คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สถิตย์ ทาวุฒิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 313 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5593/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดิน: การครอบครองทำประโยชน์ และการเพิกถอน ส.ป.ก.4-01 โดยอ้างสิทธิเดิม
โจทก์ตั้งประเด็นในคำฟ้องว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นของโจทก์ ซึ่งจำเลยขอให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-10 ครอบที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงโดยมิชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 ฉบับดังกล่าว จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นของจำเลย คดีมีประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ไม่อาจมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์ได้ เพราะการแย่งการครอบครองที่ดินจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยกล่าวแก้ในคำให้การว่าจำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยเอง ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์มิได้ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่ถูกจำเลยแย่งการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง จึงขัดแย้งกับคำให้การที่อ้างว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยอยู่ในตัว ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยในประเด็นข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5370/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาประเด็นพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายในคดีไม่มีข้อพิพาท การคัดค้านต้องชัดแจ้งจึงจะเกิดประเด็นข้อพิพาท
ในคดีไม่มีข้อพิพาทถ้าบุคคลอื่นใดนอกจากคู่ความที่ได้ยื่นฟ้องได้เข้ามาเกี่ยวข้องในคดีโดยตรงหรือโดยอ้อมให้ถือว่าบุคคลเช่นว่ามานี้เป็นคู่ความและให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยคดีมีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (5) คำคัดค้านของผู้คัดค้านจึงเป็นคำคู่ความที่จะก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทผู้คัดค้านจะคัดค้านคำร้องขอในประเด็นข้อใดจะต้องยื่นคำคัดค้านให้ชัดเจนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงจะเกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทในข้อนั้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายกล่าวคือ พระ อ. ไม่ได้มีความประสงค์หรือเจตนาจะทำพินัยกรรมดังกล่าว ผู้ทำพินัยกรรมได้กระทำโดยถูกหลอกลวง สำคัญผิดไม่เป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมและขณะทำพินัยกรรมพระ อ. มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่าพระ อ. ทำพินัยกรรมจริงแต่ถูกหลอกลวง สำคัญผิดและมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แต่คำร้องคัดค้านกลับกล่าวอีกว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือของพระ อ. เท่ากับยืนยันว่าพระ อ. ไม่ได้ทำพินัยกรรม เช่นนี้คำร้องคัดค้านจึงขัดกันเองและไม่ชัดแจ้งว่าผู้คัดค้านได้คัดค้านว่าเป็นพินัยกรรมปลอมหรือเป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำถูกหลอกลวง สำคัญผิดหรือทำพินัยกรรมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ส่วนที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าพินัยกรรมทำไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ได้ระบุว่าไม่ถูกต้องตามแบบอย่างใดจึงไม่มีเหตุแห่งการปฏิเสธ คำร้องคัดค้านจึงไม่ชัดแจ้ง ถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านได้โต้แย้งคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้องไม่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5176/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมและใช้เอกสาร การรอการลงโทษ และข้อบกพร่องในการบรรยายฟ้อง
ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อความว่า บิลเงินสดที่จำเลยปลอมเป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ อันเป็นนิยามของคำว่า เอกสารสิทธิ ตาม ป.อ. มาตรา 1 (9) แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 265 ด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าบิลเงินสดเป็นเอกสารสิทธิถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4543/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงกฎหมายทำให้จำเลยไม่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญา ศาลฎีกายกฟ้องตามบทเดิมและลงโทษตามกฎหมายใหม่
ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 ได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ ออกมาใช้บังคับแล้วโดยบัญญัติให้ พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ เป็นอันยกเลิกตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไป และกำหนดให้นำ พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจฯ มาใช้บังคับแทน ซึ่งมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. การสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ ที่ถูกยกเลิกบัญญัติให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และ พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ใช้บังคับแทนมิได้บัญญัติให้เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. การที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 147 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3863/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรื้อฟื้นคดีอาญา: สามีขอรื้อฟื้นคดีแทนภรรยาที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ได้ และอำนาจศาลในการสั่งรับคำร้อง
ผู้ร้องเป็นสามีจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่แทนจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขั้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 6 (4)
พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 13 (2) เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับสำหรับในชั้นพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ มิได้นำมาใช้ในชั้นไต่สวนคำร้องว่าคดีมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ การมีคำสั่งว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ส่งมอบเอกสารและเงินให้ผู้จัดการคนใหม่ หากไม่ส่งมอบถือเป็นความผิด
