คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมศักดิ์ เนตรมัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 841 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9691/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ผู้รับโอนมีอำนาจยื่นคำร้องบังคับคดีได้
สิทธิเรียกร้องของคู่พิพาทฝ่ายชนะคดีที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจากคู่พิพาทฝ่ายแพ้คดีเป็นสิทธิเรียกร้องที่จะพึงโอนกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง การที่บริษัท บ. คู่พิพาทฝ่ายชนะคดีทำหนังสือ ขอโอนสิทธิการรับชำระหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องตกลงชำระค่าตอบแทนการรับโอนสิทธิการรับชำระหนี้ดังกล่าวนั้น เป็นสัญญาการโอนหนี้อันผู้คัดค้านจะพึงต้องชำระแก่บริษัท บ. โดยเฉพาะเจาะจง เมื่อมีการแจ้งโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้คัดค้านทราบแล้ว จึงถือว่าบริษัท บ. และผู้ร้องได้ปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 306 บัญญัติแล้ว สิทธิเรียกร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงตกเป็นของผู้ร้อง ที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไม่ว่าจะได้ทำขึ้นในประเทศใดให้ผูกพันคู่พิพาท และเมื่อได้มีการร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจย่อมบังคับได้ตามคำชี้ขาดนั้น" และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้คู่พิพาทฝ่ายนั้นยื่นคำร้องต่อศาล..." นั้น คำว่า "คู่พิพาท" ตามบทมาตราดังกล่าวไม่จำกัดเฉพาะคู่สัญญาในสัญญาอนุญาโตตุลาการเท่านั้นแต่หมายรวมถึงผู้ที่สืบสิทธิตามสัญญาทั้งโดยผลของกฎหมายและโดยผลของสัญญาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9450/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเสียหายสินค้าจากตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคง ผู้ขนส่งไม่ต้องรับผิด ผู้รับประกันภัยยกเว้นความเสียหายจากการหีบห่อไม่เหมาะสม
คดีเป็นเรื่องการขนส่งสินค้าทางทะเลระบบตู้คอนเทนเนอร์แบบ FCL/FCL หรือ CY/CY (SOC) โดยผู้ส่งจะเป็นผู้บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์ของตนที่สถานที่ของผู้ส่ง ปิดตู้ผนึกดวงตราแล้วนำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือต้นทาง ผู้ส่งจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลือกตู้คอนเทนเนอร์ให้เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า ทั้งยังต้องจัดบรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์อย่างเหมาะสมแก่การขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะกรณีเป็นการขนส่งสินค้าจากท่าเรือผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทางกว่า 6,000 ไมล์ ซึ่งอาจต้องเผชิญกับพายุและคลื่นลมรุนแรงในทะเลอันเป็นภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแก่เรือเดินทะเล
สินค้าพิพาทเป็นลูกกลิ้งทำด้วยเหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก มีน้ำหนักมาก โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเชือกไนล่อนรับแรงดึงสูงที่ใช้ผูกรัดสินค้าสามารถรับน้ำหนักได้เท่ากับน้ำหนักของลูกกลิ้งหรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่สามารถรับน้ำหนักหรือรับแรงดึงสูงเทียบเท่ากับลวดสลิงหรือโซ่ได้ เมื่อพิจารณาถึงเชือกไนล่อนที่นำมาใช้รัดยึดโยงลูกกลิ้งตามรูปถ่ายแล้ว เชื่อว่าไม่สามารถรัดตรึงลูกกลิ้งดังกล่าวมิให้เคลื่อนไหวได้ เมื่อพบกับสภาพแห่งท้องทะเลที่มีพายุและคลื่นลมที่รุนแรง ส่วนการที่ตู้คอนแทนเนอร์อีกหลายตู้ในเรือไม่ได้รับความเสียหายทั้งที่บรรจุสินค้าลูกกลิ้งลักษณะเดียวกับที่เกิดความเสียหาย ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าการจัดบรรจุสินค้าพิพาทในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดเหมาะสมแก่สภาพและลักษณะของสินค้าแล้ว นอกจากนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทเป็นตู้ใช้แล้วที่มีการซื้อมาเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะ และเป็นตู้แบบใช้งานทั่วไป ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับสินค้าซึ่งมีลักษณะพิเศษเช่นสินค้าพิพาท