คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 39 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 41 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2232/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งหลังจำเลยเสียชีวิต: ศาลมีอำนาจบังคับคดีจากทายาทได้
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตายระหว่างขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีในคดีส่วนอาญาออกจากสารบบความ สำหรับคดีส่วนแพ่ง การดำเนินกระบวนพิจารณาต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง สิทธิในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่พนักงานอัยการขอให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และสิทธิของโจทก์ร่วมที่ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยังคงมีอยู่ ไม่ระงับไป
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์เพื่อช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวกรวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายและโจทก์ร่วมสามารถใช้สิทธิของตนเองต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีทั้งคดีส่วนแพ่งและคดีส่วนอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน
ดังนั้น การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 จึงเป็นการแต่งตั้งตัวแทน เมื่อจำเลยซึ่งเป็นตัวการถึงแก่ความตาย ทนายจำเลยคงมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลยต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของจำเลยจะเข้ามาปกปักรักษาประโยชน์ของจำเลย อำนาจของทนายจำเลยหาได้หมดสิ้นไปทันทีเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายไม่ เมื่อทนายจำเลยมิได้ดำเนินการในคดีส่วนแพ่งภายในกำหนด 1 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะบังคับคดีต่อไปได้ สิทธิในการบังคับคดีที่เป็นสิทธิในทรัพย์สินมิใช่สิทธิเฉพาะตัว ความรับผิดตามคำพิพากษาย่อมตกทอดแก่ทายาทของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับคดีอาญาหลังจำเลยเสียชีวิต และการดำเนินคดีแพ่งต่อโดยบุคคลที่กฎหมายกำหนด
คดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชดใช้เงินที่ยักยอกไปจากผู้ร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 จำเลยถึงแก่ความตายระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา อันส่งผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่โจทก์ขอมาด้วย คดีในส่วนแพ่งจึงต้องดำเนินการเพื่อให้บุคคลที่กฎหมายกำหนดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534-535/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายคดีแพ่งหลังจำเลยเสียชีวิต, ความรับผิดทางแพ่งร่วม, และการพิสูจน์ความผิดทางอาญา
เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 สิทธิในการนำคดีอาญาของจำเลยที่ 2 มาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 เสียก่อน กล่าวคือ หากครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้ว ไม่มีบุคคลใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนหรือเข้ามาตามหมายเรียกของศาล จึงให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งออกเสียจากสารบบความ ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ด่วนมีคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนแพ่งในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ ย่อมเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 821/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีแพ่งที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่จำเลยถึงแก่ความตาย ศาลต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานใหม่
การพิพากษาคดีในส่วนแพ่งที่ให้ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้น เมื่อศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีส่วนอาญาของจำเลยจากสารบบความ เนื่องจากจำเลยถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แล้ว ศาลฎีกาจะพิพากษาคดีในส่วนอาญาเกี่ยวกับจำเลยต่อไปอีกไม่ได้ จึงถือว่าคดีในส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุดและจะนำข้อเท็จจริงในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดมารับฟังในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นย่อมไม่ได้ เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 46 คดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงใหม่จากพยานหลักฐานในสำนวน
จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยมี จ. เข้ามาเป็นคู่ความแทน ก็เพียงเข้ามาดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแทนจำเลยเท่านั้น ศาลจึงต้องพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนและดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง และชั้นบังคับคดีก็บังคับเอาจากกองมรดกของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3478/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนหลักประกันหลังจำเลยเสียชีวิต: ผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล vs. ผู้รับมรดกตามพินัยกรรม
