คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมศักดิ์ เนตรมัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 841 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4580/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้รับขนส่งทางทะเล, สินค้าเสียหาย, การขายทอดตลาด, การพิสูจน์ความเสียหาย, ข้อจำกัดความรับผิด
โจทก์ฟ้องโดยอาศัยมูลตามสัญญารับขนของทางทะเลที่โจทก์ในฐานะผู้ส่งทำสัญญาว่าจ้างผู้ขนส่งให้ขนส่งสินค้าไปถึงปลายทางตามกำหนดเวลา แต่ผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นขนส่งสินค้าด้วยความล่าช้าทำให้สินค้าเสื่อมคุณภาพ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้สลักหลังและส่งมอบใบตราส่งให้แก่บริษัทผู้ซื้อสินค้าพิพาทไป แต่กลับรับมอบสินค้าพิพาทจากจำเลยที่ 1 แล้วนำสินค้าพิพาทออกขายทอดตลาด จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้เวนคืนใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงยอมส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ อันเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ดังนั้น เมื่อสินค้าพิพาทที่ขนส่งเสียหายเพราะความล่าช้าและไม่ปรากฏว่ามีการชำระค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่ง โจทก์ในฐานะคู่สัญญาและใช้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงยังอยู่ในฐานะผู้ถูกโต้แย้งสิทธิตามมูลสัญญารับขนของทางทะเลที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ขนส่งและผู้ขนส่งอื่นในความเสียหายของสินค้าพิพาทระหว่างการขนส่งได้ ส่วนสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายระหว่างประเทศ ระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องว่ากล่าวต่อกันตามสัญญาซื้อขาย ซึ่งความตกลงตามสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอาจไม่จำกัดอยู่เฉพาะตามใบกำกับสินค้า หรืออาจตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันภายหลังจากที่ระบุไว้ในใบกำกับสินค้าก็เป็นสิทธิของคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขายนั้นๆ ไม่มีผลต่อสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคู่สัญญาตามสัญญารับขนของทางทะเล และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์ผู้ส่งว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง โดยจำเลยที่ 2 ติดต่อทำสัญญารับขนแทนจำเลยที่ 1 ตั้งแต่แรก จนกระทั่งเป็นผู้ออกใบตราส่ง ซึ่งเป็นใบตราส่งที่ใช้ชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 จึงถือเป็นตัวแทนผู้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 1 ตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะเดียวกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ส่วนจำเลยที่ 4 ตามคำฟ้องเป็นสำนักงานที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ในประเทศไทย ซึ่งไม่ชัดเจนว่าหมายถึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 หรือไม่ ถือไม่ได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 4 ทำสัญญาแทนจำเลยที่ 3 ตามคำฟ้องโจทก์จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดตามฟ้องได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะตัวแทนของตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการพิพากษาให้รับผิดนอกเหนือจากคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142
โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่จะชี้ให้เห็นถึงขนาดที่ว่าการที่เครื่องยนต์เรือขัดข้องเกิดจากการที่จำเลยที่ 3 ละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องในครั้งพิพาท ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องร่วมกันรับผิดในการที่สินค้าพิพาทเสื่อมคุณภาพเพราะเหตุแห่งการล่าช้าในระหว่างการขนส่ง แต่ก็ยังมีสิทธิอ้างข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 60 (1) แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ได้หากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เกินกว่าข้อจำกัดความรับผิดตามกฎหมายเมื่อสินค้าพิพาทตามใบตราส่งคือาหารกุ้งจำนวน 4,480 ถุง ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 3 หน่วยการขนส่งในการขนสั่งครั้งนี้จึงได้แก่ 4,480 หน่วย ซึ่งผู้ขนส่งสามารถจำกัดความรับผิดได้ 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่งตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 เงินที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดได้คือ 44,800,000 บาท ค่าเสียหายที่กำหนดจำนวน 850,000 ยาท จึงอยู่ในวงเงินจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงต้องรับผิดในจำนวนเงินค่าเสียหายที่กำหนดดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเงินกู้: อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศธนาคาร และอำนาจศาลในการแก้ไขคำพิพากษา
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทโดยเมื่อจำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ไว้ ซึ่งเป็นการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำเลยที่ 1 จึงยังเป็นหนี้ต่อโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอยู่ ดังนั้นข้อตกลงที่จะระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทจึงมีผลใช้บังคับ และตามสัญญาทรัสต์รีซีทระบุว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ดุลพินิจเปลี่ยนหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทได้นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นฝ่ายผิดนัด ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยดังกล่าวชำระหนี้เป็นสกุลเงินบาทได้ แม้หนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตลอดจนตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจะแสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศก็ตาม
