คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สิริรัตน์ จันทรา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 270 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7892/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษในชั้นอุทธรณ์ และการใช้กฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่เพื่อประโยชน์แก่จำเลย
แม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ขอให้ลดโทษและโจทก์อุทธรณ์เพียงข้อกฎหมายว่าการกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้สำหรับความผิดฐานนั้นสูงเกินไป ก็มีอำนาจกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่รูปคดี อันเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแก่จำเลยตามความผิดของจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกอุทธรณ์ซึ่งจะเป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 ประกอบด้วยมาตรา 215 แต่อย่างใด
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.อ. (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2551 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่ง ป.อ. และให้ใช้ข้อความใหม่แทน สำหรับคดีนี้ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ การลดมาตราส่วนโทษตาม ป.อ. มาตรา 76 (เดิม) กำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดสำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะบังคับตาม ป.อ. มาตรา 75 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรพิจารณาลงโทษก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับว่าศาลจะต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลย มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควร การลดมาตราส่วนโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7732/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: พยานหลักฐานและข้อสันนิษฐานทางกฎหมาย
ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 นั่งรถยนต์มากับจำเลยที่ 1 และได้รู้เห็นจำเลยที่ 3 ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 มัด ให้แก่สายลับภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 4 มัด แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มีโอกาสรู้เห็นการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยที่ 1 กับสายลับ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นอกจากพบเงินจำนวน 50,000 บาท ที่สายลับใช้ล่อซื้อแล้วยังพบเงินอีก 20,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 มอบให้จำเลยที่ 1 เป็นค่าเมทแอมเฟตามีนอยู่ในช่องเก็บของข้างที่นั่งคนขับ ฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้มาซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 มัด รวม 2,000 เม็ด จากจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนที่จะซื้อเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังจะส่งมอบ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 พยายามมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 2,000 เม็ด ไว้ในครอบครอง เนื่องจากเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไป ต้องด้วยข้อสันนิษฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 2,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟอกเงินต้องพิสูจน์ได้ว่าเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐาน หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น
ความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 60 โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความว่า เงินของกลางเป็นเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำที่เป็นความผิดมูลฐานอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ความผิดมูลฐานที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดเกี่ยวกับการลักลอบหนีศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำของอะไรเข้ามาหรือออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงศุลกากร จนเป็นเหตุให้มีเงินของกลางดังกล่าว การที่จำเลยจะนำเงินของกลางเพื่อออกนอกราชอาณาจักร จำเลยจะมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เงินของกลางอาจเป็นเพียงของที่ใช้ในการกระทำความผิดฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเท่านั้น ไม่อยู่ในนิยามคำว่า "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามความในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542
การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเหตุให้ได้เงินของกลางมานั้น เป็นความผิดต่อกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินโดยเฉพาะ ไม่อยู่ในนิยาม "ความผิดมูลฐาน" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6477/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารพาณิชย์ไม่ใช่ตัวแทนผู้ฝาก การฟ้องอาญาฐานยักยอกทรัพย์และ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์จึงไม่มีมูล
จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรจากการให้บริการทำธุรกรรมทางด้านการเงินและรับฝากเงิน เงินที่จำเลยที่ 1 รับฝากไว้จากโจทก์ จำเลยที่ 1 สามารถที่จะนำเงินออกไปใช้แสวงหาประโยชน์อย่างไรก็ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือขอความเห็นชอบจากผู้ฝาก เพียงแต่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องคืนเงินดังกล่าวให้ครบจำนวนตามกำหนดเวลาเท่านั้น และมีอำนาจหรือสิทธิตัดสินใจในการบริหารเงินที่รับฝากไว้ตามกิจการของตนเองได้โดยลำพัง จำเลยที่ 1 จึงมิได้มีฐานะเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการเงินของโจทก์ตามความหมายแห่ง ป.อ. มาตรา 353 ดังนั้น หากโจทก์มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับเงินฝากกับจำเลยที่ 1 ก็เป็นเรื่องข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมทางด้านการเงิน ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง โจทก์ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอากับจำเลยที่ 1 ในทางแพ่งเท่านั้น
ข้อหาการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) บัญญัติห้ามมิให้ธนาคารพาณิชย์กระทำการใดๆ อันก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศหรือประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไม่เป็นธรรม... เป็นบทบัญญัติที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของประเทศ อีกทั้งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม อันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คดีเสร็จการไต่สวนมูลฟ้อง แต่ก่อนอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 5 อ้างว่าเป็นเอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นใหม่ภายหลัง โจทก์ไม่อาจอ้างได้ก่อนในวันนัดไต่สวนครั้งสุดท้าย ซึ่งเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นเอกสารที่โจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้องและนำพยานมาสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้ว พยานเอกสารที่โจทก์ขอระบุเพิ่มเติมจึงมิใช่เอกสารสำคัญที่จะทำให้การวินิจฉัยชี้ขาดผลคดีให้เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 5 ของโจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6291/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการจัดการมรดกของทายาทโดยลำดับและผู้จัดการมรดก
