คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมคักดิ์ เนตรมัย

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 44 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ติดตามผลการส่งหมาย และดุลพินิจศาลในการจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย ถึงแม้มิได้สั่งให้โจทก์เป็นผู้นำส่ง แต่เมื่อจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องติดตามผลการส่งหมายเอง เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยได้โดยวิธีปิดหมายตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2546 และต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาล ซึ่งหากโจทก์ตรวจสำนวนย่อมจะทราบผลการส่งหมายและดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ก่อนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดี การที่โจทก์ไม่ติดตามขวนขวายตรวจสำนวนเพื่อทราบผลการส่งหมายอันเป็นความบกพร่องไม่ใส่ใจในคดี จึงเป็นการปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกสารบบความจึงชอบแล้ว
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง เป็นคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 132 (2) ด้วย แม้มาตรา 132 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยการกำหนดเงี่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมตามที่เห็นสมควรแต่บทบัญญัติที่ว่านี้เป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจว่าสมควรจะสั่งกำหนดเงื่อนไขในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมหรือไม่ หากศาลจะมีคำสั่งดังกล่าวคำสั่งนั้นก็ต้องไม่ขัดแย้งกับมาตรา 151 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งบัญญัติถึงเงื่อนไขในการคืนค่าธรรมเนียมศาลไว้โดยเฉพาะ ดังนี้ เมื่อมาตรา 151 ไม่ได้กำหนดให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความตามมาตรา 198 วรรคสอง จึงสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลให้แก่โจทก์ไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อในคดีความผิดหลายกรรมเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์และปลอมแปลงเอกสาร โดยมีลักษณะแห่งคดีความผิดอย่างเดียวกัน
ขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้และคดีอาญา 35 คดี ดังกล่าว จำเลยเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยด้วยในทุกคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และเอกสารโดยมีเจตนาเพื่อเบียดบังเอาเงินของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่มอบหมายให้จำเลยนำไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านไปเป็นประโยชน์ส่วนตนลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (2)
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยให้นับโทษต่อรวมแล้วเกิน 20 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว หากปรากฏว่าการนับโทษต่อขัดต่อ ป.อ. มาตรา 91 (1) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีคำสั่งแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ให้ถูกต้องได้ ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะเป็นเรื่องการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาทรัสต์รีซีท: อัตราดอกเบี้ย, การชำระหนี้, และการบังคับคดี
ตามสัญญาค้ำประกันหน้าแรกมีข้อความระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ ระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และระบุว่า "วงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท" นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า "เนื่องจากคำขอของผู้ค้ำประกัน ธนาคารได้ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เพื่อรับสินค้าไปก่อนชำระเงินต่อธนาคาร ม. ตามวิธีการในวงเงิน 50,000,000 บาท" ข้อ 2 ระบุว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันและหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ได้ประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้ หรือได้กระทำการอย่างใดๆ เป็นเหตุให้ธนาคารต้องชดใช้เงินหรือได้รับความเสียหายอย่างใดๆ แล้ว ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชดใช้ให้แก่ธนาคารจนครบถ้วนเต็มตามจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้แก่ธนาคารและอย่างลูกหนี้ร่วม" จากข้อสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 2 มีเจตนายอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงตามมูลหนี้การให้เครดิตในวงเงิน 50,000,000 บาท เท่านั้น ดังนั้น หากธนาคาร ม. ให้เครดิตแก่จำเลยที่ 1 เกินวงเงินดังกล่าวย่อมอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดต่อธนาคารดังกล่าวรวมทั้งโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในต้นเงินเกินกว่าวงเงินค้ำประกัน
ตามสัญญาค้ำประกันระบุว่าจำเลยที่ 2 ยอมเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคาร ม. และดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ต้นเงินตามวงเงินค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์จากต้นเงินที่คิดตามวงเงินค้ำประกัน 50,000,000 บาท นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ด้วย มิใช่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเฉพาะดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับแยกต่างหากจากกันรวม 28 ฉบับ เป็นกรณีที่ลูกหนี้ต้องผูกพันต่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย โดยการชำระหนี้ซึ่งหากชำระโดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินทุกรายได้หมดสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ในการชำระหนี้โดยจำเลยที่ 2 ก็ดี หรือการบังคับชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เอาจากจำเลยที่ 2 ก็ดี จะถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีฉบับใด รวมทั้งค่าไปรษณีย์ ค่าธรรมเนียมและค่าอากรแสตมป์เพียงใดบ้างนั้นย่อมต้องบังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 328 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แล้วแต่กรณี