คดีนี้ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยนำสมุดบัญชีเงินฝากประจำธนาคารเป็นหลักประกัน และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างพิจารณา แต่ในระหว่างการเลื่อนคดีไปเพื่อนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 สัญญาประกันตัวจำเลยที่ 4 เป็นอันสิ้นสุดลง ศาลชั้นต้นต้องคืนหลักประกันแก่ผู้ประกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 118 แต่เมื่อจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ประกันถึงแก่ความตาย ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลและผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับมรดกหลักประกันดังกล่าวตามพินัยกรรมต่างยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น การพิจารณาคำร้องดังกล่าวย่อมเป็นกรณีพิจารณาความเกี่ยวกับสัญญาประกันตัวจำเลยที่ 4 ในคดีอาญา และเป็นเรื่องของกระบวนพิจารณาทางอาญา การใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 และลักษณะ 2 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติว่าเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งหรือคำพิพากษาเป็นอย่างไรแล้ว ให้คำสั่งหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นถึงที่สุดแต่ประการใด ผู้คัดค้านจึงชอบที่จะฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้คืนหลักประกันให้แก่ผู้ร้องได้
ป.วิ.อ. มาตรา 118 บัญญัติว่า "เมื่อคดีถึงที่สุดหรือความรับผิดตามสัญญาประกันหมดไปตามมาตรา 116 หรือโดยเหตุอื่น ให้คืนหลักประกันแก่ผู้ที่ควรรับไป" ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตายอันเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) สัญญาประกันตัวจำเลยที่ 4 เป็นอันสิ้นสุดลง ศาลจึงชอบที่จะคืนหลักประกันให้แก่ผู้ที่ควรรับไป แม้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 ตามคำสั่งศาลมีหน้าที่ตามกฎหมายในการรวบรวมทรัพย์มรดกของจำเลยที่ 4 ผู้ตายรวมเข้าไว้ในกองมรดกผู้ตายรวมถึงการขอคืนหลักประกันของจำเลยที่ 4 ผู้ตายเพื่อแบ่งปันแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 แต่เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันดังกล่าวด้วย โดยอ้างว่าจำเลยที่ 4 ทำพินัยกรรมยกมรดกเป็นสมุดบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้าน และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกและผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 4 ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดเพชรบุรี กรณีจึงยังฟังได้ไม่แน่นอนว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นผู้ที่ควรได้รับสมุดบัญชีเงินฝากประจำอันเป็นหลักประกันไปจากศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นผู้สั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวใช้ดุลพินิจให้รอฟังคำสั่งศาลจังหวัดเพชรบุรีในคดีดังกล่าว จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4903/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายคดีอาญาจำเลยที่ 3 ที่ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณา และสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียหาย
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏว่าในคดีส่วนอาญา จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องจำเลยที่ 3 ย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำความผิด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ได้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ ส่วนที่โจทก์ขอให้มีคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งโดยพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เมื่อสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวเป็นสิทธิของผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในมูลหนี้ละเมิดซึ่งเกิดจากการกระทำความผิดอาญาให้สามารถยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวแทนผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมได้ จึงเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาในส่วนแพ่งว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ร่วมในการกระทำความผิด ให้ยกฟ้องและยกคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าว ย่อมถือว่าโจทก์ร่วมที่ 1 พอใจในคำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวแล้ว โจทก์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีส่วนแพ่งแทนโจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10741/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานลงข้อความเท็จในงบการเงิน, การช่วยเหลือกระทำผิด, และการปรับรายวันกรณีไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์
จำเลยที่ 22 ทำสัญญาเช่าถังแก๊สจำนวน 42 ฉบับ กับจำเลยที่ 11 ถึงที่ 20 โดยไม่มีเจตนาให้มีผลผูกพันในทางการค้าอย่างแท้จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 22 อ้างสัญญาเช่าถังแก๊สอันเป็นเท็จดังกล่าว เพื่อตกแต่งบัญชีโดยสั่งให้บันทึกรายได้ค่าเช่าถังแก๊สลงในบัญชีแยกประเภทของจำเลยที่ 22 แล้วนำรายได้นั้นจัดทำและส่งเป็นงบการเงินต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 22 มีกำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของจำเลยที่ 22 สูงขึ้น จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 312 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 องค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าวข้อความที่ว่า เพื่อลวงบุคคลใด ๆ เป็นเจตนาพิเศษซึ่งโจทก์ได้นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่า สัญญาเช่าถังแก๊สดังกล่าวไม่ใช่สัญญาที่แท้จริง แต่ทำขึ้นเพื่อประสงค์ให้จำเลยที่ 22 อาศัยสัญญาเช่าไปบันทึกลงในบัญชีและงบการเงินว่าจำเลยที่ 22 มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่าความเป็นจริง งบการเงินนั้นเมื่อยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. แล้ว หลังจากนั้นจะปรากฏแก่สาธารณชน ทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลประกอบการของจำเลยที่ 22 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีเจตนาเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้ว และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญากู้ยืมเงินกับห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. และจำเลยที่ 21 โดยไม่ได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง จัดทำหรือยินยอมให้จัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 22 ว่าที่ประชุมอนุมัติให้นิติบุคคลทั้ง 2 ราย กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นเท็จ แล้วจำเลยที่ 22 ส่งบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เพื่อลวงบุคคลใด ๆ ให้หลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง และการร่วมกันจัดทำบัญชีให้กู้ยืมและบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการโดยมีจุดประสงค์ให้บุคคลใดก็ตามที่เห็นบัญชีและรายงานการประชุมดังกล่าวหลงเชื่อว่ามีการให้กู้เงินจริง ครบองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา 312 แล้วอีกกระทงหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 และที่ 11 ถึงที่ 20 แม้ไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำบัญชีและการทำงบการเงินของจำเลยที่ 22 ด้วย แต่การทำสัญญาเช่าถังแก๊สที่ไม่จริงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้อาศัยสัญญาเช่าที่ไม่จริงหรือเป็นเท็จไปลงในบัญชีของจำเลยที่ 22 เพื่อลวงบุคคลใด ๆ จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 21 กู้ยืมเงินอันเป็นเท็จเพื่อลวงบุคคลใด ๆ ทั้งที่ไม่มีการกู้เงินกันจริง จำเลยที่ 10 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้แต่ไม่เคยได้รับเงินกู้เลยย่อมรู้ว่าไม่มีการกู้ยืมเงินกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 10 และที่ 21 จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตาม มาตรา 312 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ 9 ถึงที่ 21 จึงมีความผิดตาม มาตรา 315
ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 หมวด 12 การควบบริษัท บัญญัติถึงขั้นตอนและวิธีการในการควบบริษัท โดยในมาตรา 151 และ 152 กำหนดให้คณะกรรมการบริษัทที่ควบกันแล้วต้องขอจดทะเบียนการควบบริษัทต่อนายทะเบียนภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนการควบบริษัทแล้ว ให้บริษัทเดิมหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคล จึงไม่ได้มีลักษณะเหมือนกรณีจำเลยที่เป็นบุคคลธรรมดาตาย การควบบริษัทมีผลให้จำเลยที่ 22 หมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลโดยผลของกฎหมายและตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ที่กำหนดว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิดก็หาได้กำหนดถึงกรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลควบบริษัทด้วยไม่ บริษัทที่ควบกันและจดทะเบียนแล้วย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมดตาม มาตรา 153 แห่ง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 การที่จำเลยที่ 22 ได้ควบบริษัทกับบริษัท ว. และเกิดเป็นบริษัทใหม่ คือ บริษัท ด. ความรับผิดทางอาญาของจำเลยที่ 22 จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4554/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะนิติบุคคล ธนาคาร และความรับผิดชอบอาญาของผู้ช่วยเหลือความผิดในตลาดหลักทรัพย์
บริษัทมหาชนจำกัดเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้น และมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย จึงเป็นเจ้าของเงินที่ให้กู้ยืมไป เมื่อมีผู้เบียดบังเอาทรัพย์ดังกล่าว ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยตรงตาม ป.วิ.อ.
การพิจารณาความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ย่อมกระทำโดยการพิจารณาและสืบพยานในศาล ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ก่อน
ความรับผิดทางอาญาคือโทษ ผู้กระทำความผิดย่อมได้รับเองเป็นรายบุคคลเฉพาะตัว แม้ตัวการถึงแก่ความตาย ผู้ช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ตัวการยังต้องรับผิดในการกระทำดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13361/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับคดีอาญาและการจำหน่ายคดีแพ่งเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณา
คดีอาญา จำเลยถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ สำหรับคดีส่วนแพ่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 หากครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่จำเลยถึงแก่ความตาย ไม่มีบุคคลใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทน หรือเข้ามาตามหมายเรียกของศาลก็ให้ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6221/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระงับคดีอาญาหลังจำเลยเสียชีวิต และผลกระทบต่อคำขอส่วนแพ่ง
แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 120,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และคืนเงิน 600,000 บาท ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 แต่จำเลยยังคงยื่นฎีกา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินแทนโจทก์ร่วมทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 อีก คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอถือตามคำฟ้องของพนักงานอัยการย่อมตกไป ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจออกคำบังคับให้ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนแพ่งได้
of 5