คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปัญญารัตน์ วิระยะวานิช

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 201 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตัวการและตัวแทน กรณีละเมิดจากการติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยชำรุด และการประเมินค่าเสียหายที่สมเหตุสมผล
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของโครงการอาคารชุด ซึ่งจะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภคของโครงการรวมทั้งจัดให้มีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามที่ประกาศโฆษณาขายอาคารชุด การที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาบุคคลอื่นติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยของอาคารชุด จำเลยที่ 1 ต้องดูแลให้ระบบป้องกันอัคคีภัยใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ในการมีระบบป้องกันอัคคีภัย หากระบบป้องกันอัคคีภัยไม่สามารถใช้งานได้หรือใช้งานได้ไม่สมบูรณ์จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบในการดำเนินการแก้ไขระบบป้องกันอัคคีภัยจนสามารถใช้งานได้ ตามที่โฆษณาไว้ เมื่อต่อมาโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอาคารชุดซึ่งมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 และปรากฏแก่โจทก์ว่า ระบบป้องกันอัคคีภัยที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาบุคคลอื่นมาติดตั้งไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ จำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ต้องรับผิดแก้ไขปรับปรุงให้การติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยใช้งานได้สมบูรณ์
ระบบป้องกันอัคคีภัยที่จำเลยที่ 1 จ้างเหมาจำเลยที่ 2 ติดตั้งแก่อาคารชุด ไม่สามารถใช้งานได้สมบูรณ์ตามวัตถุประสงค์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดดำเนินการแก้ไขระบบป้องกันอัคคีภัยให้สามารถใช้งานได้ การที่จำเลยที่ 2 มอบหมายให้พนักงานของตนตรวจสอบแก้ไขระบบดังกล่าวจึงเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ด้วย เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสายไฟฟ้าเข้าระบบผิด ทำให้กระแสไฟฟ้าลัดวงจร เกิดความเสียหายแก่ระบบป้องกันอัคคีภัย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 425 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนก่อให้เกิดขึ้นดังกล่วด้วยตามมาตรา 427 ประกอบมาตรา 425
จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการแก้ไขระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยที่ได้รับความเสียหายให้เสร็จสิ้นภายในเวลาอันสมควร โจทก์ย่อมมีสิทธิจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการในฐานะเจ้าของทรัพย์สินใช้สิทธิเข้าจัดการในทรัพย์สินของตน โดยจัดหาบุคคลภายนอกมาดำเนินการและเรียกค่าใช้จ่ายจากจำเลยทั้งสองได้ หากต้องรอจนจำเลยทั้งสองแก้ไขระบบสัญญาณเตือนอัคคีภัยซึ่งไม่อาจคาดหมายกำหนดเวลาเสร็จสิ้นได้ ถือเป็นค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213, 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1383/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ค่าก่อสร้างเพิ่มเติม แม้ไม่มีการบอกกล่าวทวงถามก่อนฟ้องก็สามารถทำได้
แม้รายการสั่งซื้อวัสดุเพิ่มเติมที่โจทก์ดำเนินการสั่งซื้อไปตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้มีการทำคำสั่งนั้นเป็นลายลักษณ์อักษรตามทางปฏิบัติ แต่ในรายการสั่งซื้อวัสดุเพิ่มเติมนั้นได้มี บ. วิศวกรคุมงานของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ตรวจสอบและลงชื่อกำกับไว้ และมี ส. หัวหน้าคนงานเบิกความเป็นพยานยืนยันการตรวจสอบและลงลายมือชื่อกำกับดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้นำสืบหักล้างคำเบิกความของ ส. กรณีจึงต้องฟังตามที่ ส. เบิกความ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์ตามเอกสารรายการสั่งซื้อดังกล่าว
ตามป.พ.พ. มาตรา 602 บัญญัติว่าอันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ ดังนี้ เมื่อโจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ค่าแรงและค่าวัสดุให้แก่โจทก์ในเวลาที่รับมอบงาน เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระ โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ให้ชำระหนี้ได้ โดยมิต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 820/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุโจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 อย่างชัดแจ้ง และฎีกาไม่เชื่อมโยงกับข้อเท็จจริงในคดีของตนเอง
