คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 7

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 60 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2766/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การใช้เครื่องหมายที่คล้ายกันโดยสินค้าต่างประเภท และการประเมินค่าเสียหาย
แม้คดีก่อนและคดีนี้โจทก์และจำเลยจะเป็นคู่ความเดียวกัน และคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์เช่นเดียวกับคดีนี้ แต่ในคดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์ตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค169410 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำดังกล่าวตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค201033, ค201729, ค210592, ค265798 และ ค294075 ทั้งในคดีก่อนมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "Super Shield" หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "SuperShield" มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้หรือไม่ คดีก่อนและคดีนี้จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์คนละเครื่องหมายซึ่งใช้กับสินค้าแตกต่างกัน และมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความมีลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายแตกต่างกัน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์และของจำเลยคดีก่อนก็แตกต่างจากคดีนี้ คำฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
แม้คำว่า "SuperShield" เมื่อนำมาใช้กับสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร จะไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แต่โจทก์ได้นำสืบการได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม โดยแสดงหลักฐานความแพร่หลายในการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาสินค้า ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งว่าพิจารณาจากหลักฐานของโจทก์แล้วเห็นว่ามีความแพร่หลายตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม จึงให้รับจดทะเบียนได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามมาตรา 7 วรรคสาม
แม้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าอื่นของโจทก์ที่โจทก์ได้แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "SuperShield" ไว้แล้ว แต่เมื่อไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าในการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้โจทก์แสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "SuperShield" โดยนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพียงมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น ประกอบกับคำว่า "SuperShield" ก็มิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน และสีน้ำใช้สำหรับทาอาคารที่โจทก์จะต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในคำดังกล่าวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 โจทก์จึงมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" กับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44
การใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าที่จดทะเบียนไว้อาจมีการใช้เครื่องหมายอื่นควบคู่กันไปก็ได้ โดยเฉพาะคำว่า "TOA" เป็นชื่อของบริษัทโจทก์ด้วย การที่โจทก์ใช้คำว่า "TOA" ควบคู่กับคำว่า "SuperShield" ก็เพื่อให้ผู้ซื้อทราบว่าเป็นสินค้าของบริษัทโจทก์ โจทก์ใช้คำว่า "SuperShield" ตัวใหญ่ที่ส่วนบนสุดของกระป๋องบรรจุภัณฑ์ แม้จะมีคำว่า "TOA" อยู่ด้วยแต่ก็วางอยู่ที่ด้านล่างสุดไม่มีลักษณะที่เด่นเห็นได้ชัดเหมือนคำว่า "SuperShield" แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยังใช้คำว่า "SuperShield" อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อแยกแยะความแตกต่างของสินค้าสีของโจทก์ว่าแตกต่างจากสินค้าสีของบุคคลอื่น จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ใช้คำว่า "SuperShield" อย่างเครื่องหมายการค้า หาได้ใช้อย่างคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้าไม่
