้นเฉพาะกรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (4) (ข) ไว้ร้อยละ 15 ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) (4) (ก) (6) ที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยในอัตราร้อยละ 15 จึงชอบแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.8/2528 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ กำหนดให้โจทก์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพียงร้อยละ 5 นั้น คำสั่งดังกล่าวใช้สำหรับการจ่ายเงินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่โจทก์ก็มิได้ยกขึ้นอ้างในคำฟ้องและทางนำสืบว่าบริษัทต่างประเทศดังกล่าวประกอบกิจการในประเทศไทย คงเพิ่งมายกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้
โจทก์ไม่ได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีพร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับและรายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวตามมาตรา 68 และ 69 ทั้งได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ไม่นำส่งสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีหรือเอกสารใดๆ ที่เพียงพอจะแสดงให้รู้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายจำนวนใด จึงไม่อาจคำนวณหากำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อประเมินภาษีตามวิธีปกติได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า จึงชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) (ภ.ง.ด. 51) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผลขาดทุนสุทธิทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชี แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระแล้วจึงคำนวณกลับเป็นกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผลขาดทุนสุทธิอันเป็นการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิดังกล่าวโดยไม่มีเหตุสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ จึงชอบแล้ว ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 นั้นโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี วรรคหนึ่ง
การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/4 ประกอบมาตรา 91/21 (5) เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินที่จะออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทน หรือพยาน หรือสั่งให้บุคคลเหล่านั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาให้ตรวจสอบไต่สวนได้โดยไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะทำการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ ทั้งกรณีนี้ก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรทุกประเภทโดยระบุมาตรา 91/21 แห่ง ป.รัษฎากร ไว้ด้วยแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้เจ้าพนักงานประเมิน เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ได้ตามมาตรา 91/15 (1) และ (3)
เมื่อโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์แล้วไม่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะตามกฎหมาย จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ และการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายเป็นคุณแก่โจทก์และเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะงดเบี้ยปรับให้
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ตามมาตรา 67 ทวิ นั้น เป็นการเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 68 โดยภาษีที่ชำระนี้ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68 ฉะนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใดจึงเป็นส่วนหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 68 โดยกฎหมายให้นำภาษีที่ชำระให้ตอนครึ่งปีมาเป็นเครดิตสำหรับภาษีที่ต้องเสียทั้งรอบระยะเวลาบัญชี คำฟ้องที่เกี่ยวกับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) จึงเป็นข้อหาเดียวที่เกี่ยวข้องกันกับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ แม้จะมีการประเมินแต่เงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ก็ตาม การที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกค่าขึ้นศาลเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งครึ่งปีและเต็มปีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นแต่ละข้อหาและเมื่อรวมกันแล้วเกินกว่า 200,000 บาท จึงไม่ชอบและเห็นควรให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมาด้วย อนึ่ง โจทก์ยังไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลสำหรับการอุทธรณ์คำสั่งศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้อีก 200 บาท ตามราราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8804/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์การประเมินภาษี, สิทธิขอคืนภาษี, ดอกเบี้ยคืนภาษี, และผลของการไม่ยื่นรายการภาษีตามกำหนด
โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิได้ใช้ที่ดินและโกดังสินค้าในการประกอบกิจการใด การขายที่ดินและโกดังสินค้าดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ ซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ การที่ศาลภาษีอากรกลางหยิบยกข้อความตามสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. และข้อที่โจทก์ยอมรับการประเมินค่ารายปีและเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนมาประกอบดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มีอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไว้ในการประกอบกิจการจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็น แม้เหตุผลตามคำพิพากษาจะแตกต่างจากเหตุผลของเจ้าพนักงานประเมินหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม
โจทก์อ้างว่าอสังหาริมทรัพย์จำนวน 4 แปลง โจทก์ได้มาตั้งแต่ปี 2525 และขายไปในปี 2535 โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จำเลยให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดิน 4 แปลงมาในราคา 4,000,000 บาท แล้วขายไปในราคา 30,254,882 บาท และตามหนังสือสัญญาซื้อขายระบุว่าขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นโกดังก่ออิฐถือปูน ซื้อเพื่อใช้เป็นที่สร้างคลังเก็บสินค้า แสดงว่าโจทก์ผู้ซื้อมีเจตนาใช้ประกอบกิจการเป็นโกดังเก็บสินค้ามิได้มีเจตนาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งยังยื่นแบบแสดงรายการกำหนดค่ารายปีและชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (5) คือ อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะและต้องนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นๆ ของโจทก์ เห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินทั้ง 4 แปลงมาโดยมิได้มุ่งในทางค้าหรือหากำไรให้เห็นโดยชัดแจ้ง คำให้การของจำเลยมุ่งแสดงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าโจทก์ขายที่ดินไปในทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอันเป็นภาษีคนละประเภทกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำให้การของจำเลยจึงมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ดังนั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยมุ่งในทางค้าหรือหากำไรนั้น ถือว่าจำเลยได้รับแล้ว และข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2535 สำหรับเงินได้จากการขายที่ดินตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา 48 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บัญญัติว่า "การใดที่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น..." ซึ่ง ป.รัษฎากร มาตรา 32 ได้กำหนดขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แล้วโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยจึงมีอำนาจดำเนินการไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อาจนำระยะเวลาที่กำหนดให้วินิจฉัยอุทธรณ์ และแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ดังกล่าวมาใช้ได้
มาตรา 27 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีอากรที่ยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันยื่นรายการก็สืบเนื่องมาจากแม้ผู้ยื่นจะยื่นเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่เมื่อผู้ยื่นไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรจึงต้องคืนให้ ส่วนเรื่องดอกเบี้ย มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 กำหนดไว้ว่า การคิดดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนภาษีอากรนั้น จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับภาษีอากรที่ชำระไปแล้วคืนตามมาตรา 27 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: สัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งแยกที่ดินกับบุกรุกทำประโยชน์เป็นคนละประเด็นกัน
ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์จำเลยตามคำฟ้องในคดีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดในคดีก่อนที่ให้โจทก์และจำเลยมีสิทธิในที่ดินคนละครึ่งของจำนวนเนื้อที่ดินทั้งหมดทั้งแปลง ส่วนจะเป็นทางทิศใดจะไปตกลงกันในภายหลัง ทั้งคำขอบังคับในคดีนี้ก็ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในที่ดินส่วนที่แบ่งแยกเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว แตกต่างกับคำขอบังคับในคดีก่อนที่ขอให้บังคับจำเลยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยในโฉนดที่ดิน คำฟ้องของโจทก์คดีนี้กับคดีก่อนมิใช่เรื่องเดียวกันและเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6931/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำแนกประเภทพิกัดอัตราศุลกากรยานยนต์: เกณฑ์การพิจารณาจำนวนที่นั่งที่ 'นั่งได้ตามปกติวิสัย' เพื่อเสียอากรที่ถูกต้อง
ของตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 คือ ยานยนต์โดยสารสาธารณะซึ่งตามหมายเหตุของตอนที่ 87 หมายถึง ยานยนต์ที่ออกแบบสำหรับขนส่งผู้โดยสารตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป (รวมถึงคนขับ) ส่วนของตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 คือ รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก (นอกจากของตามประเภทที่ 87.02) รวมถึงรถสเตชั่นแวกอนและรถแข่ง เมื่อมีการดัดแปลงรถยนต์ที่มีที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาของ ให้เป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งตั้งแต่ 10 ที่นั่งขึ้นไป เพื่อจะได้เสียอากรในอัตราร้อยละ 40 ของราคาของ ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 กรณีจึงมีปัญหาว่ารถยนต์ที่ดัดแปลงนั้นจะต้องมีสภาพอย่างไรจึงจะจัดเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 ซึ่งเสียภาษีน้อยกว่าถึง 1 เท่า อันเป็นปัญหาในการจำแนกประเภทพิกัดอัตราศุลกากร อธิบดีกรมศุลกากรของจำเลยย่อมอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร ฯ ตีความในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 และประเภทที่ 87.03 ได้ การที่อธิบดีกรมศุลกากรออกประกาศ เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร ป.อ.1/2544 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2544 กำหนดว่า รถยนต์ที่จะจัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 ต้องมีสภาพอย่างไรจึงเป็นการตีความโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 ดังกล่าว ประกาศดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
ตามประกาศดังกล่าวรถยนต์ที่นำเข้าจะจัดเป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งตั้งแต่ 10 ที่นั่งขึ้นไปตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 หรือไม่ ให้พิจารณาจาก Specification มาตรฐานใน Worldwide Catalog หรือ Product Literature ของโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศเป็นเกณฑ์ว่ามีขนาดจำนวนที่นั่งเท่าใด การนับจำนวนที่นั่งนั้นหากรถยนต์ที่นำเข้าติดตั้งที่นั่งมาทั้งหมดให้พิจารณาว่าที่นั่งที่ติดตั้งมานั้นยึดและติดตั้งบนจุดติดตั้งถาวร และสามารถนั่งได้ตามปกติวิสัยหรือไม่ ตามบทนิยามศัพท์คำว่า "นั่งได้ตามปกติวิสัย" หมายถึง สภาพที่นั่งมีความสะดวกสบายตามมาตรฐานโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ (Original Specification) ที่ได้ออกแบบ (designed for) สำหรับรถยนต์ประเภทนั้น ๆ โดยพิจารณาจาก Worldwide Catalog หรือ Product Literature ของโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ จึงเป็นการให้พิจารณาสภาพของในเวลาที่นำเข้า รถยนต์ที่โจทก์นำเข้ามีที่นั่ง 2 ที่นั่ง ที่มีขนาดเล็กกว่าที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง เป็นการเล็กกว่าทั้งขนาดของเบาะที่นั่งและพนักพิงหลัง โดยเฉพาะพนักพิงหลังนั้นไม่มีที่รองรับศีรษะเหมือนที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง หากเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารที่นั่งบนที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายมากกว่าผู้โดยสารที่นั่งบนที่นั่งที่เหลือ 9 ที่นั่ง ยิ่งที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่งไม่มีเข็มขัดนิรภัยเหมือนกับที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง ยิ่งมีโอกาสได้รับอันตรายมากกว่า ฉะนั้น ที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง จึงมิใช่ที่นั่งที่นั่งได้ตามปกติวิสัย แม้กรมการขนส่งทางบกจะรับจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นประเภทรถยนต์นั่งเกิน 7 คน (จำนวนที่นั่ง 11 คน) ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มิใช่การปฏิบัติหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับกันจึงไม่อาจนำการรับจดทะเบียนดังกล่าวมาใช้ยันจำเลยได้ เมื่อที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่งมิใช่ที่นั่งที่นั่งได้ตามปกติวิสัย รถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง เข้าลักษณะเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6186/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: หลักเกณฑ์การคำนวณค่ารายปีจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและกรณีคืนเงินภาษี
หลังจากรับสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้ทำคำให้การแก้คดีแล้ว จำเลยทั้งห้ายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การตลอดมารวม 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาจนถึงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 จำเลยทั้งห้าจึงมีหน้าที่ที่จะต้องจดจำกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การที่ตนร้องขอขยายระยะเวลาไว้เอง และต้องยื่นคำให้การแก้คดีภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโดยเคร่งครัด หากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถยื่นคำให้การได้ทันภายในกำหนดนั้น ก็ต้องร้องขอขยายระยะเวลาต่อไปตามความจำเป็นอีก การที่ต้องมีกำหนดระยะเวลาให้คู่ความแต่ละฝ่ายปฏิบัติภาระหน้าที่ของตนในการดำเนินกระบวนพิจารณาก็เพื่อเร่งรัดให้ทุกฝ่ายดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาอันสมควร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเลยหน้าที่นั้นก็ต้องถือว่าไม่ติดใจดำเนินกระบวนพิจารณาตามหน้าที่ของตน แม้กระนั้นกฎหมายก็ยังให้โอกาสในการกล่าวอ้างแก้ตัวผ่อนปรนหลักเกณฑ์เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หากว่าฝ่ายนั้นมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจจักก้าวล่วงเสียได้ แต่ในกรณีของจำเลยทั้งห้านั้น คงปรากฏตามคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 แต่เพียงว่า ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจผิดหลงว่าครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 โดยไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงทำให้เข้าใจผิดหลงไปได้เช่นนั้น เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันอาจจูงใจให้ทนายจำเลยทั้งห้าเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้เช่นนั้น ข้ออ้างดังกล่าวจึงไม่อาจรับฟังเป็นข้อแก้ตัวอันควรได้ แม้ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2545 จำเลยทั้งห้าจะยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การอีกครั้งหนึ่งว่า การขาดนัดยื่นคำให้การนั้นมีเหตุผลสมควรประการอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 นั้น ก็ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคท้าย สำหรับปัญหาที่ว่าคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยทั้งห้าฉบับหลังเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
แม้ปีภาษี 2544 โจทก์จะมิได้นำค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกตามรายการทรัพย์สินดังกล่าวมารวมคำนวณกับค่ารายปีของโรงเรือนซึ่งติดตั้งส่วนควบนั้น แต่เมื่อโจทก์สำแดงรายการเครื่องจักรกลไกตามที่จำเลยที่ 1 ทักท้วงประจำปีภาษี 2545 แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องกำหนดค่ารายปีของส่วนควบสำคัญที่มีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกนั้น เพื่อหาจำนวนเงินที่เครื่องจักรกลไกแต่ละเครื่องสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ มาตรา 8 วรรคสอง เพื่อคิดค่าภาษี และในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องจักรกลไกดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ก็มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของเครื่องจักรกลไก ขนาด ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่เครื่องจักรกลไกนั้นได้รับประโยชน์ตามความในวรรคสามของมาตรา 8 นั้น แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2475 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน กล่าวคือ ในกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง หรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับค่ารายปีของทรัพย์สินที่ให้เช่าที่มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น แต่จำเลยที่ 1 พิจารณากำหนดค่ารายปีโดยคำนึงแต่เพียงว่าเครื่องจักณกลไกดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 999,452,799.66 บาท และโจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ถึง 4,275,982,415.29 บาท เสียภาษีสรรพสามิต 15,439,793,946.26 บาท แสดงว่าโจทก์สามารถใช้เครื่องจักรหาผลประโยชน์ได้เป็นเงินจำนวนสูงมากจึงกำหนดค่ารายปีจากข้อมูลดังกล่าวเป็นเงินจำนวนสูง ทั้งที่ค่ารายปีตามความในมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ หมายถึงจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้การเช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ โดยไม่คำนึงว่าจะมีการเช่าทรัพย์สินนั้นหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยและข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้การกำหนดค่ารายปีสอดคล้องกับค่าเช่าดังกล่าวมากที่สุด โดยกรณีเงินได้ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องจักรนั้นผลิตสินค้าออกจำหน่ายเป็นเพียงที่มาของเงินได้ของผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น ๆ ซึ่งนำไปสู่การจัดเก็บภาษีเงินได้ตาม ป.รัษฎากร ซึ่งมีหลักการคนละอย่างกับการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ให้จัดเก็บจากฐานค่ารายปี โดยถือตามเกณฑ์การหาประโยชน์ในการให้เช่าหรือควรให้เช่าได้เป็นสำคัญ ซึ่งหากมีผู้เช่าเครื่องจักรนี้ไปใช้ผลิตสินค้าจำหน่าย ค่าเช่าเครื่องจักรย่อมเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของผู้เช่า ซึ่งควรต้องต่ำกว่าผลประโยชน์ที่ผู้เช่าจะได้จากการใช้เครื่องจักรผลิตสินค้าจำหน่าย มิฉะนั้นก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้เช่าแต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 กำหนดค่ารายปีจากมูลค่าเครื่องจักรโดยมีที่มาจากรายได้ของโจทก์ที่ได้จากการใช้เครื่องจักรกลไกของโจทก์ผลิตสินค้าจึงเป็นการประเมินภาษีตามดุลพินิจของตนฝ่ายเดียวโดยไม่สมเหตุสมผลและมิได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 8 วรรคสองและสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ฯ และภาระภาษีที่ตกแก่โจทก์ การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งห้าจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การให้เช่าเป็นวิธีการหนึ่งในการหาประโยชน์โดยตรงจากทรัพย์สิน แม้มูลค่าทรัพย์สินซึ่งนำออกให้เช่าจะเป็นฐานอย่างหนึ่งที่ผู้ให้เช่าย่อมต้องคำนึงถึงเป็นประการสำคัญก็ตาม แต่ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดในการคำนวณหาจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ เช่น ต้องพิจารณาความเหมาะสมของระยะเวลาที่เช่าทรัพย์นั้น รวมทั้งการเสื่อมราคาของทรัพย์สินด้วย เป็นต้น ส่วนกรณีการฝากเงินต่อธนาคารอันทำให้ผู้ฝากได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยได้รับดอกเบี้ยตอบแทนจากธนาคารตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่ฝากนั้น น่าจะพอถือเป็นตัวเลขในการหาประโยชน์จากทรัพย์สินได้อย่างหนึ่งรวมทั้งยังต้องพิจารณาจากข้อมูลอื่น