จำเลยที่ 2 ตกลงจำนองที่ดิน 3 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 2 และหรือจำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่ธนาคาร ม. เป็นจำนวนเงิน 25,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานตามวงเงินจำนองดังกล่าว ย่อมมีผลให้ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 2 เป็นประกันการชำระหนี้ในต้นเงินตามจำนวนหนี้ประธานเป็นเงิน 25,000,000 บาท และดอกเบี้ยของต้นเงิน 25,00,000 บาท อีกต่างหาก โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับชำระหนี้ได้รวมถึงดอกเบี้ยด้วย
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ข้อ 3 กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่จะใช้เรียกเก็บจากลูกค้าไว้ 4 อัตรา ส่วนในการเรียกดอกเบี้ยนั้น ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าวข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนี้ ในการเรียกดอกเบี้ยของธนาคาร ม. และโจทก์จะเรียกได้สูงสุดเพียงใดนั้น จะต้องแยกเป็นอัตราสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขหรือไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ กับอัตราสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว และโดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวหากมีข้อสัญญาให้ธนาคาร ม. เรียกได้ก็จะเป็นข้อสัญญากำหนดค่าเสียหายในการชำระหนี้ไม่ถูกต้องตามควรไว้ล่วงหน้า อันจะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383
ธนาคาร ม. มีเจตนาทำสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับกับจำเลยที่ 1 เพื่อคิดดอกเบี้ยอัตราสูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติ จึงเป็นข้อสัญญาที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อสัญญาการคิดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท 10 ฉบับนี้ จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ด้วย และศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศย่อมยกปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยก่อนผิดนัด ส่วนเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8910/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำคดีอาญาที่มีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้ว สิทธิฟ้องย่อมระงับตามกฎหมาย
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยนำหนังสือสัญญากู้เงินที่จำเลยกับ ส. ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับมานำสืบและแสดงเป็นพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 264, 268, 180 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงเท่ากับศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งความผิดแล้ว ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งโจทก์ได้ฟ้องแล้ว คดีนี้โจทก์นำการกระทำของจำเลยในคดีอาญาเรื่องก่อนมาฟ้องจำเลยอีก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสิทธิและมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 265 ซึ่งแตกต่างกัน แต่มูลคดีนี้ก็มาจากการกระทำอันเดียวกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7558/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์ยังไม่โอนจนกว่าชำระค่ารถครบถ้วน สัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459
ตามสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางระหว่างจำเลยกับผู้ร้องตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อขายเมื่อผู้ร้องชำระราคาส่วนที่เหลือแล้ว เป็นสัญญามีเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 การที่จำเลยส่งมอบคู่มือการจดทะเบียนรถยนต์และลงลายมือชื่อในแบบคำขอโอนและรับโอน พร้อมมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไว้ให้ผู้ร้อง เป็นเพียงเพื่อความสะดวกแก่ผู้ร้องในการไปจดทะเบียนรับโอนเมื่อได้มีการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายครบถ้วนแล้วเท่านั้น มิได้ทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด เมื่อผู้ร้องยังคงค้างชำระราคารถยนต์อยู่ 50,000 บาท กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังไม่ได้โอนไปเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีอาญาในศาลแขวง: เงื่อนไขการอนุญาตอุทธรณ์ข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวง
คดีนี้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 4)ฯ โจทก์จะอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ต่อเมื่อกรณีเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 22 ทวิ คือ หากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นสั่งฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ว่า "โจทก์อุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาที่ขยาย รับอุทธรณ์ สำเนาให้อีกฝ่าย ให้เจ้าพนักงานศาลส่งไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด" เพียงเท่านี้ยังไม่ถือว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพราะในคำสั่งมิได้ระบุเหตุผลว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และมีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่เป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ทวิ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7057/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบธุรกิจเทป/วีซีดีโดยไม่ขออนุญาต และละเมิดลิขสิทธิ์ แม้เป็นผู้เยาว์ก็มีความผิด
