คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 246

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,138 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการสวมสิทธิเป็นคู่ความ รวมถึงการพิสูจน์การสั่งซื้อสินค้าและการร่วมรับผิดชอบ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์ ตามทางไต่สวนได้ความว่า โจทก์ได้โอนขายกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วย โดยผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยทั้งสามแล้ว แม้กรณีของผู้ร้องจะไม่ต้องด้วย พ.ร.ก.ปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หรือกฎหมายอื่นใดทำนองเดียวกันที่กำหนดให้ ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความเดิมได้ ดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตมาก็ดี แต่การที่ผู้ร้องรับโอนกิจการ ทรัพย์สินทางธุรกิจทั้งหมดจากโจทก์ ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่ค้างชำระที่จำเลยในคดีนี้มีต่อโจทก์ทั้งหมดด้วยนั้น ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีและถือว่าโจทก์ยินยอมให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์แล้ว จึงชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าแทนที่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ 246, 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: การครอบครองปรปักษ์, การรุกล้ำที่ดิน, และสิทธิเหนือสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ส่งหลักฐานการชำระราคาที่ดิน ลำพังหนังสือสัญญาขายที่ดิน ไม่อาจรับฟังได้ว่า ส. ชำระเงินให้แก่ ป. แล้ว จึงฟังไม่ได้ว่า ส. รับโอนที่ดินโดยเสียค่าตอบแทนนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ตั้งเป็นประเด็นในคำให้การว่า ส. รับโอนที่ดินพิพาทจาก ป. โดยมิได้ชำระค่าที่ดินหรือไม่เสียค่าตอบแทน ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ส. ซื้อและรับโอนที่ดินจาก ป. โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย จึงได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต จำเลยกล่าวอ้างว่า ส. รับโอนที่ดินโดยไม่สุจริต จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง หมายถึงการได้มาโดยไม่รู้ว่ามีบุคคลอื่นได้สิทธิในอสังหาริมทรัพย์มาก่อนแล้ว ถ้าได้มาโดยรู้เช่นนั้นย่อมไม่สุจริต เมื่อที่ดินพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดินซึ่งสามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนได้โดยไม่จำต้องส่งมอบ การครอบครองที่ดินให้แก่กัน ทั้งในทะเบียนที่ดินและโฉนดที่ดินก็ระบุชัดว่า ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยได้รับมรดกมาจากบิดา กับไม่มีการจดแจ้งอย่างใด ๆ ว่าจำเลยเป็นเจ้าของตึกแถวที่ปลูกสร้างอยู่ในที่ดิน ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่ ส. จะตกลงซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทในทางทะเบียน โดยไม่จำต้องคำนึงว่า ป. เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างแท้จริงหรือไม่ ลำพังเพียงพฤติการณ์ที่ ส. ซื้อที่ดินมาในราคาสูงก็ดี ที่ดินอยู่ในทำเลการค้าหรือในที่เจริญก็ดี แต่ ส. ไม่ไปตรวจสอบที่ดินก่อนว่ามีใครเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์และเข้าไปอยู่ในตึกแถวได้อย่างไรในฐานะใด จึงยังไม่พอฟังว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ ส. อันเป็นการซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต จำเลยยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้ ส. ไม่ได้ ส. มีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย เช่นนี้ ต่อมาการที่โจทก์ทั้งสองซื้อและจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทจาก ส. ไม่ว่าจะสุจริตหรือไม่ จำเลยก็ไม่อาจที่จะยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ที่ยังมิได้จดทะเบียนขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง เพราะสิทธิที่จะอ้างข้อกฎหมายดังกล่าวของจำเลยขาดช่วงไปตั้งแต่ที่ ส. ซื้อและรับโอนที่ดินพิพาทมาจาก ป. โดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทของจำเลยจึงต้องเริ่มใหม่นับแต่โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ซึ่งนับถึงวันจำเลยฟ้องแย้งยังไม่ถึง 10 ปี จำเลยไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
