คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 246

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4,138 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิทายาทเรียกร้องแบ่งมรดก แม้ไม่มีชื่อในโฉนด และการฟ้องแบ่งมรดกต้องทำพร้อมกันทั้งหมด
แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกทั้งสามแปลง แต่ที่จำเลยทั้งสองคัดค้านมิให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ทั้งมิได้ขอเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้ไม่มีผู้มีหน้าที่ทำการแบ่งปันที่พิพาทดังกล่าว นอกจากนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 ยังให้สิทธิแก่ทายาทที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ ทั้งจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่ามีที่ดินเพียงสองแปลงที่เป็นที่ดินมรดก ส่วนที่ดินอีกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดก ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินรวมสามแปลงเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดก การแบ่งปันมรดกต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันที่ดินแปลงเดียวแก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนเป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2611/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ - ดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย - ความสงบเรียบร้อย - ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการ
แม้อนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจะมีคำชี้ขาดในวันที่ 24 กันยายน 2555 ก็ตาม แต่เมื่อกรณียังสามารถอุทธรณ์คำชี้ขาด แก้ไขข้อผิดพลาดข้อผิดหลงเล็กน้อย หรือตีความอธิบายข้อความหรือส่วนหนึ่งส่วนใดในคำชี้ขาดโดยคณะกรรมการอุทธรณ์ได้ และผู้คัดค้านเองก็เป็นฝ่ายอุทธรณ์คำชี้ขาดต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีหนังสือคัดค้านคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์รวม 3 ครั้ง จนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำชี้ขาดฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมลงวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ดังนั้น คำชี้ขาดวันที่ 24 กันยายน 2555 จึงยังไม่มีผลผูกพันเป็นยุติอันอาจมีคำร้องขอให้บังคับตามได้ดังที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ แต่ต้องถือเอาตามคำชี้ขาดและคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมสองฉบับหลัง เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการอุทธรณ์ด้านเทคนิคแห่งสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศฉบับวันที่ 28 สิงหาคม 2556 และคำชี้ขาดฉบับแก้ไขเพิ่มเติมวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางในวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จึงอยู่ภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42
สำหรับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทำนองว่า สัญญาขายฝ้ายดิบระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านใช้เงื่อนไข "invoice back" ในอันที่จะได้รับค่าสินค้าโดยไม่ต้องส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ ถือเป็นข้อตกลงให้ผู้ซื้อต้องรับผิดมากกว่าที่กฎหมายกำหนดอันถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย การตกลงให้ใช้กฎหมายอังกฤษและอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศจึงเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามกฎหมายไทย ข้อกำหนดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายอนุญาโตตุลาการและกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแห่งสากลเนื่องจากอนุญาโตตุลาการขาดความอิสระและเป็นกลาง กระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศเป็นกระบวนการที่ปราศจากการสืบพยานบุคคล จึงไม่มีการนำเรื่องความผิดปกติของราคาฝ้าย ที่เกิดจากการปั่นราคามาวินิจฉัย ทั้งเมื่อกระบวนการอนุญาโตตุลาการผิดพลาดโดยลงลายมือชื่อไม่ครบองค์คณะ ก็หาทางกลบเกลื่อนแก้ไขสิ่งที่ไม่ชอบให้กลับเป็นชอบ และการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการชั้นอุทธรณ์แต่งตั้งโดยประธานสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศโดยมิได้รับความยินยอมหรือความเห็นจากคู่พิพาทนั้น เห็นว่า เป็นการอุทธรณ์เกี่ยวกับข้อกำหนดกระบวนการอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศทำนองว่าไม่เป็นสากลและไม่เป็นกลาง กับโต้แย้งในเนื้อหาของสัญญาและดุลพินิจในการวินิจฉัยว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านกระทำผิดสัญญาหรือไม่ ซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ อันมิใช่การโต้แย้งกรณีใดกรณีหนึ่งดังที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการของสมาคมฝ้ายระหว่างประเทศ นั้น ปรากฏว่าเงินดังกล่าวเป็นยอดรวมของเงินส่วนต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาตลาด และเงินดอกเบี้ยของเงินส่วนต่างดังกล่าวตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ อันเป็นการพิพากษาโดยให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด