คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 246

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,138 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13450/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินปฏิรูปที่ดินโอนสิทธิมิได้ นิติกรรมระหว่างโจทก์-จำเลยตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร ฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า แม้จะมีการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 กันจริง หรือจำเลยทั้งสามจะได้รับที่ดินพิพาทมาไม่ว่าด้วยนิติกรรมใด ๆ นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 หรือนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 3 กับผู้ที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินก็เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และถึงแม้ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 แปลงที่ 5 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินออกให้แก่ จ. ส่วนแปลงที่ 2 และที่ 6 มีชื่อของจำเลยที่ 3 หลังจากที่โจทก์สอบถามแล้ว จ. และจำเลยที่ 3 ยินยอมไปเพิกถอนก็ตาม เมื่อ จ. และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ที่ได้รับการจัดสรรละทิ้งการครอบครองไป การครอบครองจะตกมาเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดสรรให้เกษตรกรที่เหมาะสมต่อไป ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 247 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13316/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาล และการมอบฉันทะที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ทนายความ
ในการขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ครั้งแรก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ 15 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลในครั้งที่สองแต่อย่างใด คงมีเพียง ศ. ผู้รับมอบฉันทะจำเลยที่ 2 เท่านั้นที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลออกไปอีก 30 วัน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าว
ป.วิ.พ. มาตรา 64 บัญญัติให้คู่ความหรือทนายความอาจมอบฉันทะให้บุคคลอื่นทำการแทนในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้คือกำหนดวันนั่งพิจารณาหรือวันสืบพยานหรือวันฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาล มาฟังคำสั่ง คำบังคับ หรือคำชี้ขาดใด ๆ ของศาล หรือสลักหลังรับรู้ซึ่งข้อความนั้น ๆ รับสำเนาแห่งคำให้การ คำร้องหรือเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 และ 72 และแสดงการรับรู้สิ่งเหล่านั้น ส่วนกิจการอื่นนอกจากนี้ต้องพิเคราะห์เป็นเรื่อง ๆ ไปว่าเป็นกิจการสำคัญซึ่งโดยสภาพเป็นที่เห็นได้ว่าคู่ความหรือทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเองหรือไม่ การที่ ศ. ทำคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลลงชื่อเป็นผู้เรียงและเขียนโดยอาศัยใบมอบฉันทะของจำเลยที่ 2 ที่ระบุไว้ให้ทำคำร้องได้นั้น เห็นได้ว่าเป็นกิจการอื่นนอกจากที่ ป.วิ.พ. มาตรา 64 บัญญัติไว้ และเป็นกิจการสำคัญที่คู่ความหรือทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเอง ไม่อาจแต่งตั้งให้บุคคลทำการแทนได้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวไม่ทำให้ ศ. อยู่ในฐานะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) เมื่อ ศ. มิใช่ผู้ซึ่งจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความและมิได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น การเรียงคำร้องอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่จำเลยที่ 2 ของ ศ. ดังกล่าวจึงขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 ดังนั้น คำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13316/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบฉันทะขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ป.วิ.พ. และ พ.ร.บ.ทนายความ
การที่ ศ. ทำคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลโดยลงชื่อเป็นผู้เรียงและเขียนโดยอาศัยใบมอบฉันทะของจำเลยที่ 2 ที่ระบุไว้ให้ทำคำร้องได้นั้น เป็นกิจการอื่นนอกจากที่ ป.วิ.พ. มาตรา 64 บัญญัติไว้ และเป็นกิจการสำคัญที่คู่ความหรือทนายความจะต้องกระทำด้วยตนเอง ไม่อาจแต่งตั้งให้บุคคลทำการแทนได้ ทั้งการมอบฉันทะดังกล่าวไม่ทำให้ ศ. อยู่ในฐานะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11) เมื่อ ศ. มิใช่ผู้ซึ่งจดทะเบียนและรับใบอนุญาตให้เป็นทนายความ และมิได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น การเรียงคำร้องอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่จำเลยที่ 2 ของ ศ. ดังกล่าวจึงขัดต่อ พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 ดังนั้น คำร้องขอขยายระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมศาลของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13287/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมติดไปกับสามยทรัพย์ แม้มีการโอนสิทธิ ผู้รับโอนใช้สิทธิได้โดยไม่ต้องขอศาลรับรอง
ป.พ.พ. มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น ซึ่งหมายความว่า ภาระจำยอมย่อมตกติดไปกับสามยทรัพย์เสมอ ไม่ว่าจะโอนสามยทรัพย์ให้ผู้ใด เว้นแต่กรณีภาระจำยอมได้มาโดยนิติกรรมและนิติกรรมที่ก่อตั้งภาระจำยอมได้จำกัดไว้ว่าให้ภาระจำยอมระงับไปเมื่อมีการโอนสามยทรัพย์ไปยังบุคคลอื่น ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้น
ผู้ร้องได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 22177 และ 20634 มาจากโจทก์ที่ 1 โดยมิใช่เป็นนิติกรรมอำพราง ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับที่ดินสามยทรัพย์ที่โอนด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางภาระจำยอมได้ ในกรณีเช่นนี้กฎหมายไม่เปิดช่องให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสามยทรัพย์ สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้รับรองสิทธิในภาระจำยอมได้ เพราะการเสนอคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ต้องมีกฎหมายสนับสนุนด้วย ปัญหาเรื่องอำนาจในการเสนอคำร้องขอเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13287/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิภาระจำยอมติดไปกับที่ดินแม้มีการโอนสิทธิ เจ้าของที่ดินสามยทรัพย์ใช้สิทธิได้ แต่ไม่สามารถฟ้องขอรับรองสิทธิเองได้
