คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สิทธิชัย พรหมศร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 146 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11554/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานยักยอกเงินค่าอาหารกลางวันของโรงเรียน: การปฏิบัติหน้าที่ราชการและความรับผิดทางอาญา
การที่ พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ.2535 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในกระทรวงการคลังจากเงินงบประมาณของแผ่นดิน โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน จัดสรรเงินของกองทุนดังกล่าวให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติทั่วประเทศเพื่อให้โรงเรียนประถมศึกษานำไปดำเนินการจัดอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือภาวะโภชนาการ และลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน แสดงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าประสงค์ให้การจัดอาหารกลางวันแก่นักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษา เป็นภาระหน้าที่หรืองานราชการส่วนหนึ่งของโรงเรียนประถมศึกษาด้วย ทั้งก่อนหน้านี้ยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโครงการอาหารกลางวันที่โรงเรียน พ.ศ.2509 ตลอดจนหนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติถึงผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดทุกจังหวัดแจ้งวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการรับจ่ายเงิน การลงบัญชี การรักษาเงินและการตรวจสอบเงินค่าอาหารกลางวันทั้งที่เป็นเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ (ส่วนที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองหรือมีผู้บริจาค) ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบและคำแนะนำของกรมบัญชีกลาง สรุปได้ว่าให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโครงการอาหารกลางวันของนักเรียนโดยให้มีอำนาจเรียกเก็บเงินค่าอาหารกลางวันจากนักเรียนได้ การรับเงินต้องออกใบเสร็จรับเงินของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ให้มีการลงบัญชี ผู้รับผิดชอบเก็บรักษาเงิน การนำเงินฝากเข้าบัญชีและเบิกจ่ายตามระเบียบที่ทางราชการกำหนดโดยให้ถือว่าเป็นเงินของทางราชการประเภทเงินนอกงบประมาณ แต่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยให้หัวหน้าสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเพื่อการจัดอาหารกลางวันโดยเฉพาะ เห็นได้ว่าการจัดโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา ไม่ว่าใช้เงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณล้วนเป็นการปฏิบัติราชการของสำนักงานการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียน การที่ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลระยองมีคำสั่งให้จำเลยซึ่งเป็นครูของโรงเรียนทำหน้าที่รับจ่ายและเก็บรักษาเงินค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเป็นการสั่งการหรือมอบหมายตามอำนาจของหัวหน้าสถานศึกษาให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่ราชการของโรงเรียนโดยชอบ การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย เมื่อจำเลยเบียดบังเอาเงินค่าอาหารกลางวันที่จำเลยมีหน้าที่จัดเก็บและรักษาไว้นั้นไปโดยทุจริต ย่อมเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6079/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอาคารชุด: แม้มีสิทธิฟ้อง แต่เมื่อมติหมดอายุแล้ว ศาลยกคำร้องได้
คำร้องของผู้ร้องทั้งสามที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ที่ลงมติแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ให้แก้ไขมติดังกล่าวเป็นลงมติแต่งตั้งให้ผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนั้นเป็นเรื่องเดียวเกี่ยวกับการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด แม้จะขอให้ศาลมีคำสั่งหลายอย่างดังกล่าวมา แต่ก็ถือเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าวาระการดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามมติที่ประชุมที่ผู้ร้องทั้งสามขอให้เพิกถอนได้สิ้นสุดลงไปแล้วและมีการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีครั้งใหม่ลงมติแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามวาระการดำรงตำแหน่งครั้งใหม่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับมติเดิมว่าชอบหรือไม่ชอบและควรเพิกถอนหรือไม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นสมควรยกคำร้อง ถือว่าเป็นการวินิจฉัยคำขอตามคำร้องครบถ้วนแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อีก
แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้กำหนดให้มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้ก็ตาม แต่ตามข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด ข้อที่ 32 ระบุว่า "ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมใหญ่อันเป็นบทบัญญัติในหมวดและส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้กับการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้" และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 อันเป็นบทบัญญัติในหมวดและส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัดได้บัญญัติว่า "ถ้าการประชุมใหญ่นั้นได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัท กรรมการหรือผู้ถือหุ้นมีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้น" ดังนั้นผู้ร้องทั้งสามจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า มติที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคลอาคารชุดที่ผู้ร้องทั้งสามขอให้เพิกถอนนั้นไม่มีประโยชน์อีกต่อไปเพราะหมดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้จัดการตามมตินั้นแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลชอบที่จะยกคำร้องขอเพิกถอนมตินั้นได้ทันที

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการกระทำผิดอาญา: จำเลยไม่มีเจตนาช่วยเหลือผู้กระทำผิดและไม่สามารถเล็งเห็นผลการกระทำ
ก. ถูกผู้ตายพูดดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ ก. มิได้แสดงอาการโกรธแค้นหรือพูดตอบโต้ เพียงแต่ลุกขึ้นจากเตียงเดินไปมาเท่านั้น การที่ผู้ตายพูดเสียงดังจนอาจทำให้จำเลยซึ่งดูโทรทัศน์อยู่บนบ้านได้ยินนั้น ก็เป็นเพียงความคาดเดาของบุคคลอื่นที่อยู่ด้วย จำเลยดูโทรทัศน์ก็ย่อมมีเสียงจากโทรทัศน์ดังอยู่แล้ว เสียงพูดของผู้ตายถึงแม้จะดังขึ้นไปถึงข้างบนบ้าน แต่ก็ไม่น่าจะทำให้จำเลยได้ยินจนจับใจความได้ เพียงแต่รู้ว่ามีเสียงพูดดังผิดปกติ จำเลยจึงลงมาสอบถามว่ามีเรื่องอะไรกัน เมื่อ ก. ถามถึงขวานตัดไม้ จำเลยก็หยิบส่งให้ ขณะนั้น ก. มิได้มีอาการโกรธแค้นจะทำร้ายผู้ตาย แต่เมื่อ ก. ได้ขวานแล้ว ก. ก็ใช้ขวานฟันผู้ตายโดยบุคคลอื่นไม่คาดคิด การที่ ก. ฟันผู้ตายในทันทีเป็นสิ่งที่จำเลยย่อมไม่อาจเล็งเห็นผลหรือประสงค์ต่อผลเช่นนั้น เพราะจำเลยเพิ่งลงมาจากบนบ้านเพื่อสอบถามถึงเสียงเอะอะโวยวายผิดปกติ บุคคลอื่นๆ ซึ่งรับรู้เหตุการณ์มาโดยตลอดก็ยังไม่คาดคิดว่า ก. จะใช้ขวานฟันผู้ตาย เพราะ ก. ไม่แสดงอาการโกรธแค้นให้เห็น เมื่อเกิดเหตุแล้วก็เป็นธรรมดาที่จำเลยต้องพา ก. ออกไปจากที่เกิดเหตุ เนื่องจาก ก. กระทำความผิดร้ายแรง อาจมีญาติพี่น้องของผู้ตายทำร้าย ก. ได้พยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ ก. ใช้ขวานฟันผู้ตาย จำเลยจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของ ก.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 969/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันในความผิดเกี่ยวกับเอกสารทางราชการและการแจ้งความเท็จ การปรับบทกฎหมายและขอบเขตการแก้ไขโทษ
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ออกเป็นสามกรรมต่างกันและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 แม้ความผิดดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะกระทำเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของระบบงานทะเบียนราษฎรและมีจุดประสงค์ในการกระทำความผิดเพียงอย่างเดียวคือเพื่อให้ได้อาศัยอยู่กับสามีและบุตรในประเทศไทยอย่างถาวรก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระและอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกัน เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันโดยชัดแจ้งและจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 137, 265, 267, 268 วรรคแรก เป็นความผิดสามกรรม จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสองด้วย และลงโทษจำเลยที่ 1 สองกระทง กระทงละ 2 ปี ลดโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 แต่ละกระทงไม่เกินห้าปี ฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นฎีกาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้และคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้พร้อมฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3
ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 วรรคท้าย บัญญัติว่าถ้าผู้กระทำความผิดตาม (1) หรือ (2) หรือ (3) เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยต้องระวางโทษหนักขึ้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน ฯ มาตรา 14 (1) (3) วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้หนักขึ้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดพยายามฆ่าจากไม้เบสบอล ศาลพิจารณาจากบาดแผลร้ายแรง เจตนา และการชดเชยความเสียหาย
ผู้เสียหายถูกไม้เบสบอลตีจนหมดสติไปทันทีในที่เกิดเหตุและต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันกว่า 2 เดือน โดยอาการไม่ดีขั้น ต้องให้อาหารเหลวทางจมูกและพูดจาไม่ได้ ขณะที่ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นระยะเวลาหลังเกิดเหตุ 1 ปีเศษ ผู้เสียหายต้องนั่งรถเข็นไม่สามารถยืนได้ พูดแต่ละคำด้วยความยากลำบาก แสดงให้เห็นชัดว่า จำเลยที่ 2 ใช้ไม้เบสบอลยาวประมาณ 1 เมตร ตีที่ศีรษะผู้เสียหายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญอย่างแรง แม้ตีเพียงครั้งเดียวก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มุ่งหมายจะให้เสียผู้เสียถึงแก่ความตาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายการกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13612/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำให้การที่ดูเผินเป็นรับสารภาพ แต่มีรายละเอียดหักล้างเจตนาความผิด ศาลต้องพิจารณาเนื้อหาทั้งหมด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อมาในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยยื่นคำให้การต่อศาล โดยคำให้การข้อ 1 ระบุว่า "จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธฟ้อง โดยขอให้การใหม่ว่าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง เพื่อประโยชน์และสะดวกในการพิจารณาของศาล" และข้อ 4 จำเลยให้รายละเอียดว่านาย ก. นำห่อกระดาษมาฝากจำเลยใส่กระเป๋ากางเกงของจำเลยไว้ โดยจำเลยไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเมทแอมเฟตามีน ซึ่งหากเป็นความจริงดังที่ให้การก็ฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิด แม้ข้อ 5 จะขอให้ศาลกำหนดโทษน้อยหรือขอให้รอการลงอาญาแก่จำเลย ก็ไม่ทำให้เห็นไปได้ว่าคำให้การดังกล่าวเป็นคำให้การรับสารภาพโดยไม่มีข้อต่อสู้เลย เมื่อจำเลยให้การโดยระบุรายละเอียดต่างๆ ไว้ ก็ต้องนำรายละเอียดต่างๆ มาพิจารณาประกอบด้วย จะพิจารณาเฉพาะข้อความที่ว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ และเมื่อศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยยังคงให้การตามคำให้การที่ยื่นไว้ดังกล่าว คำให้การของจำเลยจึงเป็นคำให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ มิใช่คำให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องดังที่ระบุไว้ตั้งแต่ต้น เมื่อโจทก์แถลงไม่สืบพยาน จึงลงโทษจำเลยตามฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุม ตรวจค้น และแจ้งสิทธิผู้ต้องหา: กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง และอำนาจเจ้าพนักงานตำรวจ
ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยนั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ มาตรา 4 และมาตรา 39 ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 7/1 และ มาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงสิทธิต่างๆ โดยละเอียดดังกล่าวจึงชอบแล้ว
โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่ามีการสอบสวนแล้ว ทั้งจำเลยก็มิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะเหตุผลอื่นๆ เพียงแต่อ้างว่าการตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นเป็นการไม่ชอบ จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้วนอกจากนี้การตรวจค้นและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกัน แม้การตรวจค้นจับกุมและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็หามีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่