คำว่า "SuperShield" แปลว่า ป้องกันได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อโจทก์ใช้กับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร จึงเป็นคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้าโจทก์ว่าเมื่อนำสีของโจทก์ไปทาบ้านแล้วจะสามารถป้องกันบ้านได้อย่างดีเยี่ยมและนาน แต่จำเลยใช้คำว่า "SuperShield" ในลักษณะเป็นคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้ากาวซีเมนต์ กาวยาแนว และซีเมนต์ทากันซึม ซึ่งคำว่า "Shield" แปลว่า โล่ห์ เครื่องบัง แผ่นกำบัง เกราะ จึงไม่อาจบรรยายคุณสมบัติของสินค้าจำพวกกาวหรือซีเมนต์ทากันซึมได้เพราะไม่เกี่ยวข้องกับลักษณะหรือคุณสมบัติของกาวหรือซีเมนต์ทากันซึม ทั้งเมื่อพิจารณากระป๋องสินค้าของจำเลยแล้วเห็นได้ว่าจำเลยจงใจนำคำว่า "SUPER - SHIELD" มาวางไว้ที่ด้านหน้ากระป๋องโดยวางอยู่ในตำแหน่งบนสุด และเป็นจุดที่มองเห็นได้ชัดที่สุดยิ่งกว่ารูปจระเข้ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย แสดงให้เห็นว่าจำเลยเจตนาจะให้ผู้ซื้อมองเห็นและจดจำคำดังกล่าวได้ยิ่งกว่าเครื่องหมายการค้ารูปจระเข้ของจำเลยที่มีขนาดเล็กและติดอยู่ด้านข้าง การที่จำเลยนำคำว่า "SUPER - SHIELD" ซึ่งเป็นภาคส่วนที่เด่นและใช้เรียกขานสินค้าของโจทก์ไปใช้ จึงเป็นการใช้อย่างเครื่องหมายการค้าเพื่อให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าโดยไม่สุจริต มิได้ใช้เป็นคำบรรยายคุณสมบัติของสินค้า แม้สินค้าซีเมนต์ทากันซึมของจำเลยจะเป็นสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าสีน้ำ สีน้ำมัน สีน้ำใช้สำหรับทาอาคาร ของโจทก์ แต่สินค้าของโจทก์และจำเลยมีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างเหมือนกัน จึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
ในการพิจารณาว่าการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SUPER - SHIELD" กับสินค้าของจำเลยมาก่อนที่โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" อันจะถือว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น จะต้องพิจารณาถึงความสุจริตในการใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SUPER - SHIELD" ของจำเลยเป็นสำคัญ แม้จำเลยจะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาก่อนที่โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แต่ในขณะที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" กับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยแล้ว จำเลยจึงไม่อาจใช้คำที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่สุจริตหรือมีเจตนาทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" เพื่อใช้กับสินค้าสีน้ำมาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งจำเลยย่อมทราบดีถึงการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ เนื่องจากจำเลยประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายซีเมนต์ทากันซึมซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างเช่นเดียวกัน แต่จำเลยกลับนำคำว่า "SUPER - SHIELD" มาใช้กับสินค้าประเภทซีเมนต์ทากันซึมของจำเลยโดยอ้างว่าเป็นคำบรรยายสินค้าที่อยู่บนถุงบรรจุภัณฑ์สินค้าที่จำเลยซื้อจากบริษัทในต่างประเทศ โดยไม่มีความจำเป็นใดที่จำเลยจะต้องใช้คำดังกล่าวเป็นคำบรรยายสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าที่จำหน่าย จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้คำว่า "SUPER - SHIELD" กับสินค้าของจำเลยโดยสุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า "SuperShield" ของโจทก์
เมื่อจำเลยใช้คำว่า "SUPER - SHIELD" อย่างเครื่องหมายการค้าในลักษณะที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "SuperShield" ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว แม้สินค้าของจำเลยจะเป็นซีเมนต์ทากันซึมซึ่งเป็นสินค้าต่างจำพวกกันกับสินค้าประเภทสีของโจทก์ แต่สินค้าของจำเลยกับของโจทก์ก็เป็นสินค้าที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างเช่นเดียวกัน ทั้งโจทก์ยังมีสินค้าโพลิเมอร์สังเคราะห์ใช้ป้องกันน้ำรั่วซึม ซึ่งบรรจุในกระป๋องเหมือนสินค้าซีเมนต์ทากันซึมของจำเลยด้วย เมื่อบรรจุภัณฑ์สินค้าของจำเลยเป็นกระป๋องเช่นเดียวกับบรรจุภัณฑ์สินค้าของโจทก์และมีลักษณะคล้ายกัน และยังมีคำว่า "SUPER - SHIELD" คล้ายกับคำว่า "SuperShield" ของโจทก์ด้วย สาธารณชนจึงอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของจำเลยได้ว่าเป็นสินค้าของโจทก์ เมื่อโจทก์ได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า"SuperShield" ในประเทศไทยจนมีชื่อเสียงมาหลายสิบปี มียอดขายต่อปีสูงมาก และโจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวปีละจำนวนมาก แสดงว่าเป็นกิจการที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณจนได้รับความนิยมเชื่อมั่นในสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์จากผู้บริโภคทั่วไป การที่จำเลยใช้คำว่า "SuperShield" อย่างเครื่องหมายการค้าส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาใช้โดยเจตนาไม่สุจริตแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อประโยชน์ในการขายสินค้าของตนโดยมิชอบ เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้ามีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้มีคำทั่วไป หากรูปภาพโดดเด่นและสื่อถึงความแตกต่างของสินค้า
เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ประกอบด้วย 2 ภาคส่วน คือ ส่วนรูปประดิษฐ์ซึ่งตรงกลางมีอักษรประดิษฐ์คำว่า Rasasi และส่วนอักษรโรมันคำว่า Rasasi การพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้าต้องพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมของทั้งเครื่องหมาย เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วย 2 ภาคส่วน จึงต้องพิจารณาทั้งสองภาคส่วน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีคำว่า Rasasi อยู่ 2 ตำแหน่ง ก็หาได้หมายความว่า Rasasi จะสำคัญกว่าภาคส่วนที่เป็นรูปประดิษฐ์ การพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะโดยมุ่งเน้นแต่คำว่า Rasasi เพียงส่วนเดียวจึงยังไม่ครบถ้วน เมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวประกอบด้วยรูปประดิษฐ์ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นแตกต่างจากรูปประดิษฐ์ของบุคคลอื่น และมีคำว่า Rasasi ซึ่งมีความหมายว่า สีเทาหรือสีตะกั่วอันไม่ใช่คำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าน้ำหอมหรือเครื่องสำอางตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 768528 โดยตรง ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าดังกล่าวของโจทก์ย่อมทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าของโจทก์ดังกล่าวแตกต่างจากของบุคคลอื่น เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (2)
การที่โจทก์เคยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาครั้งหนึ่งแล้วและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียน โจทก์มิได้ฟ้องคดีต่อศาลแต่นำเครื่องหมายการค้าเดิมมายื่นขอจดทะเบียนต่อจำเลยอีก โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เพราะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในการขอจดทะเบียนครั้งหลัง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและไม่ถือเป็นการฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเพราะโจทก์ยังไม่เคยเสนอคดีต่อศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องคดีนี้มาก่อน
เมื่อคำว่า Rasasi เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) ทั้งคำดังกล่าวมิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการขายสินค้าน้ำหอมหรือเครื่องสำอางในอันที่โจทก์จะต้องแสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำดังกล่าวในการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่อาจสั่งให้โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 768528 แสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้อักษรโรมันคำว่า Rasasi ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณารูปแบบโดยรวม สำเนียงเรียกขาน และสินค้าประเภทเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสน
การพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดในขณะที่จดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้านั้นเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกันในสาระสำคัญหรือในลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้านั้นหรือไม่ หากเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีภาคส่วนถ้อยคำประกอบรูป นอกจากจะพิจารณาลักษณะเด่น หรือสาระสำคัญ ของเครื่องหมายการค้าแล้วยังต้องพิจารณาถึงสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้านั้น และต้องพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้านั้นใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกัน
แม้สาระสำคัญหรือลักษณะเด่นในเครื่องหมายการค้าจะเป็นภาพปลาโลมาซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติเช่นเดียวกัน แต่เมื่อภาพประดิษฐ์ปลาโลมาในเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวมีความแตกต่างกันในภาพรวม เช่น จำนวนของปลาโลมา หรือการจัดองค์ประกอบของภาพที่แสดงให้เห็นว่าปลาโลมาได้หันไปคนละทิศทางกันและมีคลื่นทะเลประกอบอยู่ด้วย เครื่องหมายการค้าของโจทก์และบริษัท ช. จึงต่างก็มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตามมาตรา 7 (6) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งภาพปลาโลมาก็มิใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าข้าวที่โจทก์จะต้องแสดงปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2537 มาตรา 17 แต่อย่างใด
เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีภาคส่วนถ้อยคำเป็นอักษรจีนและภาคส่วนของอักษรโรมัน คำว่า "TWIN DOLPHINS" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ช. มีภาคส่วนถ้อยคำเป็นอักษรโรมันคำว่า "BLUE DOLPHIN" จึงมีเพียงอักษรโรมันคำว่า "DOLPHIN" ที่เหมือนกันเท่านั้น ทั้งเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในส่วนของอักษรจีนอ่านออกเสียงได้ว่า "ซวงห่ายถุน" และอักษรโรมันคำว่า "TWIN DOLPHINS" มีความหมายว่า ปลาโลมาคู่ จึงอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า ซวงห่ายถุน หรือ ทวินดอลฟิน หรือปลาโลมาคู่ ส่วนเครื่องหมายการค้าของบริษัท ช. มีอักษรโรมันคำว่า "BLUE DOLPHIN" มีความหมายว่า ปลาโลมาสีน้ำเงิน จึงอาจออกเสียงเรียกขานได้ว่า บลูดอลฟิน หรือปลาโลมาสีน้ำเงิน สำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับบริษัท ช. จึงแตกต่างกัน แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันเป็นรายการสินค้าข้าว ก็ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15218/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคำว่า "BONDACE" เป็นคำประดิษฐ์ ไม่มีในพจนานุกรม มีลักษณะบ่งเฉพาะ สามารถจดทะเบียนได้
คำว่า "BONDACE" เป็นคำที่ไม่มีคำแปลหรือไม่มีปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาความหมายของคำดังกล่าวโดยแยกคำเป็นภาคส่วน แล้วนำความหมายของแต่ละภาคส่วนตามที่พิจารณาเลือกมารวมกันเพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าว โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าหยิบยกความหมายนั้น ๆ มาใช้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) เนื่องจากคำว่า "BON" และ "DACE" นั้นมีหลายความหมายได้ การนำคำทั้งสองมารวมกันจึงไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่ามีความหมายว่าอย่างไร และแม้ใช้วิธีพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็อาจแปลหรือมีความหมายอย่างอื่นได้เช่นกัน เมื่อพิจารณาประกอบกับเสียงเรียกขานซึ่งเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าเพราะทำให้ประชาชนผู้ใช้สินค้าทราบ และเข้าใจได้ว่าสินค้าที่มีเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่น หากจะให้มีความหมายตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแปลความก็ควรมีเสียงเรียกขานว่า บอน - เอซ แต่ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ระบุว่าคำดังกล่าวอ่านว่า บอน - เดส การที่เสียงเรียกขานไม่สอดคล้องกับวิธีการแปลความของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าทำให้น่าเชื่อว่า คำว่า "BONDACE" ทั้งคำเป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่มีความหมาย ไม่อาจสื่อให้สาธารณชนเข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงเป็นคำประดิษฐ์ที่ไม่มีความหมาย มิใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้ากาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมรองเท้า ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง และมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15020/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'Superdry' ไม่สื่อถึงลักษณะสินค้าเครื่องแต่งกาย จึงเป็นเครื่องหมายที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
แม้หนังสือมอบอำนาจไม่ได้เขียนชัดแจ้งให้ผู้รับมอบอำนาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า แต่ก็มีข้อความระบุให้มีอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการอุทธรณ์และมีอำนาจปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาให้ปลอดจากการคัดค้านหรือโต้แย้ง และยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อเรียกร้องทั้งปวงของโจทก์เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า เมื่อข้อเรียกร้องโจทก์ในคดีนี้คือให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจ
ในการพิจารณาว่าคำใดเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าคำดังกล่าวสามารถสื่อให้สาธารณชนทราบหรือเข้าใจได้ในทันทีว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านั้นมีคุณสมบัติอย่างไร หากคำดังกล่าวเป็นเพียงคำที่อาจสื่อให้สาธารณชนผู้ใช้สินค้าคิดหรือจินตนาการและยังต้องใช้วิจารณญาณพอสมควรจึงจะเข้าใจว่าคำดังกล่าวสื่อให้ทราบถึงลักษณะของตัวสินค้าหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง เมื่อคำว่า "Superdry" เกิดจากการนำคำว่า "Super" และ "dry" มารวมกันได้ความหมายว่า "ทำให้แห้งอย่างมาก" ซึ่งตรงกับคำแปลของอักษรญี่ปุ่นในเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องแต่งกายประเภทเข็มขัด รองเท้า หมวก เสื้อ กางเกง ชุดลำลอง ผ้าพันคอ ถุงมือ และชุดชั้นใน ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น คุณสมบัติความแห้งมากของสินค้ามิใช่คุณสมบัติพิเศษที่ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวทั่วไปต้องการ เครื่องหมายการค้าอักษรญี่ปุ่นและอักษรโรมันคำว่า ของโจทก์จึงไม่ถือเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9971/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายบริการ "SINGAPOREAIR" ไม่เป็นเครื่องหมายบ่งเฉพาะและขัดต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
โจทก์นำสืบว่า โจทก์ประดิษฐ์คำว่า "SINGAPOREAIR" ขึ้นใหม่โดยนำคำว่า "SINGAPORE" และ "AIR" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่และไม่มีคำแปลหรือความหมายตามพจนานุกรม แม้คำที่โจทก์นำมาเรียงต่อกันจะเป็นภาษาโรมันขึ้นใหม่เพราะเรียงอักษรติดต่อกันไป แต่โจทก์และประชาชนทั่วไปก็เรียกขานว่า สิงคโปร์แอร์ ซึ่งเป็นคำเรียกขานของคำเดิมที่นำมาเรียงต่อกันนั่นเอง คำว่า "SINGAPORE" ตามพจนานุกรมและความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง ประเทศสิงคโปร์ และคำว่า "AIR" แปลว่า อากาศจึงไม่อาจถือได้ว่าคำว่า "SINGAPOREAIR" ไม่มีคำแปลดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ เมื่อเครื่องหมายบริการคำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์นำมาใช้กับบริการในจำพวก 39 รายการบริการการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า ฯลฯ ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของการบริการโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)
คำว่า "SINGAPORE" แปลว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชื่อของรัฐต่างประเทศ ถือได้ว่าเครื่องหมายบริการ คำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์มีชื่อของรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของประเทศสิงคโปร์ให้นำคำว่า "SINGAPORE" มาใช้เป็นชื่อทางการค้า คำขอของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8823/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'Caramelts' เป็นคำประดิษฐ์ มีลักษณะบ่งเฉพาะ สามารถจดทะเบียนได้ แม้มีคำว่า 'Caramel' รวมอยู่ด้วย
คำว่า "Caramelts" เป็นคำที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรม เป็นคำที่ไม่มีความหมาย ไม่มีคำแปล ถือว่าเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้น แม้คำว่า "Caramelts" จะมีอักษรโรมัน คำว่า "Caramel" รวมอยู่ด้วย แต่ก็มิได้ทำให้เข้าใจไปได้ว่าหมายถึง คาราเมลที่มีสีน้ำตาลอมเหลือง น้ำตาลไหม้ ขนมหวาน คำว่า "Caramelts" จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง ย่อมนำคำว่า "Caramelts" มาใช้กับสินค้าขนมหวาน ช็อกโกแลต ขนมช็อกโกแลต เครื่องดื่มช็อกโกแลต อาหารที่มีชื่อช็อกโกแลตเป็นส่วนผสมหลักได้ ดังนี้ คำว่า "Caramelts" จึงเป็นคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าดังกล่าวโดยตรง และมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15698/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความบ่งเฉพาะของเครื่องหมายที่มาจากชื่อบริษัทและภาษาต่างประเทศ
