คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เกรียงชัย จึงจตุรพิธ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 339 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5306/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมข้อมูลสินค้า: ศาลฎีกาชี้ว่าข้อมูลรายละเอียดสินค้าที่สร้างสรรค์เอง แม้ไม่มีอรรถรส ก็มีลิขสิทธิ์ได้
โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ข้อมูลการออกแบบ สร้าง ประกอบ ติดตั้งระบบกรองน้ำ เครื่องกรองน้ำ และสารเคมีสำหรับปรับสภาพน้ำ ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับข้อมูลของบริษัทโจทก์ ข้อมูลผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ตัวเลขแสดงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และรูปภาพผลิตภัณฑ์ประกอบ โดยโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ด้วยตนเองจากความรู้ ความสามารถ ความวิริยอุตสาหะ และประสบการณ์ในธุรกิจประเภทนี้มาคิดคำนวณออกแบบผลิตภัณฑ์จนสามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพสัมฤทธิผลได้ตามความต้องการของลูกค้า โดยมิได้ลอกเลียนมาจากผู้อื่น และโจทก์ได้แสดงออกซึ่งข้อมูลนั้นโดยนำมาลงในเว็บไซต์ของโจทก์เอง กับจัดพิมพ์เป็นเอกสารภาษาอังกฤษเป็นเล่มซึ่งประกอบด้วยแค็ตตาล๊อก โบรชัวร์ ประวัติความเป็นมาของบริษัทรายละเอียดคำอธิบายสินค้า และรูปภาพประกอบ โจทก์จึงย่อมได้ลิขสิทธิ์ในข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นงานวรรณกรรม ทั้งนี้ไม่ว่าข้อมูลซึ่งเป็นงานวรรณกรรมนั้นจะมีคุณภาพหรือไม่ มีคุณค่าทางสุนทรียภาพ มีอรรถรส มีคนอ่านหรือไม่มีใครอ่านก็ยังถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์ในเมื่องานนี้เป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยตัวโจทก์เองกรณีหาจำต้องมีอรรถรสหรือสุนทรีภาษาแต่อย่างใดไม่ งานข้อมูลการออกแบบ สร้าง ประกอบ ติดตั้งระบบกรองน้ำ เครื่องกรองน้ำ สารเคมีสำหรับปรับสภาพน้ำและรูปภาพประกอบ ในเว็บไซต์ของโจทก์จึงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 4 และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมของโจทก์ โดยทำซ้ำ ดัดแปลงข้อมูล รูปภาพในเว็บไซต์และในเอกสารโฆษณาสินค้า การทำซ้ำ ดัดแปลงข้อมูลต่างๆ ของเครื่องกรองน้ำในเว็บไซต์ มิใช่เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลงงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เป็นเพียงการทำซ้ำ ดัดแปลงข้อมูลต่างๆ ของเครื่องกรองน้ำซึ่งเป็นงานวรรณกรรมต่างหากจากงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำละเมิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 และมาตรา 31 มิใช่ละเมิดงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 30 เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์โดยการนำข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องกรองน้ำของโจทก์ไปทำซ้ำเป็นรูปเล่มสินค้าเครื่องกรองน้ำออกเผยแพร่ให้ลูกค้าของจำเลยทั้งสาม คดีโจทก์จึงมีมูลเฉพาะการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 และมาตรา 31 ส่วนงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 30 มิได้ถูกละเมิด จึงไม่มีมูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5305/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา: การพิสูจน์การชำระค่าลิขสิทธิ์มีผลต่อการรับผิดทางแพ่ง
โจทก์ที่ 2 ให้การตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นว่าโจทก์ที่ 2 ได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์โดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งได้แสดงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ดูแล้ว แต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ที่ 2 ไม่มีสติ๊กเกอร์การอนุญาตให้ใช้สิขสิทธิ์ที่ตู้คาราโอเกะและยืนยันให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์ที่ 2 พร้อมกับยึดตู้คาราโอเกะพร้อมอุปกรณ์นั้นคงมีแต่คำให้การของประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองเพียงปากเดียวคือตัวโจทก์ที่ 2 ทั้งที่มีเจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับกุมในครั้งนี้อีกหลายคนซึ่งถือเป็นคนกลางในคดีและไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดที่ร่วมรู้เห็นด้วย แต่โจทก์ทั้งสองก็ไม่นำพยานเหล่านั้นมาให้การหรือเบิกความสนับสนุนคำให้การของโจทก์ที่ 2 คำให้การของโจทก์ที่ 2 ในเรื่องดังกล่าวจึงมีน้ำหนักรับฟังน้อย นอกจากนี้ยังได้ความตามบันทึกการตรวจค้นจับกุม และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาว่า โจทก์ที่ 2 ให้การับสารภาพทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ในบันทึกคำให้การผู้ต้องหาเพิ่มเติมซึ่งโจทก์ที่ 2 ให้การในชั้นสอบสวนเพิ่มเติมหลังเกิดเหตุถึง 4 เดือนเศษ ก็ไม่ปรากฏว่าในวันเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 ได้ให้การว่าได้ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้ว พร้อมทั้งได้แสดงหลักฐานใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ตามที่ให้การในชั้นพิจารณาแต่อย่างใด คำให้การในชั้นพิจารณาของโจทก์ที่ 2 จึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อถือ ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 จะได้แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์และได้แสดงใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 แล้ว แม้ตามใบนำฝากเงินซึ่งเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองจะปรากฏว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 ก่อนเกิดเหตุได้มีการนำเงินจำนวน 870 บาท ฝากเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 