ผู้ร้องได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์มาจากโจทก์ที่ 1 ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ที่โอนด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางภาระจำยอมได้ ดังนั้น ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าได้ซื้อที่ดินจากโจทก์ที่ 1 ขอให้มีคำสั่งให้ที่ดินของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมของผู้ร้องแทนโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีกฎหมายเปิดช่องให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสามยทรัพย์สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้รับรองสิทธิในภาระจำยอมได้ เพราะการเสนอคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ต้องมีกฎหมายสนับสนุน
ปัญหาเรื่องอำนาจในการเสนอคำร้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13199/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแปลงหนี้ใหม่ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้หนี้เดิมยังคงมีผลบังคับใช้
ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮ้าส์ให้แก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท จากจำเลยที่ 2 และได้แปลงหนี้ใหม่มาเป็นสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้สร้างทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ก่อสร้างทาวน์เฮาส์จึงต้องถือว่าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากการที่ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท จึงไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 351
การที่ศาลอุทธณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องการแปลงหนี้ใหม่ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ก่อสร้างทาวน์เฮาส์แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินจำนวน 6,000,000 บาท แก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับวินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาซื้อขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 ย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้นแต่ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 จึงไม่ชอบ และปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็สามารถวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และเมื่อหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ใหม่ คือสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์มิได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13069/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการครอบครองห้องชุดหลังการขายทอดตลาด: ผู้ซื้อไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เดิม เจ้าของเดิมต้องรับผิดชอบ
ประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุว่าผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินและเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ เมื่อโจทก์ประมูลซื้อห้องชุดได้แต่ไม่ยอมชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางพร้อมเบี้ยปรับที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองรายการหนี้หรือการปลดหนี้ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์และโจทก์ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้ระบุวันเริ่มต้นให้ชำระเงินเพิ่ม เป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย แก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอในฟ้องแย้ง เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13068/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับรองการปลอดหนี้, ค่าส่วนกลาง, การบังคับคดี, สิทธิโอนห้องชุด, อายุความค่าปรับ
ตามฟ้องและฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กระทำในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าหนี้ตามฟ้องแย้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องเดิมค้างชำระเป็นสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุดที่จะฟ้องบังคับคดีให้เจ้าของห้องเดิมที่ค้างชำระหรือไม่ก็ได้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดี การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดี และไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีตามอำนาจหน้าที่เอาแก่เจ้าของห้องชุดเดิมตามมาตรา 41 และตามมาตรา 36 (6) แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ค่าใช้จ่ายรายการที่ 5 ถึงรายการที่ 10 ตามเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 5 และที่ 6 เป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นที่ต้องมีการบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลางและเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยซึ่งมิได้มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาในอันที่จะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนค่าปรับในรายการที่ 3 และที่ 4 เป็นค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เมื่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26
