คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 822

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 95 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้มอบอำนาจและการยินยอมโดยสุจริตของบุคคลภายนอก ทำให้ไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรม
โจทก์เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการซื้อที่ดินพิพาท โดยโจทก์ไม่เคยไปดูที่ดินพิพาท และหลังจากซื้อที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ก็ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาทไว้ แสดงให้เห็นว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินไปจดทะเบียนจำนอง โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและรับจดทะเบียนจำนอง แสดงว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเอกสารต่าง ๆ ถูกต้อง ทั้งโจทก์ยังเป็นมารดาจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าใจโดยสุจริตว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของโจทก์ แม้หนังสือมอบอำนาจจะเป็นเอกสารปลอม แต่การที่โจทก์มอบโฉนดที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เก็บรักษาไว้ และจำเลยที่ 1 ยังมีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ไว้ประกอบหนังสือมอบอำนาจ ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 มีโอกาสที่จะนำโฉนดที่ดินไปทำนิติกรรมใด ๆ นอกเหนือวัตถุประสงค์ของโจทก์ได้ ถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ โจทก์ต้องรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในสัญญาซื้อขาย แม้การโอนกรรมสิทธิ์ถูกขัดขวางจากการกระทำของลูกจ้าง (จำเลยที่ 2) การปลอมเอกสารไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิด
โจทก์ไม่ได้ตกลงโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยร่วมเนื่องจากจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จะขายจึงมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ย่อมถือว่าเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 จะยกเรื่องตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจขึ้นกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ นอกจากนี้เมื่อการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หาใช่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ไม่
การกระทำของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน – ตัวแทนเกินอำนาจ – ความรับผิดของตัวการ – ความประมาทเลินเล่อของจำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่เป็นเหตุโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับลักษณะการเป็นตัวแทน โจทก์ก็นำสืบได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดว่าการกระทำดังกล่าวของ จ. จะมีลักษณะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยมอบอำนาจให้ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยได้ตามเงื่อนไข การที่ จ. ออกหนังสือค้ำประกันที่สาขาของจำเลยโดยใช้กระดาษแบบฟอร์มของจำเลย ถือได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยผู้เป็นตัวการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นการกระทำอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระเงินค่าสินค้าของ ม. การที่ ม. ไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8547/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจกรรมการผู้จัดการในการตัดสินข้อพิพาทตามสัญญา และผลผูกพันต่อบุคคลภายนอก
ขณะที่ ส. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์สั่งให้ฝ่ายการคลังคืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้แก่จำเลยทั้งสาม ส. มีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามหนังสือรับรอง ซึ่งไม่มีข้อจำกัดอำนาจของกรรมการแต่อย่างใด โดยเงื่อนไขทั่วไปแห่งสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาท มีข้อตกลงชัดแจ้งว่าในกรณีที่มีการโต้แย้งหรือมีข้อพิพาทระหว่างผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) และโจทก์ที่เกี่ยวกับสัญญานี้ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเสนอข้อพิพาทไปยังผู้อำนวยการของโจทก์ (ปัจจุบัน คือ กรรมการผู้จัดการใหญ่) เพื่อทำการตัดสิน คำตัดสินของผู้อำนวยการของโจทก์ถือเป็นที่สุดและเป็นข้อสรุป เว้นเสียแต่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้รับเหมา (จำเลยทั้งสาม) จะร้องขอให้ส่งข้อพิพาทไปยังอนุญาโตตุลาการ เมื่อปรากฏว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับค่าปรับเกิดขึ้น จำเลยทั้งสามมีหนังสือโต้แย้งเพื่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตัดสินชี้ขาด ส. ได้เรียกพนักงานผู้เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมพิจารณาและต่อมามีคำสั่งให้ฝ่ายการคลังของโจทก์คืนเงินส่วนที่หักไว้เกินกว่าค่าปรับให้จำเลยทั้งสาม เห็นได้ว่า ส. มีคำตัดสินดังกล่าวในขอบอำนาจของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาข้างต้น ส่วนคำตัดสินชี้ขาดจะถูกต้องหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่โจทก์อ้างว่า ส. มิได้นำข้อพิพาทและคำตัดสินดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมการของโจทก์เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจนั้น เรื่องดังกล่าวไม่ว่าจะมีระเบียบของโจทก์กำหนดไว้หรือไม่ หรือเป็นเรื่องสำคัญซึ่ง ส. ควรนำข้อพิพาทและคำตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เป็นเรื่องภายในของโจทก์ ไม่มีผลทำให้คำตัดสินชี้ขาดของ ส. ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์ตามข้อสัญญาดังกล่าวเสียไปแต่อย่างใด หากคำตัดสินชี้ขาดของ ส. ไม่ถูกต้อง ทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ก็ต้องไปว่ากล่าวเอากับ ส. ซึ่งก็ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก ส. ต่อศาลปกครองกลางและศาลปกครองกลางพิพากษาให้ ส. ชดใช้ค่าเสียหายจำนวนหนึ่งแก่โจทก์อยู่แล้ว โจทก์จะยกเอาเหตุที่ ส. ไม่นำคำตัดสินชี้ขาดไปให้คณะกรรมการของโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ มาเป็นข้อต่อสู้จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้ ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1167 ประกอบมาตรา 822 บัญญัติไว้ เพราะทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสามได้สมคบกับ ส. กระทำการโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18623/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนจำกัดอำนาจ: จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับตัวแทน (จำเลยที่ 2) ในการซื้อขายรถยนต์ แม้จะมีการกระทำโดยผิดระเบียบ
แม้จำเลยที่ 2 มิได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 แต่การติดต่อซื้อขายรถระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นั้น กระทำการในที่ทำการและเวลาทำการของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ตามพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่า จำเลยที่ 1 ได้แสดงให้โจทก์หรือบุคคลทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 แล้ว การกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 2 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการขายรถยนต์ของจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมเป็นการกระทำในขอบอำนาจแห่งตัวแทนเพื่อกิจการค้าขายที่จำเลยที่ 1 จะถือเอาประโยชน์จากกิจการนั้นได้ ไม่ว่าการที่จำเลยที่ 2 รับซื้อรถคันเก่าจากโจทก์โดยนำไปฝากขายที่เต็นท์รถมือสอง จะเป็นการกระทำโดยจำเลยที่ 1 จะมีวัตถุประสงค์ในการรับซื้อรถเก่าจากลูกค้าหรือไม่ก็ตาม ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการส่วนหนึ่งของการขายซึ่งเป็นไปตามนโยบายการขายของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกระทำในหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมต้องผูกพันต่อโจทก์ในกิจการที่จำเลยที่ 2 กระทำไปด้วย แม้จะปรากฏว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 อาจเป็นเรื่องการกระทำโดยผิดระเบียบของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเรื่องกิจการภายในของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 เอง ไม่อาจยกเป็นข้ออ้างต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อให้ตนพ้นผิดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15911/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายรถยนต์โดยตัวแทน การรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอก และการจดทะเบียนรถยนต์
โจทก์ซื้อรถยนต์พิพาทของจำเลยที่ 1 โดยติดต่อกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 โดยสุจริต ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้ขายรถยนต์พิพาทให้แก่โจทก์ไปเกินอำนาจหรือนอกขอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมาย โดยขายต่ำกว่าราคาต้นทุน และไม่มีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ทางปฏิบัติของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการมีมูลเหตุอันสมควรที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเชื่อว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทน ที่ให้ส่วนลดและของแถมแก่ลูกค้าและมีอำนาจรับเงินแทนจำเลยที่ 1 อยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทนดังเช่นที่จำเลยที่ 2 เคยรับเงินค่าจองรถยนต์จาก พ. ไปแล้ว ไม่มีปัญหาอย่างใด จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปภายในขอบอำนาจของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821 และเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกับโจทก์โดยเห็นแก่อามิสสินจ้างตามมาตรา 825 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 823 และมาตรา 825 เพื่อให้ตนเองพ้นความรับผิดตามที่ฎีกาได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคารถยนต์ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 โดยครบถ้วนและโดยสุจริตแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์และมอบใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10865/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินโดยไม่สุจริตและหลักตัวการ-ตัวแทน ศาลยืนว่าผู้รับโอนที่สุจริตไม่ต้องรับผิด
ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด โจทก์อ้างเพียงว่าพระครู ส. จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 เป็นการทำผิดวัตถุประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นการโอนให้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเบื้องต้นของกฎหมายว่า รับซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริต มิได้ล่วงรู้ถึงการที่โจทก์จดทะเบียนให้พระครู ส. ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ เป็นกรณีเข้าลักษณะความรับผิดของตัวการต่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวแทนคือ พระครู ส. ทำการเกินอำนาจตัวแทน แต่ทางปฏิบัติของตัวการทำให้บุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการอันนั้นอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน ตัวการจึงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต โจทก์จึงต้องรับผิดผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาทต่อจำเลยที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 397/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการสหกรณ์อนุมัติซื้อรถเกินงบประมาณ ทำให้สหกรณ์เสียหาย แม้สัตยาบันภายหลังก็ยังต้องรับผิด