แล้ว แต่ใบนำฝากเงินดังกล่าวก็ไม่ปรากฏชื่อผู้นำฝากหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้นำฝากคือใคร กลับได้ความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของ อ. พยานจำเลยทั้งสามว่า หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ได้ติดต่อขอหลักฐานใบเสร็จรับเงินการชำระค่าลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งชำระไปแล้วเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 จำเลยที่ 2 จึงจัดส่งใบเสร็จรับเงินและสติ๊กเกอร์ไปให้โจทก์ที่ 1 โจทก์ที่ 1 ได้นำหลักฐานที่ได้หลังเกิดเหตุไปต่อสู้ในคดีอาญาที่โจทก์ที่ 2 ถูกฟ้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ตามสำเนาคำพิพากษา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทราบว่า โจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วหลังวันเกิดเหตุที่โจทก์ที่ 2 ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามไม่ทราบเรื่องที่โจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ก่อนหน้านี้ ดังนี้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ที่มีต่อโจทก์ที่ 1 หรือกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง
คดีแพ่งที่จะถือว่าเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องเป็นคดีแพ่งที่มีมูลมาจากคดีอาญาซึ่งโดยปกติหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความรับผิดทางแพ่งและทางอาญา โดยอาศัยกฎเกณฑ์ความรับผิดเป็นทำนองเดียวกัน ในคดีนี้จำเลยทั้งสามจะรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองหรือไม่ อยู่ที่ว่าจำเลยที่ 3 ตัวการโดยจำเลยที่ 2 และที่ 1 ตัวแทนปฏิบัติผิดสัญญาทางแพ่งคือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ต่อโจทก์ที่ 1 หรือจำเลยทั้งสามกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 2 ได้แสดงหลักฐานใบนำฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 และเจ้าพนักงานตำรวจผู้เข้าตรวจสอบจับกุมทราบในวันเกิดเหตุหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ได้ทราบว่าโจทก์ที่ 1 ชำระค่าตอบแทนสิทธิให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์แล้วก่อนหรือหลังวันเกิดเหตุที่โจทก์ที่ 2 ถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 ส่วนในคดีอาญา โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวจะต้องรับผิดทางอาญาในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นหรือไม่ ถือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เป็นเกณฑ์ความผิดกล่าวคือ หากโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวมีสิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์แล้ว การเผยแพร่งานเพลงต่อสาธารณชนเพื่อการค้าก็ไม่เป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามในทางแพ่งตามที่โจทก์ทั้งสองฟ้องในคดีนี้จึงไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดต่อ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ในคดีอาญาที่โจทก์ที่ 2 เป็นจำเลยดังกล่าว คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จึงหาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาใช้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 แต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5219/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าโดยได้รับอนุญาต แม้สัญญาเป็นโมฆะ แต่การกระทำไม่ถือเป็นการละเมิดหากสุจริตและปฏิบัติตามสัญญา
จำเลยได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายบริการ THE HIDE-AWAY และรูปภาพเด็กนอนพิงผลมะนาว (LEMON BABY) จากบริษัทไฮด์อะเวย์ กรุ๊ป (1991) จำกัด มีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2541 ตั้งแต่วันที่โจทก์รับโอนเครื่องหมายบริการดังกล่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2545 ถึงวันที่โจทก์ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2546 ก็ยังอยู่ในช่วงเวลาของอายุสัญญาดังกล่าว แม้สัญญาจะเป็นโมฆะเพราะไม่ได้จดทะเบียนต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 68 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 ก็ตาม แต่เนื้อความในสัญญาที่อนุญาตให้จำเลยใช้ข้อมูลทางเทคนิคเกี่ยวกับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและการหายใจภายใต้เครื่องหมายบริการและชื่อทางการค้า "The Hide Away Thai Herbal Steam Sauna" ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าของผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิ ย่อมทำให้จำเลยผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่าตนสามารถใช้เครื่องหมายบริการและชื่อทางการค้าดังกล่าวได้เนื่องจากกระทำภายใต้เครื่องหมายบริการและชื่อทางการค้ากับใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิ ยิ่งกว่านั้นหลังจากบริษัทผู้อนุญาตให้ใช้สิทธิโอนเครื่องหมายบริการดังกล่าวให้บริษัทไฮด์อะเวย์ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด จำเลยกับบริษัทผู้รับโอนเครื่องหมายดังกล่าวก็ยังคงปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธินี้ด้วยดีตลอดมา ยิ่งทำให้จำเลยเชื่อเช่นนั้น ฉะนั้น การที่จำเลยโฆษณาการให้บริการลูกค้าของจำเลยโดยใช้แผ่นป้ายโฆษณาที่มีเครื่องหมายบริการของโจทก์ในช่วงเวลาก่อนโจทก์ร้องทุกข์จึงไม่เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายบริการเสียหายและถือไม่ได้ว่าจำเลยละเมิดเครื่องหมายบริการของโจทก์โดยนำไปโฆษณา ขายหรือเพื่อขายธุรกิจบริการของจำเลยในแผ่นป้ายโฆษณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5137/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำคดีละเมิดลิขสิทธิ์: สิทธิระงับเมื่อคดีเดิมยกฟ้อง
