คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สิทธิชัย รุ่งตระกูล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 178 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6752/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องเงินจากการบังคับคดีและการกันส่วนทรัพย์สินของผู้รับโอนสิทธิจากคำพิพากษาตามยอม
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมตกลงยกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่ผู้ร้อง โดยจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อผู้ร้องมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ขณะยื่นคำร้องขอกันส่วนผู้ร้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว คำพิพากษาตามยอมจึงมีผลบังคับให้จำเลยที่ 2 ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 คดีนี้เดิมโจทก์บังคับคดียึดที่ดินทั้งแปลงพร้อมกัน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนโดยอ้างว่าจะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์เฉพาะส่วนของตนตามคำพิพากษา มิได้อ้างว่าทรัพย์ที่ถูกยึดทั้งหมดไม่ใช่ของจำเลย จึงเป็นเรื่องร้องขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 มิใช่ร้องขัดทรัพย์ตามมาตรา 288 แม้ว่า ร. ขอกันส่วนที่ดินพร้อมบ้านส่วนของตนครึ่งหนึ่ง และผู้ร้องขอกันส่วนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทส่วนนี้จนไม่เหลือส่วนของจำเลยที่ 2 มีผลให้โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำยึดไม่อาจจะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์ที่ยึดและขายทอดตลาดได้ แต่ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ธนาคาร อ. รับชำระหนี้จำนองเงินขายทอดตลาดได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น และให้เข้าสวมสิทธิเข้ายึดทรัพย์แทนโจทก์ได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะบังคับชำระหนี้เอาจากเงินที่ขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไม่ได้ แต่เมื่อธนาคาร อ. มีอำนาจเข้าสวมสิทธิยึดทรัพย์แทนโจทก์ต่อไปได้ โดยเมื่อกันส่วนของ ร. แล้ว ธนาคาร อ. ก็มีสิทธิรับชำระหนี้จำนองจากเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดทรัพย์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ที่จะต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ร้องตามคำร้องตามคำพิพากษาก่อนเจ้าหนี้อื่นได้ เมื่อมีเงินเหลือจึงกันเป็นส่วนของผู้ร้องต่อไปได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันส่วนของตนจากเงินที่ขายททอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6557/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รู้เห็นการรับซื้อของโจร: การครอบครองชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ที่ได้จากการลักทรัพย์โดยมีพิรุธ
จำเลยเห็นเหตุการณ์ที่คนร้ายผู้ลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายนำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเข้ามาในบ้านของจำเลยและถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายในยามวิกาล ซึ่งเป็นเรื่องที่คนร้ายเคยกระทำมาแล้วและจำเลยก็รับรู้โดยถือเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ความจริงการซ่อมรถ การถอดชิ้นส่วนรถควรจะกระทำในเวลากลางวันอันเป็นเวลาทำการงานของคนทั่วไป การดำเนินการถอดชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ในเวลากลางคืนย่อมส่อแสดงถึงความผิดปกติ เมื่อถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม จำเลยก็นำเจ้าพนักงานตำรวจไปชี้จุดที่นำชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไปทิ้งได้ถูกต้อง แสดงว่าจำเลยน่าจะมีส่วนร่วมหรือรู้เห็นในการนำชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปทิ้ง สำหรับชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จากบ้านของจำเลยวางอยู่ด้านหน้าของบ้านลักษณะเป็นห้องรับแขก บางส่วนอยู่ในกล่องไม่มีอะไรปิดบัง แม้จะเป็นการวางไว้อย่างเปิดเผยและบ้านของจำเลยยังไม่มีประตูรั้วกับประตูบ้านทั้งยังสร้างไม่เสร็จ แต่โดยสภาพของบ้านที่พักอาศัยย่อมถือเป็นที่รโหฐาน บุคคลภายนอกไม่มีสิทธิเข้าไปโดยมิได้รับอนุญาต การเก็บชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ไว้ในบ้านของจำเลยในลักษณะดังกล่าว ไม่พอให้รับฟังได้ว่าเป็นการกระทำโดยเปิดเผยและโดยสุจริตของจำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองบ้าน น่าเชื่อว่าจำเลยรู้ว่ารถจักรยานยนต์ที่นำไปถอดชิ้นส่วนที่บ้านของจำเลยเป็นรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยซ่อนเร้น หรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งชิ้นส่วนของรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักมา โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานรับของโจร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ฎีกาเรื่องการป้องกันตัวต้องยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ก่อน