การที่จำเลยมีอายุ 19 ปี กระทำการขายหรือเสนอเพื่อขายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ จำเลยจึงมีหน้าที่ที่จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการจากนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ มาตรา 7 (1) แม้จำเลยจะเป็นผู้เยาว์ แต่เมื่อจำเลยจำหน่ายแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ในลักษณะทำเป็นธุรกิจโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4205/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: สินค้าต่างประเภท แม้ชื่อคล้ายกัน ไม่ทำให้สับสน
กรมทรัพย์สินทางปัญญาจำเลยมีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงพาณิชย์โดยผลของพระราชบัญญัติโอนอำนาจหน้าที่และกิจการบริหารบางส่วนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จำเลยจึงมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า ซึ่งได้แก่การดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และถึงแม้ว่านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะเป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงในการมีคำสั่งเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและมีคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์ แต่การดำเนินการของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยในฐานะที่เป็นกรมซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติงานในเรื่องนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่งนั้น เป็นเพียงถึงที่สุดในทางฝ่ายบริหารเท่านั้นหาได้ตัดสิทธิโจทก์มิให้นำคดีมาฟ้องศาลไม่ ดังนั้น ถ้าโจทก์เห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้
ยา Tequin ของโจทก์เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษามนุษย์ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์และมีจำหน่ายในโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลเท่านั้น ส่วนยา TRIQUIN ของจำเลยเป็นยาที่ใช้สำหรับสัตว์ซึ่งจำหน่ายในร้านขายยาแผนปัจจุบันสำหรับสัตว์ แม้โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าจำพวกที่ 5 เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้ว แต่สินค้าของโจทก์เป็นผลิตภัณฑ์ยาสำหรับรักษามนุษย์ ส่วนสินค้าตามเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนแล้วเป็นยาสำหรับรักษาสัตว์ซึ่งมีสถานที่จำหน่ายยาแยกต่างหากจากกัน ลักษณะของตัวอักษรในเครื่องหมายการค้า เสียงเรียกขานและผลิตภัณฑ์สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าไม่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนเกิดการสับสนหรือหลงผิดในตัวสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงมีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 และ มาตรา 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4102/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดอำนาจศาลต้องกระทำในบริเวณศาล การร้องเรียนผู้พิพากษาไม่ถึงขั้นละเมิด
การประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นั้น จะต้องเกิดขึ้นในบริเวณศาล การที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนกล่าวหาว่า ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีตามหนังสือร้องเรียนมีพฤติการณ์ละเลยต่อหน้าที่ และด้อยประสบการณ์ในการพิจารณาพิพากษาคดี ฟังความโจทก์ข้างเดียว ตัดสินคดีผิดพลาดไม่ยุติธรรมและลงโทษผิดหลักมนุษยชาติกระทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายอย่างมากนั้น เป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาทำหนังสือร้องเรียนไปยังประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งขณะนั้นมีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ร้องเรียนไปยังศาลชั้นต้นหรือได้ทำหนังสือร้องเรียนดังกล่าวขึ้นในบริเวณศาลชั้นต้นแต่อย่างใด แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นการก้าวร้าวและดูหมิ่นเสียดสีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอย่างร้ายแรงโดยปราศจากความเคารพยำเกรงทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันศาลยุติธรรมและอาจทำให้ผู้พิพากษาดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ซึ่งสมควรที่จะลงโทษให้หลาบจำมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไปก็ตามแต่เมื่อการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามิได้เกิดขึ้นในบริเวณศาล กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) จึงไม่อาจลงโทษผู้ถูกกล่าวหาฐานละเมิดอำนาจศาลได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3952/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมและการฟ้องคดีอาญา: การจับกุมที่ชอบด้วยกฎหมายและการหมดอายุคดี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 237 บัญญัติว่า ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับโดยไม่ชักช้า และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิด โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี (4) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 237 การที่จำเลยถูกเรียกหรือส่งตัวมาหรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหาและมีการแจ้งข้อหาให้ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ เพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
of 5