คำว่า หรือ ของเครื่องหมายบริการ และ ตามคำขอทั้งสี่คำขอของโจทก์มาจากตัวอักษรโรมันคำว่า ซึ่งเป็นชื่อของโจทก์ ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่ามีแหล่งข้อมูลอื่นที่ให้ความหมายคำว่า เป็นคำย่อในภาษาเยอรมันซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเช่นเดียวกับเอกสารที่จำเลยอ้าง ทั้งปรากฏในเอกสารดังกล่าวด้วยว่าคำดังกล่าวซึ่งเป็นคำย่อยังมีอีกหลายความหมาย จำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าบุคคลที่มีความรู้ภาษาเยอรมันหรือบุคคลที่มีความรู้ทางด้านการให้คำแนะนำทางเทคนิคต่าง ๆ ทราบดีว่า คำว่า เป็นคำย่อในภาษาเยอรมันซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิค แม้คำว่า เป็นคำย่อซึ่งหมายถึงสมาคมที่ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคก็ตาม แต่คำดังกล่าวก็ไม่เป็นคำที่ผู้ใช้บริการสามารถทราบได้ว่าเกี่ยวข้องกับบริการจำพวกที่ 35 และ 42 ตามที่โจทก์ขอจดทะเบียน คำว่า และ ที่โจทก์ขอจดทะเบียนจึงไม่ใช่คำหรือข้อความที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการโดยตรง เครื่องหมายบริการของโจทก์ทั้งสี่คำขอ จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 และ มาตรา 7 ประกอบมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19480/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: หลักเกณฑ์ลักษณะบ่งเฉพาะ และอำนาจศาลในการพิจารณา
การพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ถือเป็นการตรวจสอบบรรดาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยภาครัฐเพื่อการควบคุมและกำกับดูแลว่าเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นเครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ถึง 8 ทั้งนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคมิให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า และรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนในชั้นต้นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้หรือไม่ และอาจมีคำสั่งเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 ถึง 17 เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งใด ๆ ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวแล้ว ผู้ขอจดทะเบียนมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ตามมาตรา 18 อันเป็นการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำขอจดทะเบียนในชั้นที่สูงขึ้น ซึ่งในบทบัญญัติตามมาตรา 96 (1) ให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจและหน้าที่วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมาตรา 101 วรรคสอง ได้บัญญัติถึงวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ากำหนด และตามระเบียบคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าด้วยวิธีพิจารณาอุทธรณ์และคำร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียน พ.ศ.2545 ข้อ 18 กำหนดให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีอำนาจพิจารณาทบทวนคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายและจะพิจารณาวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอื่นนอกจากที่ปรากฏในคำสั่งหรือคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ได้ เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายประสงค์ให้อำนาจแก่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในการวินิจฉัยเกี่ยวกับความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนนั้นว่าเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนตามกฎหมายได้หรือไม่ เช่นเดียวกันกับการวินิจฉัยในชั้นของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า มิได้ถูกจำกัดให้ต้องพิจารณาเฉพาะประเด็นที่มีการยกขึ้นโต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่เพียงอย่างเดียว เพราะมิฉะนั้นแล้วจะทำให้กลไกในการตรวจสอบในชั้นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีประสิทธิภาพและต้องถูกจำกัดโดยคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือผู้ยื่นคำขอซึ่งไม่น่าจะใช่เจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนี้ เมื่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ย่อมมีอำนาจให้ระงับการจดทะเบียนได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า CLAIROL HERBAL ESSENCES เป็นการใช้กลุ่มของคำในอักษรโรมันอย่างเดียวกับที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในลักษณะประดิษฐ์ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้ว ผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า CLAIROL HERBAL ESSENCES