ๆ อีก เพื่อคำนวณหาค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นว่าผันแปรเพิ่มขึ้นเพียงใดหรือไม่ อย่างไร เมื่อการประเมินของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดค่ารายปีตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น ประกอบกับทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อมูลอื่นที่จะกำหนดค่ารายปีได้ดีกว่าการกำหนดตามทางเลือกที่โจทก์เสนอเพื่อประกอบการพิจารณาหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไกดังกล่าวจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารของรัฐจึงสมควรถือตามข้อเสนอของโจทก์ดังกล่าว ประกอบกับจำเลยทั้งห้าขาดนัดยื่นคำให้การตามรูปคดีนี้ จึงชอบที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารเหล่านั้นเป็นฐานในการคำนวณหาค่ารายปีของส่วนควบที่สำคัญมีลักษณะเป็นเครื่องจักรกลไก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5639/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีขายรถยนต์ต่ำกว่าราคาตลาดและให้ของแถม มิชอบ คืนเงินภาษี
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ไม่ได้นิยามคำว่าราคาตลาดไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความหมายในทางการค้าโดยทั่วไปแล้ว คำว่าราคาตลาดใน ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) คงมีความหมายทำนองเดียวกันกับคำว่าราคาตลาดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79/3 และมาตรา 91/1 (3) คือเป็นราคาสินค้าหรือบริการที่มีการซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง โจทก์เป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ซาบแต่เพียงผู้เดียว จึงไม่มีราคารถยนต์ซาบจากผู้จำหน่ายรายอื่นมาเปรียบเทียบเป็นราคาตลาดได้ ดังนั้น หากไม่มีข้อเท็จจริงอย่างอื่นราคาตลาดรถยนต์ซาบจึงควรเป็นราคาตั้งขายปลีกแก่บุคคลทั่วไป แต่การที่โจทก์ขายรถยนต์ซาบต่ำกว่าราคาตั้งขายปลีกอันเนื่องจากสภาวะวิกฤติของเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยไม่ปรากฏว่ามีการสมยอมราคากัน จึงมิใช่เป็นราคาต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร
หนังสือสัญญาจ้างซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์โดยสาร เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพกับบริษัท ต. และบันทึกข้อความว่าด้วยการยกเลิกค่าซ่อมรถจากอุบัติเหตุค้างดำเนินการระหว่างปี 2520 ถึง 2534 ที่แสดงว่าโจทก์ทำสัญญารับจ้างลูกจ้างดูแลบำรุงรักษารถยนต์โดยสารให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งในสัญญาข้อ 8 ให้สิทธิแก่บริษัท ต. ที่จะมอบให้บริษัทในเครือเป็นผู้ดำเนินการแทนได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้เข้าร่วมป็นคู่สัญญากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญา หนี้อันเกิดจากการรับจ้างซ่อมแซมดูแลรถยนต์โดยสารประจำทางในกรณีรถเกิดอุบัติเหตุ ย่อมเป็นหนี้ระหว่างโจทก์กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หาใช่หนี้ระหว่างโจทก์กับพนักงานขับรถยนต์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพแต่อย่างใดไม่ การที่โจทก์ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการยกเลิกค่าซ่อมรถให้แก่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยไม่ได้ฟ้ององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเป็นคดีแพ่งหรือคดีล้มละลาย หรือองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเลิกกิจการซึ่งเป็นการไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) ข้อ 4 การจำหน่ายหนี้สูญของโจทก์จึงไม่เป็นไปตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่ง ป.รัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ชอบแล้ว
แม้เงินมัดจำจะมีลักษณะเป็นเงินประกันความเสียหาย แต่เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 378 ได้บัญญัติไว้ด้วยว่า มัดจำนั้นถ้ามิได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้จัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้แล้ว เงินมัดจำจึงเข้าลักษณะเป็นเงินชำระค่ารถยนต์ล่วงหน้าบางส่วน ต้องนำมาคำนวณเป็นฐานภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79 และ 78 (1) (ข)
การที่โจทก์ฟ้องขอให้คืนมาภาษีที่ชำระตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เมื่อ ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ และ 84/3 บัญญัติเรื่องการคืนเงินภาษีอากรไว้เป็นพิเศษแล้ว จึงไม่อาจนำเรื่องอัตราดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับ โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ขอคืนได้ตามอัตรา หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2522) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนเงินภาษีอากร ข้อ 1 (3) แต่ต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ได้รับคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5607/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ: การขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีภาระการเช่า การกำหนดราคาตลาดที่สมเหตุสมผล
ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) ที่บัญญัติให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาล ก็เพื่อให้ศาลพิจารณาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดก็มีอำนาจเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้น แต่ถ้าชอบด้วยกฎหมายเพียงบางส่วน ก็มีอำนาจที่จะแก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นได้ ฉะนั้น เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายเพียงบางส่วน ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจแก้ไขการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้
ที่ดินและตึกแถวที่โจทก์ขายให้แก่บริษัท พ. เป็นที่ดินและตึกแถวที่โจทก์ให้บริษัท น. เช่า การขายที่ดินและตึกแถวดังกล่าวจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้ในการประกอบกิจการเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายที่ดินและตึกแถว
เมื่อราคาตลาดของที่ดินมิใช่ราคาตามที่ต่างฝ่ายต่างอ้างและไม่อาจหาราคาตลาดที่ถูกต้องได้ การที่ศาลภาษีอากรกำหนดราคาตลาดของที่ดินโดยใช้ราคาเฉลี่ยระหว่างราคาขั้นต่ำ 53,924,000 บาท และราคาขั้นสูง 909,293,000 บาท เป็นเงิน 481,608,500 บาท จึงเป็นธรรมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4231/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโดยอ้างอิงผลการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และผลกระทบต่อการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาถัดไป
แม้ผลการตรวจสอบภาษีโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ที่จำเลยลดผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ลงจะมิใช่รายการที่ปรากฏอยู่ในแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2535 ที่โจทก์ยื่นไว้ก็ตาม แต่เนื่องจากผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ที่ยกมาแสดงในแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากผลขายทุนสุทธิของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 แล้วเห็นว่า โจทก์ไม่มีผลขาดทุนสุทธิเหลืออยู่ที่จะยกไปในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 การที่จำเลยปรับปรุงลดผลขาดทุนสุทธิยกมาจากรอบระยะเวลาบัญชีปี 2534 ในแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 จึงถือได้ว่าเป็นการประเมินจากรายการหรือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแบบแสดงรายการที่ผู้เสียภาษียื่นไว้ต่อเจ้าพนักงานไม่ถูกต้องในส่วนของผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี โดยไม่ให้โจทก์มีผลขาดทุนสุทธิเหลืออยู่ในแบบ ภ.ง.ด. 50 เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินตามมาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4228/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดจากการสำแดงเท็จเพื่อรับเงินชดเชยภาษีอากร และความรับผิดชอบของหุ้นส่วนผู้จัดการ
การที่จำเลยที่ 1 สำแดงข้อความอันเป็นเท็จในใบขนสินค้าขาออกฉบับพิพาท โดยไม่มีการส่งออกไปต่างประเทศจริง จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีอากรในรูปบัตรภาษีและไม่มีสิทธิโอนสิทธิตามบัตรภาษีให้บุคคลอื่น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 1 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามมูลค่าบัตรภาษีให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 คือวันที่จำเลยที่ 3 รับบัตรภาษีพิพาทไปจากโจทก์ มิใช่นับแต่วันที่มีการนำบัตรภาษีไปชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3587/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิรับดอกเบี้ยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการยื่นแบบเพิ่มเติมภายใน 3 ปี แม้พ้นกำหนดตามมาตรา 83
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อพ้นกำหนดวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนภาษีที่ขอคืนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83 จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตามกฎกระทรวงฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร ข้อ 2 นั้น เห็นว่า กฎกระทรวงดังกล่าว ข้อ 2 วรรคหนึ่งระบุว่า "การคิดดอกเบี้ยตามข้อ 1 จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้" กรณีของโจทก์ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรกภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมพร้อมขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสิทธิของโจทก์ที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 84 ซึ่งการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมนี้กฎหมายมิได้กำหนดกรอบเวลาไว้ เมื่อโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมดังกล่าวภายใน 3 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้นตามมาตรา 84/1 (1) จึงถือว่าโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดตามกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขอคืนข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มเติมภายในกำหนดเวลาตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83 ด้วย จึงจะมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนั้นเป็นการขยายความกฎหมายให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรซึ่งไม่ชอบ
of 59