เมื่อพิจารณาถึงลักษณะความเสียหายของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทที่ได้รับความเสียหายพบว่า ตู้ส่วนใหญ่ผนังฉีกขาดทะลุเป็นรู บางตู้พื้นยุบเป็นช่องเนื่องจากถูกลูกกลิ้งที่บรรจุอยู่ภายในหลุดจากตำแหน่งกระแทกและลูกกลิ้งบางลูกทะลุหลุดออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายทั้งหมดมีลักษณะเป็นสนิมอยู่ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ฉีดขาดและทะลุเป็นรูได้ง่าย การที่ฝ่ายผู้ส่งของจัดหาตู้คอนเทนเนอร์มาใช้บรรจุสินค้าพิพาทถึง 159 ตู้ โดยการซื้อตู้คอนเทนเนอร์ใช้แล้วมาใช้เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะซึ่งต้องซื้อจากผู้ประกอบกิจการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์หลายราย และการที่ผู้ประกอบกิจการขนส่งจะขายตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งตนจำเป็นต้องใช้ในการขนส่งสินค้าประจำในราคาถูกนั้น ย่อมหมายความว่าตู้คอนเทนเนอร์นั้นใช้งานมานานจนใกล้หมดอายุการใช้งานหรือหมดอายุการใช้งานไปแล้ว จึงมีเหตุผลที่เป็นไปได้ว่า ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายมีสภาพเก่า ไม่มั่นคงแข็งแรงพอที่จะบรรจุสินค้าพิพาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ส่งของที่นำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่มั่นคงแข็งแรง และไม่เหมาะสมแก่สภาพของสินค้าพิพาทมาใช้บรรจุสินค้าพิพาท และการบรรจุผูกรัดสินค้าพิพาทภายในตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคงแข็งแรงไม่เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9135/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยทางทะเล: การไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการจดทะเบียนเรือ ทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นจากความรับผิด
โจทก์เป็นเจ้าของเรือชื่อเบญจมาศ ขอทำประกันภัยไว้กับจำเลยโดยรับรองว่าเรืออยู่ในสภาพดีพร้อมที่จะเดินทาง จำเลยตกลงรับประกันภัยโดยระบุในกรมธรรม์ประกันภัยโดยระบุเงื่อนไขและข้อยกเว้นความรับผิดที่สำคัญไว้หลายประการ คือ การประกันภัยให้บังคับตามกฎหมายและประเพณีปฏิบัติของประเทศอังกฤษ ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งปวงให้ผู้รับประกันภัยทราบ ผู้เอาประกันภัยให้คำรับรองว่าเรือต้องมีใบอนุญาตพร้อมและได้รับการจดทะเบียนจากกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีตลอดอายุกรมธรรม์ประกันภัย (WARRENTED THE VESSEL IS LICENSED AND REGISTERRED BY HARBOUR DEPARTMENT THROUGHOUT THE CURRENCY OF THE POLICY) และผู้เอาประกันภัยให้คำรับรองว่าเรือจะต้องติดตั้งอุปกรณ์ให้เหมาะสมตามข้อบังคับของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (WARRENTED VESSEL BE PROPERLY EQUIPPED IN ACCORDANCE WITH THE REQUIREMENT OF THE HARBOUR DEPARTMENT) แต่ปรากฏจากผลการสำรวจความเสียหายของบริษัทผู้สำรวจภัยรายงานว่าเหตุที่เรือจม เกิดจากสาเหตุที่ตัวเรือและเครื่องจักรมีอายุใช้งานมานาน และไม่ได้รับการซ่อมแซมดูแลอย่างเพียงพอ ซึ่งในทางประกันภัยถือว่าไม่มีความเหมาะสมในการเดินทะเล และไม่ปรากฏพยานหลักฐานแสดงว่าเรือชนวัตถุใต้น้ำหรือเผชิญสภาวะอากาศเลวร้าย ทั้งจากการตรวจสอบหลักฐานทะเบียนทางเรือแล้ว ไม่ปรากฏว่าเรือได้รับการจดทะเบียนจากทางราชการเพราะเอกสารตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับใบอนุญาตให้ใช้เรือชั่วคราวนั้น มิใช่เอกสารที่ออกโดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ถือว่าเป็นกรณีที่ไม่ได้มีการปฏิบัติตามข้อรับรองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์ผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยในข้อคำรับรองว่าเรือต้องได้รับใบอนุญาตและได้รับการจดทะเบียนจากการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี และเรือต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ถูกต้องเหมาะสมตามเงื่อนไขของกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (Breach of warranty on Seaworthiness of ship) อันเป็นผลให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นจากการรับผิดในทันที ฉะนั้น ขณะเกิดเหตุกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่ให้ความคุ้มครอง ไม่ว่าภัยที่เกิดแก่เรือจะได้เกิดขึ้นเพราะสาเหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ จำเลยผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิเสธการรับมอบสินค้าเนื่องจากพบความเสียหายจากการควบคุมอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมระหว่างการขนส่ง ถือเป็นการปฏิเสธโดยมีเหตุอันสมควร