ได้มีการจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก มียอดขายปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในประเทศไทยมีวางจำหน่ายในร้านค้าทั่วไปทั้งร้านขนาดย่อมและขนาดใหญ่รวมถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักกว้างขวางและทำให้เข้าถึงผู้บริโภคง่าย โจทก์ได้ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์ CLAIROL HERBAL ESSENCES อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 10 ปี ผ่านสื่อต่าง ๆ หลายรูปแบบ ทำให้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยและต่างประเทศ นอกจากนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า CLAIROL HERBAL ESSENCES ในลักษณะประดิษฐ์ ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้วยังได้รับการจดแจ้งให้เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ในส่วนแชมพู CLAIROL HERBAL ESSENCES ครองตลาดแชมพูเพื่อความสวยงามในอันดับที่ 7 มียอดขายปีละประมาณ 300,000,000 บาท เครื่องหมายการค้าคำว่า CLAIROL HERBAL ESSENCES ของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้กับสินค้าที่มีการจำหน่าย เผยแพร่ และโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานพอสมควรจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าของบุคคลอื่น อันถือได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้อันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 โดยโจทก์ไม่ต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า HERBAL ESSENCES

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9240/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ลักษณะบ่งเฉพาะ รูปร่าง/รูปทรงสินค้า ไม่สามารถคุ้มครองหากไม่โดดเด่นและแยกจากสินค้าทั่วไปได้
รูปร่างหรือรูปทรงของเครื่องยนต์ของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุนั้น แม้โจทก์จะกล่าวอ้างและนำสืบว่าโจทก์ได้ประดิษฐ์โดยออกแบบให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นในตัวแตกต่างจากเครื่องยนต์ประเภทเดียวกันของผู้อื่นมาก ทั้งอุปกรณ์แต่ละชิ้นใช้สีที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากสีเครื่องยนต์ของผู้อื่น ซึ่งโจทก์ใช้สีเช่นนี้ตั้งแต่ปี 2526 ตลอดมาจนปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาภาพเครื่องยนต์ของโจทก์เปรียบเทียบกับภาพเครื่องยนต์ของผู้อื่นอีก 5 ราย เห็นว่า ลำพังรูปร่างหรือรูปทรงหรือลักษณะของเครื่องยนต์ของโจทก์และของผู้อื่นเหล่านี้ หากไม่ติดชื่อหรือเครื่องหมายการค้า หรือใช้สีแตกต่างกันย่อมไม่อาจทำให้ผู้ซื้อทั่วไปใช้เป็นที่สังเกตแยกได้ว่า เครื่องยนต์เครื่องใดเป็นของเจ้าของรายใด และชื่อก็ดี เครื่องหมายการค้าก็ดี รวมทั้งสี่ที่มีการใช้แตกต่างกันนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุและไม่ได้ใช้เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุที่โจทก์ขอจดทะเบียน จึงเห็นได้ว่าลำพังลักษณะรูปร่างเครื่องยนต์ของโจทก์ซึ่งมีลักษณะเหมือนเครื่องยนต์ของผู้อื่นทั่วไปไม่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ บุคคลทั่วไปเห็นแล้วก็มีแต่จะนึกถึงลักษณะของสินค้าเครื่องยนต์ประเภทนี้เท่านั้น การที่โจทก์ใช้สีที่อ้างว่ามีลักษณะเฉพาะและใช้มานานไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจจะเป็นสิ่งที่บุคคลใช้เป็นที่สังเกตแยกแยะ ทั้งที่สีนี้ไม่ใช่ส่วนที่เป็นเครื่องหมายรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ นอกจากนี้ยังเห็นว่าเครื่องยนต์ของโจทก์ใช้เครื่องหมายคำว่า HONDA ติดอยู่ ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเครื่องยนต์รุ่นนี้ออกจำหน่ายโดยไม่ใช้เครื่องหมายคำว่า HONDA จึงน่าเชื่อว่า โจทก์ประสงค์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปร่างหรือรูปทรงของเครื่องยนต์ดังกล่าวเพียงเพื่อใช้หวงกันไม่ให้ผู้อื่นผลิตเครื่องยนต์ที่มีลักษณะคล้ายของโจทก์ได้ตลอดไปในฐานะเป็นเครื่องหมายการค้าอันเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลอื่นมากเกินสมควร และเห็นได้ว่าเครื่องหมายที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 ส่วนที่บางประเทศรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ให้โจทก์ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและรายละเอียดของกฎหมายของแต่ละประเทศ ไม่เป็นเหตุผลให้ควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้แก่โจทก์
of 6