คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สถิตย์ ทาวุฒิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 313 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3983-3985/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลมีอำนาจแก้ไขวิธีการชั่วคราวได้เสมอ เพื่อให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริงและเป็นประโยชน์แก่คู่ความที่อาจชนะคดี
การกำหนดเงื่อนไขในวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ไม่มีกฎหมายจำกัดให้ศาลกำหนดเงื่อนไขได้เฉพาะตามที่คู่ความร้องขอ เมื่อศาลเห็นว่าวิธีการชั่วคราวเดิมก่อให้เกิดปัญหาแก่คู่ความในการปฏิบัติตามคำสั่งของศาล รวมทั้งมีการโต้แย้งกันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวจนทำให้เป็นปัญหาในการพิจารณาเนื้อหาแห่งคดี ศาลชอบที่จะแก้ไขโดยกำหนดวิธีการชั่วคราวใหม่ได้ตามเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายที่จะชนะคดีต่อไป โดยไม่จำต้องรอให้คู่ความยื่นคำร้องขอเข้ามาอีกหรือต้องทำการไต่สวนใหม่ ส่วนที่ศาลอายัดข้อสันนิษฐานของกฎหมายมากำหนดให้แต่ละฝ่ายต่างเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่ตนมีชื่อเป็นผู้ครอบครองในหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินตามคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่แก้ไขใหม่นั้นก็เป็นเพียงการยกเหตุผลประกอบดุลพินิจเพื่อให้เห็นว่ามีเหตุสมควรที่จะกำหนดเงื่อนไขให้เป็นไปเช่นนั้น มิได้เป็นการชี้ขาดตัดสินคดี จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และที่ศาลกำหนดเงื่อนไขในวิธีการชั่วคราวที่แก้ไขใหม่ให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเข้าทำประโยชน์ในสวนยางพาราพิพาทแทนฝ่ายที่ผิดเงื่อนไขการวางเงินหรือขัดขวางการทำประโยชน์โดยไม่ต้องนำรายได้ส่วนที่เข้าทำประโยชน์แทนการมาวางศาล ก็เป็นไปเพื่อให้ข้อกำหนดที่ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายนำเงินมาวางศาลสัมฤทธิ์ผลอันเป็นประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายที่ชนะคดี จึงเป็นการชอบที่จะกำหนดเงื่อนไขนี้ไว้ได้ คำสั่งของศาลที่กำหนดวิธีการชั่วคราวขึ้นใหม่นี้จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 261 วรรคสามและมาตรา 262 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3913/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากอุบัติเหตุทางรถยนต์: ความรับผิดของนายจ้าง, ค่ารักษาพยาบาล, ค่าเสียความสามารถ และความเสียหายทางจิตใจ
โจทก์ทั้งสองฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในทางการที่จ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดในบรรดาหนี้ของจำเลยที่ 2 โดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2), 1087
การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ต้องวินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 อายุ 14 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งต่อไปย่อมสามารถประกอบอาชีพการงานมีรายได้เช่นคนปกติทั่วไป หลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอาการไม่รู้สึกตัวสมองบวม กะโหลกศีรษะยุบ เลือดออกใต้หนังศีรษะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดกะโหลก ต้องใช้เวลารักษานานอาจเป็นปี หลังผ่าตัดแล้วโจทก์ที่ 1 ยังมีอาการสมองไม่รับรู้ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พูดไม่ได้ ต้องจ้างผู้ดูแลตลอดเวลาทั้งไม่ปรากฏว่าจะสามารถรักษาให้โจทก์ที่ 1 หายเป็นปกติไว้ ปัจจุบันโจทก์ที่ 1 ยังไม่สามารถช่วยตัวเองได้เช่นนี้ ย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 สูญเสียความสามารถที่จะประกอบอาชีพต่อไปได้โดยสิ้นเชิง โจทก์ที่ 1 จึงได้รับความเสียหาย โดยไม่คำนึงว่าจะต้องมีอาชีพแต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 ต้องทุกข์ทรมานจากการผ่าตัดและทุพลภาพไม่สามารถช่วยตัวเองได้ไปตลอดชีวิต ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 เสียความสามารถในการประกอบการงานเป็นเงิน 500,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินเป็นเงิน 500,000 บาท เหมาะสมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3679/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของเจ้าของรถต่อผู้รับประกันภัยเมื่อผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาต และการบังคับใช้สิทธิจากสัญญาประกันภัย
จำเลยผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 18.10 โดยไม่ระมัดระวังปล่อยให้ พ. บุตรชายนำรถยนต์คันดังกล่าวที่โจทก์รับประกันภัยไว้ออกไปขับและยอมให้ บ. ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์เป็นผู้ขับรถ ทั้งตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์บังคับให้จำเลยรับผิดในฐานผิดสัญญาประกันภัย มิใช่เป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 31 โจทก์ซึ่งได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 121,428 บาท ให้แก่ทายาทของผู้ประสบภัยและผู้ประสบภัยไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 19 และไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 16

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3490/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีเลิกกันเนื่องจากประนีประนอมยอมความในหนี้เช็ค สิทธิฟ้องอาญาจึงระงับ
การที่ผู้เสียหายและจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในมูลหนี้ตามที่จำเลยออกเช็คพิพาท และศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของการประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 เมื่อสิทธิเรียกร้องของผู้เสียหายในมูลหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทระงับสิ้นไป ไม่ว่าผู้เสียหายจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วนหรือไม่ กรณีถือได้ว่าหนี้ที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดคดีจึงเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3269/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน: ผู้ค้ำประกันมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ถูกอาวัล และความรับผิดตามสัญญาจำนำ