ค่าปรับอันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเจ้าของร่วมมิได้ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าและถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ได้นั้น โจทก์จะชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้ครบเสียก่อน แม้ตามคำขอท้ายฟ้องและคำให้การฟ้องแย้งของโจทก์จะไม่มีข้อความว่า เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าส่วนกลางครบถ้วนแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าส่วนกลางและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าส่วนกลางแก่จำเลยที่ 1 แล้ว เมื่อโจทก์ชำระค่าส่วนกลางตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ซึ่งเป็นการสั่งตามสมควรแก่รูปเรื่องเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ไม่มีค่าส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนที่โจทก์จะซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดนั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13068/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าส่วนกลางหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยมีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้เพื่อการโอนกรรมสิทธิ์
ตามฟ้องและฟ้องแย้ง จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะส่วนตัวและจำเลยที่ 2 มิใช่เจ้าหนี้ตามฟ้องแย้ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ซึ่งปัญหาอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องเดิมค้างชำระเป็นสิทธิของนิติบุคคลอาคารชุดที่จะฟ้องบังคับคดีให้เจ้าของห้องเดิมที่ค้างชำระหรือไม่ก็ได้ ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้เป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องฟ้องคดีหรือต้องใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 41 การที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้สิทธิแจ้งรายการเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเอาจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามมาตรา 41 และไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีตามอำนาจหน้าที่เอาแก่เจ้าของห้องชุดเดิมตามมาตรา 36 (6) แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์
ค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นที่ต้องมีการบำรุงรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่อยู่อาศัยซึ่งมิได้มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาไม่อยู่ในบังคับในอันที่จะมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4)
ค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เมื่อค่าใช้จ่ายส่วนกลางอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ ค่าปรับซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26 และเนื่องจากค่าปรับอันเกิดจากค่าใช้จ่ายส่วนกลางเป็นหนี้เงินที่จำเลยทั้งสองจะเรียกเก็บได้ต่อเมื่อเจ้าของร่วมมิได้ชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนดไว้อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าและถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นขอให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ ซึ่งการที่จำเลยที่ 1 จะออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ได้นั้น โจทก์จะชำระหนี้ค่าส่วนกลางให้ครบเสียก่อน แม้ตามคำขอท้ายฟ้องและคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์จะไม่มีข้อความว่า เมื่อโจทก์ได้ชำระค่าส่วนกลางครบถ้วนแล้วให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้ก็ตาม แต่เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าส่วนกลาง และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์ชำระค่าส่วนกลางแก่จำเลยที่ 1 แล้วเมื่อโจทก์ชำระค่าส่วนกลางตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่อง ศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ซึ่งเป็นการสั่งตามสมควรแก่รูปเรื่องเพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 วรรคสาม มิใช่เป็นการสั่งนอกเหนือไปจากคำขอท้ายฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12977/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องจากสัญญาเช่าซื้อ: การแจ้งการโอนและการยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้
การที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ศต 3648 กทม. จากจำเลยที่ 2 แล้วนำไปขายต่อให้โจทก์ มีข้อตกลงให้โจทก์ชำระราคาแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้ความยินยอมหรือได้รับคำบอกกล่าวเป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำสัญญาขายรถยนต์คันดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือเป็นค่าเช่าซื้อให้จำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้ว การทำสัญญาขายรถยนต์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ แต่เมื่อคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับจำเลยที่ 2 ในข้อ 9 ระบุว่า แม้ว่าผู้กู้ (จำเลยที่ 1) ได้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์เสร็จสิ้นแล้ว แต่หากยังคงค้างชำระหนี้อยู่กับธนาคาร (จำเลยที่ 2) ผู้กู้ตกลงยินยอมให้ธนาคารยังไม่ต้องดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยินยอมให้ธนาคารยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับรถยนต์เพื่อประกันเงินกู้ยืมจากธนาคารจนกว่าผู้กู้จะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยและหนี้สินที่ค้างชำระคืนแก่ธนาคารครบทั้งจำนวน เมื่อการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 2 หรือได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ต่าง ๆ ที่มีต่อจำเลยที่ 1 ผู้โอนขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 308 วรรคสอง โดยรวมถึงข้อต่อสู้ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้จำเลยที่ 2 ไม่ครบถ้วน ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยที่ 2 ที่จะปฏิเสธไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อจดทะเบียนให้ผู้กู้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อ และยึดถือสมุดคู่มือจดทะเบียนรวมทั้งบรรดาเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรถยนต์ จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ตามคำขอสินเชื่อเอนกประสงค์ส่วนบุคคลให้แก่จำเลยที่ 2 จนครบถ้วนได้ จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวยันโจทก์ และไม่ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้ฎีกาเรื่องค่าเสียหายจะต้องห้ามมิให้ฎีกา แต่การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
of 414