คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สิทธิชัย รุ่งตระกูล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 178 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6727/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงหลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำคุก และการอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งจำเลยอาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยทราบอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบแต่ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับสรุปได้ว่า ขอให้งดโทษจำคุกและลงโทษสถานเบาโดยให้รอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย และไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด
เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาจำเลยขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การรับสารภาพตามฟ้อง แม้จำเลยยื่นคำร้องมีข้อความบางส่วนเป็นทำนองว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่ในคำร้องดังกล่าวก็ยอมรับว่า การกระทำของจำเลยถือเป็นความผิดต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาโดยงดโทษจำคุกและรอการลงโทษจำเลย คำร้องของจำเลยจึงเป็นเพียงคำร้องที่ยื่นประกอบคำให้การรับเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยสถานเบา และรอการลงโทษจำเลยเท่านั้น ดังนั้น ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นที่โต้เถียงกันมาในศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของจำเลยในทำนองว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อดังกล่าวนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6663/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องอาญา: ตำแหน่งพนักงานอัยการและลายมือชื่อโจทก์
ฟ้องโจทก์หน้าแรกได้ระบุตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ไว้ชัดเจนว่า ข้าพเจ้า พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรี โจทก์ และโจทก์ได้ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะโจทก์ท้ายฟ้องแล้ว จึงถือว่าฟ้องโจทก์มีตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์และลายมือชื่อโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (3) (7) โดยไม่จำต้องระบุว่าลายมือชื่อดังกล่าวเป็นของบุคคลใดและระบุตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ในช่องที่โจทก์จะต้องลงลายมือชื่ออีก ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6539/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับของโจร: การซื้อรถจักรยานยนต์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิด และความผิดฐานลักทรัพย์
ความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ ดังนั้น แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ฉะนั้น หนังสือมอบอำนาจจะชอบด้วยกฎหมายอย่างไรหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การตรวจค้นเพื่อยึดของกลางและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกัน แม้การตรวจค้นเพื่อยึดของกลางอาจมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หามีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎมายไปด้วยไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่ามีการสอบสวนแล้วจำเลยมิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบ เพียงแต่อ้างว่าการยึดรถจักรยานยนต์ของกลางในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวค้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6454/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักหนี้ค่าเสียหายที่จำเลยชำระให้โจทก์แล้วออกจากจำนวนที่ต้องชำระตามคำพิพากษา เพื่อความเป็นธรรม
ปัญหาว่า จำเลยที่ 4 ได้วางเงินจำนวน 150,000 บาท ในนามของจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ ในคดีที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นคดีอาญา เพื่อชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วจะต้องหักเงินจำนวนดังกล่าวจากจำนวนที่ฝ่ายจำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และเมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าเสียหายจำนวนนี้ไปแล้ว จึงต้องหักเงินจำนวนดังกล่าวจากจำนวนเงินที่จำเลยทั้ง 4 ต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษา จะพิพากษาให้จำเลยรับผิดเต็มจำนวนค่าเสียหายไปก่อน โดยให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะไปพิสูจน์ขอหักหนี้ในชั้นบังคับคดีหาได้ไม่ เพราะจะเป็นการพิพากษาให้จำเลยรับผิดเกินกว่าที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายและไม่เป็นธรรมแก่จำเลย เมื่อจำเลยที่ 4 วางเงินต่อศาลโดยไม่ได้ระบุว่าให้ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสองคนใดและจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องถือว่าให้ชำระแก่โจทก์ทั้งสองคนละ 75,000 บาท เท่าๆ กัน เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่มิได้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5969/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขกฎหมายยาเสพติดโทษหลังกระทำความผิดและการกำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้ว
แม้เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 16.833 กรัม ซึ่งความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในส่วนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิม ส่วนการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 400 เม็ด นั้น ไม่ปรากฏว่ามีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด กรณีต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อันเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่ากฎหมายเดิมเช่นกันก็ตาม แต่การจะนำโทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดมากำหนดโทษใหม่ในคดีที่ถึงที่สุดแล้วนั้น จะต้องปรากฏว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 50 ปี และฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 10 ปี แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 25 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ การกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงอยู่ในระวางโทษตามบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงถือไม่ได้ว่าโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง กรณีไม่เข้าอยู่ในเกณฑ์ ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะรื้อฟื้นกำหนดโทษใหม่ให้จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5387-5388/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงชำระหนี้ด้วยการก่อสร้างไม่ถือเป็นการยอมความ หรือแปลงหนี้ ทำให้สิทธิฟ้องอาญาไม่ระงับ
ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงานให้โจทก์แล้วเสร็จก่อน แล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้ภายหลัง เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้ ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ฝ่ายเดียวผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่จำเลยมิใช่ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมตามเช็คระงับไป แล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความทั้งไม่มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไปแต่อย่างใด เมื่อจำเลยมิได้ใช้เงินตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับให้โจทก์ และหนี้ที่ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นก็ไม่สิ้นผลผูกพันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 คดีจึงไม่เลิกกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5348/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแยกการกระทำความผิดเป็นกรรมต่างกัน และการปรับบทลงโทษที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ออกเป็นสองกรรมต่างกัน และมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 โดยการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในกรรมแรกตามฟ้องเป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกับ อ. ขอให้หรือรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ในการนำคนต่างด้าวไปทำบัตรประจำตัวประชาชน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน 2547 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 ส่วนการกระทำของจำเลยทั้งสี่ในกรรมที่สองเป็นเรื่องจำเลยทั้งสี่ร่วมกับ ค. แจ้งข้อความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการในการที่ อ. ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนและมีชื่อและรายการในทะเบียนบ้าน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 (1) พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎรฯ มาตรา 50 วรรคหนึ่ง และ ป.อ. มาตรา 267 ซึ่งจำเลยทั้งสี่ร่วมกันกระทำความผิดเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 แม้ความผิดดังกล่าวจะกระทำต่อเนื่องกับความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงาน และจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเป็นอย่างเดียวกันคือ เพื่อให้เจ้าพนักงานออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ อ. แต่ความผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 144 มีลักษณะสภาพความผิดและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากการกระทำความผิดอื่น ๆ โดยเมื่อจำเลยทั้งสี่ร่วมกันขอให้หรือรับว่าจะให้เงินแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการโดยมิชอบด้วยหน้าที่ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวกรรมหนึ่งแล้ว และต่อมาจำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานอื่นขึ้นอีกจึงเป็นความผิดคนละกรรมต่างกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นสองกรรมต่างกันโดยชัดแจ้ง และจำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติความว่า ถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องระวางโทษหนักขึ้น เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้มีสัญชาติไทยทุกคน กรณีจึงไม่เข้าองค์ประกอบตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงมีความผิดตามมาตรา 14 (1) แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคท้าย มาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5291/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาลงโทษฐานครอบครองยาเสพติดโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ฟ้องว่ามีไว้เพื่อจำหน่าย ศาลลงโทษได้ตามบทลงโทษที่เบากว่า
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายย่อมรวมถึงการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ถือได้ว่าความผิดตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง จึงไม่ใช่ความผิดที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ทั้งไม่ใช่กรณีที่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ จะบัญญัติความผิดทั้งสองฐานไว้คนละมาตราก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้เพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลล่างทั้งสองก็ย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4541/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความกับการดำเนินคดีอาญาเช็ค – สิทธิระงับตามกฎหมาย
โจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชดใช้เงินตามมูลหนี้ตามเช็คพิพาทสี่ฉบับต่อมาโจทก์ร่วมและจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ร่วมที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามมูลหนี้ใช้เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 โจทก์ร่วมคงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นโจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับเพื่อใช้เงินนั้นจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 ถึงแม้ในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ข้อ 3 จะระบุเป็นข้อยกเว้นว่า การตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่มีผลในคดีอาญาคดีนี้ แต่ข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และข้อตกลงดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกล่าวตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 173 แห่ง ป.พ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4204/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานออกเช็ค – ผู้สลักหลังเช็คเป็นตัวการร่วมได้ – เจตนาทุจริต
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 คำว่า "ผู้ใดออกเช็ค" มิได้มีความหมายเฉพาะผู้ออกเช็คในฐานะผู้สั่งจ่ายเท่านั้นที่จะเป็นผู้กระทำความผิดได้ บุคคลอื่นแม้มิใช่ผู้สั่งจ่ายก็อาจร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คโดยเป็นตัวการร่วมกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ได้ ดังนั้น ผู้สลักหลังเช็คจึงอาจเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับผู้ออกเช็คได้ พฤติการณ์ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาท โดยจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ออกเช็คพิพาทและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สลักหลังเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมกันออกเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุมีคำสั่งให้ระงับการจ่าย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง
of 18