คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชัช ชลวร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 134 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลเกี่ยวกับการฟ้องคดีอย่างคนอนาถา: เฉพาะผู้ขอเท่านั้น
คำสั่งศาลเกี่ยวกับการฟ้องคดีอย่างคนอนาถา เป็นเรื่องระหว่างศาลกับผู้ขอไม่มีผลถึงคู่ความอื่น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิได้บัญญัติให้คู่ความอื่นที่มิได้ยื่นคำขอพิจารณาคดีอย่างคนอนาถามีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์บางส่วนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 694/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลเกี่ยวกับการขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถา: สิทธิมีเฉพาะผู้ขอ
คำสั่งศาลเกี่ยวกับการขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 เป็นเรื่องระหว่างศาลกับผู้ขอ ไม่มีผลถึงคู่ความอื่น หากขอฟ้องคดีหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาในศาลชั้นต้น แล้วศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา คำสั่งนั้นเป็นที่สุด หากศาลชั้นต้นยกคำขอหรืออนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้บางส่วน ผู้ขอมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภายในเจ็ดวันนับแต่วันมีคำสั่ง ส่วนคู่ความอื่นมิได้ยื่นคำขอพิจารณาคดีอย่างคนอนาถานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมิได้บัญญัติให้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 280/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรถบรรทุกไม่รู้เห็นการกระทำผิดฐานขนย้ายสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต สิทธิในการขอคืนของกลาง
จำเลยว่าจ้างให้ ท. ขับรถยนต์บรรทุกของผู้ร้องบรรทุกช้าง2เชือก ผ่านบริเวณด่านกักสัตว์ จึงถูกจับกุมดำเนินคดีฐานไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ มาตรา 4,34,49 ในชั้นร้องขอคืนของกลางจำเลยเบิกความเป็นพยานผู้ว่า จำเลยเป็นผู้ว่าจ้าง ท. เอง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นในการว่าจ้างบรรทุกช้างของจำเลย ซึ่งจำเลยเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับการยึดรถยนต์บรรทุกของกลาง จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ อีกทั้งความผิดคดีนี้อยู่ที่จำเลยไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายช้าง หาใช่ความผิดอยู่ที่การเคลื่อนย้ายไม่ กรณีจึงเชื่อได้ว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลย ต้องคืนรถยนต์บรรทุกของกลางแก่ผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 244/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าโทรศัพท์: ผู้เช่าต้องชำระค่าบริการค้างชำระ แม้โจทก์จะมิได้ปฏิบัติตามระเบียบการงดบริการโดยเคร่งครัด
แม้องค์การโทรศัพท์โจทก์จะมีระเบียบในการแจ้งเตือนให้ผู้เช่าที่ค้างชำระค่าเช่าใช้บริการตั้งแต่ 30 วัน นำเงินมาชำระภายใน 15 วัน หากไม่ชำระตามกำหนดหนังสือแจ้งเตือนแล้วเสนอผู้จัดการเพื่องดให้บริการก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นระเบียบภายในเพื่อให้พนักงานของโจทก์ปฏิบัติ ไม่ใช่ข้อที่จำเลยจะยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าเช่าที่ค้างแต่อย่างใด และการที่จำเลยต้องชำระเงินแก่โจทก์ก็เป็นการชำระค่าเช่าโทรศัพท์ที่ค้างชำระ มิได้เกิดจากการที่โจทก์แจ้งเตือนหรืองดให้บริการ ประกอบกับในสัญญาเช่าระบุว่า กรณีที่ผู้เช่าสงสัยว่าจำนวนเงินค่าใช้บริการโทรศัพท์ไม่ถูกต้อง ผู้เช่ามีสิทธิยื่นคำร้องขอตรวจสอบความถูกต้องได้ โดยผู้เช่าต้องชำระค่าบริการก่อน แต่จำเลยก็มิได้ทำการเช่นนั้น ฉะนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาการเช่าใช้บริการโทรศัพท์ เมื่อปรากฏว่ามีการใช้โทรศัพท์หมายเลขที่จำเลยเช่า จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเช่าที่ค้างชำระแก่โจทก์ ทั้งการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าใช้บริการที่ค้างชำระมิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะนำพฤติการณ์ที่โจทก์งดให้บริการล่าช้ามาพิจารณาประกอบในการกำหนดค่าเสียหายของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่ชัดเจน และประเด็นเพิ่มเติมไม่เป็นสาระต่อคดี
เนื้อหาฎีกาของโจทก์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญล้วนคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น คงมีส่วนเพิ่มเติมบ้างเล็กน้อยในรายละเอียด มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
แบบก่อสร้างของจำเลยได้รับอนุญาตจากกรุงเทพมหานครให้ก่อสร้างอาคารได้ แสดงว่าแบบก่อสร้างของจำเลยถูกต้อง การออกแบบเฉพาะห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำเมื่อก่อสร้างจริง ห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำมีระยะห่างจากแนวเขตที่ดินต่างเจ้าของน้อยกว่า 3 เมตร ขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร การแก้ไขแบบจึงน่าจะต้องแก้ไขเฉพาะ 2 ส่วนนี้ เมื่อโจทก์แก้ไขแบบในระหว่างการก่อสร้างตามความพอใจของโจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้พื้นที่ในอาคาร มิใช่แก้ไขเฉพาะส่วนที่จำเลยออกแบบขัดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครจึงอยู่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของจำเลย โจทก์มิอาจอ้างได้ว่าโจทก์ต้องออกแบบก่อสร้างใหม่ทั้งหมด อันจะพึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการออกแบบใหม่นอกเหนือไปจากการแก้ไขแบบในส่วนที่เกี่ยวกับความสูงของห้องหม้อแปลงไฟฟ้าและขอบสระว่ายน้ำ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ปัญหาที่ว่าจำเลยมิได้ควบคุมดูแลและตรวจสอบการปักผัง ขุดเจาะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจำเลยปฏิบัติงานในหน้าที่บกพร่อง ซึ่งโจทก์ยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ชำระค่าว่าจ้างหรือชำระค่าว่าจ้างแก่จำเลยน้อยลง แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งในประเด็นเรื่องค่าว่าจ้างที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลย แม้จะวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวก็ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นข้อฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6988/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการรุกล้ำที่ดินและดอกเบี้ย: การคำนวณค่าเสียหายและการจ่ายดอกเบี้ยที่ถูกต้อง