โจทก์ได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการของโจทก์ มีหน้าที่นำเงินกองทุนนิติบุคคล เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลางฝากธนาคาร จัดทำและเก็บรักษาสมุดรายงานการประชุม เอกสารทางบัญชี บัญชีรายรับรายจ่าย งบประมาณประจำปี งบดุล รายงานประจำปีที่ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแล้ว ต่อมาเมื่อโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์แล้ว อ. ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินกองทุนนิติบุคคล เงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง รวมทั้งเอกสารทั้งหมดแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสามส่งมอบเงินที่เหลือพร้อมเอกสาร หากคืนเอกสารไม่ได้ให้ใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเป็นการเพียงพอให้จำเลยที่ 3 เข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนจำเลยที่ 3 จะได้รับเงินจากเจ้าของร่วมแต่ละห้องเมื่อใดและกระทำผิดหน้าที่เมื่อใด โจทก์กำหนดค่าเสียหายอย่างไรนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 3 ฎีกาว่าการแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยที่ 3 ให้การในข้อนี้เพียงว่าที่ประชุมเจ้าของร่วมอาคารชุดที่พิพาทไม่ได้มีมติแต่งตั้งให้ อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ อ. ขอเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนข้อบังคับต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยพลการและไม่มีสิทธิจึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นนี้ ประเด็นในเรื่องอำนาจฟ้องจึงมีว่า ที่ประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์มีมติแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีข้อเท็จจริงโต้แย้งกันว่า การประชุมเจ้าของร่วมของโจทก์ในการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการของโจทก์ดังกล่าวมีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ แม้ข้อเท็จจริงฟังว่ามีเจ้าของร่วมของโจทก์เข้าร่วมประชุมจำนวนไม่ถึงหนึ่งในสามของจำนวนห้องชุดทั้งหมด ทำให้มีองค์ประชุมไม่ครบตามข้อบังคับของโจทก์ ซึ่งจะมีผลให้การแต่งตั้ง อ. เป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ชอบตามที่จำเลยที่ 3 ฎีกา แต่ก็เป็นการยกข้อเท็จจริงนอกประเด็นแห่งคดีที่จำเลยที่ 3 ได้ให้การไว้ แม้เรื่องอำนาจฟ้องจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งคู่ความอาจยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ก็ตาม แต่ก็ต้องเป็นข้อกฎหมายที่เกิดจากข้อเท็จจริงในกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมายด้วย จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษ: ความผิดต้องเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษ
คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2542 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 19,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวระหว่างปลายปี 2541 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2543 การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้อง จึงกระทำลงทั้งก่อนและภายในเวลาที่ศาลรอการลงโทษ กรณีจึงมิต้องตามมาตรา 58 วรรคแรก ไม่อาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3511/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานทางวิดีโอและคำให้การในคดีข่มขืน แม้ผู้เสียหายไม่สามารถเบิกความได้
โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความเป็นพยาน เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ คำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาและพนักงานอัยการโดยมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ตามแถบวิดีทัศน์วัตถุพยานหมาย ว.จ.1 อันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3499/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษตามมาตรา 269/7, การแก้ไขโทษจำคุกโดยศาลอุทธรณ์ และอำนาจศาลฎีกาในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แก้ไขเฉพาะโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันใช้และฐานร่วมกันนำเข้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมจากกระทงละ 2 ปี และ 4 ปี เป็นกระทงละ 1 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อแต่ละกระทงยังคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันปลอม นำเข้า และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อย่างอื่นแทนการชำระด้วยเงินสด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/7 ซึ่งบัญญัติให้ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในความผิดดังกล่าวกึ่งหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามบทบัญญัติดังกล่าวและศาลอุทธรณ์ภาค 5 มิได้แก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขโดยปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจวางโทษจำคุกให้หนักขึ้นตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขดังกล่าวได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และเนื่องจากเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 และมาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3325/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ระยะเวลาบังคับคดี: คำพิพากษาถึงที่สุดเป็นจุดเริ่มต้น และเหตุสุดวิสัยอาจขยายเวลาได้
กำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ที่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น หมายถึงวันที่คำพิพากษาถึงที่สุด
ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามกฎหมายแล้วเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2539 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 153,234.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในคดีนี้จึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แต่คู่ความยังมีสิทธิฎีกาในข้อกฎหมาย หรือขอให้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสี่ เมื่อไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาคำพิพากษาจึงถึงที่สุดในวันที่ 18 ตุลาคม 2539 ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ซึ่งจะครบกำหนดสิบปีในวันที่ 18 ตุลาคม 2549 ผู้ร้องยื่นคำขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีวันที่ 16 ตุลาคม 2549 ยังอยู่ภายในระยะเวลาสิบปี นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำขอของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบและการร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวได้ แต่จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสินระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23
of 32