โจทก์ยอมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกัน (อาวัล) จำเลยที่ 1 ในการใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ทรงและโจทก์ต้องผูกพันรับผิดต่อผู้ทรงเป็นอย่างเดียวกันกับจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ทรงแทนจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ย่อมใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 940 วรรคท้าย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินคืนแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปจำนำไว้แก่โจทก์เป็นประกันการที่โจทก์ยอมอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 ซึ่งตามสัญญาจำนำมีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ต่อโจทก์ยอมให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่ 2 ได้ทันที แม้ว่าจำเลยที่ 2 จะถูกองค์การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) มีคำสั่งห้ามมิให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ ก็เป็นเรื่องความรับผิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามสัญญาจำนำ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่รับจำนำไว้ หนี้ตามสัญญาใช้เงินที่โจทก์อาวัลยังไม่ระงับ จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 1 พ้นจากความรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2458/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพและฎีกาใหม่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเดิม รวมถึงการชำระหนี้ไม่ครบถ้วนตามกฎหมายเช็ค
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันออกเช็คเพื่อชำระหนี้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยที่ 3 จะมาโต้เพียงในชั้นฎีกาว่า มิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นความผิดตามฟ้องหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งยังเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 อีกด้วย จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
การที่จำเลยทั้งสามนำเงินตามจำนวนในเช็คพิพาทวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อชำระหนี้ตามเช็ค โดยมิได้ชำระดอกเบี้ยแก่ผู้เสียหายหนี้ที่จำเลยทั้งสามออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นจึงยังไม่ได้รับชำระครบถ้วนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง และมาตรา 214 จึงไม่มีผลให้หนี้ดังกล่าวสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดจะถือว่าคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 7 และทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (3) ยังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: มูลหนี้ตามเช็คเกิดจากสัญญาจ้างก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีอำนาจพิจารณา
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารโดยทำสัญญาที่จังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ตามมูลหนี้ค่าก่อสร้างเกี่ยวกับสัญญาจ้างดังกล่าว ถือว่ามูลหนี้ตามเช็คเกิดจากสัญญาจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง มูลหนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, เช็คพิพาท, สัญญาจ้าง, มูลหนี้, เขตศาล: ศาลฎีกาวินิจฉัยยืนตามศาลอุทธรณ์
โจทก์และห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำสัญญาจ้าแรงงานเพื่อว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร โดยทำสัญญาและก่อสร้างอาคารดังกล่าวที่จังหวัดเชียงใหม่ และจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทมอบให้โจทก์ตามมูลหนี้ค่าก่อสร้างเกี่ยวกับสัญญาจ้างแรงงานถือว่ามูลหนี้ตามเช็คเกิดจากสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์เกิดอำนาจฟ้อง มูลหนี้จึงเกิดขึ้นในเขตศาลจังหวัดเชียงใหม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1841/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย กรณีคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
จำเลยยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่าคดีของจำเลยไม่มีมูลพอที่จะอุทธรณ์ให้ยกคำร้อง ส่วนศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีของจำเลยมีมูลพอที่จะอุทธรณ์แต่จำเลยไม่เป็นคนยากจนให้ยกคำร้อง คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์เป็นคำสั่งที่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคำร้องแล้วจึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย ที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์แม้จะอ้างว่าศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจยกประเด็นเรื่องจำเลยเป็นคนยากจนขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการฎีกาในเนื้อหาแห่งคำร้องเพื่อขออนุญาตให้จำเลยดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ เป็นฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดแล้ว จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการห้ามฎีกาในคดีที่เกี่ยวข้องกับค่าเช่าและการครอบครองที่ดิน
คดีเดิมเป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท อันเป็นคดีต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง ส่วนคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการบังคับบริวารของจำเลย และเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคสาม
ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเพื่อตน ผู้ร้องอยู่ในที่ดินพิพาทในฐานะบริวารของจำเลย ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิพิเศษเหนือที่ดินพิพาทเพราะผู้ร้องคัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาท เป็นการเปลี่ยนเจตนายึดถือที่ดินมาเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องแย่งการครอบครองเกิน 1 ปีแล้ว จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ ฎีกาของผู้ร้องจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยกับบริวาร ผู้ร้องจะยื่นคำร้องว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมายหาได้ไม่ เพราะมีปัญหาเกี่ยวกับผู้ร้องในชั้นบังคับคดีเพียงว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยหรือไม่เท่านั้น
of 32