โจทก์นำสืบว่าจำเลยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายและมีเจตนาฆ่าผู้ตาย โดยจำเลยใช้มีดพร้าเป็นอาวุธฟันศีรษะอย่างแรง 1 ที จนกระโหลกศีรษะแยกออกเป็นสองซีก ผู้ตายถึงแก่ความตายทันที เมื่อจับกุมได้จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยใช้มีดพร้าฟันผู้ตายเป็นการป้องกันตัวเพราะผู้ตายจะใช้มีดพร้าฟันจำเลยก่อน จำเลยแย่ง มีดพร้าได้จึงฟันผู้ตาย ส่วนจำเลยนำสืบว่าในวันเกิดเหตุจำเลยไปช่วยนาย ก. ก่อสร้างบ้าน ไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง โดยจำเลยมิได้นำสืบต่อสู้คดีว่าจำเลยใช้มีดพร้าของกลางฟันผู้ตายเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำโดยบันดาลโทสะแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นพยาน หลักฐานก็เพื่อสนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยใช้มีดพร้าฟันผู้ตายตามที่โจทก์นำสืบเท่านั้น เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายจะทำร้ายจำเลยก่อนหรือผู้ตายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรง ไม่มีพยานโจทก์ปากใดเบิกความถึง ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่ จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยใช้มีดพร้าฟันผู้ตายเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาบัตรเครดิตและการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต กรณีโจทก์นำเงินในบัญชีจำเลยมาชำระหนี้ล่าช้า
เงินจำนวน 100 บาท ในบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยมีมานานแล้วตั้งแต่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ครั้งแรก ซึ่งตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตให้โจทก์หักเงินนี้ชำระหนี้ได้ทันที การที่โจทก์ปล่อยเวลาเนิ่นนานให้ผ่านไปถึง 1 ปี แล้วจึงนำมาหักชำระหนี้ พฤติการณ์เช่นนี้ นอกจากจะเป็นการไม่ใช้สิทธิของโจทก์ตามข้อตกลงในสัญญาแล้ว ยังเป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์อาศัยสิทธิที่มีอยู่ตามกฎหมายเป็นช่องทางให้โจทก์ได้รับประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยได้รับดอกเบี้ยระหว่างนั้น และเพื่อจะให้อายุความสะดุดหยุดลง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับ เช่นนี้ย่อมเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 จึงไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาบัตรเครดิตเกิน 2 ปี คดีจึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4813/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยค้ำจุน: ผลผูกพันเมื่อผู้ขับขี่ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย แต่ได้รับความยินยอม
จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยและเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย แม้ ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า "อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ" แต่ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.6 มีข้อตกลงว่า "บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง?" ซึ่งแม้จะแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะและใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย และแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์และนั่งมาในรถยนต์ด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 2 ให้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัย จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.6 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์และทำละเมิดเอง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4813/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยค้ำจุน: ความยินยอมผู้ขับขี่ทำให้ผู้ขับขี่เสมือนผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยต้องรับผิด
ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัท น. จำเลยที่ 3 ออกให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมีข้อตกลงว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง... ซึ่งแม้ข้อตกลงดังกล่าวจะแตกต่างกับ ป.พ.พ. มาตรา 887 ซึ่งผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะและใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แม้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยชนกับรถของโจทก์โดยละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์และนั่งมาในรถยนต์ด้วย จึงฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 2 ให้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัย จึงต้องถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยตามข้อตกลงในกรมธรรม์ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์และทำละเมิดเอง จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3492/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกาตัดสินพิพากษาเกินคำขอและอุทธรณ์นอกประเด็นเดิม โดยยกประเด็นค่าเสื่อมราคาและราคารถยนต์ที่ขายทอดตลาด
โจทก์มิได้ฟ้องและมีคำขอให้จำเลยทั้งสองใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อเนื่องจากนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขาย ทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าราคาที่เช่าซื้อหรือราคาท้องตลาด หรือให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสื่อมราคาเนื่องจาก รถยนต์ที่เช่าซื้อเสื่อมสภาพ จึงไม่มีประเด็นว่าราคารถยนต์ที่เช่าซื้อขาดจำนวนจากการขายทอดตลาดหรือเสื่อมราคาหรือไม่ เพียงใด แม้โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ราคารถยนต์ที่เช่าซื้อจำนวน 380,000 บาท ตามฟ้อง โดยอ้าง ข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพทรุดโทรม โจทก์ต้องนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปซ่อม เป็นเงิน 149,410 บาท และขายทอดตลาดได้เงินเพียง 60,747.66 บาท ก็เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้น ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลอุทธรณ์ จะไม่รับวินิจฉัยให้ การที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยและพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระราคาที่ขาดจำนวนจากการขาย ทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ราคาต่ำเป็นเงิน 109,953 บาท จึงไม่ชอบ ทั้งเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่ไม่ได้ กล่าวมาในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ฎีกาหรือกล่าวไว้ในคำแก้ฎีกา ให้เป็นประเด็นไว้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกา จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขายบ้าน, การริบเงินชำระ, และเบี้ยปรับที่สูงเกินสมควร