ฎีกาประการแรกของโจทก์กล่าวถึงแต่เฉพาะคดีของบุคคลอื่นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาอย่างไร ซึ่งเป็นคนละคดีกับคดีของโจทก์ ย่อมมีข้อที่จะต้องพิจารณาเฉพาะของแต่ละคดี โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในคดีของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอย่างไร ส่วนฎีกาประการที่สองที่อ้างว่าคำพิพากษาในคดีอาญาที่ยกฟ้องโจทก์และคดีดังกล่าวถึงที่สุด ย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นคำพิพากษาที่ซ้ำซ้อนกับคดีอาญาดังกล่าว นั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายดังที่โจทก์กล่าวอ้าง และก็เป็นข้อฎีกาที่มิได้ชี้ให้เห็นว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบอย่างไรเช่นเดียวกัน ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8490/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้โฉนดที่ดินปลอมหลอกลวงเพื่อหวังผลประโยชน์ การกระทำผิดกรรมเดียว
จำเลยกับพวกร่วมกันวางแผนโดยใช้โฉนดที่ดินพิพาทปลอมที่มีรอยตราปลอมประทับอยู่ ไปแลกเอาโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงของผู้เสียหายมา อันเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารและลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย แล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงพร้อมหนังสือมอบอำนาจปลอมของผู้เสียหาย ไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 มาตรา 252 ประกอบมาตรา 251 และมาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวคือ การทำให้สามารถขายหรือขายฝากที่ดินพร้อมอาคารพิพาทของผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 90 อันได้แก่ความผิดฐานใช้โฉนดที่ดินซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8490/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม, เอาไปเสีย/ลักทรัพย์โดยอุบาย, และร่วมกันกระทำความผิด
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันวางแผนโดยใช้โฉนดที่ดินพิพาทปลอมที่มีรอยตราปลอมประทับอยู่ ไปแลกเอาโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงของผู้เสียหายมาอันเป็นการเอาไปเสียซึ่งเอกสารและลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย แล้วนำโฉนดที่ดินพิพาทฉบับจริงพร้อมหนังสือมอบอำนาจปลอมของผู้เสียหายไปใช้แสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน การกระทำทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์เพียงอย่างเดียว คือ การทำให้สามารถขายหรือขายฝากที่ดินพร้อมอาคารของผู้เสียหายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7667/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยการครอบครองเป็นส่วนสัดและการขาดอายุความมรดก
นับแต่วันที่ ส. ตาย ทายาทของ ส. คือโจทก์ จำเลย และ อ. ได้ครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกเป็นส่วนสัด อันเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคหนึ่ง แล้ว และถือได้ว่าการแบ่งปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วนับแต่วันที่ได้มีการครอบครองเป็นส่วนสัด จึงไม่มีปัญหาเรื่องคดีโจทก์ขาดอายุความมรดก 1 ปี ตามมาตรา 1754 หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7164/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศ กรณีสินค้าสูญหายระหว่างอยู่ในคลังสินค้า และการจำกัดความรับผิด
ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาใบตราส่งสินค้าทางอากาศ (Air Waybill) ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศในคดีนี้ว่า สัญญาดังกล่าวฝ่ายผู้ขายได้จัดส่งสินค้ามาให้ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่ง โดยมีจำเลยทั้งสามเป็นผู้รับผิดชอบในการขนส่งสินค้าของผู้ขายเพื่อให้ถึงมือผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่ง จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งสินค้าทางอากาศจึงต้องร่วมกันรับผิดชอบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดูแลมิให้สินค้าที่ขนส่งสูญหายในระหว่างการขนส่งจนกว่าจะถึงมือผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่ง ตราบใดที่ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งยังไม่ได้รับสินค้านั้นไว้ สินค้านั้นก็ยังไม่พ้นความดูแลหรือความรับผิดชอบของผู้ขนส่ง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า เหตุแห่งการสูญหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้านั้นอยู่ในคลังสินค้าของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กรณีก็ถือว่าเหตุแห่งการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งหรือระหว่างที่สินค้านั้นยังอยู่ในความรับผิดชอบดูแลของผู้ขนส่งเนื่องจากในระหว่างนั้นผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งยังมิได้รับสินค้าที่ผู้รับขนส่งสินค้าขนส่งมา จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ร่วมรับขนส่งยังมิได้รับสินค้าที่ผู้รับขนส่งสินค้าขนส่งมา จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ร่วมรับขนส่งสินค้าดังกล่าวจึงต้องร่วมรับผิดต่อความเสียหายอันเนื่องมาจากการสูญหายของสินค้าที่รับขนส่งต่อโจทก์ผู้รับประกันภัยสินค้านั้นซึ่งรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่ง
นอกจากนี้ในสำเนาใบตราส่งสินค้าทางอากาศ ไม่ปรากฏว่าผู้ส่งหรือตัวแทนของผู้ส่งสินค้าได้ลงลายมือชื่อแสดงความตกลงในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในเรื่องเงื่อนไขความรับผิด ที่ระบุไว้ที่ด้านหลังใบตราส่งเพียงจำนวน 20 ดอลลาร์สหัรัฐต่อสินค้าสูญหาย 1 กิโลกรัม คงมีเพียงตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ชื่อผู้ส่งสินค้าไว้เท่านั้น นอกจากนี้ยังปรากฏว่าในช่อง "Other Charges" ของสำเนาใบตราส่งดังกล่าวมีตัวอักษรและตัวเลขไว้ว่า Secu/c 102, 22 อันมีความหมายว่า ผู้ส่งได้จ่ายเงินเพิ่มเป็นค่าประกันในการดูแลรักษาสินค้าไว้แล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงในเรื่องเงื่อนไขการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้วยโดยชัดแจ้ง ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7022/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขายห้องชุดเนื่องจากจำเลยมิได้แจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ และการพิพากษาให้ชำระเงินตามสัญญา
โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเลขที่ 905 บี กับจำเลยที่ 1 โดยให้ถือเอาเงินจองที่โจทก์ได้ชำระแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของราคาห้องชุด และได้ชำระเงินในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายบางส่วนกับตกลงชำระส่วนที่เหลือเป็นงวดรายเดือน รวม 30 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือนพฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไป ส่วนราคาห้องชุดส่วนที่เหลือ โจทก์ตกลงชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ข้อเท็จจริงคดีนี้ จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดและบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดแก่โจทก์โดยมิชอบ กรณีจึงไม่มีผลตามกฎหมายและไม่อาจถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อจำเลยที่ 1 ขายห้องชุดพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6952/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญานายหน้า: สิทธิเรียกร้องค่าบำเหน็จและส่วนเกินใช้ อายุความ 10 ปี ตามกฎหมายทั่วไป
โจทก์ฟ้องเรียกค่าบำเหน็จและเงินส่วนเกินตามสัญญานายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 845 มิได้ฟ้องเรียกเอาสินจ้างจากการรับทำการงาน สิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6465/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินกู้: ดอกเบี้ยเกินอัตรา, ข้อบกพร่องสัญญา, และการชำระหนี้
โจทก์เป็นบริษัทจำกัดที่ประกอบกิจการให้เช่าซื้อทรัพย์สินและให้กู้เงิน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน และค่าธรรมเนียมที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้าซึ่งคิดแล้วเกินอัตรร้อยละ 15 ต่อปี จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวรวมทั้งค่าธรรมเนียมจากจำเลยทั้งสองได้ ต้องนำดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โจทก์เรียกเก็บล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมดหักออกจากเงินต้นตามสัญญากู้
ส่วนดอกเบี้ยซึ่งกำหนดตามสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้ ตกเป็นโมฆะ โจทก์จะกลับมาใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามกำหนดในสัญญาอีกไม่ได้ คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
of 21