คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เกรียงชัย จึงจตุรพิธ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 339 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8131/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมโทษจำคุกตลอดชีวิตกับโทษจำคุกมีกำหนดเวลา ต้องพิจารณาโทษที่แท้จริงหลังลดโทษแล้ว
คำว่า "เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต" ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3) นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริงๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวม ศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น แต่คดีนี้โทษจำคุกตลอดชีวิตของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายที่ศาลล่างทั้งสองนำมารวมกับโทษที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นนั้น มิใช่โทษจำคุกตลอดชีวิตที่จะนำมาลงแก่จำเลยทั้งสองจริงๆ เนื่องจากยังจะต้องมีการลดโทษให้จำเลยทั้งสองกึ่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองนำโทษจำคุกตลอดชีวิตของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และโทษจำคุก 12 ปี และ 8 ปี ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมารวมกันแล้ว คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตก่อนลดโทษให้จำเลยทั้งสองนั้น จึงไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 91 (3) แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้รวมโทษจำเลยทั้งสองให้ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8082/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: แก้ไขเล็กน้อยฐานความผิดและโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลอุทธรณ์มีดุลพินิจลงโทษจำคุก
แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทความผิดและโทษจำคุกที่ลงแก่จำเลย แต่การแก้ไขบทความผิดก็เป็นเพียงการปรับบทความผิดตามกฎหมายเดิมให้ถูกต้องโดยระบุเป็นข้อความที่ถูกต้องไว้ภายในวงเล็บ แต่มิได้แก้ไขฐานความผิดแต่อย่างใด ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุก เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7973-7975/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากทรัพย์อันตราย การขนส่งวัตถุระเบิดประมาทเลินเล่อ และความรับผิดของผู้ครอบครอง
จำเลยที่ 4 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขับรถบรรทุกวัตถุระเบิดของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้นำไปส่งที่คลังสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ระหว่างการขนส่งจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อขับรถด้วยความเร็วเกินสมควรแล่นเข้าทางโค้งที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้งหักข้อศอกโดยไม่ระมัดระวังจนเป็นเหตุให้ไม่สามารถควบคุมรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำวัตถุระเบิดซึ่งบรรทุกมาตกกระจายอยู่บนพื้นถนน หลังจากนั้นมีชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนนดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมหลายร้อยคน และทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย การกระทำของชาวบ้านที่ทำให้เกิดระเบิดขึ้นเช่นนี้เป็นเหตุแทรกแซงที่วิญญูชนคาดหมายได้เพราะเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางหลวง ก็จะมีชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงรวมทั้งประชาชนที่ใช้ยวดยานสัญจรผ่านที่เกิดเหตุจะหยุดรถลงไปมุงดูเหตุการณ์และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ รวมทั้งอาจมีคนไม่ดีซึ่งปะปนอยู่ในกลุ่มคนเหล่านั้นถือโอกาสหยิบฉวยเอาทรัพย์สินสิ่งของที่ตกหล่นไปได้ ทั้งการขนส่งวัตถุระเบิดครั้งนี้ก็มิได้จัดให้มีป้ายข้อความว่า "วัตถุระเบิด" ติดแสดงไว้ให้เห็นได้ง่ายที่ด้านหน้าและด้านหลังรถบรรทุกวัตถุระเบิดคันเกิดเหตุด้วย จึงต้องถือว่าเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นผลใกล้ชิดสัมพันธ์ต่อเนื่องมาจากการขับรถโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 4 ด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองวัตถุระเบิดในขณะเกิดเหตุวัตถุระเบิดดังกล่าวระเบิดขึ้น วัตถุระเบิดที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองดังกล่าวเป็นทรัพย์อันเป็นของเกิดอันตรายได้โดยสภาพซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง กำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้มีไว้ในครอบครองต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ทรัพย์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสามผู้เสียหายเอง