แม้ผู้คัดค้านที่ 3 ไม่อาจเข้ารับมรดกแทนที่ อ. เพราะ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังเจ้ามรดกก็ตาม แต่ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุตรของ อ. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายเพราะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งไม่มีสามีและบุตร และบิดามารดาตายไปก่อนแล้ว เมื่อ อ. ถึงแก่ความตายภายหลังผู้ตาย ทรัพย์มรดกในส่วนของ อ. จึงตกแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 ย่อมเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ อ. ในการรับมรดกของผู้ตาย จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6155/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้กฎหมายอาญาที่แก้ไขใหม่ กรณีความผิดพรากเด็กและกระทำชำเราโดยมีการสมรสภายหลัง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2550 ถึงวันใดไม่ปรากฏชัด เดือนมิถุนายน 2552 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ... แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์มิได้สืบให้ได้ความชัดว่าเหตุเกิดในวันเวลาใด แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลย คือจำเลยกระทำความผิดก่อนกฎหมายใหม่ใช้บังคับ จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยมาใช้บังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 ซึ่งมาตรา 277 วรรคท้าย (เดิม) เป็นคุณกว่ามาตรา 277 วรรคท้าย (ที่แก้ไขใหม่) เมื่อระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรากฏว่าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกระบี่มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 สมรสกัน ดังนี้ สำหรับความผิดในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) จำเลยไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 277 วรรคท้าย แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5412/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีอาญา: การสอบจำเลย การสืบพยาน และการอ่านคำพิพากษา
การสอบจำเลยเรื่องทนายความก่อนเริ่มพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นการที่ศาลออกนั่งเกี่ยวกับการพิจารณาคดีจึงเป็นการนั่งพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (9) ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งจะต้องอยู่ในบังคับของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมว่าด้วยองค์คณะผู้พิพากษา แต่เมื่อการดำเนินการดังกล่าวมิใช่การชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี จึงเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) การที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวได้สอบจำเลยเรื่องทนายความและลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาจึงชอบแล้ว ส่วนการสืบพยานประเด็นโจทก์ที่ศาลอาญามีผู้พิพากษาสองคนนั่งพิจารณาครบองค์คณะแล้ว แม้มีผู้พิพากษาอีกคนมาร่วมลงลายมือชื่อโดยที่ไม่ได้นั่งพิจารณาก็เป็นเพียงการดำเนินกระบวนพิจารณาเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น หามีผลให้การนั่งพิจารณาที่ถูกต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ส่วนการสืบพยานในศาลชั้นต้นทุกครั้งก็ปรากฏตามบันทึกคำเบิกความและรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่าในแต่ละครั้งมีลายมือชื่อผู้พิพากษาสองคนลงลายมือชื่อไว้จึงต้องฟังตามรายงานกระบวนพิจารณาว่าในวันเวลาดังกล่าวมีผู้พิพากษาสองคนของศาลชั้นต้นนั่งพิจารณาคดีอันเป็นการนั่งพิจารณาครบองค์คณะตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 หาได้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 236 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น ส่วนการอ่านคำพิพากษาเป็นการดำเนินการหลังคดีเสร็จการพิจารณา ทั้งผู้พิพากษาได้ลงชื่อในคำพิพากษาครบองค์คณะตามกฎหมายแล้ว การอ่านคำพิพากษาย่อมกระทำได้โดยผู้พิพากษาคนเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5308/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่โจทก์ในการพิสูจน์ความผิดฐานมีอาวุธปืน และผลของการขาดอายุความในความผิดเล็กน้อย
ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์มีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืน เมื่อโจทก์ไม่นำสืบจึงไม่สามารถลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ได้
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย ก็เพื่อนำข้อเท็จจริงมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย และแม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมความประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ แต่ก็เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เพียงสถานเดียว อันเป็นระวางโทษอย่างอื่นนอกจากโทษจำคุก และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 16 มกราคม 2548 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 13 กันยายน 2549 จึงเลยกำหนดระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับความผิดทั้งสองมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5307/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนคดีเยาวชนและครอบครัว: ศาลอุทธรณ์ต้องโอนไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนฯ เมื่อข้อเท็จจริงเรื่องอายุเพิ่งปรากฏ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 15 มุ่งประสงค์ที่จะให้คดีเยาวชนและครอบครัวได้รับการพิจารณาโดยต่อเนื่อง จึงมิให้การพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาลที่ไม่มีอำนาจต้องเสียไป โดยให้ศาลนั้นๆ โอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจเพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งศาลที่รับโอนคดีจะเป็นศาลใดนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาคดีนั้นว่าอยู่ในศาลชั้นใดหากอยู่ในศาลชั้นต้นก็ต้องโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัว หากอยู่ในชั้นอุทธรณ์ก็ต้องโอนคดีไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยอายุไม่เกิน 18 ปี บริบูรณ์ ขณะกระทำความผิดนั้นไม่ได้ปรากฏต่อศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาไปนั้นย่อมเป็นการชอบด้วยบทบัญญัติมาตราดังกล่าว แต่เมื่อข้อเท็จจริงเรื่องอายุของจำเลยเพิ่งปรากฏต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องโอนคดีไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นโอนคดีไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดระยองจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5282/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาคดีอาญาต่อคดีแพ่งเรื่องการครอบครองที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ในคดีก่อนโจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาว่า โจทก์บุกรุกเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อศาลในคดีก่อนวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและคดีถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 55.41 ไร่ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว เพราะโจทก์เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาคดีนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ว่า กระทำละเมิดบุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ให้ชดใช้ค่าเสียหาย จึงต้องฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ส่วนที่ดินที่โจทก์ครอบครองเพิ่มเติมอีกด้านละ 12 ไร่ และ 14 ไร่ รวมเป็น 26 ไร่นั้น ก็ปรากฏว่าเป็นการครอบครองภายในอาณาเขตที่ดินที่ศาลในคดีก่อนได้วินิจฉัยว่า เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเช่นเดียวกัน โจทก์จึงไม่อาจอ้างสิทธิให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อการเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ของจำเลยทั้งสองซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
of 27