การขนส่งสินค้าพิพาทมีการออกใบตราส่งให้แก่กันไว้ ระบุจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการส่งมอบและรับมอบสินค้า ได้มีการตกลงกันให้เวนคืนต้นฉบับใบตราส่งให้แก่โจทก์ผู้ขนส่งตั้งแต่ที่ต้นทางแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับตราส่งจึงอาจเรียกให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งส่งมอบสินค้าได้เลยโดยไม่จำต้องรอให้มีใบตราส่งมาเวนคืนแก่โจทก์อีก ซึ่งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงนามและประทับตราสำคัญในสำเนาใบตราส่ง กับมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ออกใบปล่อยสินค้า และทำสัญญาลากตู้สินค้า โดยตกลงกับโจทก์ที่จะรับภาระค่าเสียเวลา หากรับมอบตู้สินค้าแล้วนำตู้สินค้าออกไปจากท่าเรือ หรือนำตู้สินค้าส่งคืนโจทก์ล่าช้า นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้มอบหมายให้บริษัท จ. ดำเนินพิธีการศุลกากรและรับเอาตู้สินค้าหมายเลข PONU 4770535 ออกจากท่าเรือไป พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการที่จำเลยที่ 1 ตกลงยอมรับเอาประโยชน์จากสัญญารับขนของทางทะเล ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าพิพาทจึงต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 จำเลยที่ 1 จึงมีนิติสัมพันธ์ตามสัญญารับขนของทางทะเลกับโจทก์
การปฏิเสธไม่รับสินค้าของจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะแสดงหลักฐานข้อมูลการควบคุมอุณหภูมิที่เป็นที่เชื่อถือได้เป็นการปฏิเสธโดยมีเหตุอันสมควร การที่จำเลยที่ 1 ได้พบความเสียหายดังกล่าวในระหว่างที่โจทก์แสดงเจตนาส่งมอบสินค้าและปฏิเสธยังไม่ยอมรับตู้สินค้าด้วยเหตุดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า เป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญารับขนของทางทะเล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8194/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบข้อจำกัดความรับผิดนอกเหนือจากที่กล่าวอ้างในฟ้อง ถือเป็นการสืบนอกเหนือคำฟ้องและต้องห้ามอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องโดยอ้างสิทธิตามสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งโจทก์รับช่วงสิทธิมา โดยในใบตราส่งที่โจทก์แนบท้ายฟ้องไม่ได้แนบข้อตกลงด้านหลังใบตราส่งไว้ด้วย จึงไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงกันให้จำกัดความรับผิดดังอ้างไว้ในใบตราส่ง
การที่โจทก์นำสืบใบตราส่งที่มีเนื้อความด้านหลังเป็นพยาน พร้อมกับอ้างว่าจำเลยไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ได้เพราะด้านหลังใบตราส่งดังกล่าวระบุในเรื่องความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ในหัวข้อความรับผิดในกรณีสินค้าได้รับความเสียหายหรือสูญหายระหว่างการขนส่งไว้ว่าให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1992 และนำสืบด้วยว่ากฎหมายว่าด้วยการรับขนของทางทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น ค.ศ. 1992 จำกัดความรับผิดไว้สูงกว่าตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 นั้น ถือเป็นการนำสืบในปัญหาข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างมาในฟ้องเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสยกข้อต่อสู้ปัญหาข้อนี้ว่ามีข้อเท็จจริงอื่นอีกหรือไม่ไว้ในคำให้การเพื่อให้เกิดเป็นปัญหาข้อพิพาทขึ้น ทางนำสืบดังกล่าวจึงเป็นการสืบนอกเหนือไปจากคำฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อดังกล่าวจึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7198/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้รับขนส่งต้องรับผิดชอบความเสียหายของสินค้าที่เกิดจากการขนส่ง หากมีส่วนร่วมในการขนส่งและเกิดความเสียหาย
โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าตามฟ้อง เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายหรือสูญหายตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์ย่อมต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ตามหนังสือรับช่วงสิทธิที่ผู้เอาประกันภัยออกให้แก่โจทก์มีข้อความว่า ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ และตกลงโอนสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากความเสียหายและสูญหายของสินค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์ ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายและสูญหายของสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าเสียหายจากความเสียหายและสูญหายของสินค้าที่รับประกันภัยไว้โดยผลของกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้องหรือไม่ นั้น ในส่วนของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุและจำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าเกษตรกรรม ทั้งคนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุก็มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ประกอบกิจการรับขนของเพื่อบำเหน็จเป็นทางการค้าปกติ นอกจากเอกสารซึ่งระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการขนส่ง ประเภทรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ทั้งมิได้นำสืบให้เห็นว่าผู้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง ในส่วนของจำเลยที่ 2 นั้น ท. ผู้จัดการของจำเลยที่ 2 พยานจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความรับว่า รับขนสินค้าตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้รับการติดต่อจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับขนส่งสินค้าตามฟ้องให้ไปร่วมขนส่งสินค้า แต่ ท. อ้างว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีรถไปบรรทุกสินค้าจึงสอบถาม อ. โดย อ.ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 อ. จึงไปติดต่อนำรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 มารับขนสินค้า คนขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุก็ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวข้องกับการรับขนสินค้าตามฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงได้ความตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เองว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งเหตุแล้วได้นำรถยนต์บรรทุกอีกคันหนึ่งมาแบ่งขนสินค้าไปส่งยังคลังสินค้าของผู้เอาประกันภัย ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนร่วมในการขนส่งสินค้ารายนี้ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องรับผิดชอบจัดหารถไปช่วยขนสินค้าไปยังที่หมายปลายทางตามสัญญาว่าจ้าง ทั้ง ท. เบิกความรับว่า หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยร่วมได้ชำระค่าว่าจ้างขนส่งให้แก่จำเลยที่ 2 อีกด้วย จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการรับขนส่งเพื่อทางการค้าเป็นปกติ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามฟ้อง เมื่อสินค้าที่รับขนเกิดความเสียหายสูญหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายหรือสูญหายดังกล่าว จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมรับผิดกับจำเลยร่วมอย่างลูกหนี้ร่วมจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง ทั้งที่โจทก์ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่ถูกต้อง ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7197/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งทางทะเล: ความรับผิดของผู้ขนส่งกรณีสินค้าเสียหายจากน้ำทะเล และข้อยกเว้นจำกัดความรับผิด