ร้อยตำรวจเอก ป. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (16) (17) และมาตรา 17 ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. จึงมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัวจำเลย ตลอดจนการจัดทำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ได้ หาใช่จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่ขึ้นอยู่กับการลงบันทึกประจำวันว่าออกปฏิบัติหน้าที่ดังที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13148-13151/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาเดิม: โจทก์ฟ้องมูลหนี้ซ้ำ ศาลอุทธรณ์อ้างมาตรา 145 วรรคแรก ป.วิ.พ. ยืนตามคำพิพากษาเดิม
มูลหนี้ค่าเบี้ยประกันที่ฟ้องให้จำเลยชำระแก่โจทก์เป็นจำนวนเดียวกันกับมูลหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ ล.24/2543 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลฟังว่าจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก คำพิพากษาต้องผูกพันโจทก์ว่าจำเลยมิได้เป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์นำมูลหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยซึ่งจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์มาฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมหยิบยกมาตรา 145 วรรคแรก ขึ้นมาวินิจฉัยว่า โจทก์ผูกพันตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ล.24/2543 ของศาลชั้นต้น และไม่อาจนำมูลหนี้เดิมมาฟ้องเป็นคดีนี้อีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10653/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คระบุชื่อผู้รับเงินและขีดคร่อม A/C Payee Only ธนาคารไม่มีอำนาจรับฝากเช็คเข้าบัญชีผู้อื่นโดยไม่ได้รับมอบอำนาจ
เช็คระบุชื่อโจทก์เป็นผู้รับเงิน แม้ไม่ได้ขีดฆ่าคำว่า "หรือผู้ถือ" แต่ได้มีการขีดคร่อมพร้อมกับมีข้อความว่า "A/C PAYEE only" ในช่องขีดคร่อม อันมีความหมายว่าเช็คนี้ห้ามเปลี่ยนมือและต้องจ่ายเงินแก่ธนาคาร กล่าวคือต้องนำเช็คเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่มีแก่ธนาคารเท่านั้น เมื่อโจทก์มิได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 นำเช็คไปเข้าบัญชี จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจรับเช็คดังกล่าวฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ซึ่งเปิดไว้กับจำเลยที่ 2 การกระทำของจำเลยที่ 2 โดยพนักงานของจำเลยที่ 2 นำเช็คฝากเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ซึ่งเปิดไว้กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10544/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาท สัญญาจะซื้อจะขายยังไม่สมบูรณ์ ผู้ซื้อไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่
ตามหนังสือสัญญาซื้อขายระบุว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้ชำระราคาที่ดินพิพาทให้แก่ พ. ซึ่งเป็นผู้ขายไป 2,000,000 บาท ครบถ้วนแล้ว และ พ. ให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันทำสัญญา แต่จากคำเบิกความของโจทก์ได้ความว่าโจทก์ชำระราคาไปเพียง 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระเมื่อโอนชื่อกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งโจทก์อธิบายว่าที่ดินพิพาทไม่มีเอกสารสิทธิแต่มีใบ ภ.บ.ท. 5 ที่ พ. และ จ. นำมาให้ดูว่าเป็นหลักฐานแสดงการครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์จึงตกลงซื้อ ที่โจทก์เบิกความถึงการโอนชื่อ จึงหมายถึงการเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในเอกสารดังกล่าวมาเป็นชื่อของโจทก์ ดังที่ได้ความจาก พ. ว่า วันที่ไปโอนที่ดินพิพาทที่ซื้อจาก น. ได้มีการเปลี่ยนชื่อผู้เสียภาษีที่ดินในใบ ภ.บ.ท. 5 มาเป็นชื่อของ พ. ดังนี้ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ฝ่าย พ. ผู้จะขายไม่ติดใจเรียกร้องให้โจทก์ผู้จะซื้อชำระราคาส่วนที่เหลือจะถือว่าฝ่าย พ. สละการครอบครองในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหากโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองแทนฝ่าย พ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้
of 15