พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7142/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
คดีค้ามนุษย์และพรากผู้เยาว์ การพิพากษาความผิดฐานต่างๆ และการใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่
ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดนับแต่จำเลยทั้งสองกับพวกเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่นอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาในท้องที่ต่าง ๆ หลายท้องที่ตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อการค้าประเวณีที่จังหวัดตราด ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายท้องที่ทั้งนอกราชอาณาจักรและในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก (เดิม) และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ตามมาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดสองฐานนี้ ความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับความผิดฐานร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยทั้งสองนั้นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 แก้ไขอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 286 วรรคแรก และมาตรา 318 วรรคสาม แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แต่ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกความในมาตรา 286 ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณเฉพาะในส่วนโทษจำคุก จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3512/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข่มขืนกระทำชำเรา-พรากผู้เยาว์: ศาลฎีกาพิพากษา ยกประโยชน์แห่งความสงสัยและแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่ยืนยันว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรามีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ เพราะเมื่อแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องไว้ ย่อมแสดงว่าคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ต่อศาลในชั้นพิจารณาแตกต่างกับคำให้การชั้นสอบสวนที่ผู้เสียหายที่ 1 เคยให้การไว้ซึ่งพนักงานอัยการใช้เป็นข้อมูลในการบรรยายการกระทำของจำเลยในคำฟ้อง แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 ให้การต่อพนักงานสอบสวนและเบิกความต่อศาลแตกต่างขัดแย้งกันไม่อยู่กับร่องกับรอย ทำให้คำเบิกความของพนักงานสอบสวนและเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 เป็นพิรุธไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้น คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่กล่าวอ้างว่า ถูกจำเลยบังคับให้ดื่มสุราสาโทประมาณ 2 แก้ว จนผู้เสียหายที่ 1 หมดสติไม่รู้สึกตัว เมื่อรู้สึกตัวก็รู้ตัวว่าถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเรา อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ในขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้เพราะเมาสุราหมดสติ เป็นการขัดต่อเหตุผล จึงยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จริงตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
หลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องความผิดหลายกระทงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องในฟ้องข้อ 1 ก. รวมการกระทำความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร และพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารอยู่ในฟ้องข้อเดียวกัน แยกออกจากฟ้องข้อ 1 ข. ฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้น โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารและพรากผู้เยาว์เพียงกรรมเดียว หาใช่มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 เหมือนเช่นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ตามฟ้องข้อ 1 ข. อีกกระทงหนึ่งไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก กระทงหนึ่ง และฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและนอกความประสงค์ของโจทก์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่
หลักเกณฑ์การบรรยายฟ้องความผิดหลายกระทงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องในฟ้องข้อ 1 ก. รวมการกระทำความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจาร และพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารอยู่ในฟ้องข้อเดียวกัน แยกออกจากฟ้องข้อ 1 ข. ฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้น โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารและพรากผู้เยาว์เพียงกรรมเดียว หาใช่มุ่งประสงค์ให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 เหมือนเช่นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ตามฟ้องข้อ 1 ข. อีกกระทงหนึ่งไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยฐานพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก กระทงหนึ่ง และฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 วรรคแรก อีกกระทงหนึ่ง จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอและนอกความประสงค์ของโจทก์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่