ในขณะที่จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 14 เป็นคณะกรรมการ ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2540 ของโจทก์มีมติอนุมัติให้ซื้อรถยนต์เพื่อใช้ในกิจการของโจทก์สองคัน ในวงเงิน 1,500,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด 1 คัน ราคา 291,970 บาท และยี่ห้อเบนซ์ 1 คัน ราคา 1,750,000 บาท เกินกว่าวงเงินตามมติของโจทก์ดังกล่าวถึง 541,970 บาท ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับของโจทก์ และทำให้โจทก์เสียหาย เพราะโจทก์จะต้องจ่ายเงินซื้อรถยนต์ในราคาที่สูงเกินไป แทนที่จะนำเงินจำนวนนั้นไปใช้อย่างอื่นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์เป็นการไม่ประหยัดไม่ต้องด้วยวัตถุประสงค์ของโจทก์ ที่จำเลยทั้งสิบสี่อ้างว่าโจทก์ให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำดังกล่าวแล้ว ทั้งโจทก์ยังขายรถยนต์ทั้งสองคัน โดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นนับแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่ซื้อรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว แม้ภายหลังโจทก์จะขายรถยนต์ทั้งสองคันโดยหักค่าเสื่อมราคาแล้วไม่ขาดทุนก็ไม่อาจทำให้ความเสียหายของโจทก์กลับเป็นไม่มีความเสียหายอีกได้ และการให้สัตยาบันยอมรับรู้การกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ต้องรับผิดชอบต่อผู้ขายรถยนต์ทั้งสองคัน ผู้สุจริตจากการกระทำของจำเลยทั้งสิบสี่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 ถึง 823 เท่านั้นโดยมิได้ทำให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นความรับผิดในความเสียหายจากการกระทำของตนต่อโจทก์
เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสิบสี่อนุมัติให้ซื้อรถยนต์ทั้งสองคัน จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์มีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการชั่วคราว จำเลยทั้งสิบสี่ยังมีฐานะเป็นกรรมการดำเนินการของโจทก์อยู่ จึงยังถือไม่ได้ว่าก่อนหน้าวันที่ 20 ธันวาคม 2543 โจทก์ทราบเหตุการณ์กระทำละเมิดของจำเลยทั้งสิบสี่ แต่ถือว่าโจทก์ได้ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 20 ธันวาคม 2543 อันเป็นวันที่นายทะเบียนสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งและตั้งกรรมการดำเนินการโจทก์ชั่วคราว เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องในวันที่ 28 สิงหาคม 2544 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11515/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อของผู้มอบอำนาจและการซื้อขายโดยสุจริตของบุคคลภายนอก
จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยมิได้กรอกข้อความ กับลงลายมือชื่อรับรองสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน มอบให้แก่ ท. ไปพร้อมกับโฉนดที่ดิน เมื่อ ท. นำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความว่าจำเลยมอบอำนาจให้ ท. จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนยกให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ ท. จึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง จำเลยจะยกความประมาทเลินเล่อของตนเองดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่กระทำการโดยสุจริตหาได้ไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 821
จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ เพราะโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 เมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์กระทำการโดยสุจริต การขายฝากที่ดินพิพาทระหว่าง ท. กับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อ ท. ไม่ไถ่ที่ดินคืนภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9272/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการรับผิดต่อบุคคลภายนอกจากการกระทำของตัวแทน แม้ไม่มีอำนาจทำสัญญา
จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ทำงานในตำแหน่งผู้บริหารงานลูกค้าอาวุโสสายงานธนบดีธนกิจของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสายงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการแนะนำลูกค้าด้านการลงทุนซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 3 รวมถึงลักษณะงานที่ทำย่อมทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรเชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และการทำสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินกับโจทก์อยู่ในขอบอำนาจของจำเลยที่ 3 ดังนั้น แม้ตามความเป็นจริงจำเลยที่ 3 จะไม่มีอำนาจทำสัญญาขายลดตั๋วแลกเงินกับโจทก์และไม่ได้นำเงินที่ได้รับจากโจทก์ไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม จำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการก็ต้องรับผิดชดใช้เงินคืนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 3 จะเป็นละเมิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
of 10