คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
บวร กุลทนันทน์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 68 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีอาญาต้องเปิดเผยต่อจำเลย การรับฟังพยานหลักฐานลับหลังจำเลยเป็นโมฆะ
การพิจารณาและสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์หรือพยานจำเลยจะต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร จะอนุญาตให้จำเลยไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และมาตรา 172 ทวิ
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล และทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแล้ว ศาลชั้นต้นไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดลับหลังจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยให้ทนายจำเลยทั้งสองแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ส. เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ของกลางผลการตรวจพิสูจน์เป็นเมทแอมเฟตามีนตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์ ที่โจทก์ส่งศาลและโจทก์แถลงไม่สืบพยานโจทก์ปากดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มาศาลและให้การปฏิเสธไม่มีโอกาสโต้แย้งหรือต่อสู้คดีได้ว่ายาเสพติดให้โทษของกลางมิใช่เมทแอมเฟตามีนตามแบบรายงานผลการตรวจพิสูจน์อันจะเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 183/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ แก้ไขคำให้การนอกกรอบเวลา: ศาลไม่รับแก้คำให้การหากไม่ใช่เหตุเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
จำเลยทั้งแปดขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์ไม่ได้ออกสแตนบายเลตเตอร์ออฟเครดิต โจทก์ไม่ได้ชำระเงินให้แก่ธนาคารสแกนดิเนเวีย เอ็นไคด้าหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้ กับฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ล้วนเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งแปดยกข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในเรื่องที่จำเลยทั้งแปดย่อมทราบดีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อได้รับสำเนาคำฟ้องของโจทก์ ซึ่งจำเลยทั้งแปดอาจยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องดังกล่าวได้ตั้งแต่ยื่นคำให้การครั้งแรก และการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การดังกล่าวนั้นแม้เป็นเหตุที่อาจมีผลต่อจำเลยทั้งแปด แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะรับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การที่มิได้ยื่นก่อนวันชี้สองสถานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8627/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงอนุญาโตตุลาการในสัญญาบริการ, สิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงาน, การแบ่งแยกข้อพิพาท
ตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาระบุใจความว่า "ข้อสัญญานี้จะได้รับการตีความภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดแจ้งข้อพิพาทเป็นลายลักษณ์อักษรให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งอนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนจะได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันของทั้งสองฝ่ายภายในสามสิบวันนับแต่แจ้งข้อพิพาท" กรณีดังกล่าวจึงเป็นการตกลงที่จะให้มีอนุญาโตตุลาการหนึ่งคนเป็นผู้ระงับข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาโดยตีความตามกฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา การที่จะต้องแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ระงับข้อพิพาท จึงต้องเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษาซึ่งหากมีปัญหาเกี่ยวกับการตีความสัญญาก็จะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายของอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา และเป็นผลให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะนำข้อพิพาทดังกล่าวไปฟ้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนที่จะใช้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดไม่ได้ตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 บัญญัติไว้ เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญานั้นได้ แต่ตามคำฟ้องโจทก์ส่วนที่อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์ทำงานติดต่อกันเกินกว่าสามปีจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์โดยจงใจหรือโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จึงขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมเงินเพิ่มและค่าชดเชย อันเป็นการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9, 17, 70 และมาตรา 118 และขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงมิใช่เป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทซึ่งเกิดจากสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา แต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานได้
สำหรับคำฟ้องโจทก์ที่โจทก์ขอเรียกค่าขาดประโยชน์จากการทำงานที่เหลืออยู่ตามสัญญาจึงเป็นการฟ้องเกี่ยวกับกรณีพิพาทตามสัญญาให้บริการเป็นที่ปรึกษา จึงต้องเป็นไปตามข้อสัญญาที่จะต้องให้อนุญาโตตุลาการอิสระหนึ่งคนที่ได้รับการแต่งตั้งโดยการตกลงร่วมกันระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ชี้ขาดก่อนตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธินำคดีส่วนนี้มาฟ้องต่อศาลแรงงานกลางได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8432/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดโทษพยายามกระทำความผิดทางอาญา: คำนวณจากอัตราโทษขั้นต่ำ-สูงสุด หรือจากโทษที่ศาลกำหนด?