รถบรรทุกที่ใช้บรรทุกระเบิดดังกล่าวไม่ได้มีการจัดให้มีป้ายข้อความว่า "วัตถุระเบิด" ติดแสดงไว้ให้เห็นได้ง่ายที่ด้านหน้าและด้านหลัง และไม่ได้ติดแถบสะท้อนแสงสีแดงสลับขาวในแนวเส้นทะแยงมุมที่ท้ายรถตามกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2522) ข้อ 1 ข้อ 2 และข้อ 3 ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 5 และมาตรา 17 วรรคสอง อันเป็นการฝ่าฝืนบทบังคับแห่งกฎหมายอันมีที่ประสงค์เพื่อจะปกป้องบุคคลอื่น ๆ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 422 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ทำการฝ่าฝืนนั้นเป็นผู้ผิด หากจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วชาวบ้านที่เห็นข้อความเตือนภัยดังกล่าวก็อาจจะหลีกเลี่ยงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนนหรือแม้จะเข้ามายุ่งเกี่ยวก็อาจใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เกิดเหตุระเบิดขึ้นก็ได้ เมื่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภัยพิบัติที่อาจป้องกันได้ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองวัตถุระเบิดมิได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น เพื่อป้องกันมิให้ชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวและทำให้เกิดการระเบิดขึ้น การที่ภายหลังจากรถบรรทุกระเบิดพลิกคว่ำและมีชาวบ้านเข้ามายุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ตกกระจายอยู่บนพื้นถนนเป็นเหตุให้เกิดมีการระเบิดขึ้นทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสามเสียหาย จึงมิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย และชาวบ้านที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับวัตถุระเบิดอันเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้นนั้นไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ทั้งสาม จึงถือไม่ได้ว่าการระเบิดเกิดขึ้นเพราะความผิดของโจทก์ทั้งสามเอง ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามตาม ป.พ.พ. มาตรา 437 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7062/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากจำเลย
โจทก์ตกลงให้ อ. ทำสัญญากู้ยืมเงินจากสหกรณ์เป็นเงิน 500,000 บาท โดยโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินของโจทก์เป็นประกันหนี้ เหตุที่ต้องให้ อ. เป็นผู้กู้ยืม เพราะโจทก์ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหกรณ์ดังกล่าว ต่อมา อ. ไปรับเงินที่กู้ยืมซึ่งเมื่อคิดหักชำระหนี้สินและค่าหุ้นแล้ว คงได้รับเป็นเงิน 431,928 บาท จึงต้องถือว่า อ. เป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่ต้องรับผิดต่อสหกรณ์ และเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในเงินที่กู้ยืมจากสหกรณ์ ตราบเท่าที่ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ต่อให้แก่ผู้ใด ทั้งโจทก์ไม่ได้มอบให้จำเลยเป็นตัวแทนไปรับเงินจาก อ. ดังนั้นการที่ อ. มอบเงินให้แก่จำเลยเพื่อฝากต่อให้แก่โจทก์ย่อมเป็นเรื่องความรับผิดระหว่าง อ. กับจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกเงินดังกล่าวที่เป็นของ อ. ไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7062/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากจำเลย
โจทก์ต้องการกู้ยืมเงินจากสหกรณ์ แต่โจทก์มิได้เป็นสมาชิกจึงขอให้ อ. ทำสัญญากู้ยืมเงินจากสหกรณ์แทนโดยโจทก์นำที่ดินมาจำนองเป็นประกัน สหกรณ์อนุมัติให้ อ. กู้ยืมเงินและสหกรณ์หักค่าหุ้นและเงินกู้ระยะสั้นที่ อ. ค้างชำระออก ก่อนส่งมอบเงินที่เหลือให้แก่ อ. พฤติการณ์ถือว่า อ. เป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่ต้องรับผิดต่อสหกรณ์ และเป็นเจ้าของเงินที่กู้ยืมจากสหกรณ์ เมื่อโจทก์มิได้มอบให้จำเลยเป็นตัวแทนไปรับเงินจาก อ. ดังนั้น หาก อ. มอบเงินที่กู้ยืมมาจากสหกรณ์ให้แก่จำเลยเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่โจทก์ ก็เป็นเรื่องความรับผิดระหว่าง อ. กับจำเลย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดอาญา: รับของโจร-ใช้เอกสารปลอม มีเจตนาเดียวกัน ศาลแก้โทษลดกระทง
จำเลยที่ 2 ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมเป็นเอกสารประกอบในการขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร และการที่จำเลยที่ 2 ใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์กับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมก็โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบในการขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยเจตนาอันเดียวกัน เพื่อให้การกระทำความผิดฐานรับของโจรสำเร็จผลตามความมุ่งหมายเท่านั้น ดังนั้น การใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ และใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์อันเป็นเอกสารราชการปลอมของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานรับของโจร ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6655/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษจำเลยในคดีชำเราโดยศาลล่างเกินกว่าที่โจทก์ขอ และการพิจารณาโทษสำหรับผู้กระทำผิดที่เป็นเด็ก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 16 