ด้านหลังใบตราส่งมีข้อความเป็นเงื่อนไขของการขนส่งในข้อ 15 (2) เป็นภาษาอังกฤษว่า สินค้าไม่ว่าจะบรรจุในตู้สินค้าหรือไม่ได้บรรจุในตู้สินค้า ผู้ขนส่งมีสิทธิที่จะนำสินค้าไปวางไว้บนปากระวางเรือได้ ถือได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทครั้งนี้ได้มีการจดแจ้งข้อตกลงไว้ในใบตราส่งแล้วว่า ผู้ขนส่งและผู้ส่งตกลงกันให้บรรทุกหรืออาจบรรทุกสินค้าพิพาทบนปากระวางได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคสอง การนำสินค้าพิพาทบรรทุกบนปากระวางเรือ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดข้อตกลงโดยชัดแจ้งในการขนส่งในข้อที่ให้บรรทุกสินค้าในระวางเรือตาม พ.ร.บ.การรับขนส่งทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 11 วรรคห้า ซึ่งจะทำให้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา 60 (1) อันจะทำให้ไม่อาจจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 หากมีกรณีที่ต้องรับผิดแต่อย่างใด
แม้จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงระบุไว้ในใบตราส่งว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะบรรทุกสินค้าไว้บนปากระวางเรือได้ แต่เนื่องจากตู้สินค้าที่บรรจุสินค้าเครื่องจักรประเภท VACUUM DRYER พร้อมอุปกรณ์เป็นแบบ FLAT RACK มีลักษณะเปิด ตัวตู้สินค้ามีเพียงฐานวางสินค้า สินค้ามีขนาดความสูงและความกว้างเกินกว่าปกติ ทั้งสินค้ามีแผ่นพลาสติกและลังไม้ห่อหุ้มไว้เท่านั้น ตามวิสัยของผู้ประกอบการวิชาชีพที่ย่อมต้องทราบถึงระดับของความเสี่ยงต่อความเสียหายของสินค้าที่มีมากขึ้น ผู้ขนส่งจึงควรให้ข้อมูลเรื่องความเสี่ยงและสอบถามผู้ส่งให้ชัดแจ้งว่า ยังให้วางตู้สินค้าพิพาทบนปากระวางที่ต้องถูกน้ำทะเลซัดเป็นเวลานาน หรือจะให้วางใต้ระวางเรือตำแหน่งใดซึ่งจะต้องเสียค่าระวางเพิ่ม เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้มีการให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนจัดวางตู้สินค้าพิพาทและได้จัดวางตู้สินค้าพิพาทบนปากระวางเรือในลักษณะที่มีความเสี่ยงกว่าปกติ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการทั้งปวงเท่าที่เป็นธรรมดาและสมควรจะต้องกระทำสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพรับขนของทางทะเลในการจัดระวางบรรทุกให้เหมาะสมและปลอดภัยตามสภาพของสินค้าพิพาทที่ตนรับขนส่ง เมื่อสินค้าพิพาทเกิดความเสียหายเนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะและเป็นสนิม จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ขนส่งมิได้ให้ข้อมูลและสอบถามผู้ส่งก่อนแล้วสินค้าพิพาทปนเปื้อนน้ำทะเลได้รับความเสียหาย ก็ยังไม่พอฟังได้ว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง ทั้งที่รู้ว่าความเสียหายอาจเกิดขึ้นได้เพราะยังมีความเป็นไปได้มากเช่นกันว่า สินค้าอาจไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงยกข้อจำกัดความรับผิดขึ้นต่อสู้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6274/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันตัวชั่วคราวเพื่อชำระค่าปรับ: ศาลมีอำนาจลดค่าปรับได้เมื่อจำเลยมาศาล
ป.อ. มาตรา 29 บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้" บทบัญญัติดังกล่าวบังคับให้ผู้ต้องโทษปรับชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา หากไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดดังกล่าว ก็ให้อำนาจศาลที่จะสั่งให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือจะสั่งให้ใช้วิธีกักขังแทนค่าปรับก็ได้ แต่ก่อนที่จะครบสามสิบวันถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ต้องโทษปรับจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันโดยให้ทำสัญญาประกันว่าจะชำระเงินค่าปรับภายในเวลาที่กำหนด หรือจะสั่งกักขังผู้ต้องโทษปรับไปพลางก่อนก็ได้ และแม้จะครบกำหนดสามสิบวันแล้ว ถ้าศาลยังมีเหตุสมควร เช่น การกักขังไปพลางก่อนยังไม่เหมาะกับสภาพการบังคับโทษแก่ผู้ต้องโทษรายใด หรือการด่วนยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับโทษปรับยังไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ศาลก็อาจจะให้ผู้ต้องโทษปรับขอผัดเวลาชำระค่าปรับต่อไปก่อนได้ โดยยังไม่ยึดทรัพย์สินหรือกักขังในทันทีที่ครบสามสิบวัน ดังนั้น การที่ศาลจะสั่งเรียกประกันไปก่อนโดยยังไม่บังคับโทษปรับไปเสียทีเดียว จึงทำได้เพื่อการปล่อยตัวผู้ต้องโทษปรับชั่วคราวให้ไปหาเงินนำมาชำระค่าปรับ หากในชั้นที่สุดหลบหนีไปหรือมาศาลแต่ไม่สามารถนำเงินมาชำระค่าปรับได้ ศาลก็ต้องใช้วิธีการยึดทรัพย์สินหรือจัดการเพื่อให้มีการกักขังแทนค่าปรับ
