คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 246

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,138 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2193/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ แม้ทุจริตก็ยังเป็นการปฏิบัติหน้าที่
จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ให้เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีในการขายทอดตลาดหน่วยลงทุนพิพาท ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 กระทำโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือ คำสั่งของจำเลยที่ 2 ในการขายทอดตลาด หรือกระทำโดยทุจริต หรือแม้การกระทำของจำเลยที่ 1 จะเป็นความผิดอาญา ก็หามีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 มิใช่การกระทำในการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดหน่วยลงทุนให้บุคคลภายนอกในราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงและบุคคลภายนอกได้นำหน่วยลงทุนดังกล่าวขายคืนให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ไม่สามารถโอนหน่วยลงทุนพิพาทกลับมาเป็นของ ก. ลูกหนี้ของโจทก์ได้ เนื่องจากเป็นหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเสนอซื้อหรือเสนอขายได้ตลอด ทำให้ไม่มีหน่วยลงทุนพิพาทของลูกหนี้โจทก์หลงเหลืออยู่ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยให้ชดใช้เงินกลับคืนกองทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินมรดก: สิทธิเรียกร้องของผู้รับมรดก vs. บุคคลภายนอกที่ได้มาโดยสุจริต
จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ต. ผู้ตาย มีหน้าที่แบ่งปันทรัพย์มรดก แต่ยังไม่ได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาท เนื่องจากโจทก์เป็นผู้เยาว์โดยจะรอให้บรรลุนิติภาวะเสียก่อน แต่ น. มารดาของโจทก์เดือดร้อนเรื่องเงินจึงมาขอแบ่งปันทรัพย์มรดก โดยยอมรับเอาบ้าน 1 หลัง เงิน 10,000 บาท และ วัว 4 ตัว เพื่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับที่ดินทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจปกครองโจทก์ผู้เป็นบุตรซึ่งไม่บรรลุนิติภาวะจำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในฐานะทายาทที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นนิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่มารดาของโจทก์ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (4) แต่มารดาของโจทก์ไปตกลงแบ่งทรัพย์มรดกโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะที่ น. มารดาของโจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นอ้างได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และ 252 และถือไม่ได้ว่าการจัดการมรดกสิ้นสุดลง เมื่อฟ้องโจทก์เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกจึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินพิพาท อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่สิทธิของโจทก์ผู้ได้มานั้นยังมิได้จดทะเบียน มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โดยตามคำฟ้องของโจทก์มิได้ยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยมิได้เสียค่าตอบแทนและโดยไม่สุจริต และมิได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต ถือว่าคำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะหักล้างบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินทรัพย์มรดกมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต โจทก์จึงไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1284/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิ้นสุดสัญญาเช่านา ศาลบังคับรื้อถอนทรัพย์สินออกจากที่ดิน
ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องขอให้บังคับผู้คัดค้านขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมกับรื้อถอนบ้านออกไปจากที่นาพิพาท จึงเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ มาตรา 1 (3) และเมื่อผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านจึงเป็นคดีมีข้อพิพาท หาใช่ผู้ร้องทั้งสามมิได้ฟ้องขอให้บังคับขับไล่และรื้อถอน คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาเพียงให้บังคับตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลจึงมิได้วินิจฉัยตามคำฟ้องของผู้ร้องทั้งสามทุกข้อไม่ชอบด้วยมาตรา 142 เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตามมาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) โดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ ซึ่งเมื่อสัญญาเช่านาพิพาทสิ้นสุดลงแล้ว ผู้คัดค้านย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในที่นาพิพาทของผู้ร้องทั้งสามต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการยึดทรัพย์สินของผู้มีชื่อเป็นเจ้าของในทะเบียน แม้ไม่ใช่ตัวการโดยตรง
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาขอให้ยึดทรัพย์สินที่อ้างว่าเป็นของจำเลยลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีชื่อบุคคลอื่นเป็นเจ้าของในทะเบียน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการยึด เป็นกรณีโจทก์ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์สินนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 298 วรรคสาม หาใช่กรณีที่จะกระทำได้โดยมีคำสั่งอายัดก่อนดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกคำสั่งอายัดก่อน เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นของจำเลยแล้วจึงให้ยึดเพื่อขายทอดตลาดต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 612/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการขอให้ปล่อยที่ดินจากการบังคับคดี: อำนาจยื่นคำร้อง, ระยะเวลา, และเหตุสุดวิสัย
