คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สถิตย์ ทาวุฒิ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 313 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีศุลกากร: การกำหนดอายุความเฉพาะใน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม มีผลเหนือกว่าอายุความทั่วไปใน ป.อ.
ฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 เพื่อให้ได้ค่าปรับและค่าภาษีอากรที่ขาดอันเนื่องมาจากการสำแดงราคาเท็จ ซึ่งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะแล้วในมาตรา 10 วรรคสาม ให้มีอายุความ 10 ปี จึงต้องถือเอาอายุความตามนั้น จะเทียบเคียงใช้อายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) มิได้ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้น 10 ปี แล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวมาแล้ว และยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแนวคำวินิจฉัยเดิม ฎีกาของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 454/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าเช่าไม่ผูกพันผู้รับโอนที่ดิน หากไม่มีการยินยอมผูกพัน
สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่ใช้บังคับกันได้เฉพาะแต่ในระหว่างคู่สัญญา ไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับโอนที่ดินพิพาท เว้นแต่โจทก์ผู้รับโอนที่ดินพิพาทจะได้ตกลงยินยอมผูกพันที่จะปฏิบัติตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาแทนผู้ให้เช่าเดิม ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมที่จะผูกพันตามสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา แม้โจทก์จะทราบว่ามีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาระหว่างจำเลยกับบริษัท ม. ในขณะรับโอนที่ดินพิพาท สัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาก็ไม่ผูกพันโจทก์ และไม่ถือว่าโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ใหญ่บ้านสนับสนุนทำบัตรประชาชนปลอม ความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประชาชน และประมวลกฎหมายอาญา
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือ โดยลงลายมือชื่อรับรองอันเป็นเท็จลงในด้านหลังของคำขอมีบัตร มีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชน ว่า จ. คือ บ. ซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 241 เป็นลูกบ้านในหมู่บ้านซึ่งจำเลยเป็นผู้ใหญ่บ้านอยู่ แม้จะไม่มีคำว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน แต่ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานแล้ว เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านย่อมเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ การรกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชนฯ มาตรา 14 วรรคสาม ซึ่งมีโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 1 ปี ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยตามมาตรา 14 (1) (3) วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.อ. มาตรา 86 และลงโทษจำคุกจำเลย 8 เดือน นั้น เห็นว่าไม่ถูกต้อง และเป็นการวางโทษที่ต่ำกว่ากฎหมาย แต่เมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225 แห่ง ป.วิ.อ. แต่เห็นควรปรับบทให้ถูกต้อง โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 199/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เหตุโต้เถียงดุลพินิจศาลอุทธรณ์ คดีครอบครองที่ดินสาธารณประโยชน์
ในชั้นฎีกาโจทก์และจำเลยโต้เถียงกันว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อที่ดินพิพาทมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ขณะยื่นคำฟ้องเดือนละไม่เกิน 10,000 บาท การที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มิใช่ผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15216/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน กรณีซื้อขายที่ดินมือเปล่าและการส่งมอบการครอบครอง
ส. สามีจำเลยที่ 1 และ ป. บิดาจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันซื้อที่ดินข้างเคียงรวมถึงที่ดินพิพาททำเป็นลานตากกากมันสำปะหลังจากผู้ครอบครองเดิมนานมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต่างก็ถึงแก่ความตายไปหมด แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทจะไม่ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินมือเปล่ามีเพียงแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นหลักฐานเท่านั้น เจ้าของที่ดินเดิมจึงมีเพียงสิทธิครอบครอง เมื่อได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ ส. สามีจำเลยที่ 1 และ ป. บิดาจำเลยที่ 2 ถือว่าเจ้าของที่ดินเดิมได้สละการครอบครองให้แก่ ส. สามีจำเลยที่ 1 และ ป. บิดาจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1378 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับโอนที่ดินพิพาทต่อมา จำเลยที่ 2 ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15180/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจงดฟ้องของอธิบดีกรมศุลกากรต้องใช้ก่อนการฟ้องคดี หากฟ้องแล้ว อธิบดีไม่มีอำนาจงดฟ้องได้อีก
จำเลยทั้งสองร่วมกันรับไว้ซึ่งรถยนต์ของกลางโดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร วันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานจับกุม จำเลยทั้งสองทำหนังสือขอทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยยินยอมยกของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 102 ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น หลังจากนั้นอธิบดีกรมศุลกากรมีคำสั่งอนุมัติให้ระงับคดี ดังนี้การใช้อำนาจของอธิบดีตามบทมาตราดังกล่าวจะต้องกระทำก่อนที่ผู้กระทำความผิดจะถูกฟ้องร้องต่อศาล เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นก่อนที่อธิบดีจะมีคำสั่งอนุมัติให้ระงับคดี คำสั่งดังกล่าวจึงล่วงเลยระยะเวลาที่อธิบดีกรมศุลกากรจะมีอำนาจสั่งให้งดการฟ้องร้องได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15130/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนซื้อขายที่ดิน, การแบ่งกำไร, เงินทดรองจ่าย, การชำระบัญชี, สิทธิเรียกร้อง