ป.อ. มาตรา 80 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" หมายถึง การกำหนดโทษที่จะลงโดยคำนวณโทษจากสองในสามของอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโทษสองในสามส่วนของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 คือโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี 8 เดือน ถึง 13 ปี 4 เดือน หรือจำคุก 33 ปี 4 เดือน ที่ศาลกำหนดโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น จึงเป็นการกำหนดโทษจำคุกในระหว่างโทษขั้นต่ำและขั้นสูงโดยคำนวณโทษจากสองในสามของอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดแล้ว มิใช่กำหนดโทษความผิดสำเร็จ ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษที่จะลงไว้ก่อนแล้วจึงคำนวณโทษสองในสามส่วนจากโทษที่ได้กำหนดไว้นั้นดังเช่นบัญญัติไว้ตาม ป.อ. มาตรา 54 ซึ่งเป็นเรื่องการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงจากโทษที่ได้กำหนดไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8402/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าชดเชยครูชาวต่างประเทศเมื่อสัญญาจ้างสิ้นสุดตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
การที่จำเลยจ้างโจทก์ซึ่งเป็นครูชาวต่างประเทศเป็นลูกจ้างทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียนของจำเลยตั้งแต่ปี 2540 และต่อสัญญาจ้างรายปีเรื่อยมาจนถึงสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายสำหรับปีการศึกษา 2547 ถึง 2548 โดยในขณะนั้นระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติตัดสิทธิในการได้รับค่าชดเชยของครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้าง แต่ในระหว่างสัญญาฉบับสุดท้ายยังมีผลได้มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ประกาศใช้บังคับแล้ว โดยระเบียบดังกล่าว ข้อ 3 บัญญัติให้ยกเลิกความในข้อ 35 แห่งระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "ข้อ 35 ครูไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย เพราะเหตุดังต่อไปนี้...(2) ครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง..." ดังนั้น เมื่อสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นสัญญาจ้างตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 8 วรรคหนึ่ง ได้ครบกำหนดตามสัญญาจ้างในเดือนพฤษภาคม 2548 และจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทำงานต่อไปจึงเป็นกรณีที่โจทก์ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 35 (2) ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 ข้อ 3 ซึ่งสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเป็นสิทธิทางแพ่งที่เกิดขึ้นเมื่อถูกเลิกสัญญาการเป็นครู เมื่อโจทก์ถูกเลิกสัญญาการเป็นครูเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างภายหลังระเบียบกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าวใช้บังคับโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8323/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง: ศาลต้องส่งคำร้องให้ผู้พิพากษาพิจารณาก่อนรับฎีกา และข้อจำกัดในการย้อนสำนวน
เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์คนใดคนหนึ่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งคำร้องของจำเลยพร้อมสำนวนไปให้ผู้พิพากษาตามที่จำเลยระบุเพื่อพิจารณาคำร้องของจำเลยจนครบ เว้นแต่จะมีผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงครบทุกประเด็นตามที่จำเลยต้องการแล้ว เมื่อปรากฎว่ามีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาบางประเด็น ไม่อนุญาตบางประเด็น ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในประเด็นที่มีผู้อนุญาตทันทีโดยไม่ส่งคำร้องของจำเลยพร้อมสำนวนไปให้ผู้พิพากษาคนอื่นตามคำร้องของจำเลยพิจารณาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 221
ปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยขอให้ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกานั้น ต้องเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันแล้วโดยชอบในศาลล่าง เมื่อปรากฎว่าปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยขอให้รับรองนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้นเพราะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนลงไปเพื่อให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องของจำเลยไปให้ผู้พิพากษาคนอื่นพิจารณาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6960/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้าง ผู้รับจ้างขนส่งน้ำมัน การจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย
การทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานขับรถขนส่งน้ำมันให้จำเลยแม้จะไม่ได้กำหนดเวลาทำงานไว้แต่ก็กำหนดโดยใช้ผลงานเป็นเกณฑ์ ซึ่งการจะทำผลงานให้ได้ตามเกณฑ์ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45 เที่ยว โจทก์จะต้องมาทำงานภายในช่วงเวลาทำงานที่จำเลยกำหนดไว้นั่นเอง มิได้มีอิสระที่จะปฏิบัติงานในเวลาใดหรือไม่ก็ได้ สินจ้างที่โจทก์ได้รับเป็นรายเที่ยวก็เป็นผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 60 โจทก์จึงเป็นลูกจ้างจำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 และตามสัญญาจ้างแรงงาน และแม้ว่าตามสัญญาขนส่งน้ำมันจะเรียกโจทก์ว่า "ผู้รับจ้าง" และเรียกจำเลยว่า "ผู้ว่าจ้าง" ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายไปได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6942/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้าง: การควบคุมดูแลการทำงานและระเบียบปฏิบัติบ่งชี้ถึงความเป็นลูกจ้าง
โจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ 11/2545 เรื่อง บริษัท บ. อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545 โดยอ้างเหตุว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับผู้รับจ้างขนส่งเป็นสัญญาจ้างทำของมิใช่สัญญาจ้างแรงงาน คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายเนื่องจากไม่อยู่ในขอบอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่ง โดยผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดไว้ และยังต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน ในระหว่างการขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้า ณ สถานที่ของลูกค้า การลงน้ำมันทั่วไปแล้ว ยังต้องห้ามความประพฤติและการกระทำบางอย่าง เช่น ห้ามแสดงกริยามารยาทหรือวาจาไม่สุภาพ ห้ามเล่นการพนันภายในพื้นที่ และห้ามก่อการทะเลาะวิวาททำร้าย หรือ พยายามทำร้ายผู้อื่น ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาซึ่งมีบทลงโทษไว้ ตั้งแต่การแจ้งตัวแทนผู้รับเหมาเพื่องดให้งาน 3 วัน ไปจนถึงส่งตัวบุคคลนั้นคืนบริษัทต้นสังกัด จนถึงเลิกสัญญาจ้าง การลาหยุดงานต้องระบุเหตุผลอันสมควร ในส่วนของค่าจ้าง ขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้งเป็นลักษณะของค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วยงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 60 ดังนั้นการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงมิได้เป็นเพียงผู้รับจ้างโดยอิสระ แต่ต้องปฏิบัติภายใต้ระเบียบปฏิบัติของโจทก์ที่กำหนดขึ้นในลักษณะเดียวกับการทำงานของลูกจ้างทั่วไป การวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ที่ 