ผู้ร้องทั้งสองบรรยายคำร้องว่า ผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลในคดีแพ่งโดยจำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งได้มีการแบ่งการครอบครองกันเป็นส่วนสัด อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองกล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทบางส่วนเป็นของตน ขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่ ส. และผู้ร้องที่ 2 หาได้ระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องที่ 1 ด้วยไม่ ผู้ร้องที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจของ ล. ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวเท่านั้น แม้ต่อมา ล. ถึงแก่ความตาย ก็ไม่ทำให้ผู้ร้องที่ 1 มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ในฐานะส่วนตัว เมื่อผู้ร้องที่ 1 ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ ปัญหาเรื่องอำนาจยื่นคำร้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
ศาลพิพากษาตามยอม โดยจำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่ผู้ร้องที่ 2 ผู้ร้องที่ 2 จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 แต่การที่ผู้ร้องที่ 2 จะขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 323 นั้น เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้บุคคลที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินที่ยึดยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้น แต่ถ้าไม่สามารถยื่นคำร้องขอภายในระยะเวลาดังกล่าว บุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอเมื่อพ้นระยะเวลาเช่นว่านั้นได้ก็ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และได้ยื่นคำร้องขอไม่ช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรก เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยบุคคลนั้นจะยื่นคำร้องขอในภายหลังก็ได้ แต่จะต้องยื่นเสียก่อนขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินนั้น คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 และประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทนัดที่ 1 ในวันที่ 25 กันยายน 2561 และมีการงดการบังคับคดีไว้ ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2561 จึงพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่มีการยึดทรัพย์สินนั้นและช้ากว่าเจ็ดวันก่อนวันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไว้เพื่อการขายทอดตลาดซึ่งทรัพย์สินนั้นเป็นครั้งแรกแล้ว การที่ผู้ร้องที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนในกรณีนี้ได้ ผู้ร้องที่ 2 จะต้องอ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอได้ทันภายในกำหนด แต่ตามคำร้องผู้ร้องที่ 2 คงอ้างแต่เพียงว่า ที่ดินพิพาทบางส่วนเป็นของผู้ร้องที่ 2 ตามคำพิพากษาตามยอมคดีแพ่งของศาลจังหวัดหนองคาย โดยไม่ได้อ้างถึงเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องได้ภายในกำหนดแต่อย่างใด ผู้ร้องที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3273/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าสินไหมทดแทนทางอาญาจำกัดเฉพาะความเสียหายจากการกระทำความผิดที่ถูกฟ้องเท่านั้น ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้
การที่ผู้เสียหายจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะต้องเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องร้องเท่านั้น จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดที่ไม่ถูกฟ้องไม่ได้ เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ผู้ร้องที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ และค่าขาดไร้อุปการะได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246, 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1938/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ และความรับผิดของผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ.มาตรา 686
บันทึกการส่งมอบรถยนต์มีข้อความว่า ข้าพเจ้าประสงค์ขอเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ตามสัญญาเช่าซื้อคืนแก่โจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 ข้าพเจ้าสัญญาว่าจะรับผิดชอบที่จะปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อกรณีที่เจ้าของได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการบอกเลิกสัญญาของข้าพเจ้า โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่า บันทึกการส่งมอบรถยนต์เพื่อเลิกสัญญา และระบุสถานที่รับรถว่า เป็นการส่งมอบคืน ณ ภูมิลำเนาของโจทก์ เมื่อสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 9 กำหนดว่า ผู้เช่าซื้อฝ่ายเดียวจะบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ โดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนให้เจ้าของ ณ ภูมิลำเนาของเจ้าของ และผู้เช่าตกลงที่จะชำระบรรดาหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันบอกเลิกสัญญาแก่เจ้าของจนครบถ้วน และหากเจ้าของนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขาย หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชำระส่วนที่ขาดนั้นให้แก่เจ้าของจนครบถ้วน การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ค้ำประกันย่อมแปลความหมายได้ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้เจ้าของ และตกลงจะรับผิดในบรรดาหนี้ที่เกิดขึ้นจากการบอกเลิกสัญญา อันเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อ 9 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันตามข้อสัญญาดังกล่าว หาใช่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยคู่สัญญาสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดราคาได้
จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลาภายหลัง ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด การที่โจทก์เพิ่งมีหนังสือแจ้งสิทธิการซื้อทรัพย์สินลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 ส่งไปยังจำเลยที่ 2 ตามที่อยู่ที่ปรากฏตามสัญญาค้ำประกันโดยหนังสือดังกล่าวถูกส่งคืนกลับต้นทาง และโจทก์ขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ 2 อีกครั้ง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559 โดยจำเลยที่ 2 ได้รับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลา 60 วัน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์อันเป็นค่าสินไหมทดแทนเพียง 60 วัน เท่านั้น ส่วนค่าขาดราคาถือเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ค่าขาดราคา ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกและค่าเช่าทรัพย์สินระหว่างทายาทตามกฎหมาย โดยพิจารณาจากพินัยกรรมและสิทธิของทายาทโดยธรรม
บ. ห. และโจทก์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน บ. ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพร้อมบ้านและตึกแถวให้แก่ ห. เมื่อ บ. ถึงแก่ความตายทรัพย์สินดังกล่าวจึงตกทอดแก่ ห. ต่อมา ห. ถึงแก่ความตายโดยไม่มีภริยาและบุตร ทรัพย์สินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทโดยธรรม คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คือ โจทก์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของ บ. ที่รับมรดกแทนที่ บ. แม้จะเป็นทรัพย์สินเดียวกันก็ตาม โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินและเงินค่าเช่า 1 ใน 2 ส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในสัญญาซื้อขาย แม้การโอนกรรมสิทธิ์ถูกขัดขวางจากการกระทำของลูกจ้าง (จำเลยที่ 2) การปลอมเอกสารไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นความรับผิด
โจทก์ไม่ได้ตกลงโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทให้แก่จำเลยร่วมเนื่องจากจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จะขายจึงมีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ตามกำหนด ย่อมถือว่าเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา และเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 จะยกเรื่องตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจขึ้นกล่าวอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ นอกจากนี้เมื่อการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หาใช่เป็นเรื่องเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากการชำระหนี้ไม่
การกระทำของจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องให้รับผิดในมูลสัญญา มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งปัญหาว่าจำเลยที่ 2 จะรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อที่ดินของผู้เช่านา: การปฏิเสธบังคับตามคำวินิจฉัย คชก. หากผู้เช่าไม่ได้ทำนาเอง
คำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดถือว่าเป็นคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และการพิจารณาพิพากษาตามคำวินิจฉัยของ คชก. จังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ ศาลจึงมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ถ้าการบังคับจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 41 และมาตรา 44
เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มุ่งช่วยเหลือคุ้มครองเกษตรกรผู้เช่านาซึ่งเป็นผู้ทำนาโดยเฉพาะให้ได้สิทธิในที่ดินที่ตนทำนา เมื่อโจทก์ผู้เช่านาพิพาทผิดสัญญามิได้ทำนาด้วยตนเองแต่นำไปให้ผู้อื่นเช่าช่วง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เช่านาเพื่อทำนาโดยแท้จริง ต้องถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เช่าตามความหมายในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะซื้อนาพิพาทจากจำเลยผู้รับโอนตามมาตรา 54 การที่โจทก์ฟ้องบังคับซื้อนาจากจำเลยเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และการบังคับตามคำชี้ขาดของ คชก. จังหวัดที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อนาพิพาทเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้
ราคาตลาดที่จำเลยยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธราคาที่โจทก์ขอซื้อที่นาไม่ใช่ทุนทรัพย์ที่จำเลยเรียกร้อง แม้จำเลยอุทธรณ์และฎีกาก็หาต้องเสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ตามราคาตลาดที่กล่าวอ้างไม่
of 414