โจทก์ชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง และจำนวน 120,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดิน ดังนั้น เงินจำนวน 150,000 บาท จึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยแล้วในวันทำสัญญา เพื่อให้จำเลยยึดไว้เป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาจึงถือเป็นมัดจำ ส่วนหลังจากวันทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้ว โจทก์ยังผ่อนชำระให้แก่จำเลยรวม 12 งวด เป็นเงิน 840,000 บาท ย่อมไม่อาจถือเป็นมัดจำ แต่เป็นเพียงการชำระราคาบ้านและที่ดินบางส่วน ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 150,000 บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกัน เงินที่โจทก์ชำระค่าบ้านและค่าที่ดินบางส่วนดังกล่าวต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่า ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลยได้นั้น ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินสมควร ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2877/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิ้นสภาพนิติบุคคล หักบัญชีชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด วันที่ 13 กรกฎาคม 2536 จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีวันที่ 20 เมษายน 2537 ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคล ไม่มีอำนาจดำเนินการต่อไปตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องสิ้นสุดลงและหักทอนบัญชีกัน จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนเงินประมาณ 2,132,418 บาท แม้ต่อมาจะมีการถอนเงินออกจากบัญชีและมีการนำเงินเข้าฝากในบัญชีอีก แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สิ้นสภาพนิติบุคคลแล้วย่อมไม่มีอำนาจถอนเงิน ออกจากบัญชีอันเป็นการก่อหนี้ได้ การถอนเงินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ส่วนการนำเงินเข้าฝากคือการที่โจทก์รับฝากเงินจึงเป็นหนี้ที่โจทก์จะต้องชำระ ดังนั้นจึงต้องนำเงินฝากหลังจากวันที่ 20 เมษายน 2537 มาชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ที่มีต่อโจทก์ ซึ่งปรากฏตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันว่าถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 มีการนำเงินเข้าฝากหลายครั้งรวม 3,928,691.69 บาท ส่วนจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้นเงินประมาณ 2,132,418 บาท คำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19.75 ต่อปีแบบไม่ทบต้นตามที่โจทก์ขอมา นับแต่วันที่ 20 เมษายน 2537 ถึงวันที่ 11 มีนาคม 2539 เป็นเงินประมาณ 794,340.52 บาท รวมเป็นเงินประมาณ 2,926,758.52 บาท น้อยกว่าจำนวนเงินที่มีการนำเข้าฝากในบัญชี จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนั้นจำเลยที่ 2 ในฐานผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2677/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: การบอกเลิกสัญญาต้องเป็นไปตามกฎหมายและเจตนาของคู่สัญญา การชำระหนี้ล่าช้าไม่ถือเป็นการผิดนัดหากคู่สัญญามิได้ถือเป็นสาระสำคัญ
การบอกเลิกสัญญาจำเลยจะต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 คือ จำเลยจะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควร แล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระภายในกำหนดเวลานั้น ถ้าโจทก์ไม่ชำระค่าเช่าซื้อภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ จึงจะถือว่าโจทก์ผิดนัดและจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กำหนดเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาแม้สัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจะมีข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ทันที โดยไม่คำนึงว่าจำเลยเคยผ่อนผันการผิดสัญญาเช่นนั้นมาก่อนก็ตาม แต่การผ่อนผันการผิดสัญญาตามข้อสัญญาดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่จำเลยได้แสดงเจตนาผ่อนผันการผิดสัญญาครั้งก่อนๆ โดยมิได้ยินยอมให้มีการผิดสัญญาในครั้งต่อๆ ไปได้ด้วย แต่การที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกันตลอดมาโดยไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อที่กำหนดไว้ตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ จึงหาใช่กรณีที่จำเลยยอมผ่อนผันการผิดสัญญาให้แก่โจทก์ไม่ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิที่จะยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์ การที่จำเลยไปยึดรถที่เช่าซื้อคืนจากโจทก์โดยไม่มีสิทธิ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาที่กำหนด แต่จำเลยก็ยินยอมรับค่าเช่าซื้อตลอดมา โดยมิได้เรียกร้องค่าปรับหรือค่าเสียหายจากการชำระล่าช้า จนถือได้ว่าคู่สัญญามิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระค่าเช่าซื้อเป็นสาระสำคัญ การที่โจทก์ชำระหนี้ล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดเวลาดังกล่าว จึงไม่ถือว่าโจทก์ทำผิดนัดชำระหนี้ จำเลยไม่มีสิทธิจะคิดค่าปรับในกรณีชำระหนี้ล่าช้าจากโจทก์ได้
of 18