การที่ ม. และ ข. ปลูกสร้างตึกแถวในที่ดินของตนเอง ต่อมาแบ่งแยกที่ดินและยกตึกแถวให้แก่บุตร โดยปรากฏในภายหลังว่าตึกแถวเลขที่ 1/12 ซึ่งยกให้ อ. อยู่ในที่ดินพิพาทที่ยกให้แก่ ล. ทั้งแปลงและอยู่ในที่ดินของ อ. เป็นส่วนน้อย จึงต้องถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตมาแต่เดิมและกรณีเช่นนี้ไม่มีกฎหมายที่จะยกมาปรับแก่คดีได้โดยตรง จึงต้องอาศัยเทียบเคียงตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1310 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 4 วรรคสอง อันมีผลทำให้โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของตึกแถวเลขที่ 1/12 แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะการสร้างตึกแถวเลขที่ 1/12 นั้นให้แก่จำเลยและพวกซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวม ส่วนที่ตึกแถวเลขที่ 1/12 บางส่วนที่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1247 ประมาณ 2 ตารางวา ก็ต้องปรับบทเทียบเคียง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง โดยถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต ตึกแถวเลขที่ 1/12 ส่วนปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยจึงเป็นของโจทก์ทั้งสองด้วย แต่โจทก์ทั้งสองต้องเสียเงินค่าที่ดินส่วนที่รุกล้ำให้แก่จำเลยและพวก การครอบครองตึกแถวของจำเลยจึงไม่ถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เพราะจำเลยมีสิทธิครอบครองโดยชอบมาแต่เดิมและโจทก์ทั้งสองยังมิได้ใช้ค่าที่ดินทั้งในสองกรณีให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองต้องไปบังคับแก่จำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องต่อไป ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142(5), 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 552/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฎีกาและการไม่รับวินิจฉัยฟ้องแย้งเนื่องจากประเด็นกรรมสิทธิ์เชื่อมโยงกับฟ้องเดิม
โจทก์ฟ้องว่ารถแบ็คโฮพิพาทเป็นของโจทก์แต่ให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ในคู่มือจดทะเบียนแทน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถแบ็คโฮพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ยืมรถแบ็คโฮพิพาทแล้วผิดสัญญา ขอให้โจทก์คืนรถแบ็คโฮพิพาทหรือใช้ราคาแทนแก่จำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนรถแบ็คโฮพิพาทแก่โจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และให้บังคับคดีตามฟ้องแย้ง แต่จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาตามจำนวนทุนทรัพย์ในส่วนฟ้องแย้ง โดยไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ในส่วนของฟ้องเดิม ศาลฎีกามีคำสั่งให้จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาในส่วนฟ้องเดิมให้ครบถ้วน จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ถือว่าจำเลยทั้งสองทิ้งฎีกาในส่วนฟ้องเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 ประกอบมาตรา 246 และ 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง แต่เมื่อประเด็นข้อพิพาทตามฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในรถแบ็คโฮพิพาท ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับประเด็นที่พิพาทในส่วนฟ้องเดิมที่จำเลยทั้งสองทิ้งฟ้องฎีกาไม่สามารถวินิจฉัยแยกออกจากกันได้และไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ประเด็นปัญหาในส่วนฟ้องแย้งจึงไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะยื่นฟ้อง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายในการอุทธรณ์ฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อความถูกต้อง
พ. ทนายโจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ว่าความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ปรากฏว่าใบแต่งทนายความดังกล่าวไม่ได้ระบุให้ทนายโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาแทนโจทก์ได้ ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ที่ทนายโจทก์ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะต้องแก้ไขความบกพร่องในข้อนี้เสียก่อน แม้ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จะยื่นโดยชอบแล้วก็ตาม การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ไปพร้อมกันและมีคำพิพากษาโดยที่ยังมิได้แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียให้ถูกต้อง เป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาตามมาตรา 243 (2) เป็นการไม่ชอบและเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19140-19173/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงสภาพจ้างขัดแย้งกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ถือตามข้อตกลงเดิมที่เกิดจากข้อเรียกร้อง และให้จ่ายค่าจ้างส่วนต่าง
จำเลยกับลูกจ้างของจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 (ฉบับเดิม) ว่ากรณีที่รัฐบาลประกาศปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จำเลยตกลงปรับค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างทุกคนตามผลต่างของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ ต่อมาวันที่ 6 เมษายน 2555 จำเลยกับสหภาพแรงงานของลูกจ้างโดยประธานและกรรมการสหภาพแรงงานประชุมและตกลงเป็นหนังสือว่าให้จำเลยแบ่งทยอยปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 3 ช่วง แทนที่จะปรับขึ้นค่าจ้างให้คราวเดียวตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่สมาชิก และกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม เมื่อสหภาพแรงงานกระทำไปโดยไม่ได้แจ้งให้สมาชิกทราบและไม่ได้เรียกประชุมสมาชิกก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่เห็นด้วย ไม่ปรากฏว่าสหภาพแรงงานกระทำไปโดยมติที่ประชุมใหญ่และเป็นการกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 98 (1) และมาตรา 103 (2) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยแจ้งข้อเรียกร้องต่อลูกจ้างและดำเนินการตามขั้นตอนจนมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับใหม่ตามมาตรา 13 ถึงมาตรา 19 จึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ขัดแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิมที่เกิดจากข้อเรียกร้องโดยไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างตามมาตรา 20 ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับใช้ จำเลยต้องถือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับเดิม
เงินที่โจทก์ทั้งสามสิบสี่มีสิทธิที่จะได้รับเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างยังไม่มีสภาพเป็นค่าจ้าง ซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบสี่ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง แต่เป็นหนี้เงินที่คิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์แต่ละคนทวงถามจึงถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18330/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรกรรมวิธีการสร้างสารกฤษณา: การพิจารณาขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นและการไม่สมบูรณ์ของสิทธิบัตร
คำสั่งรับฟ้องแย้งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งไว้จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 226 (2) ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
สิทธิบัตรของโจทก์เป็นสิทธิบัตรกรรมวิธีการกระตุ้นให้สร้างสารกฤษณา โดยการสร้างลักษณะรอยแผลบนต้นกฤษณาเป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นเอาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติของต้นไม้มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์โดยเห็นได้จากสาระสำคัญตามข้อถือสิทธิของสิทธิบัตรที่มุ่งเน้นวิธีการควบคุมปริมาณการหลั่งของสารกฤษณาได้มากกว่าธรรมชาติจากกรรมวิธีการสร้างรอยแผลดังที่ระบุไว้ในข้อถือสิทธิ การพิจารณาออกสิทธิบัตรกรรมวิธีที่คิดค้นขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติอย่างเช่นสิทธิบัตรของโจทก์ต้องให้ความสำคัญกับเทคนิคพิเศษเฉพาะด้านของการประดิษฐ์ในแต่ละรายที่ทำให้เกิดผลผลิตดังกล่าวว่า กรรมวิธีนั้นเป็นที่ประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาหรือไม่ โดยกรรมวิธีนั้นมิใช่เพียงกระบวนการที่ไม่มีเทคนิคพิเศษเพื่อให้ได้มาซึ่งสารกฤษณาดังกล่าว หากกรรมวิธีนั้นมิได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือการแทรกแซงของผู้ประดิษฐ์จนถึงขั้นที่ถือได้ว่าเป็นการคิดค้นหรือคิดทำขึ้นอันเป็นผลให้ได้มาซึ่งกรรมวิธีใหม่ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 กรรมวิธีนั้นก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรของโจทก์เป็นกรรมวิธีที่เป็นประจักษ์โดยง่ายแก่บุคคลที่มีความชำนาญในระดับสามัญสำหรับการคิดค้นกรรมวิธีในการสร้างสารกฤษณาอันถือไม่ได้ว่าเป็นกรรมวิธีที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น การออกสิทธิบัตรดังกล่าวย่อมเป็นการออกที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า สิทธิบัตรของโจทก์ไม่สมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่ไม่มีคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิบัตรเนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ทป.82/2553 ให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์แล้วนั้น ไม่ถูกต้อง แม้จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18316/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาททางจำเป็นและทางภาระจำยอม: การฟ้องละเมิดที่ไม่ตรงกับข้อตกลง
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองปิดกั้นทางสาธารณะ แต่ไม่มีคำขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในส่วนนี้ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ซึ่งถือเป็นคำฟ้อง จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 246, 247 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสองขุดทำลายทางจำเป็นและปลูกต้นไม้ล้ำเข้ามาในทางจำเป็นโดยจงใจทำให้โจทก์ทั้งสองกับผู้ใช้ทางอื่นไม่ได้รับความสะดวก อันเป็นละเมิด ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาว่า จำเลยทั้งสองเข้าปรับปรุงทางพิพาทเนื่องจากมีข้อตกลงในการสร้างทางภาระจำยอมเพื่อใช้แทนทางจำเป็น หากการก่อสร้างทางดังกล่าวไม่เป็นไปตามข้อตกลง ก็ชอบที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองแก้ไขให้ถูกต้องได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาจึงไม่เป็นละเมิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16911/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจบังคับคดีและการบังคับตามสัญญาซื้อขายทอดตลาด: จำเลยในฐานะผู้สังกัดเจ้าพนักงานบังคับคดี ไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งริบเงินและบังคับตามสัญญา
คำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่เสนอเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการไปตามหมายบังคับคดีของศาลนั้นในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่ง ป.วิ.พ. เพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดีได้โดยให้ถือเสมือนเป็นเจ้าพนักงานศาล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 278 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1 (14) แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีคดีนี้เป็นเจ้าพนักงานในสังกัดจำเลย แต่เมื่อจำเลยมิใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาล จำเลยจึงไม่มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งริบเงินมัดจำและให้นำทรัพย์นั้นออกขายใหม่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ได้ดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ในการบังคับคดีตามหมายบังคับคดีของศาลและตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่ง ป.วิ.พ. ในฐานะเสมือนเจ้าพนักงานศาลได้ คำขอบังคับตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ย่อมไม่อาจบังคับได้
จำเลยมิใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งเป็นคู่สัญญาซื้อขายทอดตลาดกับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายทอดตลาดได้ คำขอบังคับท้ายคำฟ้องของโจทก์จึงไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย ศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16249/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน: ผลผูกพันข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาศาลแรงงานต่อสำนักงานประกันสังคม
จำเลยที่ 1 อ้างเหตุที่โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างเนื่องจากทำให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ฝ่าฝืนระเบียบและกระทำความผิดร้ายแรงอันเป็นเหตุตามมาตรา 78 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เมื่อศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยส่วนนี้ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา 78 ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 1 มีคำสั่งไปตามข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 ตรวจสอบได้ มิใช่เหตุตามกฎหมายที่ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน จำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในคดีนี้ ข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 8 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ต่อสู้คดีก็ย่อมมีผลผูกพันจำเลยที่ 1
ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และตามคำขอท้ายฟ้องขอให้มีคำสั่งให้โจทก์ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไว้ด้วย แต่ศาลแรงงานภาค 8 ไม่ได้มีคำสั่งในส่วนนี้อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นแก้ไขเสียให้ถูกต้องโดยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 78 ประกอบกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 (1) แก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนในกรณีว่างงานให้แก่โจทก์แล้ว ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งจากการเลิกจ้างโดยกระทำความผิดร้ายแรงเป็นการเลิกจ้างโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิดก็เพื่อไปขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุบังคับให้จำเลยที่ 2 เปลี่ยนแปลงคำสั่งเลิกจ้างเพื่อการดังกล่าวตามคำขอให้โจทก์อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14934/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการโอนที่ดินที่ทำโดยเสน่หาหลังทำสัญญาซื้อขายก่อนหน้า เพื่อคุ้มครองสิทธิเจ้าหนี้
การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาหลังจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วมีระยะเวลาห่างกันเพียง 1 เดือนเศษ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ เมื่อเป็นการให้โดยเสน่หาจึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมดังกล่าวเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 และมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 21585 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าว 1 ไร่ และต่อมาจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 ทั้งแปลง อันเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ จึงต้องเพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองเท่ากับจำนวนเนื้อที่ตามที่จำเลยที่ 1 ขายให้โจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุเนื้อที่เท่ากับเป็นการเพิกถอนการโอนทั้งแปลงย่อมเป็นการมิชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247
of 414