ปีเศษ (ที่ถูก 15 ปีเศษ) ให้ลงโทษจำเลยโดยลดมาตราโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 75 ให้จำคุกจำเลยไว้ 10 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษายืน ซึ่งตามฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย 2 ครั้ง เมื่อศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันถือได้ว่า มีการลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 5 ปี เมื่อจำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดเป็นการโต้แย้งคัดค้านการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาฟ้องโจทก์แล้วโจทก์บรรยายฟ้องว่าระหว่างเดือนกันยายน 2543 ถึงเดือนตุลาคม 2543 ต่อเนื่องเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย รวม 2 ครั้ง ทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 277 โดยไม่ระบุ ป.อ. มาตรา 91 ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองให้เรียงกระทงลงโทษมาด้วยนั้น แม้ตามทางพิจารณาจะได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด 2 กรรม แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันและให้เรียงกระทงลงโทษจึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 กรณีดังกล่าวแม้คู่ความไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6480/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมกระทำความผิดอาญา แม้ไม่ได้ลงมือทำร้ายร่างกายโดยตรง แต่มีส่วนร่วมวางแผน
ก่อนเกิดเหตุโจทก์ร่วมเห็น อ. นั่งดื่มสุราอยู่ที่หน้าร้านของจำเลย ต่อมาจำเลยเข้ามาทวงหนี้จากโจทก์ร่วมโดยจำเลยกับ อ. พากันเข้ามาในร้านเกมของโจทก์ร่วมพร้อมกัน แล้วจำเลยชี้ตัวโจทก์ร่วมให้ อ. ดูพร้อมกับพูดว่า คนนี้แหละชื่อยันต์ หลังจากนั้น อ. พูดว่า มึงพากูออกไปตามหาพ่อมึง ติดหนี้แล้วต้องใช้หนี้ เมื่อโจทก์ร่วมบอกว่าไม่ทราบว่าพ่ออยู่ที่ไหนและไม่ยอมไป อ. ก็เดินเข้ามาเตะโจทก์ร่วม พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวเช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยสมคบร่วมกันกับ อ. มาเตะทำร้ายโจทก์ร่วมแล้ว แม้ขณะที่ อ. เข้ามาเตะทำร้ายโจทก์ร่วม จำเลยจะเพียงแต่ยืนอยู่เฉย ๆ ไม่ได้พูดอะไรก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6121/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษโดยศาลอุทธรณ์เกินกว่าที่โจทก์อุทธรณ์ และการพิจารณาโทษจำเลยในความผิดเกี่ยวกับป่าไม้
ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน และปรับ 40,000 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แก้เป็นจำคุก 6 เดือนไม่รอการลงโทษเป็นการแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษ เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษเพียงประการเดียว มิได้อุทธรณ์ขอให้กำหนดโทษสูงขึ้นด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดโทษจำคุกข้อหาความผิดดังกล่าวสูงขึ้น จึงเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยโดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5929/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจำกัด, ศาลคืนค่าขึ้นศาล, ประเด็นค่าเสียหายเกินคำขอไม่ฟัง
แม้โจทก์ทั้งสี่ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคู่ความในคดีเดียวกันเพราะโจทก์ทั้งสี่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาถึงข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสี่ยกขึ้นเป็นหลักแห่งข้อหา เป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัว และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะตัวของโจทก์แต่ละคนการพิจารณาทุนทรัพย์ว่าต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์แต่ละคนแยกกัน หาใช่คิดทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาของโจทก์ทุกคนรวมกันไม่ เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท และจำเลยทั้งสองฎีกาในประเด็นค่าเสียหาย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจ เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าการปลูกสร้างอาคารสูงของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ได้รับความเสียหายและเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส และมีคำขอท้ายฟ้องด้วยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่ ดังนี้ แม้ตามคำขอจะมิได้มีข้อความระบุโดยชัดแจ้งเรื่องค่าทดแทน แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 มาด้วยก็ตาม ก็พอถือได้ว่ามีประเด็นพิพาทเรื่องค่าทดแทนความเสียหาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 ด้วย
คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียง 465,000 บาท เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงประเด็นค่าเสียหายจำนวน 340,000 บาท จึงต้องสั่งคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาให้แก่จำเลยทั้งสองผู้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง
of 34