ข้อกล่าวหาของโจทก์ในคดีนี้กับคดีอาญาเรื่องก่อนของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีมูลมาจากเหตุหรือการกระทำอันเดียวกันและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งถือว่าได้วินิจฉัยเนื้อหาข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีแล้ว และโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นคดีนี้จึงเป็นอันระงับไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5137/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำคดีละเมิดลิขสิทธิ์: ศาลยกฟ้องเมื่อคดีเดิมมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
ข้อกล่าวหาของโจทก์ในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีมูลมาจากเหตุหรือการกระทำอันเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้พิพากษายกฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ดังกล่าวโดยวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดี และโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นคดีนี้จึงเป็นอันระงับไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1142/2547 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หลังขับรถขณะเสพยาเสพติด และการรอการลงโทษจำคุก
พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษหรือกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอีกหนึ่งในสาม และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่" บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า เมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามกฎหมายมาตรานี้แล้ว ให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ด้วย อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสอง แล้ว ย่อมต้องมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือนด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยอ้างให้ใช้กฎหมายเกี่ยวกับโทษและรอการลงโทษ
คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นจึงสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ข้อที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากถูกจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพและให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าพนักงานตลอดมา ตั้งแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ขอให้นำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/1 และ 100/2 มาใช้ให้เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำให้การของจำเลย โดยโจทก์มิได้รับรอง และอ้างอีกประการว่า คดีมีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 โดยจำเลยระบุในฎีกาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น เป็นฎีกาที่ประสงค์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างและใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษตามความประสงค์ของจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5009/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ให้ข้อมูลสำคัญช่วยปราบปรามยาเสพติด ลดโทษจากประหารชีวิตเหลือจำคุก
จำเลยที่ 1 ได้รับการว่าจ้างให้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานตำรวจจึงขยายผลโดยให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 และนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 จนสามารถจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ นับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด ผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ต้องมีใบอนุญาตก่อน และศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขคำสั่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายได้
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ และไม่ได้ขอให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีใบอนุญาตขับขี่ที่จะต้องพักใช้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนด 6 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน จึงไม่ถูกต้อง เพราะการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคสองนั้น ต้องปรากฏว่าจำเลยมีใบอนุญาตขับขี่ด้วย แม้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาขึ้นมา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4827/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอปล่อยตัวชั่วคราวและการคืนทรัพย์สินหลังพ้นการควบคุมตาม ป.วิ.อ.มาตรา 90
สิทธิของผู้ถูกคุมขังในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตาม ป.วิ.อ.มาตรา 90 นั้น มีอยู่เพียงชั่วระยะยาวเวลาที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ตามคำร้องปรากฏว่าภายหลังจากผู้ร้องถูกควบคุมตัว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวผู้ร้องชั่วคราวไปแล้วโดยให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันไว้ กรณีจึงไม่มีการควบคุมตัวผู้ร้องในขณะยื่นคำร้องแล้วผู้ร้องจึงไม่อาจจะร้องขอตามมาตรา 90 ได้อีกต่อไป หากการจับเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้องด้วยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องนั้น ๆ ต่อไป สำหรับทรัพย์สินซึ่งผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปโดยมิชอบด้วยกำหมายและขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจคืนแก่ผู้ร้องนั้น ก็มิใช่กรณีที่จะยื่นคำขอมาพร้อมกับคำร้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 90 ได้เช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง
(ประชุมใหญ่)
of 34