เมื่อกำหนดค่าเสียหายรายเดือนหลังจากวันฟ้อง อันเป็นค่าเสียหายในอนาคตให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามจำนวนที่ควรจะได้รับแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าดอกเบี้ยในค่าเสียหายรายเดือนนับแต่วันฟ้องอีก เพราะเป็นการซ้ำซ้อนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5679/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของรถยนต์ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายหากไม่ได้ครอบครองหรือควบคุมรถในขณะเกิดเหตุ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ที่กำหนดว่าบุคคลใดครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะใดอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น ผู้ครอบครอง หมายถึง ผู้ใช้ยานพาหนะนั้นในฐานะเป็นผู้ยึดถือในขณะเกิดความเสียหาย หรือเป็นผู้ครอบครองยานพาหนะนั้นอยู่ในขณะเกิดเหตุ ฉะนั้น เมื่อจำเลยมิได้เป็นผู้ขับหรือโดยสารไปในรถยนต์ด้วยแม้จะมีชื่อในทะเบียนเป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลรถยนต์คันเกิดเหตุตามความในมาตราดังกล่าว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5348/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสละสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากการผิดนัดชำระหนี้ และความชอบด้วยกฎหมายของการบังคับคดี
แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่า ในกรณีจำเลยทั้งสี่ผิดนัดยอมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากจำนวนที่ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำเลยทั้งสี่ผิดนัด แต่เมื่อถึงวันนัดพร้อมโจทก์แถลงต่อศาลว่า จะให้โอกาสจำเลยทั้งสี่อีกครั้งโดยให้ชำระเงินส่วนค้างทั้งหมดแก่โจทก์ส่วนที่เหลือให้ชำระตามวันเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยมิได้แถลงขอให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยในยอดเงินที่ค้างชำระด้วย แสดงว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยจากยอดเงินที่จำเลยทั้งสี่ผิดนัด ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยแสดงเจตนาแก่จำเลยทั้งสี่ว่าติดใจจะเรียกร้องดอกเบี้ยส่วนนี้แต่อย่างใด จนกระทั่งจำเลยทั้งสี่ชำระหนี้ทั้งหมดครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนเด็กและเยาวชนต้องมีนักจิตวิทยา/สังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการร่วมด้วย มิฉะนั้นการสอบสวนไม่ชอบ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ และ 134 ตรี เป็นบทบัญญัติสำหรับการสอบสวนเด็กและผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องแยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย ซึ่งเป็นการบังคับเด็ดขาดว่าต้องจัดให้มีบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่กรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งอันมีเหตุสมควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิวรรคห้า คดีนี้จำเลยกระทำผิดและถูกสอบสวนขณะมีอายุ 17 ปีเศษ ซึ่งปรากฏในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้สอบถามจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในขณะทำการสอบสวนว่าจำเลยมีทนายความหรือไม่ต้องการทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่มีทนายความ และไม่ต้องการผู้ใดเข้าร่วมฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงมิได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนด้วยซึ่งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งที่มีเหตุอันควรไม่อาจรอได้ ฉะนั้นการสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบ ถือว่ามิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นพนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดที่มิได้มีการสอบสวนก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนผู้ต้องหาอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีนักจิตวิทยา/สังคมสงเคราะห์ และอัยการร่วมด้วย หากไม่มีการสอบสวนโดยชอบ อำนาจฟ้องของอัยการเป็นโมฆะ
บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 134 ตรี หมายความว่า สำหรับการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีพนักงานสอบสวนจะต้องแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย อันเป็นการบังคับโดยเด็ดขาดว่าต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ตามมาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิวรรคห้า
จำเลยกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และถูกสอบสวนขณะมีอายุ 17 ปี 11 เดือน 14 วัน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิพนักงานสอบสวนได้สอบถามจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในขณะทำการสอบสวนว่า จำเลยมีทนายความหรือไม่ ต้องการทนายความหรือผู้ใดที่จำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ จำเลยตอบว่า จำเลยไม่มีทนายความและไม่ต้องการผู้ใดร่วมฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงมิได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนด้วย ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งที่มีเหตุอันควรไม่อาจรอได้ การสอบสวนจึงขัดต่อมาตรา 134 ตรีประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิ ถือว่ามิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา 120
of 14