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท การที่จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์ก็เพื่อการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท เมื่อสัญญาทรัสต์รีซีทระบุถึงข้อตกลงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยไว้ว่า "...ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 1) ยอมให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายที่ค้างชำระดังกล่าวในอัตราสูงสุดนับแต่วันที่ข้าพเจ้าตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จสิ้น..." แสดงว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในต้นเงินที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์ได้ตามข้อสัญญาดังกล่าว ไม่ใช่กรณีไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดที่จะคิดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4579/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาเลตเตอร์ออฟเครดิต/ทรัสต์รีซีท: สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย, การแปลงสกุลเงิน, และอัตราดอกเบี้ย
การที่จำเลยที่ 1 ขอสินเชื่อเลตเตอร์ออฟเครดิตจากโจทก์ เมื่อโจทก์ชำระค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศแทนจำเลยที่ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องนำสินค้าออกไปพร้อมกับชำระค่าสินค้าให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระจึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์พร้อมกับออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ด้วย จึงเห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทเป็นหลัก จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่โจทก์จึงเป็นการประกันเพื่อการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทเท่านั้น หาใช่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดตามตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักแต่เพียงอย่างเดียวไม่
แม้หนี้ตามสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทตลอดจนตามตั๋วสัญญาใช้เงินตามฟ้องจะแสดงไว้เป็นเงินต่างประเทศ แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน จำเลยที่ 1 จึงยังเป็นหนี้ต่อโจทก์ตามสัญญาทรัสต์รีซีทอยู่ ดังนั้นข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ดุลพินิจเปลี่ยนหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศเป็นสกุลเงินบาทได้นับตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นฝ่ายผิดนัดจึงมีผลใช้บังคับ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยดังกล่าวชำระหนี้เป็นสกุลเงินบาทได้
โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินประกาศของธนาคารโจทก์ที่ประกาศกำหนดเอง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง โดยไม่ได้กำหนดให้ไม่เกินอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์นั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้ที่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
เนื่องจากหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้เป็นการชำระหนี้ไม่อาจแบ่งแยกได้ และเป็นกรณีที่ต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในส่วนดอกเบี้ยดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงสมควรให้คำพิพากษานี้มีผลไปถึงจำเลยที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3368/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ แม้คู่สัญญาต่างชาติและมีค่าใช้จ่ายสูง
การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันให้เสนอข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่ออนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสิงคโปร์และนำกฎหมายของประเทศสิงคโปร์มาใช้บังคับ ข้อตกลงดังกล่าวหาได้ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งจำเลยก็มิได้เป็นผู้กำหนดข้อตกลงดังกล่าวด้วยตนเอง ข้อตกลงเรื่องอนุญาโตตุลาการจึงสมบูรณ์และสามารถบังคับได้ หาใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ และที่โจทก์อ้างว่า การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแห่งประเทศสิงคโปร์ก่อให้เกิดภาระและทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนสูง ก็มิใช่เหตุที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงได้ คดีไม่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3210/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิจำนองและการบังคับจำนอง: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการโอนสิทธิรับจำนองไม่ได้หมายถึงการโอนหนี้ประธาน โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากสารบัญจดทะเบียนที่ดินได้ความว่า จำเลยที่ 2 นำที่ดินไปจดทะเบียนและเพิ่มเงินจำนองไว้แก่โจทก์หลายครั้ง คือ จำนองเป็นประกันลำดับแรกและจำนองเป็นประกันลำดับสอง ซึ่งหมายถึง มีการจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ในมูลหนี้ต่างรายกัน รวม 2 ราย ส่วนรายละเอียดของการโอนสิทธิจำนองในหนี้สินรายใดย่อมต้องปรากฏอยู่ในหลักฐานการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับบริษัท ธ. สัญญาจำนองเพื่อประกันหนี้รายใดย่อมถือว่าหนี้รายนั้นเป็นหนี้ประธาน สัญญาจำนองย่อมถือเป็นอุปกรณ์ของหนี้ประธาน ดังนั้น การโอนสิทธิรับจำนองหนี้รายหนึ่งรายใดไปให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ย่อมหมายถึงมีการตกลงโอนหนี้ประธานไปยังบุคคลคนนั้นแล้ว ได้ความว่า ก่อนฟ้องโจทก์โอนหนี้ของจำเลยบางส่วนไปให้แก่บริษัท ธ. และโอนสิทธิการรับจำนองลำดับที่หนึ่งไปด้วย ส่วนสิทธิจำนองคดีนี้เป็นสิทธิจำนองลำดับสอง ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่า โจทก์มิได้โอนสิทธิเรียกร้องตามฟ้องไปให้แก่บริษัท ธ. ดังนั้น สิทธิจำนองลำดังสองซึ่งจำนองเป็นประกันหนี้หรือสิทธิเรียกร้องตามฟ้องย่อมไม่อาจโอนไปยังบริษัท ธ. โจทก์จึงมีสิทธิบังคับจำนองแก่ที่ดินดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งแบบ CY/CY และความรับผิดของผู้ขนส่งเมื่อไม่มีหลักฐานการสูญหายระหว่างขนส่ง
