คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สถิตย์ ทาวุฒิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 313 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4407/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าจ้างว่าความ, การพิจารณาคดีหลังยกคำพิพากษา, กระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกค่าจ้างว่าความขาดอายุความแล้ว โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการเรียกเอาค่าจ้างว่าความยังไม่ขาดอายุความ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ประเด็นเรื่องอายุความจึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นจึงต้องดำเนินการพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่เฉพาะในประเด็นเรื่องค่าจ้างว่าความเท่านั้น
ศาลชั้นต้นสืบพยานจนเสร็จสิ้นกระแสความและมีคำพิพากษาแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไปได้ โดยไม่ต้องกำหนดวันนัดพิจารณาอีก
จำเลยฎีกาโต้แย้งกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ประเด็นตามฎีกาของจำเลยมิได้มีผลเกี่ยวกับทุนทรัพย์ในคดี จำเลยจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์จำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3801/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการร้องขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณาคดีและการตั้งผู้จัดการทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307
การร้องขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 นั้น คู่ความฝ่ายใดในคดีจะร้องขอก็ได้ แต่จะต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องขอเพื่อให้ทรัพย์สิน สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันได้รับความคุ้มครองไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษา จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการทรัพย์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 307 ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่าสมควรตั้งผู้จัดการทรัพย์หรือการประกอบกิจการตามที่จำเลยที่ 3 ร้องขอแทนการสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 หรือไม่ ป.วิ.พ. มาตรา 307 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลมีคำสั่งในกรณีดังกล่าว ซึ่งมุ่งที่จะคุ้มครองลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้มีโอกาสชำระหนี้ โดยไม่จำต้องขายทรัพย์สินอันสามารถทำรายได้ให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาไป การที่จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอตั้งผู้จัดการทรัพย์พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อบรรเทาความเสียหาย จึงเป็นคำขอเพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยที่ 3 ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 264 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจสั่งคำร้องขอดังกล่าวได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นคำร้องขอให้งดการบังคับคดีซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3746/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความระงับสิทธิเรียกร้องจากการผิดสัญญาเช่าซื้อ ผู้ค้ำประกันไม่ผูกพันหากไม่ตกลงร่วมด้วย
หากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้โดยไม่ผิดนัดจนครบจำนวนเงิน130,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป บันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเกิดจากการผิดสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ฝ่ายยอมสละระงับสิ้นไป และได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นว่าเป็นของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่าซื้อจึงระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3549/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดจากการขนส่งผู้โดยสาร: ผู้ได้รับอนุญาตเดินรถไม่มีอำนาจฟ้องแทนเจ้าของสิทธิ
ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มาตรา 6 วรรคสอง ได้บัญญัติให้นายทะเบียนกลางเป็นนายทะเบียนประจำกรุงเทพมหานคร มีอำนาจและหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวภายในเขตกรุงเทพมหานคร ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ได้ความแต่เพียงว่าโจทก์ได้ทำสัญญานำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารประจำทางกับ ข.ส.ม.ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบการขนส่งผู้โดยสารตามเส้นทางต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอำนาจใด ๆ ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ หรือรับมอบอำนาจจากนายทะเบียนกลางให้ฟ้องหรือดำเนินคดีแก่ผู้ที่กระทำฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ ที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าจำเลยได้กระทำการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ และ พ.ร.บ.รถยนต์ฯ
การกระทำที่จะเป็นละเมิดและถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอื่นจะต้องเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยจงใจหรือโดยประมาทเลินเล่อ และจากการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงต่อผู้ถูกกระทำ ดังนั้น แม้จะได้ความว่าจำเลยได้กระทำการตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง แต่โจทก์เป็นเพียงผู้หนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้นำรถโดยสารขนาดเล็กเข้าร่วมเดินรถโดยสารกับ ข.ส.ม.ก. เท่านั้น สิทธิในการเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทยังคงเป็นของ ข.ส.ม.ก. และ ข.ส.ม.ก. มีสิทธิอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาร่วมเดินรถโดยสารในเส้นทางพิพาทและยังเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดีต่อผู้ล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าว แม้การกระทำของจำเลยตามฟ้องเป็นละเมิดก็เป็นละเมิดต่อสิทธิของ ข.ส.ม.ก. ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรงแก่โจทก์ ส่วนสิทธิที่โจทก์มีอยู่ตามสัญญากับ ข.ส.ม.ก. อย่างไรก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ ข.ส.ม.ก. ต่างหาก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3474/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณาคดี: ศาลอุทธรณ์ต้องมีเหตุผลรองรับคำสั่ง และต้องทำเป็นคำพิพากษา