จากความเป็นมาของเรื่อง รูปแบบ และเนื้อความแห่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ รวมทั้งเนื้อความแห่งกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพ สัญญาประกันในคดีนี้จึงมีลักษณะเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราวไม่ให้ศาลกักขังจำเลยแทนค่าปรับไปพลางก่อน โดยเป็นการสัญญาว่าจะมาศาลเพื่อชำระค่าปรับภายในกำหนด ไม่ใช่สัญญาประกันเพื่อในชั้นที่สุดจะให้บังคับเป็นส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดของค่าปรับตามคำพิพากษา จึงจะนำเงินที่ผู้ร้องนำมาชำระค่าปรับตามสัญญามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งค่าปรับไม่ได้ และเมื่อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาประกันตัวชั่วคราว ดังนั้น ในชั้นที่สุดเมื่อมีการนำตัวจำเลยมาศาลได้ ศาลจึงมีอำนาจลดค่าปรับสำหรับผู้ร้องลงได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6272/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับขนทางทะเล: จำเลยไม่ได้เป็นผู้ขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนฯ แม้จะจัดการขนส่งให้ผู้ซื้อ
ข้อพิพาทคดีนี้เกิดขึ้นจากการขนส่งทางทะเลจากประเทศอิตาลีมายังประเทศไทย จึงตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ซึ่งตามมาตรา 3 ให้คำนิยามไว้ว่า ผู้ขนส่ง หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ คดีนี้ผู้ซื้อสั่งซื้อสินค้าจำพวกไวน์ 1,200 กล่อง จากผู้ขาย ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลีแล้วผู้ซื้อได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้จัดการขนส่งสินค้าที่สั่งซื้อมาให้ตน โดยผู้ซื้อไม่ใช่ผู้ส่งของหรือผู้ส่งสินค้า การที่จำเลยที่ 1 ตกลงทำสัญญากับผู้ซื้อหรือผู้รับสินค้ารับจัดการขนสินค้าไวน์จากประเทศอิตาลีมาให้แก่ผู้ซื้อในประเทศไทย จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญารับขนทางทะเลและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อจำเลยที่ 2 ให้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 รับขนสินค้ารายนี้อีกทอดหนึ่ง โดยจำเลยที่ 1 เพียงแต่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบและผู้ซื้อได้แจ้งไปยังผู้ขายว่าจำเลยที่ 3 จะไปรับขนสินค้าจากผู้ขายบรรทุกลงเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ร่วมทำการขนส่งสินค้าดังกล่าวแม้เพียงช่วงระยะทางช่วงใดช่วงหนึ่ง ประกอบกับใบตราส่งที่ออกโดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็มิได้ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งแต่อย่างใด ส่วนการที่ผู้ซื้อต้องนำเงินค่าระวางมาชำระแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 1 จึงออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้ ก็เป็นวิธีการที่จำเลยที่ 1 กำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเมื่อสินค้ามาถึงท่าเรือปลายทางแล้วจะได้รับชำระค่าระวางพาหนะจากผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเท่านั้น ทั้งการที่ข้อเท็จไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้จ่ายค่าระวางพาหนะให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 อย่างไร หรือไม่ ยังไม่พอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งที่ได้ประกอบกิจการการร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ติดต่อจำเลยที่ 3 ให้รับขนส่งสินค้ารายนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าพิพาทไม่ว่าในทางใดอีก จึงไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 เช่นกัน ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฟังว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้รับจัดการขนส่ง มิใช่ผู้ขนส่งนั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวแทนขนส่งสินค้า กรณีสินค้าเสียหายจากน้ำท่วมขณะอยู่ในความดูแลรักษา
การที่กรรมการผู้มีอำนาจร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัทโจทก์ในใบแต่งทนายความแต่งตั้ง ว. เป็นทนายโจทก์และ ว. ลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ฟ้องคดีนี้ ถือเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองโดยแต่งตั้ง ว. เป็นทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้แทนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่กรณีที่โจทก์มอบอำนาจให้ ว. เป็นผู้แทนโจทก์ตามมาตรา 60 วรรคสอง ซึ่งต้องมีหนังสือมอบอำนาจ