3/2545 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2545 และการวินิจฉัยอุทธรณ์ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ 11/2545 เรื่อง บริษัท บ. อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2545 จึงชอบด้วยอำนาจและหน้าที่ตามที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (1) และมาตรา 23 แล้ว ไม่มีเหตุให้เพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6942/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้รับจ้างขนส่งเป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ศาลฎีกาตัดสินว่าเข้าข่ายสัญญาจ้างแรงงาน
การจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างกันหรือไม่นั้น นอกจากจะพิจารณาตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 5 และ ป.พ.พ. มาตรา 575 แล้วยังต้องปรากฏด้วยว่าลูกจ้างได้ปฏิบัติงานภายใต้ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นอำนาจบังคับบัญชาของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 อีกด้วย คดีนี้นอกจากศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์รับผู้รับจ้างขนส่งเข้าทำงานทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันจากคลังน้ำมันโรงกลั่นน้ำมันบริษัท บ. หรือตามที่โจทก์กำหนดให้ขนส่งไปยังผู้รับหรือสถานที่อื่นใดตามที่โจทก์จะแจ้งให้ผู้รับจ้างขนส่งทราบเป็นคราวๆ ไป การจ่ายค่าตอบแทนทั้งสองฝ่ายตกลงกำหนดอัตราค่าจ้างเป็นรายเที่ยวตามสัญญาขนส่งน้ำมัน การเข้าปฏิบัติงานหากผู้รับจ้างขนส่งไม่สามารถมาทำงานได้ให้แจ้งฝ่ายโจทก์เพื่อที่โจทก์จะได้จัดหาบุคคลอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนแล้วยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางอีกว่า เมื่อมีบุคคลมาสมัครเพื่อเป็นผู้รับจ้างขนส่ง โจทก์จะให้บุคคลดังกล่าวเขียนใบสมัคร และโจทก์จะตรวจสอบประสบการณ์คุณสมบัติของผู้สมัคร แล้วจะให้ส่วนคลังและขนส่ง บริษัท บ. ทดสอบการขับรถเพื่อออกใบอนุญาตให้ จากนั้นจึงจะทำสัญญาขนส่งน้ำมัน การทำงานของผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติตามระเรียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันเวลาปฏิบัติงานในแต่ละวันจะเริ่มตั้งแต่เวลา 18.30 นาฬิกา เมื่อผู้รับจ้างขนส่งมาที่ส่วนคลังและขนส่งบริษัท บ. แล้ว จะจับสลากเพื่อรับงานตามใบสั่งงานที่บริษัท บ. ออกให้แก่โจทก์ โดยผู้รับจ้างขนส่งจะได้รับค่าขนส่งต่อเที่ยวไม่เท่ากัน แต่จะได้รับไม่ต่ำกว่าเที่ยวละ 250 บาท โจทก์ได้คัดลอกข้อความบางส่วนจากระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมันมาจัดทำเป็นข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาเพื่อใช้บังคับแก่ผู้รับจ้างขนส่ง และเคยจัดทำประกาศบริษัท จ. เรื่องระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่ง ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการทำงานของผู้รับจ้างขนส่งจะต้องเริ่มจากการเขียนใบสมัครเข้าทำงานกับโจทก์ก่อน แล้วจึงจะทดสอบการขับรถ จากนั้นจึงทำสัญญาขนส่งน้ำมันซึ่งตามสัญญาขนส่งน้ำมันแม้จะเรียกคู่สัญญาว่า "ผู้ว่าจ้าง" กับ "ผู้รับจ้าง" แต่ตามสัญญาข้อ 1.2 ระบุว่า "ผู้รับจ้างยินยอมจะปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบในการปฏิบัติอันเกี่ยวกับการขับรถขนส่งน้ำมันตามสัญญานี้ หรือที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมต่อไปภายหน้า เพื่อให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามที่ผู้ว่าจ้างได้กำหนดไว้" และตามข้อ 3.4 ก็ระบุไว้ทำนองเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้รับจ้างขนส่งจะต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดไว้แล้ว