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินสวนยางพาราของโจทก์ทั้งสอง ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณา โดยให้จำเลยนำเงินมาวางศาลทุกเดือนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (2) ตอนท้าย เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (2) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งต้องทำเป็นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 และชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะได้วินิจฉัยโดยทำเป็นคำพิพากษา มิใช่ทำเป็นคำสั่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ทั้งสองในระหว่างการพิจารณา ทั้งมิได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ประกอบด้วยมาตรา 246 คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ชอบ แต่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยต่างนำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นไต่สวนจนเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาพิพากษาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3110/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงซึ่งอยู่ในความดูแลตามหน้าที่ราชการ พยานหลักฐานน้ำหนักเพียงพอ
การรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีความผิดหรือบริสุทธิ์เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะดำเนินการตามที่เห็นสมควร เมื่อโจทก์เห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนนี้มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลย การที่โจทก์ไม่สั่งให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำเด็กหญิง ส. และเด็กหญิง น. ไว้เป็นพยานและนำมาเบิกความต่อศาลจึงไม่เป็นพิรุธแต่ประการใด
การที่จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยครูใหญ่ จำเลยย่อมมีหน้าที่ปกครองดูแลผู้เสียหายซึ่งเป็นศิษย์ของจำเลย เมื่อจำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายจำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 80, 277 วรรคสอง (เดิม), 284 วรรคแรก, 285

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3103/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานโจทก์โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงครบถ้วน และอำนาจศาลอุทธรณ์ในการย้อนสำนวน
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เสียหายเพียงใด โดยโจทก์มีภาระการพิสูจน์ การที่จะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้น ต้องอาศัยข้อเท็จจริงจากการนำสืบของคู่ความซึ่งเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อโจทก์แถลงขอสืบ ส. ทนายโจทก์เป็นพยานปากแรก โดยโจทก์ยืนยันว่า ส. รู้เห็นการประกอบอาชีพของโจทก์ เมื่อยังไม่ได้ฟังคำพยานย่อมไม่อาจทราบได้ว่า ส. เป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงหรือไม่ และพยานหลักฐานของโจทก์ที่จะนำสืบในประเด็นข้อนี้มีน้ำหนักมากน้อยเพียงใด ประกอบกับโจทก์ไม่มีพฤติการณ์ประวิงคดี การที่ศาลชั้นต้นด่วนสรุปว่า ส. ไม่รู้เห็นข้อเท็จจริงในเรื่องการประกอบอาชีพของโจทก์โดยตรงจึงให้งดสืบพยานโจทก์ปากดังกล่าว คงมีโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว แล้วพิพากษาคดีไปโดยยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเสียก่อน จึงถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2)
แม้โจทก์มีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยให้บังคับจำเลยชำระเงินตามฟ้อง แต่การที่ศาลอุทธรณ์จะยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากปรากฏในคำฟ้องอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3102/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการแก้ไขกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย: ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจก้าวล่วงการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ในการพิจารณาคดีล้มละลาย แต่คำขอท้ายฟ้องมีใจความว่า ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งเพิ่มเติม รายงานกระบวนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง และมีคำสั่งให้ศาลล้มละลายกลางนัดคู่ความมาพร้อมกันแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างเที่ยงธรรม หากไม่สามารถทำได้ก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นแทนคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง เป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลชั้นต้นก้าวล่วงเข้าไปแก้ไขกระบวนพิจารณาในคดีล้มละลายของศาลล้มละลายกลางซึ่งเป็นศาลที่อยู่ในลำดับชั้นเดียวกันได้ ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่รับคดีโจทก์ไว้พิจารณาโดยยกฟ้องโจทก์เสีย เพราะเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาแห่งคดีแล้วว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แทนที่จะสั่งรับหรือไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3101/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกเงินทดรองบัตรเครดิต: การให้บริการบัตรเครดิตเป็นการทำสัญญาให้บริการ อายุความ 2 ปี
ในวันนัดสืบพยาน ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากพยานโจทก์เกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตและการชำระหนี้บัตรเครดิตของจำเลย ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงดังกล่าว และรับว่าใบแจ้งหนี้ที่โจทก์อ้างส่งถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานโจทก์ แล้วพิพากษาคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงตามที่ได้ความ ถือไม่ได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานโจทก์จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
โจทก์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์และประกอบธุรกิจให้บริการประเภทบัตรเครดิตมีลักษณะเป็นการทำกิจการงานให้บริการอำนวยความสะดวกแก่สมาชิกในการซื้อสินค้าและการใช้บริการ ส่วนการให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าด้วยบัตรเครดิต เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการอำนวยความสะดวกดังกล่าว โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ ให้แก่สมาชิก การที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนก็ดี หรือให้สมาชิกเบิกถอนเงินสดล่วงหน้าแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังก็ดี ถือได้ว่าเป็นการเรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไป การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2963/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำต้องห้าม: ศาลตัดสินแล้วว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของสามยทรัพย์ การฟ้องใหม่จึงเป็นการรื้อร้องคดีเดิม
โจทก์ฟ้องคดีนี้และคดีก่อนโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์มิได้ใช้ภาระจำยอม 10 ปี และภาระจำยอมหมดประโยชน์แก่สามยทรัพย์แล้ว เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ตามที่โจทก์อ้าง ถือว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีแล้วว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของสามยทรัพย์ ผลแห่งคำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อ้างว่าจำเลยเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148
of 32