เนื่องจากมีการนำส่วนของดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดมารวมเป็นเงินต้นในการคำนวณดอกเบี้ยต้องห้าม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ซึ่งศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ผู้คัดค้านไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งอุทธรณ์ในคดีอาญา: ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยเสียค่าธรรมเนียมในการส่งจะไม่ชอบด้วยบทกฎหมาย แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยได้เพราะไม่พบภูมิลำเนาของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เขียนแผนที่แสดงภูมิลำเนาจำเลยเพื่อประกอบดุลพินิจก่อนจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยต่อไป จึงเป็นคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แถลงพร้อมแผนที่สังเขป แต่โจทก์แถลงส่งแผนที่ที่ระบุเพียงว่าเป็นตึก 2 ถึง 3 ชั้น โดยไม่ระบุเลขที่บ้านของอาคารดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้โจทก์แสดงแผนที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง โจทก์ก็ยื่นคำแถลงโดยไม่ได้ส่งแผนที่ตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม โจทก์ยื่นคำแถลงและส่งแผนที่ลักษณะเดิม พฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นการทิ้งอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2), 246พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาใช้บังคับในศาลชั้นต้น แต่กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ดังกล่าวบังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับ ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว และ ป.วิ.อ. ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทิ้งอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบ พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 4 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1490/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักค่าสินไหมทดแทนนอกฟ้อง: ศาลอุทธรณ์แก้ไขได้เพื่อความเป็นธรรม
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดเฉพาะค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ การที่ศาลชั้นต้นนำค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่ทรัพย์สินซึ่งโจทก์ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยและมิได้ฟ้องเรียกร้องจากจำเลยมาหักออกจากค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษา จึงเป็นการนำค่าสินไหมทดแทนนอกฟ้องนอกประเด็นและคนละประเภทกันมาหักจากค่าสินไหมทดแทนในคดีเกินกว่าสิทธิที่โจทก์เรียกร้องและจะได้รับ มีผลทำให้ความรับผิดของจำเลยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อความเป็นธรรมแก่โจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มิใช่เป็นการพิพากษาให้จำเลยทั้งสามรับผิดเพิ่มขึ้นอันจะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องที่ผู้ฟ้องลงลายมือชื่อเอง แม้ไม่มีชื่อผู้เรียงฟ้อง ก็ถือเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ ไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย
ขณะโจทก์ฟ้องคดีไม่ได้แต่งตั้งทนายความช่วยดำเนินคดี โจทก์ลงชื่อเป็นโจทก์ด้วยตนเอง และมีชื่อโจทก์กับลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้เขียนหรือพิมพ์ด้วย จึงพอฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้เรียงฟ้องดังกล่าว แม้โจทก์ไม่ได้ลงชื่อในช่องผู้เรียง ก็ยังไม่ถึงกับกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนจนต้องยกฟ้องโจทก์
คดีมีประเด็นพิพาทในชั้นฎีกาเพียงว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่พึงรับพิจารณาให้หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายแก้ฎีกาและการทิ้งฟ้อง: ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจำหน่ายคดีเนื่องจากความเข้าใจผิดเรื่องค่าธรรมเนียม
ในชั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาและฎีกาของโจทก์ มิได้กำหนดให้โจทก์นำส่งสำเนาคำร้องและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฎีกาแม้ศาลชั้นต้นระบุในรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดฟังคำสั่งศาลฎีกาดังกล่าวซึ่งทนายโจทก์มาศาลว่า ...หมายแจ้งจำเลยทั้งสองแก้ฎีกา ให้โจทก์นำส่ง ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดหมายได้ แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ในการนำส่งหรือวางค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการส่งหมายนัดแจ้งจำเลยทั้งสองให้แก้ฎีกาว่าให้โจทก์ดำเนินการภายในเวลาเท่าใด ซึ่งหากโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติก็จะเป็นเหตุให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจำหน่ายฎีกาของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 การที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ทนายโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และเจ้าหน้าที่เคยโทรศัพท์แจ้งให้มาดำเนินการส่งหมายแล้ว แต่โจทก์หรือทนายโจทก์ไม่ได้มาดำเนินการนั้น ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดในการติดต่อโทรศัพท์ว่าทนายโจทก์แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ศาลว่าอย่างไร เหตุใดจึงไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาล เนื่องจากในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องและคำบังคับ โจทก์ก็เพียงแต่วางค่าธรรมเนียมในการส่งเท่านั้น ทนายโจทก์อาจเข้าใจว่าได้วางค่าธรรมเนียมในการส่งไว้ตั้งแต่วันยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาแล้ว จึงไม่ดำเนินการนำเจ้าหน้าที่ไปส่งหมายนัดให้แก่จำเลยทั้งสองและไม่วางเงินค่าธรรมเนียมในการส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้นอีก ตามพฤติการณ์จะถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีอันเป็นการทิ้งฟ้องตามมาตรา 174 (2) หาได้ไม่ จึงยังไม่สมควรจำหน่ายฎีกาของโจทก์ด้วยเหตุทิ้งฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7018/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและการไม่มีอำนาจฟ้องคดีใหม่ หากศาลพิพากษายกฟ้องในคดีอาญา
มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า ในส่วนคดีอาญาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกฟ้อง เป็นผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์อีกต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นในคดีริบทรัพย์สินตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ดำเนินกระบวนพิจารณามีคำสั่งริบทรัพย์สินโดยมิชอบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและคืนเงินที่ริบแก่โจทก์ต่อไป โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่ยื่นฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5658/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาบริการ - การคำนวณหนี้ต่างสกุล - ดอกเบี้ย - การใช้สิทธิไม่สุจริต
ตามสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้อง โจทก์และจำเลยตกลงชำระหนี้แก่กันเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น แต่จำเลยจะส่งใช้เป็นเงินไทยได้ก็โดยคิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินไทยและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นเงินไทยอาจมีผลให้จำเลยต้องชำระหรือโจทก์ได้รับชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้เงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง หากว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับเงินไทยจำนวนน้อยกว่า 23.93 บาท ซึ่งจะเป็นผลให้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5225/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสูงเกินควร ศาลลดเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 383 และวินิจฉัยสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการผิดสัญญา
เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 391 วรรคสี่ การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันตามสัญญาเช่าพื้นที่ ข้อ 4.1 วรรคสองว่า หากผู้เช่าผิดนัดชำระค่าเช่า... และหากการผิดนัดดังกล่าวดำเนินไปเกินกว่า 30 วัน ถือว่าผู้เช่าจงใจประพฤติผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าฉบับนี้ได้ทันที และผู้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินที่ผู้เช่าได้ชำระให้แก่ผู้ให้เช่ามาแล้วทั้งหมด และที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงกันตามสัญญาบริการ ข้อ 5.3 ว่า ผู้รับบริการยินยอมให้ผู้ให้บริการริบเงินประกันการบริการได้ทันที หากผู้รับบริการผิดข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาบริการฉบับนี้หรือสัญญาเช่าพื้นที่ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบค่าเช่าและค่าประกันการบริการที่โจทก์ชำระในงวดแรกได้ แต่ข้อตกลงตามสัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 ถึงมาตรา 381 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทั้งสองทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้วเห็นสมควรลดเบี้ยปรับในส่วนที่เป็นค่าเช่าพื้นที่ลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน ค่าประกันการบริการลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 398,816 บาท จำเลยที่ 2 ต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 17,284 บาท และการที่จำเลยทั้งสองริบเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมดไว้เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยทั้งสองต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048-5049/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยเพิกเฉยต่อคำสั่งชำระค่าขึ้นศาลศาลฎีกาสั่งทิ้งฟ้องฎีกา
คดีนี้ศาลฎีกาสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ว่า ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นเรียกคู่ความทั้งสองฝ่ายมาสอบถามราคาทรัพย์ทั้งหมดตามพินัยกรรมและให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลทั้งสองสำนวนให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด มิฉะนั้นให้ส่งสำนวนและคำพิพากษาคืนศาลฎีกา ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันดังกล่าว จำเลยทั้งสามทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าจำเลยทั้งสามทิ้งฟ้องฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
of 414