และที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมหลังจากการทำสัญญา และเมื่อโจทก์กำหนดให้ผู้รับจ้างขนส่งปฏิบัติตามระเบียบการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน ทั้งยังคัดลอกข้อความบางส่วนมาจัดทำเป็นข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมา จึงเป็นกรณีที่โจทก์นำระเบียบปฏิบัติของส่วนคลังและขนส่ง บริษัท บ. มาใช้บังคับแก่ผู้รับจ้างขนส่งในลักษณะเดียวกันเป็นระเบียบปฏิบัติของโจทก์ ซึ่งตามระเบียบปฏิบัติการใช้บริการศูนย์จ่ายน้ำมันและการจัดส่งน้ำมัน นอกจากจะระบุถึงระเบียบปฏิบัติภายในพื้นที่ศูนย์จ่ายน้ำมัน ในระหว่างการขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้า ณ สถานที่ของลูกค้า การลงน้ำมันโดยทั่วไปแล้ว ยังระบุถึงความประพฤติส่วนตัวที่ต้องห้ามแสดงกิริยา มารยาทหรือวาจาไม่สุภาพ ห้ามเล่นการพนันภายในพื้นที่ และห้ามก่อการทะเลาะวิวาททำร้ายหรือพยายามทำร้ายผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งตามข้อกำหนดสัญญาจ้างผู้รับเหมาระบุบทลงโทษไว้ตั้งแต่การแจ้งตัวแทนผู้รับเหมาเพื่องดให้งาน 3 วัน ไปจนถึงส่งตัวบุคคลนั้นคืนบริษัทต้นสังกัด และยังปรากฏว่าโจทก์เคยมีประกาศบริษัท จ. เรื่องระเบียบปฏิบัติและบทลงโทษสำหรับผู้บริการจัดส่ง ซึ่งกำหนดบทลงโทษแก่ผู้บริการจัดส่ง ตั้งแต่งดจ่ายงาน 3 วัน จนถึงเลิกสัญญาจ้าง ดังนั้น การปฏิบัติงานของผู้รับจ้างขนส่งจึงมิได้เป็นเพียงผู้รับจ้างโดยอิสระ แต่ยังคงต้องปฏิบัติงานภายใต้ระเบียบปฏิบัติของโจทก์ที่กำหนดขึ้นในลักษณะเดียวกับการทำงานของลูกจ้างทั่วไป ส่วนที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าผู้รับจ้างขนส่งจะขนส่งน้ำมันตามคำสั่งที่โจทก์ได้กำหนด อัตราค่าจ้างจะขึ้นอยู่กับการทำงานแต่ละครั้งหากไม่มาทำงานก็ไม่ได้ค่าจ้าง กำหนดวันทำงานไม่แน่นอน การหยุดงานวันใดเพียงแต่แจ้งให้ผู้ที่รับผิดชอบของโจทก์ทราบ ไม่ต้องได้รับคำสั่งอนุมัติให้หยุดงานหรือไม่ก่อนนั้น ก็ปรากฏตามสัญญาขนส่งน้ำมัน ข้อ 5.3 วรรคสอง ซึ่งระบุว่าผู้รับจ้างจะต้องประกันผลงานจำนวนเที่ยววิ่งขนส่งน้ำมันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 45 เที่ยว หากผู้รับจ้างไม่สามารถปฏิบัติได้ตามจำนวนเที่ยวที่ระบุไว้โดยไม่มีเหตุอันควร ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญา อีกทั้งโจทก์ยังได้จัดทำสมุดแจ้งการหยุดงานเพื่อบันทึกการลาหยุดงานของผู้รับจ้างขนส่ง ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวมีรายละเอียดของชื่อผู้หยุดงาน วันที่หยุด โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายจ้างของผู้รับจ้างขนส่งดังกล่าวตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6056/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดทำให้ขาดอำนาจฟ้อง คดีหมิ่นประมาท
จำเลยที่ 1 ขอร้องให้โจทก์ยอมรับสมอ้างว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 โดยบอกว่าจะไม่ทำให้โจทก์เดือดร้อนและจะสนับสนุนโจทก์ให้สอบเพื่อรับใบอนุญาตเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ โจทก์ไม่รับปาก ต่อมาจำเลยที่ 1 บอกว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยอมกลับจะขอพบโจทก์ โจทก์จึงตัดสินใจยอมรับสมอ้างตามที่จำเลยที่ 1 ขอร้อง โจทก์ไปพบจำเลยที่ 2 แสดงตัวรับสมอ้างว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 2 ไปบอก นาง ฉ. มารดาสามีโจทก์และ นาย ก. สามีโจทก์ว่าโจทก์เป็นชู้กับจำเลยที่ 1 โจทก์และนาย ก. ไปหาจำเลยทั้งสองที่บ้าน จำเลยที่ 1 ยืนยันว่าเรื่องที่จำเลยที่ 2 พูดนั้นเป็นความจริง ถือได้ว่าโจทก์สมัครใจที่จะให้จำเลยที่ 1 พูดว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน โจทก์จึงมีส่วนสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง
of 7