วิธีการขนส่งแบบ CY Loading คือผู้ส่งสินค้าจะเป็นผู้บรรจุสินค้าของตนเข้าไปในตู้สินค้า และปิดผนึกตู้สินค้านั้นด้วยผนึกที่ผู้ขนส่งให้มา ดังนั้น ในการขนถ่ายสินค้าทั้งสองครั้ง โจทก์ผู้ส่งมีหน้าที่ในการขนถ่ายสินค้าเข้าตู้สินค้าและผนึกที่ตู้สินค้า เมื่อผนึกที่ตู้สินค้าเมื่อถึงปลายทางที่สถานที่ของผู้รับตราส่งยังเป็นผนึกเดิม แสดงว่าระหว่างการขนส่งสินค้าในตู้สินค้าไม่ได้ถูกขนถ่ายออกจากตู้สินค้าเลย จึงฟังไม่ได้ว่าสินค้าสูญหายไปในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ทั้งนี้ ไม่ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นหรือไม่ก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11039/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งและผู้ปฏิบัติงานในการขนถ่ายสินค้าที่ทำให้สินค้าเสียหายจากความประมาทเลินเล่อ
การที่การไฟฟ้านครหลวงทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้นำสินค้าตามฟ้องออกจากตู้คอนเทนเนอร์และขนส่งรถบรรทุกไปยังคลังสินค้าของบริษัท อ. ที่จังหวัดสมุทรปราการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทางอื่นไม่ใช่การขนส่งทางทะเลไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.รับขนของทางทะเล มาตรา 6 ฯ จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการรับขนของตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่สัญญารับขนของของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 บัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหาย หรือบุบสลาย หรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะได้พิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย หรือบุบสลาย หรือชักช้านั้น เกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเองหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง ตามสัญญารับขนของระหว่างการไฟฟ้านครหลวงกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าตามฟ้องตั้งแต่เปิดตู้คอนเทนเนอร์และเริ่มขนสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์เมื่อความเสียหายของสินค้าตามฟ้องเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่สินค้านั้นได้รับความเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10553/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการขนส่ง-ช่วงสิทธิประกันภัย: จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายตามสภาพรถยนต์จริง
ตามหนังสือมอบอำนาจช่วง และฟ้องเดิมของโจทก์ระบุว่าฟ้อง นางสาวดารุณีเป็นจำเลยที่ 1 โดยให้รับผิดในมูลละเมิด ระบุว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ต่อมาโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยแก้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นนางดารุณีหรือนางสาวดรุณี และขอแก้ไขภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นบ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ซึ่งภูมิลำเนาตามที่ขอแก้ไขตรงกับภูมิลำเนาปัจจุบันของจำเลยที่ 1 ที่ให้การระบุว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยระบุว่าย้ายมาจากบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่ทำละเมิดในคดีนี้ ดังนี้จึงเป็นการแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล และภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเดิมซึ่งเป็นจำเลยคนเดียวกัน มิใช่แก้ไขคำฟ้องโดยเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 1 จากนางสาวดารุณี เป็นนางสาวดรุณี ซึ่งเป็นคนละคนกันแต่อย่างใด อีกทั้งการที่โจทก์ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลของจำเลยที่ 1 ในหนังสือมอบอำนาจช่วงและคำฟ้องเดิมผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้น ก็เป็นการสะกดชื่อตัวผิดเล็กน้อยจาก "นางสาวดรุณี" เป็น "นางสาวดารุณี" พอถือว่าเป็นชื่อเดียวกันนั้นเอง ส่วนชื่อสกุลสะกดผิดจาก "สังข์แก้ว" เป็น "สังข์ทอง" ก็ผิดเฉพาะพยางค์ท้ายเท่านั้น พยางค์หน้าเป็นคำเดียวกัน ชื่อสกุลจึงคล้ายคลึงกันมาก แสดงว่าที่ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลจำเลยที่ 1 ผิดเกิดจากการสับสนเข้าใจผิดในชื่อของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงถูกตัวและถูกต้องชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8977/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งอนุญาตให้สวมสิทธิเป็นคู่ความระหว่างพิจารณาคดี ต้องห้ามอุทธรณ์จนกว่ามีคำพิพากษา
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์จนกว่าศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8660/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเบิกความเท็จต้องเป็นการกระทำในฐานะพยาน ไม่ใช่คู่ความในกระบวนการพิจารณาคดีปกครอง
องค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จ ต้องเป็นการเบิกความเท็จในกระบวนพิจารณาที่กระทำโดยศาลในคดีที่ต้องฟังคำพยานเพื่อวินิจฉัยประเด็นตามอำนาจหน้าที่ และการเบิกความหมายความถึงการกระทำของพยานบุคคล มิได้หมายความถึงคำแถลงหรือคำให้การในฐานะคู่ความหรือของผู้อื่น ที่ไม่ได้กระทำในฐานะพยาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 59 การนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้คู่กรณีตรวจสอบความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปและส่งสรุปข้อเท็จจริงนั้นให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าก่อนการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก การกระทำของจำเลยที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้เบิกความแถลงในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ก็เป็นการยืนยันหรือหักล้างเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปและส่งให้คู่กรณีทราบล่วงหน้า เป็นการกระทำในฐานะที่เป็นโจทก์ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายหนึ่ง มิได้กระทำในฐานะพยานบุคคล การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ
of 85