โจทก์และจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนกันซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาเพื่อขายเอากำไรแบ่งกัน โดยนำเงินที่ลงหุ้นกันจำนวน 2,110,000 บาท และเงินส่วนตัวโจทก์อีก 600,000 บาท มาชำระค่าที่ดินเพิ่มเติม เช่นนี้ เงินจำนวน 600,000 บาท จึงเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายแทนห้างหุ้นส่วนสามัญไปก่อน หาใช่เป็นเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมอันจะต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือไม่
การเข้าหุ้นซื้อที่ดินทั้งสองแปลงของโจทก์และจำเลยมาเพื่อขายนั้น เป็นการเข้าหุ้นกันเฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว เมื่อขายที่ดินทั้งสองแปลงได้แล้ว การเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยจึงเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1055 (3) และหลังจากขายที่ดินแล้วจำเลยได้แบ่งกำไรจากการขายที่ดินให้แก่โจทก์จำนวน 1,500,000 บาท และมีการทำบัญชีไว้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยได้มีการคิดบัญชีกันเรียบร้อยแล้ว ไม่มีทรัพย์สินในระหว่างหุ้นส่วนหรือหนี้สินใดที่จะต้องจัดการกันอีก ถือได้ว่ามีการตกลงกันให้การจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันแล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 หาใช่ต้องจัดให้มีการชำระบัญชีเสมอไปไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินกำไรและเงินทดรองจ่ายแทนห้างหุ้นส่วนสามัญจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14800/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินสมรสเพื่อบังคับคดี: สิทธิเจ้าหนี้ vs. สิทธิขอส่วนแบ่ง
เมื่อทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินสมรส อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร่วมกัน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธินำยึดและขายทอดตลาดได้ทั้งแปลง ผู้ร้องคงมีสิทธิขอกันส่วนของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดเท่านั้น จึงไม่สมควรมีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้อง โดยให้ระงับการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ในระหว่างการอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10553/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการขนส่ง-ช่วงสิทธิประกันภัย: จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายตามสภาพรถยนต์จริง
ตามหนังสือมอบอำนาจช่วง และฟ้องเดิมของโจทก์ระบุว่าฟ้อง นางสาวดารุณีเป็นจำเลยที่ 1 โดยให้รับผิดในมูลละเมิด ระบุว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ต่อมาโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยแก้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นนางดารุณีหรือนางสาวดรุณี และขอแก้ไขภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นบ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ซึ่งภูมิลำเนาตามที่ขอแก้ไขตรงกับภูมิลำเนาปัจจุบันของจำเลยที่ 1 ที่ให้การระบุว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยระบุว่าย้ายมาจากบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่ทำละเมิดในคดีนี้ ดังนี้จึงเป็นการแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล และภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเดิมซึ่งเป็นจำเลยคนเดียวกัน มิใช่แก้ไขคำฟ้องโดยเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 1 จากนางสาวดารุณี เป็นนางสาวดรุณี ซึ่งเป็นคนละคนกันแต่อย่างใด อีกทั้งการที่โจทก์ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลของจำเลยที่ 1 ในหนังสือมอบอำนาจช่วงและคำฟ้องเดิมผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้น ก็เป็นการสะกดชื่อตัวผิดเล็กน้อยจาก "นางสาวดรุณี" เป็น "นางสาวดารุณี" พอถือว่าเป็นชื่อเดียวกันนั้นเอง ส่วนชื่อสกุลสะกดผิดจาก "สังข์แก้ว" เป็น "สังข์ทอง" ก็ผิดเฉพาะพยางค์ท้ายเท่านั้น พยางค์หน้าเป็นคำเดียวกัน ชื่อสกุลจึงคล้ายคลึงกันมาก แสดงว่าที่ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลจำเลยที่ 1 ผิดเกิดจากการสับสนเข้าใจผิดในชื่อของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงถูกตัวและถูกต้องชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10442/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหนี้ตามสัญญาเดินสะพัดและบัตรเครดิต โจทก์ต้องแสดงรายละเอียดหนี้บัตรเครดิตในคำฟ้อง
โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมาด้วยว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตที่จำเลยได้สมัครเป็นสมาชิกขอใช้บัตรเครดิตและได้รับอนุญาตให้ใช้บัตรเครดิตจากโจทก์แล้วและระหว่างโจทก์จำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิต การชำระหนี้ระยะเวลาชำระหนี้ ตลอดจนการคำนวณหนี้และดอกเบี้ยกันอย่างไร จำเลยเป็นหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตกับโจทก์ด้วยวิธีการใดและเป็นหนี้จำนวนเท่าใด ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตย่อมต้องมีข้อตกลงต่างหากจากสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ เท่ากับโจทก์ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยเป็นหนี้ตามสัญญาการใช้บัตรเครดิตต่อโจทก์และคำขอบังคับมาในคำฟ้อง จึงต้องพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ภายในอายุความ
of 32