ปัญหาว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางชอบที่จะวินิจฉัยชี้ขาดกฎหมายเบื้องต้นให้ยกฟ้องโจทก์ได้ การสั่งให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องมาใหม่โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 30 ประกอบข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 6 และวินิจฉัยว่าคำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า กระบวนพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีบัญญัติไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 26 ได้บัญญัติรับรองในส่วนการดำเนินคดีแพ่งไว้ว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. นี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าว ให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว ข้อ 6 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ของคำฟ้องใน คดีแพ่งไว้ว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ที่เสนอต่อศาลแต่แรกแล้ว เป็นคำฟ้องที่พอเข้าใจได้แล้วว่า ความเสียหายของสินค้านั้นเป็นเงิน 846,110 บาท ส่วนจะคำนวณอย่างไร มีหลักฐานอ้างอิงหรือไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย กรณีไม่อาจนำหลักเกณฑ์ของคำฟ้องในคดีแพ่งทั่วไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ และการที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องให้ชัดเจนขึ้นเป็นการใช้อำนาจตามข้อกำหนด ข้อ 6 วรรคสอง เพื่อประโยชน์แก่จำเลยที่ 3 เอง อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาว่า สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายขณะอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า การขนส่งคดีนี้เป็นการขนส่งในเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 ไปเปิดยังโรงงานหรือโกดังของผู้รับตราส่ง ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่ส่งมอบตู้สินค้าให้แก่ผู้รับตราส่งในสภาพเรียบร้อย การเปิดตู้ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรมิใช่การตรวจเพื่อส่งมอบสินค้าพิพาทให้แก่ผู้รับตราส่ง กรณีนี้เป็นการขนส่งสินค้าในระบบตู้สินค้าเทอม CY/CY หรือ FCL/FCL การที่ผู้รับตราส่ง รับตู้สินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่มีข้อทักท้วงเรื่องความเสียหายของสินค้า จึงไม่อาจถือได้ว่าสินค้าพิพาทมิได้เสียหายในขณะนั้นและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยมิได้อิดเอื้อน ข้อบังคับว่าด้วยระเบียบความปลอดภัยการใช้ท่าเรือบริการและความสะดวกต่างๆ ของกิจการท่าเรือ ข้อ 53 ที่ว่าบุคคลใดรับมอบสินค้าไปจากจำเลยที่ 3 โดยไม่อิดเอื้อน และข้อ 57 วรรคสอง (ข) ที่ว่าถ้าผู้รับสินค้าไม่เรียกร้องค่าเสียหายเป็นหนังสือภายใน 7 วัน นับแต่วันรับมอบสินค้า จำเลยที่ 3 จะไม่รับผิดชอบ ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่การรับมอบตู้สินค้าจากจำเลยที่ 3 เพื่อนำไปเปิดที่โรงงานของผู้รับตราส่งอย่างเช่นกรณีนี้ได้ เพราะตู้สินค้าไม่ใช่สินค้าตามความหมายของข้อบังคับดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นขณะที่ตู้สินค้าพิพาทอยู่ในความดูแลรักษาของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับดูแลรักษาสินค้า เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่สามารถป้องกันมิให้น้ำท่วมขังและซึมเข้าไปในภายตู้สินค้า ทำให้สินค้าพิพาทเปียกชื้นได้รับความเสียหายจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาท
คำให้การของจำเลยที่ 3 บรรยายข้อต่อสู้เรื่องอายุความไว้เพียงว่า โจทก์ได้ฟ้องร้องเกินกว่ากำหนดอายุความฝากทรัพย์และอายุความละเมิดแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง ทั้งเป็นคำให้การที่มิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะอะไร ทำไมถึงขาดอายุความ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่ความต้อง นำสืบ และหากเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่รับวินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความชอบแล้ว
of 85